คลิกอ่านตอนที่ 1 : ศึกเลือกตั้ง 62 เอา VS ไม่เอา คสช. สืบทอดอำนาจ มุมมองจากสิริพรรณ นักรัฐศาสตร์ (1)
ต่อจากตอนที่แล้ว รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ได้อธิบายถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 ว่ากติกาที่ถูกออกแบบไว้จะส่งผลอย่างไรบ้างต่อผลลัพธ์ของการแข่งขันเลือกตั้ง
ไม่ว่าจะเป็นการกลับมาของมุ้งการเมือง อิทธิพลของนักการเมือง เพราะกติกาให้ลงคะแนนโดยใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวภายใต้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ
การแข่งขันด้วยนโยบายจะถูกลดความสำคัญลง เกิดพลังดูด เกิดการตอบโต้ด้วยพรรคนอมินี
ตลอดจนลักษณะเฉพาะของการแข่งขันเลือกตั้งครั้งนี้คือบริบทการเลือกตั้งหลังจากถูกปกครองด้วยระบอบ คสช. ถึง 5 ปี ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้คือการเลือกว่าจะให้ คสช. สืบทอดอำนาจต่อหรือจะให้ คสช. หมดอำนาจ
นอกจากนี้การเลือกตั้งยังถูกจัดขึ้นขณะรัฐบาลและ คสช. ยังมีอำนาจเต็มมือจนกว่าจะได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ต่างไปจากการเลือกตั้งปกติที่รัฐบาลถูกจำกัดบทบาทการใช้อำนาจรัฐหลายๆ เรื่อง เนื่องจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้กลายเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการหลังมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งออกมาบังคับใช้
และตอนนี้รัฐบาลก็ไม่ได้วางตนเป็นผู้รักษากติกาที่เป็นกลางอีกต่อไป แต่กลายมาเป็นผู้เล่นในสนามเลือกตั้งอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว
ความใหม่ทางความคิดของคนกลุ่มนี้ก็เป็นเรื่องท้าทาย ดังนั้นถ้าพรรคการเมืองไม่มีคนกลุ่มนี้อยู่ก็จะเชื่อมกันไม่ติด
การแข่งขันครั้งนี้ นอกจากผู้ออกเสียงหน้าใหม่แล้ว พรรคการเมืองต่างก็ชิงกันในเรื่องความใหม่ ความสด การมีคนรุ่นใหม่ในพรรคการเมือง มองเรื่องนี้อย่างไร
เป็นยุทธศาสตร์ของพรรคต่างๆ ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว เพราะ 8 ปีที่ผ่านมาไม่มีการเลือกตั้ง เราไม่รู้เลยว่าความคาดหวังของสังคมคืออะไร ดังนั้นเราก็ต้องมองไปที่อนาคต ก็คือคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่เหล่านี้นอกจากจำนวนที่มากแล้ว อีกเรื่องคือเขาไม่ได้อยู่ในความขัดแย้งช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพราะตอนนั้นเขายังเด็กอยู่ เขาไม่ได้รู้ว่าความขัดแย้งตั้งแต่ปี 2549 เป็นอย่างไร
ความใหม่ทางความคิดของคนกลุ่มนี้ก็เป็นเรื่องท้าทาย ดังนั้นถ้าพรรคการเมืองไม่มีคนกลุ่มนี้อยู่ก็จะเชื่อมกันไม่ติด เช่น จากที่คุณสุรบถ หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาพูด ก็ไม่เหมือนคุณอภิสิทธิ์หรือคุณชวนพูด เพราะคุณสุรบถบอกว่าเราคุยกันได้
อย่างไรก็ดี ภาพรวมที่ออกมาตอนนี้ คนรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นคนรุ่นใหม่ที่ปราศจากฐานการเมืองเก่าๆ เพราะส่วนใหญ่ล้วนเป็นลูกหลานนักการเมืองในอดีตทั้งนั้น ซึ่งจะทำให้การเมืองไทยอาจยังเป็น Dynastic Politics หรือการเมืองแบบสืบตระกูล กลุ่มของตระกูลไม่กี่ตระกูล เราอยากเห็นคนรุ่นใหม่ที่มีพลังทางความคิดและไม่ได้อยู่ใต้สายสัมพันธ์แบบเดิมๆ แต่ว่าในความเป็นจริงคนกลุ่มนี้คงเติบโตได้ยาก ยิ่งภายใต้กติกาแบบนี้ ดังนั้นเห็นว่าคนรุ่นใหม่ที่มาเปิดตัวกันตอนนี้คงยังไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในรอบนี้ เพราะคงต้องใช้ตัวเต็งมากที่สุดเพื่อจะได้เอาคะแนนจาก ส.ส. เขตมาแปรเป็นคะแนนบัญชีรายชื่อ
การเลือกตั้งครั้งนี้ อีกตัวแปรหนึ่งคือโครงสร้างการเมืองท้องถิ่นที่อยู่ใต้ระบบอุปถัมภ์ของอำนาจรัฐทั้งหมด เพราะอย่าลืมว่า 4 ปีที่ผ่านมาไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น เราไม่รู้เลยว่าคนกลุ่มนี้มีอิทธิพลอยู่เท่าไร
คิดอย่างไรต่อการเปิดเพจของนายกรัฐมนตรีหรือการใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ กับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน
เนื่องจากตามกฎหมายตอนนี้ห้ามหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย พอนายกรัฐมนตรีเปิดเพจก็งงอยู่เล็กน้อยว่าเพจนี้จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในช่วงของการหาเสียงหรือเปล่า ถ้ามองตามที่มีอยู่ก็อาจเพื่อการประชาสัมพันธ์รัฐบาล เพราะนายกรัฐมนตรียังไม่ได้ประกาศมาลงเล่นการเมือง
แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือพื้นที่ของโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่สำคัญทางการเมืองจริงๆ ดังนั้นการมีกฎหมายไม่ให้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียจึงเป็นข้อกำหนดที่ล้าหลัง ไม่ทันโลก ไม่ทันจริตของคนไทยเลย
แต่ถามว่าพื้นที่ของโซเชียลมีเดียต่อสังคมไทยมีอิทธิพลแค่ไหนนั้นยังก้ำกึ่ง เพราะแม้เราเป็นประเทศที่มียอดแอ็กเคานต์เฟซบุ๊กสูงมาก แต่มันกระจุกตัวอยู่ในคนรุ่นใหม่ ซึ่งในพฤติกรรมการเลือกตั้งและการตัดสินใจของประชาชนทางการเมือง เชื่อว่าโครงสร้างแบบอุปถัมภ์ยังมีอิทธิพลอยู่ เพราะหัวคะแนนที่เชื่อมโยงกับชุมชนในพื้นที่ยังมีบทบาทอยู่
การเลือกตั้งครั้งนี้ อีกตัวแปรหนึ่งคือโครงสร้างการเมืองท้องถิ่นที่อยู่ใต้ระบบอุปถัมภ์ของอำนาจรัฐทั้งหมด เพราะอย่าลืมว่า 4 ปีที่ผ่านมาไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น เราไม่รู้เลยว่าคนกลุ่มนี้มีอิทธิพลอยู่เท่าไร
จริงอยู่ว่าคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยเลือกตั้งซึ่งมีกว่า 7.5 ล้านคน อายุ 18-24 ปี ยังไม่มีใครเป็นเจ้าของทางการเมือง แต่ว่าเมื่อคนกลุ่มนี้ถึงเวลาต้องกลับไปเลือกตั้งในภูมิลำเนาของตนเอง คำถามคือจะกลับไปเลือกตั้งหรือเปล่า มันมีต้นทุนอยู่ ทั้งการเดินทางหรือการเลือกตั้งล่วงหน้าก็เป็นต้นทุนเช่นกัน
อีกเรื่องคือเขาจะรู้จักผู้สมัครในพื้นที่หรือเปล่า เมื่อเขากลับไปก็ต้องถามพ่อแม่ที่บ้านว่าใครเป็นผู้สมัครบ้าง เพราะถึงอย่างไรการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เป็นการเลือกตั้งผ่านผู้สมัครในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
การเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนจะเน้นแข่งที่ตัวคนเพื่อหาคะแนนเสียง แล้วนโยบายจะมีความสำคัญอยู่ไหม
นโยบายก็ยังมีความสำคัญ เพราะแม้ตัวกติกาจะทำให้ตัวบุคคลมีอิทธิพลเหนือพรรคการเมืองและนโยบาย แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่สำเร็จในการเลือกตั้งครั้งแรกหรอก เพราะมันต้องใช้เวลา ดังนั้นแม้ผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจะต้องเลือกตัวบุคคล (ผ่านระบบกาบัตรใบเดียว) แต่คนก็จะถามว่าคุณสังกัดพรรคอะไร พรรคมีนโยบายอย่างไร ดังนั้นการทำงานของพรรคก็จะต้องเข้มแข็ง
แต่อย่างที่บอกว่าตัวแปรหลักครั้งนี้คือคุณจะเอาหรือไม่เอา คสช. ทีนี้ก็จะมาเลือกว่ากลุ่มพรรคที่เอา คสช. หรือไม่เอา คสช. ในกลุ่มนั้นมีอะไรมาเสนอบ้าง ทีนี้ตัวนโยบายก็จะเป็นตัวแปรรอง ตรงนี้อยากจะเห็นการทำงานของพรรคที่จะเสนอนโยบายใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้ต้องรอ เพราะต้องรอเดือนธันวาคมจึงจะถึงเวลาปลดล็อก และอีกเรื่องคือถ้าเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้จะลงสมัครเป็น ส.ส. ต้องสมัครเป็นสมาชิกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 เพราะต้องมีสถานะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก่อนวันเลือกตั้ง 90 วัน จึงจะลงสมัครรับเลือกตั้งได้
ดังนั้นเราจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นว่าสามมิตรดูดไปได้หรือไม่ เพราะถ้าคุณไม่สมัครในพรรคใดพรรคหนึ่ง คุณก็ไม่สามารถลงในนามพรรคนั้นๆ ได้
เพราะรัฐไทยไม่เคยใช้พรรคการเมืองในการขึ้นสู่อำนาจ รัฐไทยมองว่าเราสามารถรัฐประหารและอยู่ในอำนาจได้เวลายาวๆ อย่างสมัยสฤษดิ์–ถนอม หรือครั้งนี้ก็อยู่ได้ยาว
ในต่างประเทศมีพรรคการเมืองหลายแนว พรรคการเมืองไทยเราจะจำแนกแนวทางของพรรคได้อย่างไรบ้าง
แนวทางที่ 1 คือพรรคการเมืองที่เป็นเครื่องมือของรัฐบาล คือพรรคการเมืองที่อยู่ภายใต้ความจุนเจือ การจัดตั้งของรัฐบาล ซึ่งพรรคการเมืองไทยไม่เคยมีลักษณะแบบนี้
พรรคภายใต้อำนาจรัฐจะเป็นพรรคที่ได้เปรียบ คือใช้ทรัพยากรรัฐได้เต็มที่ พรรคอื่นทำไม่ได้ รัฐจะออกกติกาเพื่อเอื้อพรรคการเมืองนั้นในขณะที่กีดกันพรรคการเมืองอื่นๆ เช่น สมัยพรรคโกลการ์ของอินโดนีเซียที่ทำให้อำนาจของระบอบซูฮาร์โตอยู่ได้ยาวนาน มีการออกกติกาให้แข่งกันได้เฉพาะ 3 พรรคที่รัฐบาลอนุญาต ส่วนพรรคอื่นไม่อนุญาต และการหาเสียงไม่สามารถทำได้อย่างเสรี แต่คุณต้องให้รัฐบาลตรวจสอบก่อน
ถามว่ารัฐไทยมีแบบนี้ไหม อาจจะนึกถึงพรรคเสรีมนังคศิลา พรรคสามัคคีธรรม แต่จริงๆ แล้วไม่ประสบความสำเร็จ
เพราะรัฐไทยไม่เคยใช้พรรคการเมืองในการขึ้นสู่อำนาจ รัฐไทยมองว่าเราสามารถรัฐประหารและอยู่ในอำนาจได้เวลายาวๆ อย่างสมัยสฤษดิ์–ถนอม หรือครั้งนี้ก็อยู่ได้ยาว
แต่ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกหรือไม่ที่พรรคที่อยู่ภายใต้โครงสร้างรัฐจะก่อตัวขึ้นมาและอยู่ได้ยาว เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าพลังประชารัฐชื่อก็คล้ายๆ กับนโยบายประชารัฐของรัฐบาล หัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรคก็อยู่ในรัฐบาล แล้วคนพวกนี้ก็จะไปอยู่ในยุทธศาสตร์ 20 ปีด้วย (กรรมการยุทธศาสตร์ชาติประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ มีผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐอยู่ถึง 3 คน ซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี)
จึงเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการก่อตัวของพรรคการเมืองภายใต้โครงสร้างอำนาจรัฐอย่างเต็มตัวครั้งแรก เพราะถ้าเราเทียบกับสามัคคีธรรมหรือเสรีมนังคศิลาก็เป็นแค่พรรคที่มารวมกันเพื่อสนับสนุนคนของรัฐบาลเท่านั้น แต่พลังประชารัฐก็จะได้เปรียบในการแข่งขันแน่นอนในแง่ของทรัพยากร บุคลากร ตัวโครงสร้างนโยบาย และกฎกติกา
พรรคแนวทางที่ 2 ที่อยู่มายาวนานในสังคมไทยก็คือพรรคที่เชิดชูบุคลิกภาพเฉพาะตัวของผู้นำพรรคการเมืองและมีคนหรือตระกูลเป็นเจ้าของ การถ่ายโอนการนำในพรรคก็อยู่ในตระกูล เครือญาติ หรือชนชั้นนำเดิมๆ
พรรคแนวทางที่ 3 คือพรรคที่พยายามสร้างองค์กรในพรรค แต่ก็ยังอยู่ภายใต้ชนชั้นนำไม่กี่คน และมีความเป็นภูมิภาคนิยมสูง
ทีนี้การเลือกตั้งครั้งนี้เชื่อว่ามันจะนำมาสู่การก่อตัวของพรรคแนวทางใหม่ที่มีคุณสมบัติต่างไปจาก 3 แนวทางแรก ที่แม้ยังไม่เห็นความชัดเจน แต่เราก็เห็นความพยายาม เช่น ความพยายามใช้ประชาธิปไตยในพรรคการเมือง ความพยายามให้ไม่ถูกครอบงำโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในพรรค ความพยายามที่จะดึงมวลชนเข้ามา หรือการเกิดขึ้นของพรรคที่ยึดโยงกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่มีอยู่เดิม เช่น พรรคสามัญชน อันนี้เป็นการเกิดขึ้นที่ดี
อย่างเวลาคุยกับเพื่อนนักวิชาการด้วยกันที่ทำขบวนการเคลื่อนไหว เขามักจะบอกว่าต้องเอาเรื่องอย่างนี้มาอยู่ในขบวนการสถาบันทางการเมือง เพราะการเคลื่อนไหวบนถนนมันมีต้นทุนสูงและมันชนะได้ชั่วคราว แต่ถ้าเราแปรกลุ่มพลังตรงนี้ให้อยู่ในสภาและออกกฎหมายได้จะมีผลยาวกว่า
หรืออย่างพรรคกลางที่เสนอการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา หรือพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นพรรคแนวทางที่ 4 ที่พยายามสร้างมวลชน แต่ก็ยังติดกับดักที่สังคมไทยนิยมตัวบุคคล คือมุ่งไปที่ตัวหัวหน้าพรรคเป็นหลัก นั่นคือคุณธนาธร ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ความนิยมตรงนี้มันกระจายไปสู่จุดยืนทางการเมืองของพรรคและนโยบายที่จะออกมา ซึ่งนโยบายที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช. นี่ชัดเจน แต่สิ่งที่จะต้องมีต่อไปนี้คือนโยบายที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าคุณแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ มันจะทำให้เกิดชนชั้นกลางใหม่ แล้วคนเหล่านี้จะมีพลังที่จะมาเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะตราบใดที่คนยังอดอยาก ไม่มีอันจะกิน การเคลื่อนไหวทางการเมืองมันจะเป็นเหมือนไฟลามฟาง
ดังนั้นสิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำคือลดการผูกขาดและกระจายทรัพยากรให้ชุมชน ให้คนเติบโตได้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่พรรคใหม่ๆ ต้องตีโจทย์นี้ให้แตก
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์