ข่าวปลอม (Fake News) บัญชีผู้ใช้แอ็กเคานต์ปลอม และการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ คืออุปสรรคปัญหาใหญ่ที่เฟซบุ๊กในฐานะเจ้าของแพลตฟอร์มต้องเผชิญมาตลอดในช่วงระยะ 4-5 ปีหลังสุด
โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 ที่มาตรวจพบภายหลังผ่านพ้นการเลือกตั้งไปแล้วว่าเพจและบัญชีผู้ใช้จำนวนมากที่มีต้นทางจากรัสเซียมีความพยายามจะแทรกแซงการเลือกตั้งในช่วงดังกล่าว โดยใช้ข่าวปลอมและข้อมูลชวนเชื่อปลุกปั่นผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในสหรัฐอเมริกา แถมยังมีการซื้อโฆษณาจนคอนเทนต์เหล่านั้นสามารถเข้าถึงผู้ใช้ในวงกว้าง
เมื่อเห็นว่าปัญหาเหล่านั้นต้องถูกแก้ไข เฟซบุ๊กจึงเร่งยกระดับมาตรการต่างๆ กวาดล้างข่าว-บัญชีผู้ใช้ปลอมเพื่อให้แพลตฟอร์มปลอดภัยสำหรับการใช้งาน และเป็นพื้นที่เสรีที่ผู้ใช้ทุกคนจะสามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้โดยไม่มีการปิดกั้น
วันนี้ (22 ม.ค.) เฟซบุ๊ก ประเทศไทย โดย เคธี ฮาร์บาธ ผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองระดับโลกและการประสานงานภาครัฐของเฟซบุ๊ก ได้นำเสนอมาตรการต่างๆ ที่เฟซบุ๊กได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2016 เพื่อให้แพลตฟอร์มปลอดภัยและโปร่งใสสำหรับผู้ใช้งาน สนับสนุนให้คนออกไปเลือกตั้ง โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือลดการแทรกแซงในช่วงเลือกตั้งจากผู้ที่ไม่ประสงค์ดี
5 มาตรการที่เฟซบุ๊กจะใช้เพื่อป้องกันการใช้แพลตฟอร์มที่ไม่เหมาะสม
- กวาดล้างบัญชีผู้ใช้ปลอม (Cracking Down on Fake Accounts)
- ลดการแพร่กระจายของข่าวปลอม (Reducing The Distribution of False News)
- ทำให้โฆษณาโปร่งใสมากขึ้น (Making Advertising More Transparent)
- ยับยั้งการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมบนแพลตฟอร์ม (Disrupting Bad Actors)
- สนับสนุนการให้ข้อมูลในช่วงเลือกตั้ง (Supporting an Informed Electorate)
ตัวอย่างเช่น (1.) การกวาดล้างบัญชีผู้ใช้ปลอม เฟซบุ๊กเผยว่าจะเป็นรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ โดยขั้นตอนแรกจะใช้ระบบอัตโนมัติตรวจจับข้อมูลเพื่อค้นหาบัญชีปลอมก่อน แล้วนำ AI มาระบุตัวตน ซึ่งเคลมว่าสามารถตรวจจับบัญชีปลอมก่อนจะมีการรายงานเข้ามาได้มากถึง 99.6% (ไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2018 ที่ผ่านมากำจัดบัญชีผู้ใช้ปลอมไปแล้วกว่า 1.5 ล้านราย)
ก่อนจะให้ทีมงานคนจำนวนกว่า 30,000 คนที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงมาช่วยตรวจจับและสแกนในขั้นตอนสุดท้ายอีกครั้ง เนื่องจากรูปแบบและวิธีการของผู้ที่ไม่ประสงค์ดีในการสร้างบัญชีปลอมมีการพัฒนาและก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา ขณะที่อีกมาตรการคือ (2.) ลดการแพร่กระจายของข่าวปลอม ซึ่งเฟซบุ๊กบอกว่าจะนำหลัก ‘ลบ ลด แจ้ง (Remove. Reduce. Inform)’ มาใช้จัดการกับข่าวปลอมหรือคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม พร้อมนำระบบการให้คะแนนโพสต์เข้ามาใช้
ส่วน (3.) การทำให้โฆษณาโปร่งใสมากขึ้น เฟซบุ๊กได้เริ่มเปิดให้ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กทั่วไปสามารถเข้าไปดูรายละเอียดข้อมูลของเพจได้แล้วผ่านแถบ ‘Info and Ads’ ในหน้าเพจนั้นๆ ซึ่งจะโชว์รายละเอียดตั้งแต่เพจเปลี่ยนชื่อมาแล้วกี่ครั้ง เริ่มสร้างเพจขึ้นมาวันไหน มีต้นทางการใช้งานมาจากประเทศใดเป็นหลัก (ข้อนี้ก็เพื่อเช็กว่าเพจนั้นๆ นำเสนอประเด็นไหน อาศัยอยู่ในประเทศใด เพื่อเชื่อมโยงกับเจตนาในการทำคอนเทนต์) และสุดท้ายยังสามารถเลือกดูได้ด้วยว่าคอนเทนต์ที่ถูกซื้อโฆษณาถูกสนับสนุนโดยใคร
สุดท้ายทั้ง (4.) การยับยั้งการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมบนแพลตฟอร์มและ (5.) การสนับสนุนการให้ข้อมูลช่วงเลือกตั้ง เฟซบุ๊กบอกว่าจะเป็นไปในรูปแบบการทำงานร่วมกันกับองค์กรอื่นๆ หรือเรียนรู้จากรัฐบาลในแต่ละประเทศ เช่น สภาแอตแลนติก ฝ่ายห้องปฏิบัติการวิจัยนิติวิทยาศาสตร์ดิจิทัล (Digital Forensic Research Lab) เพื่อช่วยให้ผู้ใช้รับข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น ก่อนจะกดแชร์ต่อหรือแสดงความคิดเห็น
โดยการสนับสนุนจากแต่ละประเทศในช่วงเลือกตั้ง เฟซบุ๊กเปิดเผยว่าจะมีการให้ข้อมูลพรรคที่ลงสมัครเลือกตั้งตั้งแต่ช่วงก่อนวันเลือกตั้ง (Pre Election Day), กระตุ้นให้คนออกไปใช้สิทธิ์และชวนเพื่อนออกไปเลือกตั้งในวันจริง (Election Day) ผ่านฟีเจอร์แจ้ง Voter Tools ไปจนถึงการจัดทำกิจกรรมช่วงหลังวันเลือกตั้ง (Post Election Day)
ระเบียบข้อบังคับการหาเสียงช่วงเลือกตั้งบนโลกออนไลน์
แม้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะยังไม่ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาก็ได้เผยแพร่ระเบียบและประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 9 ฉบับ โดยจะมีผลใช้บังคับเมื่อพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง
ใจความบางส่วนของประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง 9 ฉบับดังที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงบนพื้นที่ออนไลน์ มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
1. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ประเภทของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร – (ข้อ 3) กำหนดให้ค่าใช้จ่ายการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือค่าบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ครอบคลุมแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก, ไลน์, ทวิตเตอร์, ยูทูบ, อินสตาแกรม, กูเกิล, แอปพลิเคชัน เป็นต้น
2. ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร – (ข้อ 4) ให้นิยามการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง การหาเสียงเลือกตั้งที่กระทำผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการใช้ระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อหาเสียงเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนโดยทั่วไป
3. ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- หมวด 2 การหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนที่ 1 ‘วิธีการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์’
- ข้อ 7 – การหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สมัครพรรคการเมืองหรือผู้ใดแล้วแต่กรณี สามารถหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยตนเอง หรือมอบ ว่าจ้างบุคคลหรือนิติบุคคลดำเนินการแทน ครอบคลุมเว็บไซต์, โซเซียลมีเดีย, ยูทูบ, แอปพลิเคชัน, อีเมล, เอสเอ็มเอส และสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นทุกประเภท
- ข้อ 8 – การหาเสียงเลือกตั้งตามข้อ 7 ให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองสามารถระบุชื่อ, รูปถ่าย, หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร, ชื่อพรรค, สัญลักษณ์พรรค, นโยบายพรรค, คติพจน์-คำขวัญ หรือข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัคร
- หมวด 2 การหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนที่ 2 ‘การแจ้งวิธีการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์’
- ข้อ 9 – การหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้สมัครแจ้งวิธีการ รายละเอียด ช่องทาง ระยะเวลาการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบตั้งแต่วันสมัครรับเลือกตั้งเป็นต้นไป หรือก่อนดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์
- หมวด 2 การหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนที่ 3 ‘การหาเสียงเลือกตั้งโดยบุคคลที่มิได้เป็นผู้สมัครหรือมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง’
- ข้อ 10 – ในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้บุคคลที่มิได้เป็นผู้สมัครหรือมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ประสงค์จะหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด แสดงชื่อและชื่อสกุล หรือชื่อนิติบุคคล หรืออาจแสดงชื่อย่อ สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายใดที่สามารถระบุเจาะจงตัวบุคคลที่ดำเนินการได้ ส่วนสื่อที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ต้องระบุชื่อและชื่อสกุลหรือชื่อนิติบุคคลของผู้จัดทำเช่นกัน โดยการแสดงตนระบุข้อมูลอาจกระทำในรูปแบบตัวอักษร ภาพ หรือเสียงก็ได้
-
- ข้อ 11 – บุคคลที่มิได้เป็นผู้สมัครหรือมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรายการค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้รวมแล้วเกินกว่า 10,000 บาทขึ้นไป ผู้นั้นต้องแจ้งค่าใช้จ่ายดังกล่าวต่อผู้สมัครหรือพรรคการเมืองทราบ
ทั้งนี้ผู้สมัครจะต้องแจ้งให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบ ส่วนในกรณีพรรคการเมืองให้แจ้งต่อเลขาธิการทราบ (1) ค่าจ้างจัดทำสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์, (2) ค่าตอบแทนในการดำเนินการ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดเพื่อให้ผู้ใช้บริการเว็บไซต์ โซเซียลมีเดีย อีเมล โปรแกรมค้นหา หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น รับรู้ถึงการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์
-
- ข้อ 12 – กรณีที่ผู้สมัครหรือพรรคยินยอมการใช้จ่ายเพื่อหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลที่มิได้เป็นผู้สมัครหรือมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ให้นับรวมรายการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นด้วย
- หมวด 4 ลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง
- ข้อ 18 – ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดหาเสียงเลือกตั้งในลักษณะที่ให้ผู้ประกอบอาชีพ เจ้าของกิจการเกี่ยวกับรายการทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน สื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร สื่อมวลชน เป็นต้น ใช้ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพดังกล่าวเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมือง
บทบาทของเฟซบุ๊กกับการเลือกตั้งประเทศไทย 2562
เฟซบุ๊กกล่าวว่าหน้าที่ของพวกเขาในการดูแลแพลตฟอร์มช่วงเลือกตั้งประเทศไทยในปี 2562 นี้ก็ไม่ต่างจากการควบคุมนโยบายแพลตฟอร์มในประเทศอื่นๆ ช่วงเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสผ่านทั้งการสกัดกั้นการแพร่กระจายของข่าวปลอม กวาดล้างแอ็กเคานต์ปลอม และทำให้การหาเสียงเลือกตั้งโปร่งใส
วิธีที่จะทำให้การซื้อโฆษณาหาเสียงบนแพลตฟอร์มโปร่งใสได้ เฟซบุ๊กเปิดเผยว่าในช่วงเดือนมิถุนายนนี้จะมีการเปิดตัวฟีเจอร์ที่ทำให้ผู้ใช้งานทั่วโลกสามารถตรวจสอบได้ว่าโฆษณาคอนเทนต์การเมืองหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง (Political Ads) ของแต่ละเพจการเมืองหรือแต่ละพรรคมีใครเป็นคนสนับสนุนเงินแหล่งทุนโฆษณา หรือโฆษณามีการระบุเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใช้งานรายใด เพศ หรือช่วงวัยใดเป็นพิเศษ (Audience Targeting) เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้อย่างชอบธรรม
อย่างไรก็ดี ตามที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าการเลือกตั้งในประเทศไทยมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่าฟีเจอร์ดังกล่าวอาจจะไม่ทันพร้อมใช้งานช่วงเลือกตั้งประเทศไทย ทั้งนี้เคธีและทีมงานเฟซบุ๊กเปิดเผยว่าอาจจะพิจารณาการเปิดใช้งานฟีเจอร์ที่ว่าตามความเหมาะสมแล้วแต่กรณี
ขณะที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทีมงานเฟซบุ๊กที่ประจำการอยู่ที่ประเทศไทยยังให้ข้อมูลกับ THE STANDARD อีกด้วยว่ามีการพูดคุยหารือกับทาง กกต. มาโดยตลอด เพียงแต่ยังไม่มีการกำหนดขอบเขตและวาระความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม
เคธีกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่เธอทำงานกับเฟซบุ๊กและอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลกได้เกิดการเลือกตั้งขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งบริบทการเลือกตั้งรวมถึงสถานการณ์ในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันออกไป (แต่ละประเทศมีข้อบังคับการเลือกตั้งที่ไม่เหมือนกัน)
ดังนั้นเป้าหมายของเธอและเฟซบุ๊กในการพัฒนาแพลตฟอร์มคือทำให้มั่นใจว่าเฟซบุ๊กจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งานในการแสดงความคิดเห็น มีความโปร่งใส เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองได้ พร้อมให้สัญญาว่าเฟซบุ๊กจะดำเนินการตามนโยบายที่สอดคล้องกับทาง กกต. ของประเทศนั้นๆ รวมถึงประเทศไทย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์