วันเลือกตั้ง

“เขาไม่เสียของ แต่เราอาจได้ของเสีย” มุมสะท้อนจากเวทีเลือกตั้งกุมภาฯ 62 ฟรีและแฟร์สำหรับใคร?

19.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 MINS READ
  • มุมมองจาก 4 นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้งชวนประชาชนมองและวิเคราะห์การเลือกตั้ง 2562 ที่กำลังจะมาถึง ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่ากติกาและผู้เล่นมีความเสี่ยงต่อความฟรีและแฟร์

อีกไม่นานเกินรอ คนไทยกำลังจะได้มีโอกาสใช้สิทธิ์เลือกผู้แทนประชาชนผ่านการเลือกตั้งอีกครั้ง หลังห่างหายไปเกือบ 8 ปีนับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2554

 

ในรอบ 10 กว่าปี เราผ่านการรัฐประหารมา 2 ครั้ง สลับกับการคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อเดินหน้าสู่เส้นทางประชาธิปไตย การเลือกตั้งปี 2562 เป็นการหวนกลับมาอีกครั้งของการเลือกตั้งหลังรัฐประหารปี 2557 โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ซึ่งเวลานี้กำลังประกาศตัวเป็นนักการเมืองและพร้อมแต่งตัวลงมาเป็นผู้เล่นในเกมนี้ด้วย

 

แต่ก่อนจะเข้าสู่โหมดจริงของการเลือกตั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดเวที จุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 16 เรื่อง ‘เลือกตั้ง กุมภาฯ 62 ฟรีและแฟร์สำหรับใคร?’ โดยเชิญนักวิชาการมาร่วมวิเคราะห์ในมุมต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง และต่อไปนี้คือมุมมองจากนักวิชาการที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตที่เรากำลังฝันหา

 

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้ง FFFE รณรงค์เลือกตั้งต้องเสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ

 

ไม่เสียของสำหรับเขา แต่เรากำลังจะได้ของเสียกลับมา

การเลือกตั้งครั้งนี้คือแนวปะทะใหญ่ของการขับเคี่ยวทางการเมืองระหว่างเครือข่ายอนุรักษนิยมกับพลังที่ท้าทาย เป็นการทวงคืนพื้นที่ของฝ่ายอนุรักษนิยมกลับคืนมา

 

การเมืองก่อนหน้านี้ ‘ตลาดนโยบายทางการเมือง’ กลายเป็นตัวตัดสินในทางการเมือง ในการเลือกตั้งผ่านประชาชน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นฝ่ายอนุรักษนิยมเคยทำมาก่อน

 

การรัฐประหาร 2549 ถูกบอกว่ากลายเป็นเรื่องเสียของ เพราะทำให้ได้กลุ่มการเมืองแบบเดิมกลับมา จึงเกิดความพยายามอีกครั้งหนึ่งในการกลับมาเพื่อที่จะขจัดกลุ่มการเมืองเดิมผ่านมวลชน สุดท้ายก็ได้รัฐประหาร 2557 ภายใต้โจทย์ที่ว่าการหวนคืนกลับมาของฝ่ายอนุรักษนิยมจะต้องไม่เสียของ เพราะถึงที่สุดก็ต้องกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบเดิม โดยผ่านเครื่องมือหรือสร้างกลไกที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมการเมืองที่ไม่เข้มแข็ง ทำอย่างไรให้พรรคการเมืองที่เป็นขวัญใจประชาชน ที่ทำนโยบายมัดใจประชาชนได้ให้มีความอ่อนแอลง เราจึงได้เห็นการออกแบบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

อีกข้อหนึ่งคือการทำให้เสียงประชาชนไร้ความหมาย นั่นคือการออกแบบให้ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากประชาชนสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้

 

ดร.อนุสรณ์ มองว่ารอบนี้มีการใช้รัฐธรรมนูญเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความได้เปรียบ ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เสียงของประชาชนไร้ความหมาย ใช้ประโยชน์จากการเป็นรัฐบาล ดูง่ายๆ คือมีความพยายามใช้ชื่อพรรคให้พ้องกับนโยบายของรัฐ มีการตัดกำลังคู่แข่ง ผ่านกลไกต่างๆ ทั้งการดูดทางการเมือง อำนาจ กฎหมาย และกติกาที่ออกแบบมาตัดกำลังคู่แข่งไว้แล้ว สุดท้ายก็กันคนนอกออกไปไม่ให้เข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้ง

 

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เสียของสำหรับเขา แต่เรากำลังจะได้ของเสียกลับมา

 

โอกาสที่เราจะได้ของดีคือรัฐบาลจะต้องเปลี่ยนสถานะตัวเองเป็นรัฐบาลรักษาการ หลังมีการประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง

 

หยุดใช้อำนาจ คสช. และหัวหน้า คสช. โดยเฉพาะมาตรา 44 แทรกแซงการเลือกตั้ง

 

ยกเลิกคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง

 

การให้ กกต. เป็นองค์กรอิสระอย่างแท้จริง

 

การร่วมรณรงค์การเลือกตั้งให้มีความเสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ

 

สร้าง ‘สังคมประชา’ ที่เป็นอาณาบริเวณของการเสนอทางเลือกใหม่ให้กับสังคมไทย และโยงใยกับ ‘สังคมการเมือง’ ต้องเป็นเนื้อเดียวกัน มีกลุ่มของคนที่เคยสัมผัสปัญหาแล้วเดินเข้าสู่การเมือง เช่น พรรคสามัญชน อย่าให้พรรคการเมืองถูกแยกออกจากประชาชน

 

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เลือกตั้ง = เครื่องมือที่เปลี่ยนกระสุนให้เป็นบัตรเลือกตั้ง

ดร.สิริพรรณ เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นว่าทำไมการเลือกตั้งจึงสำคัญ เพราะการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่เปลี่ยนกระสุนให้เป็นบัตรเลือกตั้ง เป็นเครื่องมือการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่สันติวิธีที่สุด ซึ่งโจทย์ใหญ่ก็คือหลังการเลือกตั้งเราจะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากระบอบอำนาจนิยมไปสู่ระบอบใด ดร.สิริพรรณ ชี้ว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดเป็นทางสามแพร่ง ดังนี้ 

 

1. เปลี่ยนผ่านสำเร็จ มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ต้องใช้ไฟฉายในการส่องแสงสว่างอย่างมาก

2. เดินอยู่ในเขาวงกตความขัดแย้งทางการเมือง กลายเป็นเครื่องมือของระบอบอำนาจนิยมที่ใส่เสื้อกั๊กประชาธิปไตย

3. เป็นจุดเริ่มต้นของการขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่

 

ดร.สิริพรรณ อธิบายว่าการเลือกตั้งที่มีคุณภาพต้องให้รู้สึกว่ามีรากเหง้าที่ฝังอยู่ในสังคม คือการที่ทุกคนเข้าใจว่าออกไปใช้สิทธิ์เพื่ออะไร กาแล้วเราจะได้อะไร เป็นการเปลี่ยนเพื่อระบบพรรคการเมืองและการมีส่วนร่วม ซึ่งจะต้องเป็นที่ยอมรับและมีความชอบธรรม โดยทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน

 

ดร.สิริพรรณ ชี้ว่าประเทศไทยมี 2 สภา ปีหน้าเราตื่นเต้นเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ ณ เวลานี้กำลังมีการเลือกวุฒิสภา แต่ไม่มีใครพูดถึง เพราะโครงสร้างของ ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่มีสิทธิ์ที่จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

 

ดร.สิริพรรณ ได้การประเมินการเลือกตั้ง ณ เวลานี้ว่า

 

1. กติกาและโครงสร้างการแข่งขัน ที่ผ่านมาพรรคการเมืองขนาดใหญ่จากไทยรักไทย พลังประชาชน และมาเพื่อไทย ได้ประโยชน์​จากกติกา จากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ซึ่งไม่ได้เป็นผู้เขียนกติกา

 

แต่กติกาใหม่ของรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งปัจจุบันไม่มีประเทศไหนใช้ เยอรมนีเป็นคนคิดหลังสงครามโลกเมื่อปี 1949

 

ครั้งนี้ประชาชนใช้สิทธิ์ผ่านบัตรเลือกตั้งด้วยการกากบาท 1 ครั้ง ได้ 3 เด้ง ซึ่งปัญหานี้จะทำให้เราไม่สามารถแยกได้ว่าสรุปแล้วประชาชนเลือกกาพรรคนั้นเพราะเหตุผลใด ดูที่นโยบายหรือตัวบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ มันทำให้สายโซ่ของความรับผิดชอบไม่ถูกตรวจสอบถ่วงดุล

 

2. ตัวแสดงทางการเมืองจะเป็นธรรมกับทุกคนอย่างไร เพราะกติกาถูกร่างโดย คสช. และ คสช. ดูเหมือนจะส่งคนมาร่วมในการเลือกตั้งด้วย การใช้มาตรา 44 ในการแบ่งเขตเลือกตั้งหรือการจัดการเลือกตั้งก็ทำให้ได้ผลที่หลายคนรู้สึกว่ามีบางเขตที่แบ่งแบบผิดปกติ

 

ดร.สิริพรรณ มองว่าผู้เล่นที่สำคัญคือ กกต. กับคำถามที่ว่าจะสามารถสร้างความเป็นธรรมและเป็นกลางให้กับทุกฝ่ายได้ไหม เพราะตอนนี้เป็นตำบลกระสุนตก ทุกคนก็จะไปลงที่ กกต. ทั้งหมด มองว่าสิ่งที่ กกต. กังวลใจและกดดันคือกติกาที่ถูกร่างมาก่อนหน้านี้ เพราะสำนักงาน กกต. จะต้องทำตามกฎหมาย อาทิ ประเด็นเรื่องบัตรเลือกตั้ง 

 

3. ภูมิทัศน์ของสื่อ สื่อคือตัวกลางการถ่ายทอดนโยบายและอัตลักษณ์ของพรรคการเมือง สื่อไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง แต่ต้องเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงที่ตรงไปตรงมา สื่อเป็นตัวกำหนดวาระทางการเมือง หากสื่อช่วยสร้างบรรยากาศการเลือกตั้งที่เป็นธรรมก็จะเป็นสิ่งที่ดี 

 

4. บริบททางการเมือง เราอยู่ภายใต้ คสช. มาตรา 44 ยาวไปถึงหลังเลือกตั้งจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ กลไกต่างๆ ของรัฐก็จะยังมีส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมให้การเลือกตั้งก่อน

 

ดร.สิริพรรณ สรุปว่าการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือถ่ายโอนอำนาจ ที่ผ่านมาคนไทยเลือกพรรคการเมืองเดิมๆ โดยเฉพาะกลุ่มไทยรักไทย เป็นการตัดสินใจบนเหตุผลเดิมๆ

 

ขณะที่คนอีกกลุ่มรู้สึกว่าเลือกทีไรก็ได้แบบเดิม จึงกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองของไทย

 

หากการเลือกตั้งครั้งนี้มีการตั้งธงเอาไว้ว่าแม้แพ้การเลือกตั้งแต่ก็เป็นรัฐบาลได้ จะนำไปสู่การตั้งคำถามว่าแล้วเราจะมีการเลือกตั้งไปทำไม หากมีธงไว้แล้ว ผลการเลือกตั้งก็จะไม่มีความหมาย ตรงนี้แหละเป็นการพิสูจน์ว่าจะสามารถทำให้เสียงประชาชนมีความหมายหรือไม่ แต่อยากฝากไว้ว่าขอให้ ส.ว. แต่งตั้งโดยเลือกตามเจตนารมณ์ของประชาชน

 

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

การเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย

ดร.ประจักษ์ มองว่าการเลือกตั้งรอบนี้เป็นการย้อนกลับไปเพื่อทำให้ระบบพรรคการเมืองต้องแตกออกไปเป็นหลายพรรคจำนวนมาก แต่สิ่งที่สำคัญคือพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชน จากงานวิจัยพบว่าพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนอาจไม่ได้เป็นไปตามระบบเลือกตั้ง

 

ถ้ามีการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั้งจากในและนอกประเทศจะช่วยป้องกันการโกงการเลือกตั้งได้เป็นอย่างดี ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีให้เห็นคือการโกงแบบงานหยาบ การโกงแบบซึ่งหน้า กับการโกงแบบละเอียด คือมีการบิดกติกาบางอย่างให้เอื้อต่อพรรคใดพรรคหนึ่ง เทคนิคพวกนี้ต้องอาศัยสื่อและนักวิชาการช่วยกันจับตา

 

ดร.ประจักษ์ บอกว่าการเลือกตั้งเป็นกติกาที่ลงหลักปักฐานสร้างประชาธิปไตยให้กับประเทศ อันนี้ดูได้ในการเลือกตั้งของมาเลเซียที่ผ่านมา กล่าวคือเป็นโมเดลเพื่อนบ้านที่น่าสนใจ ในกัมพูชามีการเชิญนักสังเกตการณ์การเลือกตั้ง แต่ถูกบอยคอต ไม่ไป เพราะรัฐบาลเวลานั้นได้กำจัดคู่แข่งทางการเมืองเหลือพรรคเดียว ต่างชาติก็กลัวว่าจะกลายเป็นการไปประทับตราให้กับรัฐบาลฮุน เซน

 

ดร.ประจักษ์ ชี้ว่าไทยกำลังกลับไปใช้วิธีการที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งมาเลเซีย ซึ่งรัฐบาลนาจิบใช้มาก่อนหน้านี้ในการพยายามทำให้กติกาการเลือกตั้งเอื้อต่อตนเองมากที่สุด มีการควบคุมสื่อ ออกนโยบายลดราคาน้ำมัน

 

แต่ประชาชนรู้สึกว่ามันมากเกินไป ปรากฏว่าประชาชนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งจำนวนมาก จนในที่สุดรัฐบาลอัมโนของนาจิบแพ้การเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย นี่จึงเป็นภาพสะท้อนว่าพฤติกรรมการเลือกตั้งอาจสวนทางกับระบบเลือกตั้ง ไม่ว่าจะออกแบบมาให้ฟรีหรือแฟร์หรือไม่

 

และกลุ่มผู้เลือกตั้งรุ่นใหม่ของไทยยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคไหน เป็นกลุ่มที่พรรคการเมืองยังไม่รู้ว่าต้องการแบบไหน เป็นกลุ่มที่ต้องประเมินอย่างมาก

 

ดร.ประจักษ์ ชี้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย อาจจะต้องรออีก 2 ครั้ง ครั้งนี้จะเป็นการค้นหาระเบียบทางการเมืองใหม่ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการคลี่คลาย ไม่ว่าฝ่ายไหนชนะเลือกตั้งมาก็น่าจะอยู่ไม่ครบเทอม และคงเป็นรัฐบาลผสม พรรคเล็กพรรคน้อยมีอำนาจต่อรองจำนวนมาก

 

สิ่งที่สำคัญกว่าใครจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้คือสังคมไทยต้องทำให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมมากที่สุด ไม่เช่นนั้นแล้วผลการเลือกตั้งก็จะไม่ชอบธรรม ต่อให้ชนะถล่มทลายก็จะนำมาสู่ความขัดเเย้ง นอกจาก กกต. แล้ว คสช. ต้องปล่อยให้ กกต. ทำงานอย่างอิสระในการจัดการเลือกตั้ง และการทำงานของ กกต. บทเรียนจากบัตรเลือกตั้งแสดงให้เห็นแล้วว่าเสียงของประชาชนมีส่วนสำคัญมากแค่ไหน

 

ดร.ประจักษ์ มองว่าความรุนแรงหลังการเลือกตั้งเป็นเรื่องน่าห่วงกว่า ในสังคมไทยมีการจัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลทหารมา 3 ครั้งในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพล ถนอม กิตติขจร และ รสช. ซึ่งจบไม่ค่อยดีนัก ที่ผ่านมาการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลทหารที่มาจากการยึดอำนาจและตั้งพรรคการเมืองลงแข่งขัน เราจะพบว่ามีการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ เมื่อใช้กลไกรัฐมาก แม้ชนะการเลือกตั้งก็จริง แต่ประชาชนก็รู้สึกว่าไม่ใช่การเลือกตั้งที่สะอาด นำไปสู่การประท้วงและมีความรุนแรงแบบที่เราเห็นในประวัติศาสตร์

 

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า

 

ประชาชนจะเอาแบบไหน เลือกคนที่รักหรือเลือกพรรคที่ชอบ ต้องตีโจทย์ให้แตก

ดร.สติธร ชวนมาดูระบบเลือกตั้งปัจจุบันว่าระบบแบบนี้ปิดโอกาสที่จะทำให้ได้พรรคการเมืองพรรคเดียวเป็นรัฐบาลหรือเปล่า ถ้าปิดแสดงว่าไม่แฟร์ ยังไม่พูดถึงฟรี เมื่อดูแล้วพบว่าระบบบัตรเดียว ‘ไม่ปิดโอกาส’ หมายความว่าถ้าพรรคใดได้คะแนนนิยมเกิน 50% หมายความว่ามีแนวโน้มจะได้ ส.ส. เกิน 251 ที่นั่ง

 

ถ้าการเลือกตั้งเป็นระบบปกติคือได้คะแนนเกินครึ่ง หมายความว่าคุณต้องเป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้แล้ว อันนี้โดยหลักการมันเป็นไปได้ แต่ในทางปฏิบัติจะทำได้ไหมเป็นอีกเรื่อง

 

ต่อมามีคำถามว่าระบบนี้เอื้อพรรคเล็กและพรรคกลางหรือไม่ เมื่อเอาตัวเลขการเลือกตั้งปี 2554 มาดู พบว่าพรรคกลางมีตัวเลขที่นั่งเพิ่มขึ้น และพรรคเล็กมีโอกาสได้เก้าอี้มากขึ้น แต่พรรคใหญ่ลดลง แต่นี่คือการเทียบคนละการเลือกตั้งและบัตรคนละแบบ

 

เอาเข้าจริงอาจจะไม่ได้เอื้อพรรคเล็กหรือพรรคกลางก็ได้ เอาภูมิใจไทยมาดูก็จะพบว่าถ้าเอาครั้งที่แล้วมาดู เอาบัญชีรายชื่อมาดูก็คือได้น้อยในระบบนี้ เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับการลงคะแนนกับประชาชนว่าอยากได้คนที่รักหรือพรรคที่ชอบมากกว่า ถ้ามันไม่ใช่การเอื้อร้อยเปอร์เซ็นต์มันก็อาจจะไม่ได้มีปัญหานัก แสดงว่าโดยหลักการมันไม่ได้เอื้อพรรคเล็กหรือพรรคกลางร้อยเปอร์เซ็นต์ รอบนี้เรายังเดาไม่ถูกว่าประชาชนจะเอาแบบไหน ต้องไปตีโจทย์ให้แตก

 

คำถามต่อมาคือระบบแบบนี้เป็นไปได้ไหมที่คนได้เขตมากจะได้ตัวเลขบัญชีรายชื่อน้อย สมมติมีพรรคการเมืองชนะในเขตได้ 250 เขต โอกาสที่จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่ออาจจะเป็นศูนย์ ซึ่งมันทำให้ไปทำลายจุดอ่อนของการเลือกตั้ง คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะต้องเตรียมคำตอบสำหรับตรงนี้เอาไว้ให้ดีว่าทำไมคนที่ได้รับคะแนนเสียงมาก แต่กลับได้ที่นั่งน้อย

 

ประเด็นต่อมาคือความฟรีและแฟร์ของโหวตเตอร์ ปัญหาสำคัญคือถ้าพรรคการเมืองส่งผู้สมัครได้ไม่ครบ 350 เขต หมายความว่ามันจะไม่ฟรีกับประชาชนในแง่ตัวเลือก เพราะบางพรรคไม่ได้ส่งผู้สมัครในเขตบ้านตัวเอง ทั้งๆ ที่อยากเลือกพรรคนั้นที่มีรายชื่อคนที่เสนอตัวเป็นนายกฯ ตรงใจเรา

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising