ในขณะที่ความร้อนแรงของการนับคะแนนและหลากข้อสงสัยต่อ กกต. ยังไม่ซาลงไป หนึ่งความน่ายินดีในหน้าการเมืองไทยเวลานี้ คือการได้เห็นชื่อของ กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีตผู้กำกับภาพยนตร์ที่ฝากผลงานไว้มากมายทั้ง It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก หรือ ปั๊มน้ำมัน ที่ในปัจจุบันเธอเปลี่ยนบทบาทลงสมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 9 ของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งตอนนี้มีสิทธิได้ที่นั่งเป็น ส.ส. ในสภาจากการที่พรรคอนาคตใหม่มีคะแนนมากพอที่จะพาเธอเข้าสภาได้
จริงๆ แล้วเราได้เห็นสำนักข่าวหลายแห่งสัมภาษณ์ธัญญ์วาริน และนำเสนอตัวตนของเธอโดยเลือกใช้คำว่า ‘กะเทย’ หรือ ‘คนข้ามเพศ’ ในการอธิบายเพศของธัญญ์วาริน ในแง่หนึ่งเราเลือกมองว่าเป็นการเลือกคำที่ ‘เข้าใจง่าย’ สำหรับคนหมู่มาก ซึ่งในจุดนี้ธัญญ์วารินเองก็เห็นด้วย แต่สิ่งที่เธอต้องการหากได้เข้าไปในสภาคือการสื่อสารประเด็นความหลากหลายทางเพศ และความไหลลื่นทางเพศให้ประชาชนได้เข้าใจ และนี่คือถ้อยคำของว่าที่ ส.ส. หลากหลายทางเพศคนแรกของสภาไทย นอกเหนือจากความดีใจของเธอ คือพลังที่เธอยืนหยัดกับเราว่า “พี่ไม่ได้มาเพื่อเป็นสีสัน”
ความรู้สึกแรกหลังจากทราบผลคะแนนคร่าวๆ
จริงๆ ยังไม่กล้าบอกว่าตัวเองเป็น ส.ส. แล้ว เพราะว่าต้องรอความชัดเจนของผลการเลือกตั้งที่ต้องรับรองโดย กกต. ที่จะประกาศหลังจากนี้ ขออนุญาตใช้คำว่า ‘ว่าที่’ ไปก่อนดีกว่า แต่การที่เราได้เห็นผลคะแนน เราดีใจมาก
เรารู้สึกว่าสิ่งที่พรรค สมาชิกพรรค และคณะทุกคนทำงานกันหนักมาก มันเป็นการเมืองแบบใหม่ที่เรานำเสนอนโยบาย เข้าถึงประชาชนที่สุด ไม่ใช่การเมืองแบบเก่า และเราได้เห็นผลตอบรับที่ดีมาก ดีใจที่เราได้เห็นภาพการเมืองแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศ
ยอมรับว่าตอนแรกก็กังวลมาก แต่สิ่งที่เราทำคืออุดมการณ์ที่มั่นคงและแน่นอน เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในระยะยาว ในฐานะพรรคมีอายุปีเดียว แต่มีประชาชนคนไทยเลือกเราเยอะขนาดนี้ถือว่าน่าดีใจมาก แต่เราก็ต้องต่อสู้กันอีกเยอะมากเพื่อระบอบประชาธิปไตยที่เราอยากเห็น และภาพของความหลากหลายที่เราอยากเห็น ไม่ใช่แค่กลุ่มความหลากหลายทางเพศ แต่เราเห็นคนพิการ คนใช้แรงงาน หรือกลุ่มคนชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นการที่ประชาชนคนไทยจากหลายๆ กลุ่มควรได้นั่งทำหน้าที่ในสภา และน่าจะได้เห็นในอนาคตอันใกล้
เราจะสามารถนิยามคุณว่าเป็น ส.ส. หลากหลายทางเพศที่ ‘เปิดตัว’ คนแรกของสภาไทยได้หรือไม่
ได้ค่ะ พี่บอกด้วยความภาคภูมิใจตั้งแต่ก้าวแรกที่พี่เข้าไปสมัครที่พรรคแล้วว่า พี่ต้องการจะเป็น ส.ส. กะเทยคนแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทย จริงๆ พี่อยากอธิบายให้เข้าใจว่าในหลายๆ สื่อที่ใช้คำว่าคนข้ามเพศหรือกะเทย พี่ว่ามันเกิดความสับสนจริงๆ เพราะอย่างเข้าใจง่ายที่สุด เรียกพี่ว่าเป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศคนหนึ่งก็ได้ แต่พี่ก็เข้าใจนะว่าบางสื่ออาจจะแปลงมาจากคำว่า Transgender บางเพจเรียกพี่ว่าไบเซ็กชวล หรือเรียกว่ากะเทยก็โอเค จะเรียกว่า Non-Binary (กลุ่มคนที่ไม่แบ่งแยกเพศว่าเป็นหญิงหรือชาย) ก็ได้ มันเป็นเรื่องของความลื่นไหลทางเพศที่ยังไม่ถูกอธิบายแน่ชัดในสังคมไทย
หากคุณได้เป็น ส.ส. LGBTQ คนเดียวในสภาที่กำลังจะก่อตั้ง คุณจะต่อสู้กับกลุ่มเพศตรง (Straight) คนอื่นๆ ให้เข้าใจแนวคิดของคุณได้อย่างไร
พี่มั่นใจว่าพี่ไม่ได้อยู่คนเดียว เราทำงานกันเป็นทีม และนโยบายของพรรคก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า เราวางรากฐานความเข้าใจเรื่องความหลากหลายและความแตกต่างในสังคม ไม่ได้มีแค่เรื่องเพศอย่างเดียว และถึงพี่จะเป็นกะเทยแต่งหญิงคนเดียวในสภา แต่พี่ไม่ได้ยืนต่อสู้คนเดียวแน่นอน และถ้าพี่สามารถอธิบายคนทั้งในสภาให้เข้าใจความหลากหลายของมนุษย์ เคารพในความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกันได้แน่นอน และอยากให้ทำความเข้าใจตรงกันว่า ‘พี่ไม่ได้มาเป็นสีสันของการเมืองไทย’ พี่เป็นหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงมีศักดิ์ศรีเท่า ส.ส. ทุกคนในสภา เพราะทุกคนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่มีการแบ่งแยกเสียงมีคุณภาพ หรือไม่มีคุณภาพ
สิ่งที่เราพยายามเรียกร้องกันอยู่ ไม่ได้เรียกร้องเพื่อให้ได้มากกว่าผู้ชายผู้หญิงทั่วไป เราเรียกร้องแค่ความเท่าเทียมกัน พี่โดนคอมเมนต์ต่อว่าในโซเชียลถึงการเรียกร้องตรงนี้ เราอยากจะบอกว่าเราไม่เคยเรียกร้องเพื่อให้ได้เยอะกว่า แต่เราเรียกร้องให้ได้เท่ากับที่คุณได้ สิ่งที่เราเรียกร้องคุณไม่ได้เสียอะไร แต่พวกเราจะได้เท่าคุณเท่านั้นเอง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์