วันเลือกตั้ง

ศึกเลือกตั้ง 62 เอา VS ไม่เอา คสช. สืบทอดอำนาจ มุมมองจากสิริพรรณ นักรัฐศาสตร์ (1)

05.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • วันนี้รัฐบาลไม่เป็นคนกลางแล้ว แต่เป็นหนึ่งเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ การเลือกตั้งครั้งนี้คือการสู้ระหว่างสองความต้องการ หนึ่งคือต้องการให้ คสช.สืบทอดอำนาจต่อไป หรือสอง ต้องการยุติอำนาจของ คสช.
  • เลือกตั้งครั้งนี้รัฐบาลไม่ใช่ ‘รัฐบาลรักษาการที่ถูกจำกัดอำนาจ’ แต่รัฐบาล คสช. ยังมีอำนาจเต็ม
  • จากกติกาที่ออกแบบให้ตัวบุคคลมีอิทธิพลกว่าพรรค ทำให้พลังดูด-มุ้งการเมือง-การเมืองแบบเก่า-พรรคนอมินี-ต้นทุนของการส่งผู้สมัครที่สูงขึ้น เพื่อเก็บคะแนนตกน้ำ คือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากกติกาแบบนี้

อุณหภูมิการเมืองเวลานี้เริ่มเดือดมากขึ้น เพราะนับวันยิ่งเหมือนจะชัดเจนว่าการเลือกตั้งจะมีในปี 2562 นี้ ไม่ว่าจะเป็นเดือน ก.พ. หรือ พ.ค. ก็ตาม

 

การแบ่งฟากของพรรคการเมืองก็เริ่มเผยภาพชัดมากขึ้น เมื่อพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เอ่ยออกมาว่า “พรรคเราก็คือ พรรครัฐบาล” ซึ่งไม่ว่าพรรครัฐบาลคือพรรคอะไร แต่การปรากฏขึ้นของพรรคพลังประชารัฐ และอีกหลากพรรคที่ออกตัวสนับสนุนให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ก็ทำให้ภาพการเมืองวันนี้ชัดเจนขึ้น

 

ในขณะที่พรรคการเมืองอีกฟากหนึ่ง ก็ยืนหยัดประกาศกร้าวว่าจะต่อต้านการสืบทอดอำนาจต่อของ คสช.

 

ทำให้ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งครั้งนี้ชัดเจนว่า จะเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง

 

นอกจากเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทย การเลือกตั้งครั้งนี้มีอะไรเปลี่ยนไปจากครั้งก่อนๆ ตัวแปร ปัจจัยที่ต่างออกไปจะส่งผลอย่างไรต่อสมการการเลือกตั้ง สมรภูมิการเมืองที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้

 

THE STANDARD ชวนมาหาคำตอบจาก รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ ซึ่งศึกษาถึงระบบเลือกตั้งในประเทศต่างๆ

 

อาจารย์เริ่มต้นด้วยการพูดถึงบริบทของการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ การมีกติกาใหม่ และผลพวงที่เกิดขึ้นจากกติกาเหล่านั้น

 

 

อารมณ์ของคนไทยกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงเป็นอย่างไร

อารมณ์ของคนไทยเป็นอะไรที่ประเมินได้ยาก แต่ละคนก็ได้รับข้อมูลแบบตาบอดคลำช้าง ไม่มีใครได้รับข้อมูลเต็มๆ และการเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างจากปี 2554 ซึ่งนับไปถึงปีหน้าก็ 8 ปีเต็มๆ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกระหว่างพรรคที่ออกมาประกาศตัวชัดเจนว่าจะสนับสนุนการดำรงอยู่ในอำนาจของ คสช. นำโดย พลังประชารัฐ รวมพลังประชาชาติ พลังพลเมืองไทย

 

ซึ่งข้อน่าสนใจของฝั่งนี้คือ ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้นโยบายพลังประชารัฐเหมือนกัน นอกเหนือจากนโยบายอื่นๆ เช่น ‘ไทยนิยม’ เราจะเห็นว่าชื่อ ‘ประชารัฐ’ กับชื่อ ‘พลังประชารัฐ’ ก็คือชื่อเดียวกัน ดังนั้นก็เป็นที่ชัดเจน

 

อีกฝั่งหนึ่งก็เป็นพรรคที่ต้านการดำรงอยู่ของอำนาจ คสช. ก็มีพรรคนำหลักอย่างชัดเจนคือ เพื่อไทย และอนาคตใหม่ ดังนั้นสองฝั่งของการเลือกตั้งครั้งนี้ก็น่าจะเข้มข้นพอสมควร แทบจะไม่มีพื้นที่อื่นนอกจากสองฝั่งนี้

 

พรรคที่ไม่ประกาศตัวอย่างชัดเจนก็น่าสนใจ เพราะเป็นพรรคที่เชื่อว่าในที่สุดแล้วจะสามารถร่วมรัฐบาลได้ไม่ว่าฝั่งไหนคุมเสียงข้างมาก อย่าง ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา และประชาธิปัตย์ ซึ่งท่าทียังไม่ชัดเจน แต่เชื่อว่ากลุ่มหลังจะเป็นกลุ่มที่ได้เป็นรัฐบาลไม่ว่าใครจะเป็นแกนนำ

 

มองประเด็นนี้ภาพที่สะท้อนสังคมไทย คือความแตกแยกร้าวลึกยังดำรงอยู่ นั่นคือ 4 ปีที่ผ่านมาไม่มีความสามารถใดๆ ปฏิรูปการเมือง นำพาความรู้สึกที่จะประสานกันได้ และความขัดแย้งนี้จะเป็นตัวแปรหลักในการตัดสินใจเลือกตั้งครั้งหน้า

 

 

กติกาใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลงหรือเปล่า

กติกาใหม่มีการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากระบบผสม (ระบบผู้สมัครแบบแบ่งเขต และ แบบบัญชีรายชื่อ) มาเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เอื้อให้ตัวบุคคลมีอำนาจต่อรองเหนือพรรคการเมือง ปรากฏการณ์นี้ยิ่งตอกย้ำว่าเราจะเห็นการต่อรองของตัวบุคคลที่บอกว่าจะย้ายพรรคของนักการเมืองเก่า หรือ สก. สข. ก็มีการหลั่งไหลออกไป นั่นสะท้อนว่าตัวบุคคลสำคัญมาก ทำให้ระบบพรรคการเมือง สถาบันพรรคการเมืองอ่อนแอ

 

คสช. คือหนึ่งในผู้เล่นของการเลือกตั้งครั้งนี้ ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร

โครงสร้างการแข่งขันประชาชนจะรับรู้ได้ว่าจะไม่ค่อยเป็นธรรมนัก การดำรงอยู่ของ คสช. ที่เดิมจะเข้ามาเป็นผู้ควบคุมกติกา แต่ตอนนี้ชัดเจนว่า คสช. ลงมาเป็นผู้เล่นด้วย และ กกต. ทำงานใต้ คสช. จึงอยู่ภายใต้การยึดกุมอำนาจที่ไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้เล่นคนอื่นๆ

 

ดังนั้นเมื่อเลือกตั้งไปแล้ว ประเด็นหลักที่ประชาชนเริ่มตระหนักกันแล้วคือ พรรคที่ได้เสียงมากที่สุดในสภาอาจไม่ได้เป็นพรรคที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลหรือเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ ด้วยกติการัฐธรรมนูญที่อนุญาตให้ สว. 250 คน เข้ามาแทรกแซงอำนาจประชาชน ตัวแปรหลักที่จะเป็นตัวกำหนดว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งหน้าก็จะเป็น สว. 250 คน ซึ่งในระยะยาวถ้าเราใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้ต่อไปประชาชนก็จะรู้สึกว่าไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี เลือกไปแล้วก็ไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

 

 

ใครคือผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้

ที่น่าสนใจก็คือเมื่อพรรคการเมืองสามารถเสนอชื่อ 3 รายชื่อได้ ถ้าเราคำนวณโดยประเมินจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ซึ่งอาจผิดพลาดได้แน่นอน น่าจะมีพรรค 4 พรรค หรือบวกลบหนึ่ง ที่จะมีโอกาสหรือได้คะแนนเสียงมากพอที่จะเสนอชื่อบุคคลที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องได้เกิน 25 เสียง ซึ่งที่ผ่านมา ไม่น่ามีเกินไปจากพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และตอนนี้น่าจะมีพลังประชารัฐ

 

ถ้าเราคำนวณว่า 4 พรรคนี้ เสนอมา 3 รายชื่อ ก็จะมีประมาณ 12 รายชื่อที่จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่ากระบวนการเสนอชื่อเพื่อลงคะแนนในสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีนี้จะใช้ระยะเวลายาวนานแค่ไหน และพรรคมี 3 ชื่อที่เสนอ

 

ถามว่าจะเรียงลำดับอย่างไร โหวตอย่างไร รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าต้องทำให้เสร็จใน 1 เดือนหรือ 3 เดือน หรือนานแค่ไหน ดังนั้นในระหว่างนั้น คสช. ก็ยังเป็นรัฐบาลอยู่

 

 

บทบาทของ คสช. หลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร

รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า ม.44 และ คสช. ยังมีอยู่จนกว่าได้รัฐบาลใหม่ รัฐบาลไม่ได้เป็นรัฐบาลรักษาการเหมือนรัฐธรรมนูญ 2550 แต่เป็นรัฐบาลที่ปฏิบัติหน้าที่เต็มที่ มีอำนาจให้คุณ ให้โทษ ออกนโยบาย ใช้งบประมาณ

 

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีคนนอกที่ต้องใช้คะแนนเสียง 500 ของรัฐสภา เพื่อโหวตให้เอาชื่อนายกรัฐมนตรีนอกบัญชี หากเป็นกรณีที่พรรคการเมืองเสนอมาแล้ว ตกลงกันไม่ได้ ทีนี้ในอดีตนายกรัฐมนตรีคือนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ก็คือ Non MP Prime Minister คำถามคือรายชื่อที่แต่ละพรรคเสนอมา จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ไหม รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนด แต่บอกว่าเป็นใครก็ได้เพียงแต่ได้รับความยินยอมจากผู้นั้น และบุคคลนั้นให้ความยินยอมได้กับพรรคเดียวเท่านั้น โดยเขาไม่ได้เป็น ส.ส. ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ถูกบิดเบือนไป

 

ทีนี้นายกรัฐมนตรีที่มาจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอมา 3 ชื่อ คำถามคือ จะไปไกลถึงขั้นมีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีที่พรรคเสนอไหม คงไม่ไปถึงขนาดนั้น เพราะรายชื่อ 12 ชื่อจากพรรค 4 พรรคคงได้ข้อสรุป ดังนั้นคิดว่าใครที่อยากเป็นนายกรัฐมนตรีตอนนี้ควรต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีของพรรคการเมือง ใครที่จะรอก๊อกสอง รอรัฐสภามาปลดล็อก คิดว่าตอนนั้นไม่น่าจะทันแล้ว ทีนี้คำถามก็คือว่าถ้าเกิดคุณมีชื่ออยู่ใน 1-3 รายชื่อของพรรคการเมือง ทำไมคุณไม่สมัครลงรับเลือกตั้งไปเลย หรือมาอยู่ในบัญชีรายชื่อเบอร์ 1 ของพรรคการเมืองก็ได้ คุณจะได้มีความชอบธรรม ไหนๆ ก็จะเข้ามาเล่นการเมืองแล้ว และมันก็จะทำให้แนวคิดนายกรัฐมนตรีคนนอกไม่ถูกบิดเบือน

 

 

ความคลุมเครือหลังการเลือกตั้งมีอะไรบ้าง

ความน่าสนใจคือระหว่างการให้วุฒิสภามาโหวตเลือกร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร ความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลานั้นคือ รัฐธรรมนูญ และ พรป. พรรคการเมือง อนุญาตให้ กกต. สามารถให้ใบเหลือง ใบแดง และใบใหม่คือใบส้มได้  

 

3 ใบนี้จะทำให้คะแนนของพรรคการเมืองมันไม่นิ่ง เช่น สมมตินาย ก. ซึ่งเป็นผู้สมัคร ส.ส. แบ่งเขต ของพรรค A ต่อมานาย ก. ถูกสอยด้วยใบเหลืองหรือใบส้มหรือใบแดงก็ตาม คะแนนที่ประชาชนลงให้นาย ก. ก็จะหายไป ผลคือคะแนนของพรรคที่นาย ก. สังกัดซึ่งได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ สมมติเดิมได้ 10 คน ก็จะลดลงไปเพราะคะแนนบางส่วนหายไปจากการที่นาย ก. ถูกสอย ดังนั้นคนที่ 10 ในบัญชีรายชื่อก็ไม่แน่ว่าจะได้เป็น ส.ส. หรือไม่

 

บรรยากาศแบบนี้ในทางกติกาการเมืองการเลือกตั้ง จะทำให้เกิดความคลุมเครือหลังการเลือกตั้งได้ค่อนข้างมาก เป็นประเด็นที่พึงระวังหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

 

การเกิดขึ้นของพรรคสาขา พรรคนอมินี มีผลต่อทางการเมืองอย่างไร

โดยส่วนตัวไม่อยากให้เรียกว่าเป็นพรรคนอมินี ถ้าเราไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเขาตั้งขึ้นมาด้วยคำสั่งของใครยกเว้นเขายอมรับ แต่การเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดของพรรคการเมือง เป็นการตอบโต้กติกาการเลือกตั้ง ซึ่งส่วนตัวมองว่ากติกา ถ้าใช้บ่อยๆ มันจะกลายเป็นสถาบัน และสถาบันเป็นตัวกำกับพฤติกรรมทั้งของประชาชนและนักการเมืองด้วย

 

ยกตัวอย่าง การเลือกตั้งก่อนหน้ารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นการเลือกแบบ 1 เขต หลายคน ประชาชนมีแนวโน้มเลือกตัวบุคคล ตัวบุคคลก็แข่งกันเอง ตัวบุคคลก็สำคัญ จึงมีการแบ่งมุ้งกันในพรรค พอปี 2540 มีนโยบาย ได้คะแนนเสียงจากประชาชนจำนวนมากในบัญชีรายชื่อ พฤติกรรรมของประชาชนก็เปลี่ยน ความคาดหวังของประชาชน ยุทธศาสตร์พรรคก็เปลี่ยน

 

ทีนี้พอกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้เปลี่ยน เหลือบัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือก ส.ส. แบ่งเขต ตัว ส.ส. เขตก็กลับมามีอิทธิพล ประชาชนก็จะเลือกโดยให้ความสำคัญกับตัวผู้สมัครมากขึ้น นโยบายอาจสำคัญน้อยลง แต่ต้องขอติงประเด็นนี้เพราะเชื่อว่านโยบายจะมีความสำคัญอยู่

 

ทีนี้บัตรให้เลือก ส.ส. เขต แต่ดันมี ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อด้วย ถามว่า ส.ส. บัญชีรายชื่อมาจากไหน มาจากคะแนน ส.ส. เขต ดังนั้นคะแนนของ ส.ส. บัญชีรายชื่อ กับ คะแนนของ ส.ส. เขต จะขัดกันเอง

 

กรณีที่บอกว่าได้ ส.ส. เขตมาก ส.ส. บัญชีรายชื่อจะน้อย ก็ไม่เป็นจริงทั้งหมด คือหมายความว่าถ้าคุณชนะเขตด้วยคะแนนที่สูงมากๆ คะแนนบัญชีรายชื่อมันก็จะไม่ได้หายไปมากขนาดนั้น มันจะหายไปถ้าคุณชนะเขตโดยคะแนนไม่มาก

 

แต่มันไม่มีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองไหนมั่นใจได้ว่าจะชนะเขตได้มากขนาดนั้น ดังนั้นเมื่อคะแนนมันขัดกันเอง แน่นอนว่ายุทธศาสตร์ของพรรคก็คือ ชนะการเลือกตั้งให้ได้คะแนนมากที่สุด เขาก็ย่อมต้องหาแนวทางให้คะแนนหายไปน้อยที่สุด ดังนั้นการตั้งพรรคแยกออกมาเป็นพรรคแนวร่วมมันก็เป็นยุทธศาสตร์ที่จะเป็นผลจากกติกาการเลือกตั้ง

 

ดังนั้นคนร่างกติกาแบบนี้คุณเห็นพรรคการเมืองเป็นอะไร ถ้าคุณอยากให้พรรคการเมืองเป็นสถาบัน เป็นตัวแทนประชาชน คุณก็ไม่ควรมีกติกาเลือกตั้งแบบนี้ มันทำลายพรรค ทำให้พรรคระส่ำระสาย พอมาตอนนี้คุณบอกว่าพรรคการเมืองแยกออกมาเป็นพรรคนอมินี เพราะเขาตอบโต้กติกาที่คุณร่างมา ผู้เล่นทางการเมืองทุกฝ่ายอยากจะชนะด้วยกันทั้งนั้น

 

 

พรรคการเมืองมากเกินไป ผลคือคนตัดสินใจเลือกยากขึ้นหรือไม่

ถามว่าประชาชนได้อะไร ข้อดีคือมีตัวเลือกมากขึ้น แต่ถามว่าพอตัวเลือกมากขนาดนี้ความยากลำบากของประชาชนก็คือว่า Overwhelmed มันเยอะเกินไปหมด แล้วชื่อพรรคก็เยอะ ทั้งพรรคตระกูลพลัง พรรคตระกูลเพื่อ ยากมากสำหรับคนที่ต้องทำงานเช้าเย็นไม่มีเวลาตามข่าวการเมือง ยากมากที่จะตัดสินใจ ทำให้พอถึงเวลาเลือกตั้งคนก็จะตัดสินใจตามความเคยชิน ตามกระแส และบนโอกาสที่คิดว่าพรรคที่ตัวเองเลือกจะชนะเลือกตั้ง พรรคที่มีโอกาสชนะเลือกตั้งก็จะได้เปรียบ

 

คนคิดว่าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาในสภาจะเยอะ แต่ขนาดปี 2554 กติกาเวลานั้นพรรคที่เข้ามาในสภา 11 พรรค ไม่ได้น้อยไปเหมือนการเลือกตั้งปี 2548 แต่ครั้งนี้ต่อให้มากขึ้นมาก็ไม่น่าจะเกิน 15 พรรค เพราะจะมีพรรคจำนวนมากได้คะแนนไม่ถึง 75,000 คะแนน และตกกระป๋องไป โดยเฉพาะพรรคที่ชื่อคล้ายกันมากๆ ดังนั้นนี่ก็อาจจะเป็นทั้งข้อดีและเป็นภาระของประชาชน และขณะเดียวกันก็เป็นการทดสอบพลังของพรรคการเมือง และหลังการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคการเมืองก็อาจต้องมาพิจารณาว่าคุ้มไหมกับการลงทุนเหนื่อยตั้งพรรคแบบนี้ คือสมดุลของจำนวนพรรคมันอยู่แค่ไหน

 

 

ยกตัวอย่าง เพื่อไทย ถ้ามองว่าพรรคตระกูลเพื่อ ที่มีเพื่อไทย เพื่อธรรม เพื่อชาติ ประชาชาติ หรือเสรีรวมไทย พรรคเล็กๆ ที่ตั้งมาจะได้กี่ที่นั่ง คุณจะได้มากคุณต้องส่งเยอะเขต เพราะประชาชนเลือก ส.ส. เขต ถามว่าต้นทุนของการส่ง ส.ส. 350 คน ใน 350 เขต คุณมั่นใจได้อย่างไรว่าจะทำได้ แต่อย่างว่า ทุกคนเหมือนตาบอดคลำช้าง เราก็คงได้วิเคราะห์บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่ การเลือกตั้งครั้งหน้าจะบอกว่าแนวคิดแบบไหนที่สะท้อนสังคมไทยที่เปลี่ยนไป 8 ปีที่ผ่านมา

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าตัวแปรต่างๆ จะไม่เป็นธรรมขนาดไหนก็ตาม กติกาจะไม่เป็นธรรมขนาดไหน แต่ถามว่าต้องสู้ไหม ก็ต้องสู้ ไม่อย่างนั้นก็แพ้ตั้งแต่อยู่ในมุ้ง และสู้แล้วเป็นไปได้ไหมที่จะชนะ จากประสบการณ์ในโลกนี้ย้ำความเป็นไปได้ที่จะชนะอยู่หลายครั้ง ครั้งล่าสุดคือมาเลเซีย ที่ฝ่ายค้านต้องเจอกับการลากเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมถึงขั้นที่พรรครัฐบาลชนะได้ด้วยคะแนนเสียง 20,000 คะแนน จะได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง แต่พรรคฝ่ายค้านจะชนะได้ต้องใช้เขตละ 40,000 คะแนนถึงจะได้ 1 ที่นั่ง ซึ่งถึงที่สุดแล้วพลังของประชาชนก็ทำให้พรรคฝ่ายค้านชนะได้

 

ติดตามต่อตอนที่ 2 : ศึกเลือกตั้ง 62 ส่องสิ่งใหม่ๆ ในการเมือง คนรุ่นใหม่ พรรคใหม่ สมรภูมิใหม่ ผ่านมุมมองสิริพรรณ (ตอนจบ)

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X