คลิปเสียงสนทนาพร้อมภาพประกอบรูปเงาคล้าย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สนทนากันยาวประมาณ 40 วินาที ถูกนำเสนอผ่านรายการ ข่าวข้น คนเนชั่น ที่ออกอากาศเมื่อคืนวันอังคารที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมาทางช่องเนชั่นทีวี ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ในชั่วข้ามคืน ทั้งยังถูกโลกโซเชียลมีเดียวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความไม่เหมาะสมในการนำเสนอเนื้อหา
ภายหลังคลิปเสียงนี้ได้ถูกผู้ใช้งานในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชำแหละอย่างละเอียด พร้อมชี้ให้เห็นว่าเกิดขึ้นจากการตัดต่อ โดยนำคลิปวิดีโอที่นายทักษิณเคยสอนวิชาคณิตศาสตร์นักเรียนในอดีต สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเข้ามาประกอบการจัดทำ
ไม่ว่าผู้จัดทำคลิปจะเป็นใคร มีจุดประสงค์อื่นใดแอบแฝง แต่การนำเสนอเนื้อหาเช่นนี้ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคมจึงทำให้สังคมจับตามากเป็นพิเศษ ยิ่งไปกว่านั้นกรณีนี้อาจจะเทียบเคียงได้กับ ‘ข่าวปลอม’ (Fake News) ที่หลายประเทศทั่วโลกเคยเผชิญในช่วงสถานการณ์สำคัญๆ เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2016 หรือกรณี Brexit โหวตออกจากสหภาพยุโรปโดยสหราชอาณาจักร
THE STANDARD ชวนคุณมาถอดบทเรียนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เพื่อให้สังคมไทยได้ก้าวผ่านข่าวปลอมและการบิดเบือนข้อมูลอย่างรู้เท่าทันไปพร้อมๆ กัน
Disinformation และ Misinformation สองคำที่คล้ายจะเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ ‘เจตนา’
เมื่อมีการพิสูจน์ในเบื้องต้นว่าคลิปเสียงที่ถูกเผยแพร่ออกไปเกิดขึ้นจากการตัดต่อ เท่ากับว่าการนำเสนอข้อมูลดังกล่าวก็เข้าข่ายการเผยแพร่ข่าวปลอมเต็มๆ แต่โดยเจตนาหรือไม่เจตนานั้นก็สุดที่ใครจะล่วงรู้ได้
นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว THE STANDARD ที่มีโอกาสเดินทางไปศึกษาการทำงานของสื่อมวลชนสหรัฐอเมริกาในประเด็นการจัดการความจริงและข่าวปลอมยุคสื่อดิจิทัลครองเมือง โครงการ International Visitor Leadership ได้แยกกรณีการสร้างความเข้าใจที่ผิดๆ ซึ่งเกิดจากสื่อมวลชนออกเป็นคำศัพท์ 2 คำ ได้แก่
- Disinformation ข่าวบิดเบือนที่เกิดจากความตั้งใจ
- Misinformation ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ‘โดยไม่ได้ตั้งใจ’
กรณีศึกษาในสหรัฐอเมริกา นครินทร์บอกว่าข่าวปลอมจะไม่ได้เกิดขึ้นจากสื่อกระแสหลัก แต่เกิดจากตัวสื่อปลอมที่ตั้งตนขึ้นมาเพื่อต้องการสร้างความเข้าใจที่ผิดๆ ให้กับประชาชนคนรับสารผ่านวิธีการสร้างสำนักข่าวปลอมขึ้นมาเลียนแบบ โดยมีจุดประสงค์แอบแฝงให้คนที่ไม่ทันสังเกตแยกไม่ออก (สร้างอัตลักษณ์และชื่อเรียกให้คล้ายกับสำนักข่าวจริง) ซึ่งในประเทศไทยก็มีกรณีที่คล้ายคลึงเกิดขึ้นเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่สื่อปลอมจะมีจำนวนไม่มาก เอ็นเกจเมนต์น้อย และมีจุดประสงค์การทำเพจเพื่อการล้อเลียนมากกว่า
แต่สิ่งที่ประเทศไทย ‘เหนือกว่า’ สหรัฐอเมริกาคือการที่เพจอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ ในโลกโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลและมีบทบาทสูงมากในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่มีกระแสไวรัลใดๆ เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ ต้นทางส่วนใหญ่ก็มักจะมาจากเพจเหล่านี้เป็นหลัก
อย่างไรก็ดี ปัญหาข่าวปลอมและการบิดเบือนข้อเท็จจริง (Disinformation) ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ได้ยกระดับกลายเป็นความน่ากลัวขึ้นมาทันที เนื่องจากผู้ที่เผยแพร่คือ ‘สำนักข่าวกระแสหลัก’ เสียเอง
เรื่องเดียวกันนี้ ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองไม่ต่างกัน โดยระบุว่าสภาวะแวดล้อมของการไหลเวียนข่าวสารในโลกปัจจุบันจะไหลเวียนระหว่าง ‘โลกโซเชียล’ และ ‘สื่อกระแสหลัก’ ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นว่าข่าวปลอมหรือข่าวลือจะแพร่กระจายได้เร็วหรือเกิดกระแสไวรัลก็ต่อเมื่อมีอินฟลูเอนเซอร์บนโลกออนไลน์หรือสื่อมวลชนนำไปเล่นต่อ
“ในกรณีของสถานีโทรทัศน์ที่นำคลิปเสียงนี้ไปเล่น แน่นอนว่ามันก็กลายเป็นประเด็นทางสังคมจนทำให้เกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ใครที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นสื่อ ตามจรรยาบรรณก็ควรจะต้องวางตัวเป็นกลาง โดยเฉพาะช่วง Swing Vote นี้ที่ประชาชนและคนส่วนใหญ่ต้องการจะช้อปปิ้งข้อมูลข่าวสารเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้ง ดังนั้นการจะนำข่าวมาเล่น นักข่าวควรต้องตรวจสอบข้อมูลจากหลายๆ แหล่งก่อนจะนำมาเผยแพร่ โดยเฉพาะในช่วงการเลือกตั้งที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน”
ผศ.พิจิตรา บอกต่อว่าแม้คนส่วนใหญ่มักจะพูดว่าสื่อเลือกข้างได้ แต่กลับกันในโลกของงานข่าวที่ว่ากันด้วยข้อเท็จจริงและไม่ใช่ความคิดเห็น ข่าวทุกชิ้นที่จะถูกนำเสนอควรต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยตัวนักข่าวก่อนเผยแพร่เสมอ
“นักข่าวควรจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้กรองความถูกต้องก่อน เพราะมันคืออาชีพของคุณ หากมีการพิสูจน์แล้วว่าคลิปเสียงดังกล่าวคือข่าวปลอมจริง แล้วมีการนำมาเผยแพร่ในช่วงที่คนกำลังจะตัดสินใจในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งก็ถือว่าผิดจรรยาบรรณ”
อีกครั้งที่ประชาชนคนรับสารควรรู้เท่าทันและเสพสื่ออย่างมีสติเสมอ
ถ้ายังจำกันได้ ครั้งหนึ่ง THE STANDARD เคยนำเสนอเทคโนโลยีการนำเสนอข่าวปลอมที่วิวัฒนาการขึ้นไปอีกระดับอย่าง ‘Deepfake’ ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้มันอาจจะกลายเป็นเครื่องมือให้ผู้ไม่หวังดีใช้โจมตีกันไปมาก็ได้ และความน่ากลัวที่เหนือกว่าข่าวปลอมทั่วไปหรือคลิปเสียงปลอมคือความยากที่คนทั่วไปจะแยกแยะข้อเท็จจริง
กรณีคลิปเสียงปลอมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการรู้เท่าทันสื่อและการบริโภคข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในโลกยุคปัจจุบันถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนจากเหตุการณ์นี้คือผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่ไม่ได้เชื่อทันทีว่าคลิปเสียงที่ทางสถานีโทรทัศน์นำมาเปิดเผยเป็นเรื่องจริง แถมยังไปค้นหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจนพบเข้ากับต้นตอของการบิดเบือนข้อมูลในที่สุด
แต่กับประชาชนคนอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญการใช้สื่อหลากหลายช่องทาง รู้เท่าทันสื่อมากพอ และเสพสื่ออย่างมีสติ นี่ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมากๆ เพราะเท่ากับว่าไวรัสข่าวปลอมจะระบาดและแทรกซึมได้ง่ายขึ้นหากคุณไม่มีภูมิต้านทาน
ผศ.พิจิตรา ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่าปัจจุบันผู้บริโภคสารจะต้องพยายามแยกให้ออกระหว่างความเห็นกับข้อเท็จจริง ต้องดูว่าอะไรน่าเชื่อถือ พร้อมชี้ว่าในโลกของการเมือง เวทีดีเบตของสำนักข่าวต่างๆ ถือเป็นพื้นที่ที่ดีที่จะให้ประชาชนได้เข้าไปเก็บเกี่ยวข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจก่อนเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง
“ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องชั่งน้ำหนักความเป็นไปได้ในเชิงนโยบายของผู้สมัครจากแต่ละพรรคด้วยนะคะ”
ด้านนครินทร์ทิ้งท้ายว่า “ก่อนถึงวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม ผู้บริโภคต้องมีสติสูงมาก นอกจากจะห้ามไม่ให้ใครมาลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการกาบัตรเลือกตั้งของเราแล้ว ก็ต้องไม่ให้ใครมาลิดรอนสติของเราเป็นอันขาด”
ไม่ใช่แค่รู้เท่าทัน แต่ต้องเสพสื่ออย่างมีสติด้วยเช่นกัน
ภาพประกอบ: Pichamon W.
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์