THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

หุ้นโลกผันผวนจากแรงขายทำกำไรหุ้นเทคขนาดใหญ่! จับตา Fed ลดดอกเบี้ยช้ากว่าคาด

... • 5 ก.พ. 2024

HIGHLIGHTS

10 MIN READ
  • สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกผันผวนจากการขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคขนาดใหญ่บางตัวที่ให้มุมมองไปข้างหน้าไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาด นอกจากนั้นตลาดยังได้รับแรงกดดันจากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่จะลดดอกเบี้ยช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์
  • ส่วนตลาดหุ้นไทยไม่มีประเด็นใหม่ การท่องเที่ยวที่ดีถูกลดทอนด้วยความกังวลเรื่องความเสี่ยงการเมืองภายในประเทศ เริ่มเห็นการขายทำกำไรในตลาดน้ำมันจากความกังวลด้านอุปสงค์ที่ชะลอตัว อีกทั้ง Bloomberg รายงานข่าวว่าเริ่มมีการเจรจาระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส 
  • บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะเปราะบาง และการฟื้นตัวยังอยู่ในกรอบจำกัด

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกผันผวนจากการขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคขนาดใหญ่บางตัวที่ให้มุมมองไปข้างหน้าไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาด นอกจากนั้นตลาดยังได้รับแรงกดดันจากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่จะลดดอกเบี้ยช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ กลับปรับลดลง คาดเป็นผลจากตลาดเชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยไม่อยู่ในการพิจารณาของ Fed อีกต่อไป 

 

รวมถึงความกังวลประเด็น New York Community Bancorp ที่มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ในส่วนของตลาดหุ้นจีนยังมีแรงกดดันจากปัญหาที่ยืดเยื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่ยังไม่มีสัญญาณของการฟื้นตัว แม้จะมีการออกมาตรการหนุนเศรษฐกิจและตลาดออกมาต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา  

 

ส่วนตลาดหุ้นไทยไม่มีประเด็นใหม่ การท่องเที่ยวที่ดีถูกลดทอนด้วยความกังวลเรื่องความเสี่ยงการเมืองภายในประเทศ เริ่มเห็นการขายทำกำไรในตลาดน้ำมันจากความกังวลด้านอุปสงค์ที่ชะลอตัว อีกทั้ง Bloomberg รายงานข่าวว่าเริ่มมีการเจรจาระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส 

 

IMF มองบวกเศรษฐกิจสหรัฐฯ ย้ำสัญญาณดอกเบี้ย Higher for Longer

 

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองถ้อยแถลงของ Fed ในครั้งนี้ส่งสัญญาณว่า ดอกเบี้ยจะอยู่สูงยาวขึ้น (Higher for Longer) จากภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาด ทำให้การปรับดอกเบี้ยครั้งแรกอาจเลื่อนไปอยู่ในเดือนพฤษภาคม แทนเดือนมีนาคมที่เราเคยมองไว้ โดยอาจเป็นการลดต่อเนื่องในการประชุมเดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม และกันยายน

 

อย่างไรก็ตาม เราเริ่มเห็นสัญญาณเปราะบาง 3 ประการที่อาจกระทบทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปได้ คือ 1. ค่าจ้างอาจปรับตัวลดลงต่ำกว่าเงินเฟ้อ กดดันการบริโภค, 2. ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์อาจกลับมามีผลต่อเงินเฟ้อ และ 3. ความเสี่ยงภาคธนาคารอาจเริ่มกลับมา

 

ประเด็นการปรับประมาณการ GDP โลกของ IMF ในปีนี้ขึ้นจาก 2.90% เป็น 3.10% นั้น เรามองว่า 1. เป็นเพราะ IMF ปรับประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขึ้นถึงกว่า 0.60% (p.p.), 2. IMF มองว่าเงินเฟ้อจะลดลงตามราคาน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่ม และ 3. IMF มองว่ามาตรการการคลังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจีนได้เพิ่มขึ้นถึงกว่า 0.40% (p.p.) อย่างไรก็ตาม เรามองว่าความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์สำคัญ และอาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงแต่เงินเฟ้อลดลงยากได้

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

1. ระยะสั้น (3-4 เดือน) ที่ต้องการลงทุนในหุ้นปันผลคุณภาพดีในเทศกาลจ่ายเงินปันผล โดยคาดให้ Dividend Yield ปี 2566 (หลังหักจ่ายระหว่างกาลแล้ว) เกิน 5% เลือก AP, BCP และ KTB ขณะที่นักลงทุนระยะยาวที่ต้องการลงทุนในหุ้นปันผลคุณภาพดีเพื่อสร้างกระแสเงินสดที่ดีต่อเนื่อง โดยคาดให้ Dividend Yield ปี 2567 เกิน 5% เลือก AH, AP, BCP, KTB, PTT และ TTB 

 

2. นักลงทุนที่กังวลตลาดผันผวนเชิงลบแนะนำลงทุนในหุ้นตั้งรับซึ่งคาดว่ามีความผันผวนต่ำ จะสามารถชนะตลาดได้ เลือก ADVANC, AOT, BDMS และ TISCO  

 

3. นักลงทุนระยะยาวแนะนำลงทุนสะสมแบบ DCA เนื่องจากมองเป็นจังหวะที่ดีที่สุด หลัง SET ปรับลงแรงจนความเสี่ยงลดลงไปมาก และราคาหุ้นอยู่ในระดับ Undervalue มาก โดยเลือก BBL, BDMS, BEM, CPALL, PTT และ SCC 

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

1. การประชุมนโยบายการเงินของ กนง. ครั้งแรกของปีนี้ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ซึ่งตลาดคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% 

 

2. ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของไทยและจีนเดือนมกราคม

 

3. ตัวเลขดัชนี PMI ภาคบริการเดือนมกราคมของสหรัฐฯ จีน และ EU

 

4. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยเดือนมกราคม 2567

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BCP – ปีนี้กำไรจะดีขึ้นและมีจุดเด่นปันผลสูง

 

แนะนำ บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้

 

  • เป็นผู้นำธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในไทย (ส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2) ที่มีการกระจายความเสี่ยงธุรกิจสู่พลังงานสะอาดซึ่งมีศักยภาพเติบโตดี เช่น โรงไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ, ร้านค้าปลีก, ร้านกาแฟ
  • แม้ 4Q23 คาดว่ากำไรอ่อนลง YoY และ QoQ จากการรับรู้ด้อยค่าเงินลงทุนจาก OKEA ราว 1.7-2.5 พันล้านบาท รวมทั้ง GRM ลดลง และมีขาดทุนสต็อกน้ำมันบางส่วนหลังราคาน้ำมันลดลง แต่ปี 2567 คาดกำไรจะฟื้นตัวเด่น 52%YoY จาก Synergy หลังควบรวมกับ BSRC (ESSO เดิม) ซึ่งช่วยให้มีกำลังผลิตเพิ่มและลดต้นทุนค่าใช้จ่าย 
  • Valuation ไม่แพงที่ P/BV 24F ระดับ 0.7 เท่า ซึ่งเท่ากับระดับ -1.1SD ของ P/BV เฉลี่ย 10 ปี อีกทั้งฐานะการเงินแข็งแกร่ง โดยมีกระแสเงินสดสม่ำเสมอจากธุรกิจพลังงานไฟฟ้า และจัดเป็นหุ้นปันผลดี โดยมีประวัติจ่ายเงินปันผลติดต่อกัน 19 ปีนับตั้งแต่ปี 2005 โดยคาดว่าให้ Dividend Yield จากกำไรปี 2566 (หลังหักจ่ายระหว่างกาลแล้ว) 7.90% 
  • เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 51 บาท อ้างอิงวิธี Sum-of-the-Parts ซึ่งคิดเป็น EV/EBITDA (ปี 2567) น้อยกว่า 3 เท่า

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก

 

  • งบของกลุ่มเทคใหญ่อย่าง AMZN, GOOGL, META, AAPL และ MSFT ในภาพรวมออกมาดีกว่าคาดทั้งหมด อย่างไรก็ดี ตลาดกลับตอบสนองเชิงลบต่อ 1. GOOGL หลังรายได้ Search Engine ผิดคาดเล็กน้อย รวมถึงความกังวลค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นกดดันแนวโน้มมาร์จิ้น, 2. MSFT ที่มีความกังวลแนวโน้มค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับ GOOGL และ 3. AAPL หลังยอดขายในจีนต่ำกว่าคาด และให้คาดการณ์ที่อ่อนแอ

 

  • ด้าน AMZN และ META เผยงบและให้คาดการณ์ที่ดี ส่งผลให้ตลาดตอบสนองเชิงบวกต่อหุ้นทั้งสอง โดย 1. AMZN งบและแนวโน้มยังคงมีแรงหนุนจากการควบคุมต้นทุนและการเปลี่ยนแผนงานมามุ่งเน้นบริการที่สร้างรายได้, 2. META ตัวเลขทราฟฟิกไม่ได้โตโดดเด่น แต่ด้วย Ads Impression ที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังมีการพัฒนาร่วมกับ AI ทำให้งบและกำไรฟื้นตัวในระยะสั้น

 

  • ในกลุ่มนี้เราชอบ 1. AMZN จากการควบคุมต้นทุนและแผนการดำเนินงานที่ดี, 2. MSFT จากปัจจัยพื้นฐานที่แกร่ง และมีความสามารถทางการแข่งขันจากการพัฒนา AI ที่เด่นกว่าบริษัทอื่น และ 3. GOOGL หลังเชื่อว่าปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีภาพที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงมองการเติบโตจะยังคงดำเนินต่อจากการออกสินค้าใหม่ ซึ่งจะช่วยชดเชยภาพมาร์จิ้นที่เริ่มชะลอตัวได้ ด้วยภาพนี้เราจึงแนะนำทยอยสะสมทั้งสามบริษัทในช่วงที่ราคาย่อตัวลง ขณะที่ในส่วนของ AAPL เราเชื่อว่ายังคง Downside จากแนวโน้มผลประกอบการที่คาดว่าจะชะลอตัวลงใน 1Q23 และ META ที่มองว่าการแข่งขันในกลุ่มโซเชียลมีเดียค่อนข้างสูง ซึ่งทำให้เชื่อว่าการฟื้นตัวของกำไรเป็นภาพระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะกลาง การแข่งขันที่สูงจะกลับมากดดันการเติบโตของกำไรและรายได้มากขึ้น

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

สภาพคล่อง / เงินสด

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่สูง หลังที่ประชุม Fed ล่าสุดส่งสัญญาณว่ายังไม่มีแผนที่จะลดดอกเบี้ย รวมทั้งความหวัง Soft Landing ในสหรัฐฯ ที่มีอยู่ ขณะที่สภาพคล่อง รวมถึงเงินสด มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังดำเนินต่อ

 

พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

UST Yield ตัวยาวลดลง 10-12 จุด และ 2-10 Curve แบนลง 9 จุด ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางข้อมูลตลาดแรงงานที่อ่อนตัวลง และความกังวลต่อ Regional Bank ของสหรัฐฯ หลังประกาศงบ 

 

สำหรับ TGB ดิจิทัลวอลเล็ตถูกเลื่อนออกไป ทำให้แรงกดดันต่อราคา TGB ลดลง และ TGB Yield มีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงสั้น

 

หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

หุ้นกู้ IG ยังได้แรงหนุนจาก 1. เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวจำกัด, 2. Yield ยังสูงเมื่อเทียบกับอดีต และ 3. เงินเฟ้อปรับลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของ Yield ที่ซึมซับข่าวไปมากอาจทำให้ Upside ในระยะสั้นมีจำกัด เราจึงแนะนำให้เน้นเลือกลงทุนในกองทุนที่มีการ Manage Duration หรือ Selective Bond รายตัว

 

US HY และ Loan Default Rates ลดลง 8 bps MoM อยู่ที่ 2.77% และ 3.22% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังคงสูงขึ้น 103 bps YoY และ 140 bps YoY ตามลำดับ OAS Spread ยังค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต 10 ปี โดยเรามองว่ากิจกรรมการรีไฟแนนซ์ที่จะเริ่มเร่งตัวขึ้นใน 2H2567 มีโอกาสที่ Supply Bond ของ HY เพิ่มขึ้น และ Spread ปรับเพิ่มขึ้นได้

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

Valuation ของดัชนีฯ ตึงตัวขึ้น หลังดัชนีฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2566 เราเริ่มเห็น 1. ตลาดปรับลดความคาดหวังที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือนมีนาคมลง, 2. กำไรและคาดการณ์กำไรที่ฉีกห่างออกจากกันมากขึ้นระหว่างหุ้น ‘7 นางฟ้า’ กับหุ้น S&P 493 ขณะเดียวกัน กำไรและคาดการณ์กำไรภายในกลุ่ม 7 นางฟ้าเริ่มไม่ได้ไปในทางเดียวกัน โดยเริ่มเห็นความต่างกันระหว่างกลุ่มที่ทำได้ดีกับกลุ่มที่ต่ำกว่าคาดชัดเจนขึ้น

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

Consensus ยังคาด STOXX 600 EPS จะยังหดตัว YoY จนถึง 1Q2567 อย่างไรก็ดี ด้วย Valuation ดัชนีฯ ที่ไม่แพง ประกอบกับแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ของ ECB จะช่วยหนุนการฟื้นตัวของ P/E ดัชนีฯ แม้ความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปและการเลือกตั้งอังกฤษภายในปีนี้อาจสร้างความผันผวนแก่ดัชนีฯ

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

บจ.ญี่ปุ่น มีแนวโน้มออกมาตรการหนุน ROE และ P/BV ตามการผลักดันการปฏิรูปธรรมาภิบาลจากทาง TSE ขณะที่ครัวเรือนมีแนวโน้มย้ายเงินฝากไปลงทุนหุ้นมากขึ้น ตามดอกเบี้ยแท้จริงที่ติดลบ และการเริ่ม New NISA อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงของประธาน BOJ ล่าสุดที่ออกมา Hawkish ขึ้น อาจชะลอการอ่อนค่าของเงินเยน

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากแนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมของทางการจีน โดย PMI ภาคการผลิตจีนล่าสุดยังต่ำกว่า 50 และต่ำกว่าที่คาด ขณะที่ PBOC เตรียมลด RRR ลง 50 bps ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อรองรับความต้องการสภาพคล่องในช่วงตรุษจีน แม้ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์จะยังกดดันดัชนีฯ

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS ที่มีแนวโน้มขยายตัว ขณะที่ P/E ดัชนีฯ ยังไม่แพง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ภาคอสังหาจีนที่ยังมีอยู่ หลังล่าสุดศาลสูงฮ่องกงสั่งให้ China Evergrande ยุติกิจการ และการกีดกันเทคโนโลยีของประเทศต่างๆ กับจีน จะยังคงสร้างความผันผวนและจำกัดการเพิ่มขึ้นของดัชนีฯ

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

ดัชนีฯ เผชิญความผันผวนระยะสั้นจาก Sentiment เชิงลบของเศรษฐกิจปี 2566 ที่โตต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวแรงในเดือนมกราคม (2.7 ล้านคน ระหว่างวันที่ 1-28 มกราคม) และการเข้าสู่ฤดูกาลวันหยุดปีใหม่จีนในเดือนกุมภาพันธ์ จะส่งผลบวกต่อภาคบริโภคในประเทศ ขณะที่ Valuation ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

เรามีมุมมองเชิงบวกจาก 1. การส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง, 2. แนวโน้ม NPL ที่น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว, 3. FDI ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และ 4. ปัญหาภาคอสังหาที่ผ่านจุดต่ำสุดและเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ อย่างไรก็ดี เราคาดว่าตลาดยังมีโอกาสที่จะผันผวนได้สูงจากสถานการณ์โอกาสผิดนัดชำระหนี้ในตลาดหุ้นกู้ที่จะมียอดกำหนดชำระที่เร่งตัวใน 2Q2567 และ 4Q2567 ดังนั้นเราจึงแนะนำการลงทุนในกองทุนที่มีกลยุทธ์ Bottom-Up และรักษาสัดส่วนการลงทุนในพอร์ต ภายใต้เงื่อนไขตลาดหุ้นเวียดนามยังเป็น Frontier Market ที่ผันผวนได้สูง

 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ดัชนีฯ ปรับตัวขึ้นจากเงินลงทุนที่ไหลเข้าสู่หุ้นขนาดใหญ่ โดยเรามีมุมมองเป็นบวกจากภาพการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ที่มีแนวโน้มราบรื่นมากขึ้น โดย ปราโบโว ซูเบียนโต ได้คะแนนนิยมทิ้งห่างจากพรรคคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม การคงดอกเบี้ยของ BI เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินจะยังกดดันภาคการบริโภคและการลงทุน

 

ตลาดหุ้นอินเดีย

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

มูลค่าที่แพงของดัชนีฯ สะท้อนคุณภาพของแนวโน้มกำไรที่ยังแข็งแกร่ง แต่ด้วยโครงสร้างของ Fund Flow ที่มาจากเงินลงทุนภายในประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยเป็นหลัก ทำให้ผลตอบแทนกระจุกตัวอยู่ในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก เราชอบกองทุนที่มีสัดส่วนของหุ้นขนาดใหญ่มากกว่าหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากคาดว่า Fund Flow ต่างชาติมีโอกาสกลับมา หลังเห็นความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ราคาทองคำได้รับอานิสงส์เชิงบวกตามแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในปี 2567 ส่งผลให้ 10Y UST Real Yield มีโอกาสปรับตัวลดลง และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า อีกทั้งยังมีความต้องการซื้อทองคำของธนาคารกลางประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาที่ปรับตัวขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ที่ลดลง อาจทำให้ Upside ราคาทองคำค่อนข้างจำกัด

 

น้ำมัน

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันหลังมีข่าวการเจรจาสงบศึกระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ประกอบกับกลุ่ม OPEC+ มีมติคงการปรับลดกำลังการผลิต 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยสมัครใจตามที่ตลาดคาด อีกทั้งราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากความกังวลด้านอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง และอุปทานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากประเทศกลุ่ม Non-OPEC นำโดยสหรัฐฯ เป็นหลัก

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

DM REITs ชะลอความร้อนแรงลง หลังปรับตัวขึ้นแรงจาก Bond Yield ที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ Demand Indicators เมื่อพิจารณาจาก Net Absorption และ Occupancy Rate นั้นอ่อนแอลงเล็กน้อย ตามภาวะเศรษฐกิจที่เข้าสู่ช่วง Soft Landing ขณะที่ในเชิง Valuation เมื่อพิจารณาจาก P/BV อาจดูน่าสนใจลดลง
เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ในส่วน Dividend Yield Spread ยังค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

EM REITs ชะลอความร้อนแรงลง หลังเพิ่มขึ้นแรงจาก Bond Yield ที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับมี Valuation และเงินปันผลที่อยู่ในระดับน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อีกทั้งสภาพคล่องของ REITs ไทยที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับมีการกระจุกตัวของสินทรัพย์ที่ไปลงทุนคู่สัญญาและสปอนเซอร์ที่ค่อนข้างสูง

 

Private Asset

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

เรามีมุมมอง Private Credit เป็น Slightly Positive จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority) มีมุมมองบน Private Equity เป็น Neutral อัตราดอกเบี้ยที่ผ่านจุดสูงสุดและมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้แรงกดดันด้าน Discount Rate ที่มีต่อ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity ลดลง ขณะที่มีมุมมอง Private Real Estate เป็น Slightly Negative เนื่องจากหลายกองทุนยังบังคับใช้การระงับการไถ่ถอนกองทุนอยู่

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 5 ก.พ. 2024

READ MORE



Latest Stories