วันเลือกตั้ง

ย้อนที่มาเลื่อนเลือกตั้ง 5 ครั้ง ยุค คสช. จากปลายปี 2558 สู่ก่อนพระราชพิธีสำคัญ

09.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS READ
  • ปฏิญญาว่าด้วยการเลือกตั้งเด่นชัดที่สุดของ คสช. คือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แต่สุดท้ายก็มีสัญญาณชัดเจนว่าต้องเลื่อนออกไปอีกครั้ง
  • ถ้าไม่เลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ถือว่าการเลือกตั้งได้ถูกเลื่อนออกไปกว่า 5 ครั้ง ในยุค คสช. ที่กินเวลาเกือบ 5 ปี

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เสมือนเป็นปฏิญญาว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งเด่นชัดที่สุดของ คสช. แต่แล้วกำหนดการวันเลือกตั้งดังกล่าวต้องเลื่อนออกไปอีกครั้ง และนี่คือครั้งแรกที่รัฐบาลอ้างเหตุผลทางพระราชประเพณี จากที่การเลื่อนเลือกตั้ง 4 ครั้งก่อนหน้านี้ มักอ้างเหตุการณ์ทางการเมืองและเหตุผลเทคนิคทางกฎหมาย

 

THE STANDARD ขอพาย้อนกลับไปทบทวนทั้งเหตุการณ์และเหตุผลเหล่านั้นอีกครั้ง

 

 

เลื่อนครั้งที่ 1: จากปลายปี 2558 สู่การเริ่มนับหนึ่งใหม่

ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงข่าวร่วมหลังการหารือกันระหว่าง ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น บอกว่า ไทยจะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559

 

ในเวลานั้น บวรศักดิ์ อุวรรณโณ นำทีมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณา แต่แล้วเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558 สปช. มีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ด้วยมติ 135 ต่อ 105 งดออกเสียง 7

 

ต้องเริ่มนับหนึ่ง ตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ โดยภายหลังบวรศักดิ์เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ว่า “สมัยที่ผมเป็นประธานกรรมาธิการยกร่างฯ แล้วร่างถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติคว่ำ ผมเสียใจ แต่แค่วันเดียว คือวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน 2558 พอกลับมาคิดได้ก็รู้ว่า เขาอยากอยู่ยาว ยอมรับว่ามาอยู่ตรงนี้เปลืองตัว แต่ทำเพื่อชาติ ตอนนี้ก็มีความสุขดี ได้เลี้ยงหลาน”

 

เลื่อนครั้งที่ 2: จากกลางปี 2560 สู่ปลายปี 2560

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวกับ บันคีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ คาดว่า จะมีการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560 ระหว่างการประชุมสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 กันยายน – 1 ตุลาคม 2558

 

ในเวลานั้น มีชัย ฤชุพันธุ์ รับหน้าที่นำทีมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เริ่มประชุมนัดแรกวันที่ 6 ตุลาคม 2558 จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม 2559

 

แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยกำหนดไว้ในมาตรา 267 ว่า กรธ. จะต้องร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับให้เสร็จภายใน 8 เดือน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

 

เป็นที่มาของสูตรโรดแมปเลือกตั้ง 6+4 และ 8+5 คือร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน ทำประชามติ 4 เดือน จากนั้นร่างกฎหมายลูก 8 เดือน และอีก 5 เดือนสำหรับจัดการเลือกตั้ง

 

ดังนั้น ในเวลานั้นหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และรัฐบาลคาดการณ์ว่า การเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2560 แต่อย่างที่ทราบกันว่า การเลือกตั้งก็ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

 

เลื่อนครั้งที่ 3: จากปลายปี 2560 สู่ปลายปี 2561

แต่แล้วการเลือกตั้งก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในช่วงปลายปี 2560 เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560

 

ดังนั้น กระบวนการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับให้เสร็จภายใน 8 เดือน จึงเพิ่งเริ่มนับหนึ่งได้

 

ตามโรดแมปนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะผ่านร่างกฎหมายลูกครบ 10 ฉบับภายในเดือนมกราคม 2561 และการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี 2561

 

เลื่อนครั้งที่ 4: จากพฤศจิกายน 2561 กลับสู่ความไม่ชัดเจน

โรดแมปการเลือกตั้งของ คสช. ที่ชัดเจนที่สุดปรากฏขึ้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2560 เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ประกาศกลางทำเนียบรัฐบาลว่า ในเดือนมิถุนายน 2561 จะประกาศวันเลือกตั้ง ส่วนในเดือนพฤศจิกายน 2561 จะให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป

 

โรดแมปนี้สอดรับกับกระบวนการจัดทำกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ และดูมีความเป็นไปได้อย่างมากที่สุด สำหรับการประกาศวันเลือกตั้งดังกล่าวมีขึ้นหลังจาก พล.อ. ประยุทธ์ บินไปเยือนทำเนียบขาว เพื่อพบกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวเลื่อนเลือกตั้งยังมีต่อเป็นระยะ โดยมีกระแสข่าวว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติอาจลงมติคว่ำร่างกฎหมายลูกฉบับใดฉบับหนึ่ง โรดแมปเลือกตั้งก็ต้องขยับเลื่อนออกไปทันที

 

ในที่สุด สัญญาณเลื่อนเลือกตั้งก็ปรากฏชัดเจนขึ้นจนได้ เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีมติเสียงข้างมาก ปรับแก้ในมาตรา 2 เกี่ยวกับการกำหนดวันบังคับใช้กฎหมายให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน

 

ขณะที่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 มีมติเห็นชอบกับกรรมาธิการเสียงข้างมากในการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ออกไปอีก 90 วัน เพื่อให้ทุกฝ่าย ทั้งพรรคการเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีเวลาเตรียมความพร้อมมากขึ้น

 

ดังนั้น โรดแมปการเลือกตั้งต้องเลื่อนจากกำหนดการเดิมอีกครั้ง มากที่สุดคือ 3 เดือน จากเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562

 

วันเดียวกันนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ใน 90 วัน คงไม่กระทบการเลือกตั้งมาก เพราะจะจัดการเลือกตั้งในเดือนใดก็ได้ภายใน 150 วันหลังจากนั้น  

 

ทั้งนี้ หากกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้ในเดือนมิถุนายน แล้วให้บังคับใช้ 90 วัน คือเดือนกันยายน จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน คือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่ถ้าบังคับใช้ภายใน 120 วัน จะบวกเพิ่มไปอีก 1 เดือน อย่างไรก็ตาม ตามกรอบเวลา รัฐบาลจะสามารถประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งได้เมื่อใดในเดือนมิถุนายน 2561

 

ส่วนจะสามารถการันตีได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่มีหน้าที่การันตี แต่ถ้ามีการเลื่อนอีก ต้องแก้ไขกฎหมาย โดยออกเป็น พ.ร.บ. แต่ไม่คิดว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ เพราะโดยพฤตินัยและนิตินัยแล้วทำได้ยาก และไม่คิดที่จะออกมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาด้วย

 

“รัฐบาลพูดรับรองไม่ได้ว่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้น ทุกอย่างก็จะต้องช้าออกไป” นายวิษณุกล่าว

 

เลื่อนครั้งที่ 5: จากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 สู่ไม่เกินกรอบ 150 วัน ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก

 

เปิดศักราช 2562 จากที่เข้าใจว่าจะเป็นการนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง แต่ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นนับกรอบเวลา 150 วัน ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส.

 

3 มกราคม 2562 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หอบแฟ้มเอกสารหนาหลายหน้ากระดาษ บนปกแฟ้มเขียนว่า ‘การเตรียมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ เดินทางมาที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อหารือกับ กกต. ถึงการกำหนดวันเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 4-6 พฤษภาคม ซึ่งมีกิจกรรมประมาณ 15 วัน ทั้งก่อนและหลังช่วงวันพระราชพิธีฯ

 

คีย์เวิร์ดสำคัญของนายวิษณุคือ “วันเลือกตั้งต้องมีขึ้นก่อนวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จแน่ ต้องอยู่ในกรอบ 150 วัน เพราะเขียนในรัฐธรรมนูญและมาตรา 44 ก็ไปแก้ไม่ได้”

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ‘จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ’ ภายใน 150 วัน

 

ปมปัญหาคือ 150 วัน ครอบคลุมเฉพาะวันเลือกตั้ง หรือต้องรับรองผลและประกาศผลการเลือกตั้ง

 

ฝ่ายรัฐบาลตั้งธงต้องการเลือกตั้งปลายเดือนมีนาคม หรือ 24 มีนาคม เพื่อให้ห่างจากกิจกรรมพระราชพิธีสำคัญมากที่สุด พร้อมยืนยันว่า 150 วัน ครอบคลุมเฉพาะวันเลือกตั้ง โดย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยืนยันว่า การประกาศผลการเลือกตั้งไม่รวมอยู่ในกรอบ 150 วัน เพราะมีอีกมาตราหนึ่งระบุว่า หลังจากการเลือกตั้งแล้วเสร็จ กกต. ต้องประกาศผลภายใน 60 วัน

 

“ถ้าไปเลือกตั้งในวันที่ 140 ก็สามารถทำได้ และประกาศผลใน 60 วัน” พล.อ. ประวิตร กล่าว

 

ขณะที่ฝ่าย กกต. เดินเกมเพลย์เซฟ ต้องการให้วันเลือกตั้งเป็นวันที่ 10 มีนาคม 2562 เพื่อให้ระยะเวลาในการประกาศผลเลือกตั้งที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 60 วัน จะอยู่ในกรอบ 150 วัน หรือไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม 2562

 

อย่างไรก็ตาม สารตั้งต้นของการประกาศกำหนดวันเลือกตั้งก็คือ พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งขณะนี้ยังไม่โปรดเกล้าฯ ลงมา

 

ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เชื่อว่า ต่างชาติเข้าใจ หากไทยจะเลื่อนเลือกตั้งเพราะพระราชพิธีสำคัญ

 

“เรื่องการเลื่อนวันเลือกตั้ง ผมยังไม่เคยบอกว่าจะเลื่อนหรือไม่เลื่อน แต่เท่าที่ผ่านมานั้น คิดว่าต่างชาติเขาเข้าใจเราอยู่แล้ว ซึ่งการไปต่างประเทศที่ผ่านมา ก็มีการถามผมเสมอว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้เป็นพิธีสำคัญของประเทศไทย อยากจะทราบว่าจะมีขึ้นเมื่อไร อย่างไร และหากมีความประสงค์จะมาร่วมในพระราชพิธีดังกล่าวได้หรือไม่ มีการถามผมเกือบทุกประเทศ แล้วมันเป็นอะไรกันนักหนา ผมไม่เข้าใจ ในประเทศยังไม่พอ หรือจะเอาต่างประเทศมากดดันกันอีก ผมอยากถามว่า ที่นี่คือประเทศอะไร ประเทศไทยใช่หรือไม่ คนไทยใช่ไหม เพราะฉะนั้น เราควรจะสำนึกกันบ้างในเรื่องเหล่านี้” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising