- ความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยชัดเจนขึ้น จากการที่ Bond Yield สหรัฐฯ เกิดภาวะ Inverted Yield Curve และภาวะนี้คาดว่าจะชัดเจนขึ้นในไตรมาส 2 ปีนี้
- สัปดาห์นี้ต้องจับตารายงานการประชุมของ FOMC ว่าจะมีการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้นเพื่อคุมเงินเฟ้อมากน้อยเพียงใด
- ตลาดหุ้นโลกคาดว่ามีแนวโน้มทรงตัวได้จากความคาดหวังการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่ ‘หุ้นไทย’ มีโอกาสแกว่งตัวตาม Sentiment ของตลาดหุ้นโลก แต่ Upside เริ่มจำกัด
- SCB CIO ปรับเพิ่มความน่าสนใจในตลาดหุ้นเวียดนามเป็นระดับสูงสุด แรงหนุนจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ประกอบกับ รัฐบาลมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดการเงินทรงตัว จากความหวังเรื่องการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังขยายตัวได้ แม้ว่าตลาดจะคาดการณ์ว่า Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงถึง 10 ครั้งในปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิด Inverted Yield Curve ในช่วงสั้นๆ ของพันธบัตร 5 ปี และ 30 ปีเป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้ความกังวลเรื่อง Recession เพิ่มขึ้น
เกิด Inverted Yield Curve ครั้งแรกของปี
ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) มองว่าความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง จากการที่ผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) สหรัฐฯ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่ภาวะ Inverted Yield Curve หรือภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว
โดยจากการคาดการณ์ของ SCBS มองว่า เป็นไปได้ที่จะเกิด Inverted Yield Curve แรงขึ้นในไตรมาสที่ 2 หากการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายเป็นไปเช่นที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ว่าจะขึ้น 0.5% ในการประชุมเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคม รวมถึงเป็นไปได้ที่ดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีจะปรับขึ้นเกิน 3% ในครึ่งหลังของปีนี้
ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์หน้า ได้แก่ ตัวเลขภาคการผลิตในสหรัฐฯ ว่าจะมีทิศทางชะลอลงหรือไม่ และรายงานการประชุม FOMC ในเดือนมีนาคมว่าจะมีการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้นเพื่อคุมเงินเฟ้อมากน้อยเพียงใด
แนวโน้มตลาดหุ้นโลก คาดว่าตลาดยังคงมีแนวโน้มทรงตัวได้ จากความคาดหวังเรื่องการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเริ่มมีสัญญาณบวกมากขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องระมัดระวังหุ้นที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีโอกาสลดลงได้หากการเจรจาสำเร็จ นอกจากนี้ยังต้องติดตามรายงานการประชุม Fed ซึ่งจะมีผลมากต่อ Yield Curve สัปดาห์นี้ แนะนำธุรกิจ Cloud, Data Center, Infrastructure ของจีน และหลีกเลี่ยงหุ้นธีมแบตเตอรี่เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น
แนวโน้มตลาดหุ้นไทย คาดว่า SET Index มีโอกาสแกว่งตัวตาม Sentiment ของตลาดหุ้นโลก แต่ Upside เริ่มจำกัด เนื่องจากเริ่มเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังหุ้นที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์เช่นกัน กลยุทธ์การลงทุน แนะนำลดพอร์ตหาก SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปเหนือ 1,700 จุด โดยเน้นลงทุนในหุ้นที่สามารถทนทานกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และมีอำนาจในการกำหนดราคาเช่น ADVANC, BDMS, CPALL, OSP
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: ZEN - ก้าวเข้าสู่ปีที่ดีขึ้น
สัปดาห์นี้ SCBS เลือกแนะนำ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- ผู้นำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียมและอาหารไทยภายใต้แบรนด์ที่รู้จักกันดีในไทย อาทิ ZEN, AKA, On the Table, ตำมั่ว, ลาวญวน, เขียง เป็นต้น
- ได้รับผลบวกโดยตรงจากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัว เนื่องจากมีฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงที่มีความอ่อนไหวต่อราคาน้อย จึงส่งผ่านต้นทุนอาหารที่สูงขึ้นผ่านการปรับขึ้นราคาเมนูได้
- ปี 2022 จะเป็นปีที่ดีขึ้น โดยคาดพลิกมีกำไร 110 ล้านบาทจากยอดขายสาขาเดิมในธุรกิจร้านอาหารที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งยังมีการเติบโตที่เร่งตัวขึ้นในธุรกิจอาหารค้าปลีก (จำหน่ายน้ำปลาร้า) และธุรกิจแฟรนไชส์ ขณะที่มาร์จิ้นดีขึ้นจากมีศักยภาพปรับขึ้นราคาเมนูและควบคุมต้นทุนดี
- Valuation ไม่แพง หลังราคาหุ้นยังซื้อขายต่ำกว่าก่อนเกิดโควิดอยู่ 18% โดยเราประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 15.00 บาท
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว(DM) ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากวิกฤตยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ่งยังกดดันต่อ Sentiment ตลาด นอกจากนี้ ตลาดยังคงเผชิญปัจจัยกดดันจากแนวโน้มการทยอยลดการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางหลักใน DM หลังเงินเฟ้อยังเร่งตัวขึ้นต่อ
อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีน และยารักษาโควิด ตลอดจนการทยอยเปิดเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งผลประกอบการของ บจ. ในกลุ่ม DM ที่ยังขยายตัวได้ จะสามารถช่วยประคองการฟื้นตัวชองตลาดหุ้น DM
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากความกังวลวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย 0.50% พร้อมเริ่มทำมาตรการลดปริมาณเงินในระบบ (QT) ในการประชุมเดือนพฤษภาคม รวมทั้งความกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ หลังส่วนต่างระหว่าง Bond Yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี และ 2 ปี ลดลงเข้าใกล้ศูนย์
อย่างไรก็ดี ความกังวลบนผลกระทบจากการระบาดของโควิดที่ลดลงไปค่อนข้างมาก และผลประกอบการ บจ.สหรัฐฯ ประจำ 1Q22 ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าตลาดคาด จะยังช่วยประคองตลาดได้ ทั้งนี้ เราแนะนำสัดส่วนการลงทุนหุ้นกลุ่ม Growth ต่อกลุ่ม Value อยู่ที่ 60:40
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 3
วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อของยุโรป โดยยุโรปพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วนที่สูง ดังนั้นระดับราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกดดันอำนาจซื้อของประชาชนและต้นทุนการผลิต ปัญหาด้านอุปทานคอขวดมีแนวโน้มแย่ลงจากปัญหาความขัดแย้งในยูเครน และผลประกอบการ บจในยุโรปมีแนวโน้มถูกกดดันจากผลการล็อกดาวน์ในจีน อย่างไรก็ดี Valuation หุ้นยุโรปที่ลดลงมามาก จะช่วยจำกัด Downside ตลาด
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยดัชนี TOPIX และ Nikkei 225 มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากวิกฤตยูเครนที่ยังยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นมีการยกเลิกภาวะกึ่งฉุกเฉินทั่วประเทศ และกำลังจะพิจารณากลับมาใช้โครงการ Go To Travel
นอกจากนี้ เริ่มมีสัญญาณถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ด้าน BOJ ยังมีแนวโน้มที่จะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นจีน H-Share เนื่องจาก Valuation ของดัชนียังอยู่ในระดับที่ไม่แพง และการออกกฎระเบียบที่รุนแรงกับกลุ่ม Internet Platform มีโอกาสเกิดขึ้นลดลง อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่มีอยู่ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับรัสเซีย และประเด็นความเสี่ยง ADR Delisting ประกอบกับผลประกอบการของ บจ.จีน ที่ยังมีแนวโน้มชะลอลงถึงขยายตัวได้เพียงปานกลาง ในช่วง 1H22 จะยังกดดันการฟื้นตัวของตลาดโดยรวม
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นจีน A-Share โดยดัชนียังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนมีแนวโน้มออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การระบาดรอบใหม่ในจีนที่ยังมีอยู่ จะทำให้ทางการจีนยังจำเป็นต้องคงมาตรการ Zero-COVID Policy ยาวนานขึ้น และอาจออกมาคุมเข้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกดดันแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยที่ผลกระทบทางลบจะเริ่มสะท้อนในตัวเลขเศรษฐกิจจีนประจำเดือนมีนาคม นอกจากนี้ ข้อพิพาทสหรัฐฯ-จีนที่มีอยู่ จะยังกดดัน Sentiment การลงทุนในช่วงสั้น
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามการเปิดเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยคาดว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 0.5% ในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นจากผลของสงครามยูเครนจะกระทบต้นทุนการผลิต และการปรับประมาณการกำไรของ บจ. ไทยลง ขณะที่ Valuation หุ้นไทยเริ่มตึงตัว นอกจากนี้การเข้าใกล้ช่วงวันหยุดสงกรานต์ และการผ่านพ้น Dividend Season ทำให้ดัชนีหุ้นไทยอาจซึมลง
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 5
SCB CIO ได้ปรับเพิ่มระดับความน่าสนใจในตลาดหุ้นเวียดนามเป็นระดับสูงสุด โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากการที่เวียดนามมีแนวโน้มทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับรัฐบาลเวียดนาม มีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทั้งการเร่งลงทุนโครงการสร้างพื้นฐาน และการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานที่เร่งตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ Consensus มีแนวโน้มทยอยปรับประมาณการ EPS ของ VN-Index ดีขึ้น หลัง บจ. เวียดนามส่วนใหญ่ยังให้มุมมองแนวโน้มกำไรในปีนี้ที่สดใส ในช่วงการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ขณะที่ผลกระทบทางตรงจากวิกฤตในยูเครนต่อเศรษฐกิจ และภาคธนาคารเวียดนามค่อนข้างต่ำ
กองทุนแนะนำ
-
Principal Vietnam Equity Fund
กองทุน PRINCIPAL VNEQ-A ลงทุนในหุ้นเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเอง และคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN30 Total Return
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ทองคำมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม การที่ Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมเดือนพฤษภาคมนี้ รวมทั้งหากมีความคืบหน้าการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จะส่งผลกดดันให้ราคาทองคำปรับลดลง
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
น้ำมันยังคงได้แรงหนุนการความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันที่ตึงตัวหลังสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่คลี่คลาย และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับจำกัด อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครนมีความคืบหน้ามากขึ้น รวมทั้งสหรัฐฯ ปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์เพิ่มเติมจะเป็นปัจจัยลบต่อราคาน้ำมัน
REITs ประเทศพัฒนา
ความน่าสนใจระดับ 3
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มได้รับปัจจัยบวกจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ผ่อนคลายลง และเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตจากการทยอยเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางคุมเข้มนโยบายการเงินของ Fed และการระบาดในบางประเทศที่ยังคงมีอยู่ ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงถูกกดดัน และ Upside ของตลาดถูกจำกัด
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 5
SCB CIO ได้ปรับเพิ่มระดับความน่าสนใจใน REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ขึ้นเป็นระดับสูงสุด โดย REITs ไทยและสิงคโปร์ยังคง Laggard เมื่อเทียบกับ DM REITs และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ตามการผ่อนคลายมาตรการคุมการระบาดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ที่มีการเปิดประเทศมากขึ้น หลังการระบาดผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
โดยสิงคโปร์อนุญาตให้นักเดินทางจากทุกชาติที่ฉีดวัคซีนโควิดครบโดสแล้ว เดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัวตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป และเริ่มให้พนักงานสามารถมาทำงานที่ออฟฟิศได้แล้วในอัตรา 75%
กองทุนแนะนำ
-
SCB Property and Infrastructure Flexible Fund
กองทุน SCBPINA ลงทุนในหน่วยลงทุน REITs และ Infrastructure Fund ของไทยและสิงคโปร์ โดยลงทุนในต่างประเทศโดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่เกินร้อยละ 79