วันเลือกตั้ง

เจาะตัวตน โต้ง สิริพงศ์ ว่าที่เลขาฯ ชาติไทยพัฒนา กับทางเลือกที่สาม ตัวแปร การเมืองไทย

22.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

17 Mins. Read
  • โต้ง-สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ เติบโตมาในครอบครัวชาวจีน เห็นพ่อทำงานการเมืองท้องถิ่นมาตั้งแต่เด็ก มีแรงบันดาลใจอยากทำเพื่อบ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส. สมัยแรกก็สอบตก พอได้เป็น ส.ส. ตัวจริงก็อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 11 เดือน
  • เมื่อว่างงานการเมืองก็หันกลับมาช่วยงานธุรกิจครอบครัว แต่เพราะใจรักก็ลงพื้นที่อย่างหนัก จนวันนี้กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นแม่บ้านพรรคการเมืองใหญ่ของไทยในนาม ‘เลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา’

พรรคชาติไทยพัฒนากำลังจะมีว่าที่เลขาธิการพรรคคนใหม่เป็นคนศรีสะเกษ ซึ่งเคยทำหน้าที่อดีต ส.ส. มาแล้ว 1 สมัย

 

โต้ง-สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ เคยลุกขึ้นอภิปรายทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านเมื่อครั้งการเมืองมีวิกฤตเสื้อสี แต่เขาก็ทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนได้เพียง 11 เดือน เมื่อในเวลาต่อมาพรรคชาติไทยที่เขาสังกัดอยู่เวลานั้นถูกตัดสินให้ต้องยุบ และเขาต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรค

 

การเมืองหลังยุคที่ผู้คนเบื่อความขัดแย้ง แต่ปัญหาบ้านเมืองมากมายยังไร้ทางแก้ แม้ไม่มีการประท้วงของคนเสื้อสี

 

ท่ามกลางช่องว่างของทศวรรษที่สูญหายระหว่างคนรุ่นใหม่ซึ่งขาดโอกาสตัดสินใจทางการเมือง เนื่องจากที่ผ่านมาการเมืองถูกปิด กระทั่งวันนี้การเมืองเริ่มเปิดขึ้น

 

แต่ประเทศไทยทุกวันนี้ก็ยังมีคนอีกหลายรุ่นถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ว่าที่เลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนามองว่า “วันนี้เรามาทำงานอาสาให้ประเทศ ฉะนั้นคนทุกส่วนต้องได้รับผลดี เราทิ้งใครไม่ได้”

 

และต่อจากนี้ไปคือคำตอบของอดีต ส.ส. ในวันที่เชื่อว่าสังคมไทยต้องการ “ทางเลือกที่สาม และเมื่อการเมืองคือเรื่องตัวเลข พรรคชาติไทยพัฒนาจึงเป็นตัวแปร”

ผมเรียนที่ ภปร. ก็มักโดนเพื่อนๆ พี่ๆ ถามเสมอว่าจังหวัดศรีสะเกษมันกินดิน กินดินเป็นยังไง มันจนยังไง มันมีความรู้สึกว่าถ้าวันหนึ่งมีโอกาส เราจะทำให้จังหวัดเราไม่จนอย่างนี้

 

ถ้าถอดทุกหัวโขน ตัวคุณเป็นคนแบบไหน

ผมก็เป็นเด็กบ้านนอกคนหนึ่งที่ฝันว่าจะเติบโตแล้วทำให้จังหวัดเป็นที่รู้จัก ผมเกิดมาในศรีสะเกษ เวลาไปไหนผมก็จะพูดว่าชีวิตในวัยเด็กของผม จังหวัดศรีสะเกษได้ชื่อว่าจนที่สุดในประเทศไทย

 

ผมเรียนที่ ภปร. ก็มักโดนเพื่อนๆ พี่ๆ ถามเสมอว่าจังหวัดศรีสะเกษมันกินดิน กินดินเป็นยังไง มันจนยังไง มันมีความรู้สึกว่าถ้าวันหนึ่งมีโอกาส เราจะทำให้จังหวัดเราไม่จนอย่างนี้

 

ผมเรียนจบก็ไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด แล้วเมื่อก่อนที่บ้านผมเป็นโรงสีข้าว มันสู้ตลาดไม่ไหว ก็เปลี่ยนรูปแบบมาขายวัสดุก่อสร้าง เมื่อผมเรียนจบมาก็อยู่ระหว่างรองาน คุณพ่อก็อยากทำบ้านจัดสรร อยากให้มาช่วย ก็เลยลองไปทำ เราก็คิดว่ามันมีบ้านอยู่ที่เมืองใหญ่ๆ ทำไมบ้านที่จังหวัดเราไม่มีบ้านสวยๆ แบบนี้ เราก็มาทำ ทำไปทำมาจนขายดี ลูกค้าเริ่มเชื่อถือ คุณพ่อเลยให้รางวัลชิ้นแรกหลังจากทำโครงการจบให้เป็นโฉนด 1 ใบ ให้ไปทำมาหากินเอง

 

ตอนนั้นอายุ 26 ปี ไปกู้แบงก์แล้วเริ่มสร้างธุรกิจของตัวเอง ก็เริ่มทำบ้านจัดสรรเลย ฟังลูกค้า หาสูตรของตัวเอง เอาความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากญาติ จากพรรคพวก จนโครงการหลังๆ เราขายแพงที่สุดในจังหวัด แต่ก็ขายวันเดียวหมดโครงการ

 

 

จากที่เล่ามา เส้นเรื่องชีวิตดูไม่มีอุปสรรคเลย

มีแน่นอน ผมโตมาในครอบครัวคนจีน ถูกสอนให้ทำงานตั้งแต่เด็ก ผมทำงานในโรงสีข้าว อะไรได้ค่าขนมก็ทำหมด

 

ตอนเช้าก่อนไปเรียน หน้าที่ผมคือไปเก็บข้าวแกลบ แกลบขาว แกลบดำ คุณย่าเลี้ยงหมู เลี้ยงห่าน ก็จะช่วยเข็นรถเข็นอาหารไปเลี้ยงหมูเลี้ยงห่าน เลิกเรียนเราก็เดินกลับบ้าน จะกลับถึง 5 โมงเย็น คนงานเลิกงานหมด เราก็จะต้องมากรอกรำ เพราะถ้าเราไม่กรอก แม่ก็ต้องหาคนมากรอก ฉะนั้นผมกับน้องชายก็มีหน้าที่กรอกรำ เสาร์-อาทิตย์ก็ต้องเอารำขึ้นรถ เราก็ไม่มีโอกาสปั่นจักรยานเล่นกับเพื่อน เราก็ถูกเลี้ยงขึ้นมาแบบนี้

 

ด้วยความเป็นลูกชายคนโต ค่อนข้างถูกตั้งความหวังไว้สูง จากเดิมที่ผมอยากเรียนเศรษฐศาสตร์ แต่ช่วงนั้นวิศวะได้รับความนิยม เราสอบได้โควตาแล้ว แต่ก็ต้องสละสิทธิ์ไปเรียนวิศวะ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าเรียนแล้วจะไปทำอะไร เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก็คิดว่าเป็นความหวังของครอบครัว แล้วก็เป็นจริง

 

ชีวิตผมมันดูเหมือนจะราบเรียบ ประสบความสำเร็จ ทำอะไรก็คิดถูก แล้วเราทุ่มเทกับมัน ตอนที่ทำงาน ด้วยความที่กลัวเจ๊ง ตอนนั้นพนักงานประจำแทบจะมีผมคนเดียว คือทำทุกอย่างตั้งแต่สั่งของ ดูช่าง จ่ายเงินเดือน เขียนผังโครงการ ไปกรมที่ดิน เป็นธุรการโอน-ขายบ้าน ทำตั้งแต่ต้นจนจบ คือทั้งบริษัทสมัยนั้นผมสอนได้ทุกแผนก

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าได้อะไร แต่รู้แค่ว่าถ้ามีโอกาสทำแล้วไม่ได้ทำจะเสียดายมัน ที่ทำไม่ได้เพราะหวังว่าจะได้อะไร แต่ทำเพราะกลัวว่าอนาคตจะเสียดายเวลาที่ไม่ได้ทำ

 

เรื่องที่ผิดหวังครั้งแรกในชีวิต

ที่ผิดหวังครั้งแรกในชีวิตคือพอทำบ้านไปได้สักพักก็มีคนชวนลงสมัคร ส.ส. สมัยนั้นคนที่มาชวนลง ส.ส. เขาอยู่พรรคไทยรักไทย ก็คิดว่าด้วยความที่เราเป็นเด็กนอก เราทำงานประสบความสำเร็จ

 

ตอนนั้นมีเลือกตั้งซ่อม ผู้ใหญ่ในไทยรักไทยไปหาเสียงช่วยผู้สมัคร เขาก็จะให้ผมพาเดินตลาด ก็มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งมาถามผมว่าลง ส.ส. ในนามไทยรักไทยไหม แต่ให้เราทำพื้นที่ก่อน เราก็ทำพื้นที่อยู่ประมาณ 1 ปี สุดท้ายเขาก็บอกว่าจะเอาผู้สมัครเก่าลง

 

ทีนี้ด้วยความที่เราก็หาเสียงไปพักหนึ่งแล้ว ถ้าไม่ลงมันก็ไม่ได้ ตอนนั้นก็มีหลายพรรคมาจีบ สุดท้ายก็จบที่พรรคชาติไทย เพราะคิดว่าเราเป็น ส.ส. เด็ก พ่อไม่เคยเป็นนักการเมืองระดับชาติ การที่เราทำการเมือง เวลาไปเราพูด เสียงมันไม่ดังอยู่แล้ว ฉะนั้นทำอย่างไรเราจะเป็นตัวเองที่สุด

 

 

แล้วมาอยู่พรรคไหนหลังจากนั้น

ตอนนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคใต้ต้องประชาธิปัตย์ ถ้าอีสานต้องไทยรักไทย แต่ผมก็เห็นข้อจำกัดของการอยู่พรรคใหญ่ตรงที่ว่าถ้าวันหนึ่งผมไม่เห็นด้วยกับพรรค แล้วพรรคไม่ส่งผมลง อนาคตการเมืองผมก็หมด

 

ผมอยู่พรรคชาติไทยดีกว่า คือพรรคกระแสไม่ได้ดีมากในต่างจังหวัด แต่เรามีความเป็นตัวของตัวเองสูง แล้วความผิดหวังต่อมาคือ 6 กุมภาพันธ์ 2548 วันเกิดแม่ สอบตกครั้งแรก

 

ตอนนั้นเตรียมจะเป่าเค้กให้คุณแม่ นับคะแนนออกมา สอบตก น่าจะได้สัก 30,000 คะแนน แพ้ 5,000 คะแนน น่าจะ 38,000 กับ 42,000 เราก็โอเค ผิดหวังมาก เสียศูนย์ไปเลย เพราะเราเต็มที่

 

ตอนนั้นที่ทำธุรกิจมาคือเราอยู่ตัว ภรรยาก็ดูธุรกิจ เราก็เล่นการเมืองเต็มตัว หน้าที่ของเราก็คือดูแบบบ้าน ดูคู่ค้า มาดูวันจอง มาให้ความมั่นใจลูกค้า แล้วดูภาพรวม

 

งานรูทีนที่เหลือเราก็ปล่อยให้บริษัททำ แล้วเราก็เสียศูนย์ เลยคิดว่าขาดอะไร พลาดตรงไหน แล้วสุดท้ายปี 2550 ก็ได้เป็น ส.ส. ตอนนั้นเขต 3 คนได้คะแนนแสนกว่า เป็น ส.ส. ได้ 11 เดือน

 

 

เป็น ส.ส. สมัยแรกทำอะไรบ้าง คิดว่าอะไรเป็นงานชิ้นโบแดง

ตอนที่เป็น ส.ส. เราก็คิดอย่างเดียวว่าไม่มีแบ็ก เราต้องขยันกว่าเพื่อน เช่นในแต่ละญัตติที่เขาจะเสนอกฎหมาย เขาก็จะมีโควตาให้แต่ละพรรคพูด ถ้าหัวข้อนี้ไม่มีคนไหนพูดก็จะอาสาพูด

 

ด้วยความที่เราต้องทุ่มเทกว่าคนอื่น ผมก็จะเป็นคนที่เข้าประชุมตลอด ผมคิดว่าข้อดีของการอยู่พรรคชาติไทยตอนนั้นคือเราสามารถพูดอะไรที่ประชาชนอยากฟังได้ คือพรรคใหญ่จะมีข้อจำกัดว่าพรรคใหญ่ที่เป็นรัฐบาล ส.ส. ก็ต้องพูดอะไรเพื่อปกป้องรัฐบาล ในขณะเดียวกันถ้ามีการชุมนุมคัดค้าน ส.ส. ฝ่ายค้านก็ต้องพูดอะไรเพื่อปกป้องผู้ชุมนุม

 

แต่จะมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ไม่มีใครพูดแทนเขาเลยก็คือคนทำมาหากิน แล้วก็บอกว่า “เฮ้ย มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ ฉันเบื่อ” ซึ่งผมก็เห็นว่ามันไม่มีใครพูดแทน

 

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนนั้นมีเรื่องเสื้อเหลืองกับนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ตอนเช้าท่านสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล โทรหาผมว่าให้ผมอภิปราย 10 นาทีจาก 30 นาที ตอนนั้นมีผม 10 นาที ภราดร 10 นาที เวลานั้น ส.ส. มีอยู่ประมาณ 30 คน ผมดีใจมาก

 

ตอนนั้นผมโทรหาเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยว่า “ได้โควตาอภิปราย 10 นาทีว่ะ อยากได้ยินอะไร” เขาบอกว่า “ด่าทั้งสองข้างได้ไหม เบื่อ” แล้วเราก็โทรหาเพื่อนอีกคน เขาก็บอกว่าเบื่อ แล้วทั้งสภาไม่มีใครพูดเป็นตัวแทนของคนกลุ่มนี้เลย แล้วคนกลุ่มนี้ใครปกป้องเขา

 

วันนั้นมีเหตุการณ์ปิดสนามบิน แล้วผมลงแท็กซี่มา แท็กซี่รอตั้งแต่ 7 โมงเช้า ได้ลูกค้า 4 ทุ่ม คนที่เดือดร้อนคือคนเหล่านี้ แล้วใครพูดแทนเขาว่าคุณหยุดได้แล้ว วันนั้นผมก็พูดไป ด่าทั้งม็อบ ทั้งรัฐบาล แล้วก็พูดไปว่า “จริงๆ ส.ส. ไม่ใช่เป็นแค่ ส.ส. ของพรรค ต้องเป็น ส.ส. ของประชาชนด้วย”

 

แต่บังเอิญโชคร้าย ผมเป็น ส.ส. ได้ 11 เดือนก็โดนตัดสิทธิ์ เพราะเป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทย เขายุบพรรค ก็เป็นความผิดหวังอีกครั้งหนักๆ เลย

 

นอนอยู่บ้าน ร้องไห้ แล้วถามตัวเองว่าเราผิดอะไร ผมไม่ได้ไปซื้อเสียงหรือไปทำอะไรที่เป็นเหตุให้โดนยุบพรรค ผมเป็นกรรมการบริหารพรรค แล้วผมไฟแรง พอผิดหวังคราวนั้นทำให้ผมเป๋ไปครึ่งปี เราก็คิดว่าเราอยู่แบบนี้ไม่ได้ การเมืองเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาบ้านเมืองได้จริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นหัวโขน วันนี้ถ้าเกิดเราคิดว่าเราจะยึดการเมืองเป็นอาชีพมันคงไม่ได้ เราต้องไปทำอาชีพอื่น

ปัจจุบันเราเห็นว่าคนเลือกการเมืองไม่ได้เลือกจากความรัก เขาเลือกจากความเกลียด แต่ไม่ได้เลือกเพราะว่าอยากจะหาทางออกให้ประเทศอย่างไร ไม่ได้เลือกเพราะอยากให้เขามาทำ

 

คิดว่าเราเลือกต้นทุนที่ต้องจ่ายผิดไหม เป็นนักธุรกิจอาจสบายกว่า

แน่นอน ถ้าผมไม่เป็นนักการเมืองนะ รายจ่ายเราไม่ได้เยอะอย่างนี้ สบายๆ อยากจะซื้ออะไรก็ซื้อ จะซื้อรถ ซื้อนาฬิกาก็ซื้อ

 

พอเรามีภาระหน้าที่ มีคนฝากความหวังมากขึ้น การตัดสินใจหนึ่งครั้งของเรามีผลกับคนมากขึ้น มันทำให้เราต้องตัดความสุขส่วนตัวออกไป เช่น พอเรามาทำกีฬา เป็นนายกสมาคมกีฬา หลายอีเวนต์ที่ผมจัดให้คนจังหวัดศรีสะเกษดู เงินขายบัตรผมเอาไปเป็นรางวัลให้นักกีฬาเพื่อให้เขามาเล่น พอมาจัดแบบนี้หลายๆ อีเวนต์ จากที่เคยซื้อรถ นาฬิกาก็ไม่ได้ซื้อ แต่สิ่งที่ได้คือเด็กที่มาดูกีฬาเขากลับไปบอกแม่เขาว่า “แม่ หนูอยากเล่นวอลเลย์บอล” แล้วทุกวันนี้เขาเป็นเยาวชนทีมชาติ

 

เด็กที่มาดูวอลเลย์บอลที่ผมจัดเขาไปบอกผู้อำนวยการที่โรงเรียนว่า “ผอ. ครับ ผมอยากเล่นวอลเลย์บอล” แล้วเขาเป็นแชมป์ประเทศไทยอายุต่ำกว่า 12 ปี แล้วก็เด็กอีกมากที่มาร่วมอีเวนต์เหล่านี้เขากลับไปออกกำลังกาย เล่นกีฬา ผมรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มีค่ามากกว่าทรัพย์สินที่เราซื้อมาเก็บใส่ตู้ไว้ น้องชายก็ถามว่าทำแบบนี้แล้วได้อะไร เราก็อึ้งไปพักหนึ่งแล้วก็ตอบว่า

 

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าได้อะไร แต่รู้แค่ว่าถ้ามีโอกาสทำแล้วไม่ได้ทำจะเสียดายมัน ที่ทำไม่ได้เพราะหวังว่าจะได้อะไร แต่ทำเพราะกลัวว่าอนาคตจะเสียดายเวลาที่ไม่ได้ทำ

 

 

ขอย้อนกลับไปหาเหตุผลที่คุณตัดสินใจลงเล่นการเมืองหน่อย

ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะมาเล่นการเมืองใหญ่ พ่อผมเป็นนายกเทศมนตรีตั้งแต่ผม 7 ขวบ ตอนนั้นพ่อผมอายุ 27 ปี เป็นนายกเทศมนตรี เราก็เห็นการที่คุณพ่อได้ช่วยคน ต้องยอมรับว่าผมชอบการเมือง นักการเมืองประชาธิปัตย์หาเสียง ผมก็ไปเดินกับเขา ช่วย ส.ส. พรรคความหวังใหม่หาเสียง ผมก็ไปเดินกับเขา ชอบการเมืองตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัย

 

มีอยู่ปีหนึ่งผมเรียนอยู่เมืองนอก แล้วจังหวัดศรีสะเกษน้ำท่วม ท่วมแบบที่สมัยนั้นมันไม่เคยท่วม ปรากฏว่าเขาของบมาที่สภาเพื่อไปแก้ปัญหา แล้วกรรมาธิการเขาบอกว่าจังหวัดศรีสะเกษน้ำไม่เคยท่วมแล้วตัดงบ

 

เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย ส.ส. บ้านเราไปไหนหมด ทำไมเขาไม่ช่วย ทำไมเขายอมให้คนอื่นมาบอกว่าจังหวัดศรีสะเกษน้ำไม่เคยท่วม ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงคือท่วม ผมก็มีความคิดว่าอยากเป็นเอง ถ้าเป็นเองผมจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ คิดแบบเด็กๆ แต่เราไม่ได้คิดอะไรเกินกว่าที่ผมจะเป็นนายกเทศมนตรี

 

แสดงว่าครอบครัวมีส่วนบ่มเพาะในการทำงานการเมือง

พ่อมีแต่ทำงาน คนที่บ่มเพาะคือแม่ แต่ก่อนนั่งรถไปในเมือง จะทิ้งขยะก็เปิดกระจกทิ้งออกมาเลย แต่แม่บอกว่าไม่ได้ ทิ้งขยะแบบนี้เดี๋ยวบ้านเมืองสกปรก เดี๋ยวคนด่าพ่อ ไม่ได้

 

แล้วพอเริ่มขับรถเป็น สมมติไปจอดที่เส้นขาว-แดงในเมือง ถ้าพ่อขับมาเจอเขาจะบีบแตรใส่เลย แล้วโทรหาบอกว่าห้ามจอด คือพ่อสอนให้เรารักเมือง แม่สอนว่าบ้านเมืองมันเป็นความรับผิดชอบของพวกเรา ก็โตมาแบบนี้ อยากทำให้บ้านเรามีโน่นนี่นั่นก็เสนอไป ก็คิดแค่นั้น อยากเป็นเหมือนพ่อ แต่เมื่อเขามาชวนเป็น ส.ส. ก็เลยลองดู

ราไปตั้งแง่ว่านักการเมืองเป็นผู้ร้ายแล้ว เราปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศนี้มันจะต้องมีคนกลุ่มที่ถูกเรียกว่านักการเมืองขับเคลื่อน ฉะนั้นแทนที่เราจะมองเขาเป็นผู้ร้าย เราต้องถามตัวเองว่าทำอย่างไรจะมีคนดีๆ มาเล่นการเมืองเยอะๆ

 

ทำไมจึงเลือกที่จะอยู่กับพรรคชาติไทย

อย่างที่บอก ทำให้เป็นตัวของตัวเอง คนอาจจะบอกว่าท่านบรรหารเฮี้ยบ ห้ามโน่นห้ามนี่ แต่ท่านเสรีมากนะ ก่อนจะอภิปราย ท่านบรรหารมาหาแล้วให้ผมพูดให้ฟังว่าจะอภิปรายอะไรบ้าง

 

ตอนนั้นกระทรวงเกษตรฯ โดนปิด ท่านบรรหารก็โกรธว่ามาปิดกระทรวงเกษตรฯ ทำไม ผมก็บอกว่าผมก็คงจะว่าม็อบว่าไม่ควรมาปิดกระทรวงเกษตรฯ ท่านก็บอกว่าใช้ได้

 

ทีนี้วันนั้นผมว่าม็อบเสร็จ ผมว่ารัฐบาลต่อ ท่านบรรหารก็แบบ “คุณไปพูดแบบนี้ได้ยังไง เดี๋ยวรัฐบาลจะว่ายังไง แต่ก็ไม่เป็นไร” อีก 2-3 วันต่อมาท่านก็มาบอกว่าประชาชนเขาชอบนะ การที่คุณพูดแบบนั้น

 

ท่านไม่ได้ตำหนิอะไร ค่อนข้างให้อิสระ คือผมเชื่อว่า ส.ส. พรรคใหญ่ไม่มี เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล พรรคแกนนำฝ่ายค้านจะมาด่ารัฐบาล ด่าคนประท้วงรัฐบาล มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นพรรคที่ทำให้เราเป็นตัวของตัวเองมาก ผมเชื่อว่านโยบายพรรคส่วนหนึ่ง ถึงไม่มีเรา นโยบายมันก็ทำได้ แต่ ส.ส. ที่ดี ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำแทนเรา เราคิดอย่างนั้น

 

อกหักการเมือง เป็น ส.ส. ได้ 11 เดือน วันนี้กำลังขึ้นสู่เก้าอี้เลขาฯ พรรค ความรู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง

เป็นนักรบ บางครั้งถูกมอบหมายให้ไปรบ มันเลือกไม่ได้ว่าฉันยังไม่พร้อม ฉันไม่รบ เมื่อต้องรบ ยังไงมันก็ต้องพร้อม ส่วนหนึ่งที่ผมคิดคือผมค่อนข้างตื่นเต้น เพราะย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่ผมมักถามเพื่อนๆ ส.ส. ว่าถ้าเราอยากเปลี่ยนการเมืองไทยให้ไปในทางที่ดีขึ้น เราควรจะทำอย่างไร เพื่อนหลายคนบอกว่ารอเวลาให้เราโต แล้วเรามาเปลี่ยนมัน

 

เราใจร้อน ถ้าเรารอเวลาจนโตแล้วเรามาเปลี่ยนมัน อะไรการันตีว่าเราไม่โดนเปลี่ยนไปก่อน แต่วันนี้มันมีความรู้สึกว่าความคิดของเรากำลังเป็นนโยบายได้

 

จากเด็กบ้านนอก ส.ส. 11 เดือน แล้วโดนตัดสิทธิ์หายไปจากวงการเมืองแล้วได้ไปเห็นโลก เราเอาสิ่งนี้มาสะท้อนได้ เป็นงานท้าทายว่าทำอย่างไรจึงจะนำแนวทางความคิดเรามาเสนอเขาได้

 

เพราะปัจจุบันเราเห็นว่าคนเลือกการเมืองไม่ได้เลือกจากความรัก เขาเลือกจากความเกลียด แต่ไม่ได้เลือกเพราะว่าอยากจะหาทางออกให้ประเทศอย่างไร ไม่ได้เลือกเพราะอยากให้เขามาทำ แต่เลือกเพราะกลัวคนนั้นจะมาเลยต้องเลือกคนนี้ ซึ่งผมคิดว่าแบบนี้ไม่น่าจะเป็นเจตนารมณ์ของประชาธิปไตย คือทุกคนพูดหมดว่าเป็นประชาธิปไตย ไม่มีใครผิดนะครับ เพราะมันคือเสรีที่สามารถคิดได้ แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่ของที่ใครจะมาบอกว่าทำแบบนี้ถึงจะเกิด

เราหวังว่าหลังการเลือกตั้งแล้วเราจะมี ส.ส. ที่สามารถเป็นปากเสียงประชาชนได้จริงๆ ไม่ใช่ ส.ส. ที่เป็นปากเสียงเฉพาะรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน

 

ตอนนี้กำลังพยายามทำอะไรกับพรรคชาติไทยพัฒนายุคใหม่

หลายครั้งคนถาม เป็นทายาทนักการเมืองจะทำอย่างไร บางครั้งผมก็อยากจะถามกลับว่านักการเมืองควรจะเป็นลูกใครถึงจะเหมาะสม

 

การเป็นลูกของใครไม่ได้เป็นตัวกำหนดคุณสมบัติเขา คุณสมบัติควรอยู่ที่ตัวตน ไม่ใช่ที่ชาติกำเนิด เราไม่สามารถบอกได้ว่าคนที่เรียนสูงจะเก่งกว่าคนเรียนน้อย แต่การจะมาบอกว่าคุณเป็นลูกของนักการเมืองแล้วคุณจะทำการเมืองได้ไหม ผมว่าคำถามไม่ตรงคำตอบ มันควรดูพฤติกรรมว่าเขาเป็นคนอย่างไร

 

สมมติเป็นทายาทนักการเมือง แต่เป็นคนดี เขาขาดคุณสมบัติหรือ หรือถ้าเป็นลูกพ่อค้าแล้วทำตัวกร่าง มีคุณสมบัติหรือไม่ คุณสมบัติไม่ได้อยู่ที่ชาติกำเนิด มันอยู่ที่การทำตัวของเขา

 

กลุ่มของชาติไทย แนวทางเป็นทายาทนักการเมืองก็จริง แต่ต้องดูลึกลงไปว่าเป็นนักการเมืองแบบไหน อย่างภราดร วราวุธ กรวีร์ เขาเป็นนักการเมืองน้ำดี

 

สังคมไทยเป็นประชาธิปไตย แต่เราไปตั้งแง่ว่านักการเมืองเป็นผู้ร้ายแล้ว เราปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศนี้มันจะต้องมีคนกลุ่มที่ถูกเรียกว่านักการเมืองขับเคลื่อน ฉะนั้นแทนที่เราจะมองเขาเป็นผู้ร้าย เราต้องถามตัวเองว่าทำอย่างไรจะมีคนดีๆ มาเล่นการเมืองเยอะๆ เพราะเราอยากจะให้คนที่เป็นผู้ร้ายหรือคนดีมาบริหารประเทศล่ะ ผมเห็นว่าพรรคชาติไทยปัจจุบันให้โอกาสกับคนที่เป็นหรือไม่เป็นทายาทนักการเมือง

 

แต่มันปฏิเสธไม่ได้ครับ การที่คุณเป็นทายาทนักการเมืองมันหมายถึงว่ามีคะแนนนิยมพอสมควร แล้วผมก็เชื่อว่าพรรคที่บอกว่าไม่เอานักการเมือง ถึงเวลาเขาก็ส่งทายาทของนักการเมืองลงสมัคร ไม่ว่าในระดับใด เพราะเวลามันไม่พอหรอกที่คุณจะไปนำเสนอตัว

 

คือพูดความจริง ไม่เอาโลกสวย ด้วยบริบทกฎหมายใหม่ คุณจะทำอย่างไร มันทำแล้วแห่ไม่ได้ ติดป้ายไม่ได้ ปราศรัยไม่ได้ คุณจะไปทำอย่างไรให้ทัน มันเป็นไปไม่ได้ คือพรรคใหม่ๆ ผมก็ว่าเอาคนที่มีฐานมาลงเหมือนกัน คือประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย อย่าไปตั้งแง่ ให้ดูที่การกระทำ ผมเห็นว่าหลายต่อหลายครั้งเราตัดสินคนโดยที่เขายังไม่ได้ทำ เรามักมองมุมเดียวแล้วตัดสินซีนนั้นเลย ปัจจุบันถึงมีคนบอกว่าต้องมองให้ครบทุกมุม คือพรรคชาติไทยพัฒนา

 

เลือกตั้งคราวนี้อาจเป็นพรรคกลางๆ หรือพรรคเล็ก แต่เราหวังว่าหลังการเลือกตั้งแล้วเราจะมี ส.ส. ที่สามารถเป็นปากเสียงประชาชนได้จริงๆ ไม่ใช่ ส.ส. ที่เป็นปากเสียงเฉพาะรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน

ราคิดว่าในสังคมมันทิ้งใครไม่ได้ สังคมที่ทิ้งใครไว้ข้างหลังไม่ได้ เราไม่ดูแลคนเจเนอเรชันก่อนเราไม่ได้ แต่เราต้องวางรากฐานให้คนเจเนอเรชันถัดไป

 

ชูภาพคนรุ่นใหม่เป็นกรรมการบริหารพรรคเป็นกลยุทธ์หรือวิธีคิดอย่างไร แล้วผู้ใหญ่ในพรรคโอเคหรือไม่

ผมเห็นว่าทั้งสองอย่างเป็นทั้งกลยุทธ์ ทั้งวิธีคิด พรรคชาติไทยพัฒนา จะหนุนคนรุ่นใหม่ขึ้นตลอด เพียงแต่คนรุ่นใหม่ในอดีตอาจไม่มีบทบาทสำคัญในการบริหารพรรค เนื่องจากสมัยก่อนมีผู้หลักผู้ใหญ่อยู่จำนวนมาก

 

แต่มาถึงคราวนี้สถานการณ์บังคับว่าจำเป็นต้องเปลี่ยน เรามองว่าถ้าพรรคดำเนินการแบบเดิมๆ มีโอกาสที่พรรคจะเล็กลง แต่เอาคนรุ่นใหม่มา อย่างน้อยมันแสดงให้สังคมเห็นว่าเราเปิดโอกาสให้คนรุ่นหลังๆ ได้เห็นว่ามันมีพรรคการเมืองที่ยินดีฟังคนรุ่นใหม่ จริงๆ แนวของเราเปิดตัวก่อนอนาคตใหม่อีกนะ

 

หน้าตาดูจะเป็นพรรคการเมืองเดิม แต่เปลี่ยนตรงที่ใช้คนรุ่นใหม่

แต่เราคิดว่าในสังคมมันทิ้งใครไม่ได้ สังคมที่ทิ้งใครไว้ข้างหลังไม่ได้ เราไม่ดูแลคนเจเนอเรชันก่อนเราไม่ได้ แต่เราต้องวางรากฐานให้คนเจเนอเรชันถัดไป

 

ฉะนั้นการทำงานของเราต้องมีทั้งแบบใหม่และเก่าผสมผสานกัน เพราะความเป็นจริงของสังคมคือเราเลือกไม่ได้ว่าจะเอาใครแล้วตัดคนอื่นทิ้ง เพราะวันนี้เรามาทำงานอาสาให้ประเทศ ฉะนั้นคนทุกส่วนต้องได้รับผลดี จะมากจะน้อย บางกลุ่มอาจจะมากกว่า แต่ต้องไม่มีใครที่ไม่ได้เลย ฉะนั้นเราก็ทิ้งใครไม่ได้

 

ทำไมต้องท็อป วราวุธ เป็นหัวหน้าพรรค มั่นใจขนาดไหนต่อการเป็นหัวขบวน

แต่ก่อนผมก็เคยถามคำถามนี้กับผู้ใหญ่ว่า “เป็นพี่ท็อปได้หรือ ทำไมไม่เอาคนอื่นก่อน แล้วให้พี่ท็อปเป็นเลขาฯ” ผู้ใหญ่ค่อนข้างมั่นใจในตัวพี่ท็อป ก็เลยลองคุยกัน

 

สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นในตัวพี่ท็อปคือเป็นคนเก่ง แต่ด้วยความที่แกเป็นคนเฟรนด์ลีมาก เล่นสนุก บางคนอาจคิดว่าแกเป็นเด็ก แต่ความคิดแกไม่เด็ก ในหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะเรื่องการเมือง แกมองไปไกลกว่านักการเมืองผู้ใหญ่บางคน แล้วสิ่งหนึ่งที่มีเต็มเปี่ยมคือความเป็นคนรุ่นใหม่ แกรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งหาได้ยากสำหรับคนที่จะเป็นหัวหน้าพรรค ทำให้เรารู้สึกว่าเรายอมรับได้ เพราะหนึ่ง เขาเป็นคนเก่ง ไม่ต้องสงสัย แล้วเขารับฟัง เขาขยัน เขาเต็มที่กับการเมือง แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่เราไม่สนับสนุนเขา

 

มันไม่ใช่แค่ความเป็นทายาท ถ้าไม่อย่างนั้นทำไมไม่เอาพี่นา (กัญจนา ศิลปอาชา) พี่นาก็มี แต่เขาก็ไม่ได้ชอบ ก็ไม่ได้สนใจ ของแบบนี้มันสืบทอดทางสายเลือดได้ไม่หมดร้อยเปอร์เซ็นต์ มันไม่ใช่แค่ born to be มันต้อง try to be ด้วย เขาพยายาม เขาถูกวางตั้งแต่เด็ก 6-7 ขวบ เขาไปเดินหาเสียงกับคุณพ่อเขา สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่จะไปไกลเท่าไรเป็นเรื่องของอนาคต เรื่องของประชาชนต้องตัดสิน

เราก็เป็นพรรคขนาดกลาง เราจะไปร่วมกับใคร มันไม่สามารถตอบได้ตั้งแต่ยังไม่เลือกตั้ง แต่เราไม่คิดทำพรรคการเมืองที่ทำการเมืองแบบเหลาะแหละ เราอยากเป็นพรรคทางเลือกที่สามจริงๆ

 

‘ปลาไหล’ คิดอย่างไรกับคำนี้ ต้องลบคำครหานี้ไหม

ผมถามว่าคำว่าปลาไหล คนที่เป็นปลาไหลตอนนี้เขาอยู่พรรคชาติไทยพัฒนาหรือเปล่า ไม่ได้อยู่แล้วนะ คำว่าปลาไหลผมเข้าใจว่ายกมือให้รัฐบาลแล้วถึงเวลาก็พลิกไปเลยทันที พรรคชาติไทยพัฒนาพูดถึงเราก็ไม่ชอบนะ

 

ส่วนตัวผม ผมไม่ชอบ แต่ด้วยความที่เราเป็นพรรคกลาง พรรคเล็ก ความที่เราอยากเป็นทางเลือกที่สาม หลายครั้งที่ผมถามกลับว่า ถ้าอย่างนั้นในเมื่อยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง ผมควรจะอยู่ข้างใครถึงไม่เป็นปลาไหล ถูกไหม

 

ในเมื่อพรรคเรามันเป็นตัวแปร สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือการเมืองมันเป็นเกมของตัวเลข ข้อเท็จจริงที่หนีไม่พ้นคือพรรคใหญ่สุดเป็นคนเลือก สิ่งที่เราทำได้คือเราจะมีนโยบายเซตหนึ่งชัดเจน ถ้าฝ่ายไหนรับนโยบายเราไปทำได้ เรารวม ถ้ารับไปทำไม่ได้ เราเป็นฝ่ายค้าน พรรคชาติไทยพัฒนาพร้อม เคยเป็นฝ่ายค้านมาแล้ว

 

แต่ถ้าจะมาบอกว่าปี 2550-2551 ที่บอกว่าแต่ก่อนอยู่กับพลังประชาชนแล้วพรรคโดนยุบไปอยู่กับประชาธิปัตย์ คุณดูแบบไม่มีอคติก็ต้องรู้ว่าสถานการณ์มันเป็นแบบไหน

 

ถ้าเราเป็นปลาไหล พรรคชาติไทยพัฒนาไม่รอจนโดนยุบพรรค พรรคชาติไทยพัฒนาย้ายขั้วเลย ถูกไหม มันง่ายกว่าเยอะ เราไม่ต้องรอจนโดนยุบพรรค คือเราเป็นพรรคขนาดกลาง เราหวังว่าจะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล แต่พอคะแนนออกมา เราก็เป็นพรรคขนาดกลาง เราจะไปร่วมกับใคร มันไม่สามารถตอบได้ตั้งแต่ยังไม่เลือกตั้ง แต่เราไม่คิดทำพรรคการเมืองที่ทำการเมืองแบบเหลาะแหละ เราอยากเป็นพรรคทางเลือกที่สามจริงๆ

ผมคิดว่าความเสรีมันมี แต่เราก็ต้องเคารพด้วย แล้วมาปรับให้กับประเทศแบบเรา ปรับให้เหมาะสมกับความเป็นไทย ถ้าใครจะบอกว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ผมก็ไม่ได้ว่ามันผิด

 

การเกิดขึ้นของพรรคใหม่ที่กำลังมา เช่น อนาคตใหม่ คิดว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวไหม

โดยพื้นฐานเราเป็นประเทศประชาธิปไตย เมื่อมีเวทีให้แสดงออก มีโอกาส ทุกคนก็ตื่นเต้น ทุกคนเกิดมาบนพื้นฐานของความเสรี เราหวังที่จะเห็นอะไรที่แสดงความคิดเห็นแบบอิสระ ตรงไปตรงมาได้

 

อย่างอนาคตใหม่ เป็นเรื่องน่าดีใจที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากๆ มาทำการเมืองแบบนี้ แต่แนวทางอาจต่างกับเราตรงที่ว่า เราคิดว่าทางออกในการแก้ปัญหาของสังคมมีหลายวิธีมากกว่าการยอมหักไม่ยอมงอ โดยเฉพาะผมมักจะเห็นคนที่เปรียบเทียบการเมืองไทยกับการเมืองประเทศโน้นประเทศนั้น

 

แต่การที่การเปรียบเทียบเขาเทียบแค่มุมเดียว แค่มุมที่ตัวเองได้ประโยชน์ เช่น เอาไปเทียบสหรัฐฯ แต่คุณไม่ดูล่ะว่าหลังจากเลือกตั้งเสร็จ แพ้ก็คือแพ้ ชนะคือชนะ พอมันถึงประเด็นไหนที่เขาต้องตัดสินใจเพื่อชาติ เขาร่วมมือกัน ทำไมตัวอย่างเหล่านี้พวกคุณไม่ดู ไปดูแค่วันเลือกตั้ง ไปดูแค่แคมเปญหาเสียง ดูแค่ระบบเลือกตั้ง ทำไมไม่ดูจริยธรรมเขา

 

ฉะนั้นผมคิดว่าความเสรีมันมี แต่เราก็ต้องเคารพด้วย แล้วมาปรับให้กับประเทศแบบเรา ปรับให้เหมาะสมกับความเป็นไทย ถ้าใครจะบอกว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ผมก็ไม่ได้ว่ามันผิด ผมว่าประเทศที่ปกครองแบบเรามันมีกี่ประเทศ ประเทศที่มีสถานการณ์แวดล้อม มีสภาพสังคมเศรษฐกิจแบบเรามันมีกี่ประเทศ ฉะนั้นอย่าเอาแอปเปิ้ลไปเทียบกับแตงโม มันต้องเทียบแอปเปิ้ลกับแอปเปิ้ล ผมคิดอย่างนั้น

 

ความพร้อมของพรรคชาติไทยพัฒนาถ้าปลดล็อกมีแค่ไหน

ถ้าปลดล็อก อีกแค่ 3-4 เดือนเลือกตั้งก็ทัน ทันทุกเหตุการณ์ เราเตรียมตัวมาพอสมควร มีทรัพยากรบุคคลที่ค่อนข้างพร้อม ส.ส. เก่าของเราที่เป็นความหวังอยู่กับเราก็มาก ถึงแม้มีคนออกไปบ้างก็เป็นธรรมดาทางการเมือง ในอดีตบางทีไปทั้งพรรคเลยก็ยังมี มีคนอยากไปก็มีคนอยากเข้ากับเรา ปัจจุบันมีคนพอสมควรที่มองว่าพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นทางเลือกที่สามให้เขาได้

 

ประชาชนในชนบทที่รู้สึกว่าพรรคชาติไทยพัฒนามันไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร แล้วเขาชอบวิถีแบบนี้มันก็มีพอสมควร

 

บางครั้งเราไปคุยกับผู้สมัครง่ายด้วยซ้ำ เพราะอยู่พรรคชาติไทยพัฒนาดีกว่า

 

 

เล่าให้ฟังหน่อย หลายคนอาจไม่รู้ ไทบ้าน เดอะซีรีส์ เราเป็นนายทุน ไปทำตรงนี้ได้อย่างไร  

ผมชอบเรื่องส่งเสริมเยาวชน ผมเคยจัดดูดาวครั้งหนึ่ง สักปี 2548-2549 จำไม่ได้ว่าปีไหน ปีนั้นผมจัดค่ายดูดาว มีเด็กกลุ่มหนึ่งประมาณ ม.3-ม.4 มาถาม ถือกล้องมา “เฮีย ผมถ่ายไม่ติด สอนหน่อย” ผมก็สอน มือเปิดสปีดชัตเตอร์ต่ำๆ เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับถ่ายรูป

 

หลังจากวันนั้นเด็กกลุ่มนั้นก็ไปเรียนเกี่ยวกับถ่ายรูป แล้วเด็กกลุ่มนั้นชอบ ก็ไปถ่ายมิวสิกวิดีโอ ปรากฏว่าผมชอบอะไรพวกนี้ เวลาเราดูหนังเราก็มีความคิดว่าอย่าง กวน มึน โฮ คนไทยดูหนังแล้วเราอยากไปเที่ยว ทำไมเราไม่มีหนังที่ดูแล้วอยากมาเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษบ้าง

 

ทีนี้ปีนั้นเด็กพวกนี้เรียนจบพอดี จำไม่ได้แล้วว่าเคยสอน จำไม่ได้แล้วว่าเคยบอกอะไร ปรากฏว่าเด็กกลับมาแล้วมาขอทุนทำหนังสั้นเพื่อเป็นโปรเจกต์จบ ก็ขอ 15,000 บาทสมัยนั้น

 

เราก็ถามว่าไปทำหนังอะไร เด็กจบใหม่มันอยากทำหนังอินดี้ เราก็บอกว่าอย่าอินดี้มากได้ไหม เอาเป็นว่าไปทำหนังให้จังหวัดได้ไหม ไหนๆ ก็โปรเจกต์จบ ให้จังหวัดได้ประโยชน์ด้วยได้ไหม

 

ปีนั้นจัดกิจกรรมโยธวาทิตพอดี เขาก็ไปทำหนังเกี่ยวกับโยธวาทิตที่เป็นหนังรัก คือไม่ฮาร์ดเซลว่าหนังโยธวาทิต เป็นหนังรักน่ารักๆ พูดถึงความพยายามของคนที่อยู่วงโยธวาทิต อยู่มาวันหนึ่งเขาก็เอาโปรเจกต์มาให้ดู เอาทีเซอร์มาให้ แล้วบอกว่าเขาลงขันกันทำทีเซอร์ ปกติเขาทำหนังแล้วตัดมาทำทีเซอร์ แต่อันนี้ไม่มีเงินทำหนัง ก็ลงขันทำทีเซอร์แล้วมาเร่ขาย เราก็ดู แล้วคอนเซปต์มันน่ารัก

 

แล้วเราก็ถามว่าพื้นฐานของหนังคืออะไร เขาก็บอกว่าอยากจะพูดถึงชีวิตคนอีสานที่มันไม่ต้องปรุงแต่ง เป็นมุมมองของคนอีสานแท้ๆ เพราะหลายครั้งคนกรุงเทพฯ ไปทำหนังคนอีสานแล้วเขาก็ใส่มโนของเขาว่าชนบทจะต้องเป็นแบบนี้ แต่พวกนี้เป็นคนอีสานที่จะถ่ายทอดชีวิตของคนอีสานไปให้คนอื่นเขาดู ไปหาสปอนเซอร์ก็ไม่ได้ เพราะนักแสดงมันหน้าใหม่หมดเลย

 

เราก็แปลกใจตรงที่ว่าทำไมเด็กพวกนี้แสดงได้เป็นธรรมชาติมาก ไม่แข็ง เพราะเด็กพวกนี้แสดงเป็นตัวเองหมดเลย ไม่ต้องมีนักแสดงหลัก นักแสดงรับเชิญ นักแสดงหน้าใหม่หมด เราก็คุยกันว่าใช้เงินประมาณ 2 ล้านในภาคแรก อุปกรณ์ไม่มีก็ไปยืม

 

ผมก็จะสอนเด็กพวกนี้เหมือนกับสมัยที่ผมเริ่มทำธุรกิจ คือมีเงินเท่านี้ ทำยังไงถึงจะไปรอด ให้เขาคิดให้รอบด้านและรัดกุมว่าทำอย่างไรมันถึงจะไปได้จนถ่ายทำเสร็จ เงื่อนไขมีอย่างเดียวคือให้ถ่ายในจังหวัดศรีสะเกษ ให้คนรู้ว่าเป็นจังหวัดศรีสะเกษ แต่ในชื่อหนังไม่ต้องมีจังหวัดศรีสะเกษ เพราะไม่อยากให้คนรู้ว่าเป็นหนังของจังหวัดเดียว แต่อยากให้คนอีสานดูได้ คนไทยดูได้ แล้วรู้ว่าสถานที่เหล่านี้มันอยู่จังหวัดศรีสะเกษนะ ถ้ามีโอกาสก็แวะมา

 

จากเริ่มต้นที่ไม่มีอะไรเลย แสงไม่มี สมมติถ่ายตี 4 มันก็รอถึงตี 4 แล้วถ่าย ไม่มีคอสตูมก็ใส่เสื้อบอลนอน แต่พอคนดูเขาก็รู้สึกว่ามันธรรมชาติ มันก็เป็นกระแสแรงมากสำหรับคนอีสาน โรงแตกทุกโรง แล้วอย่างบิ๊กซี บางพลี อยู่ 5 สัปดาห์ ซึ่งเราคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากมาก

 

หนังที่เราเริ่มฉายจากภาคอีสานจนภาค 2 ฉายทั่วประเทศ ซึ่งหนังลงทุนไม่ถึงสิบล้าน เราขายได้ 60-70 ล้าน เราถือว่าพอใจมาก จนเด็กไปทำมิวสิกวิดีโอทีละร้อยกว่าล้านวิว เป็นรายได้ ออกทัวร์คอนเสิร์ต รับงานโฆษณา ซึ่งเป็นความสำเร็จพอสมควร

 

จะมีภาคต่อไหม

จะมีเป็นจักรวาลเลยครับ ไทบ้าน เดอะซีรีส์ ระหว่างภาคนี้จะมีอีกเพลงออกมา ตัวละครที่ตายไปจะออกมาอีกเส้นเรื่องหนึ่งเป็นหนังผี ตัวแสดงตัวหนึ่งจะเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เป็นเหมือนจักรวาลมาร์เวล พอถึงเวลาก็มารวมกัน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising