วันเลือกตั้ง

กกต. เตรียมตั้งวอร์รูมดูหาเสียงออนไลน์ เปิดทางต่างชาติสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

19.12.2018
  • LOADING...

วันนี้ (19 ธ.ค.) นายอิทธิพล บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมหารือระหว่าง กกต. พรรคการเมือง และสื่อมวลชน ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง โดยการประชุมในช่วงเช้าไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนร่วมฟัง ขณะที่รอบบ่ายซึ่งเป็นการประชุมในวาระการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ มีผู้บริหารสื่อ 20 คนเข้าร่วมประชุม มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

 

  • กำหนดเงินค่าใช้จ่ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตคนละไม่เกิน 2 ล้านบาท ปรับขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว 5 แสนบาท และกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองตามสัดส่วนการส่งผู้สมัครตั้งแต่ 10-70 ล้านบาท
  • กำหนดหลักเกณฑ์ ขนาด จำนวน และสถานที่ในการปิดป้ายหาเสียง ซึ่งหลายพรรคการเมืองเห็นด้วยตามร่างระเบียบของ กกต. ซึ่งกำหนดขนาดป้ายหาเสียงให้กว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร สูงไม่เกิน 42 เซนติเมตร (ขนาด A3) รวมแล้วไม่เกิน 10 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง โดยพรรคจะติดป้ายแนวตั้งหรือแนวนอนก็ได้ แต่ก็มีบางพรรคเห็นว่าควรมีจำนวนป้ายมากขึ้น เพราะเขตเลือกตั้งมีขนาดใหญ่กว่าเดิม
  • พรรคการเมืองเสนอให้ป้ายหาเสียงสามารถมีรูปถ่ายผู้สมัครบัญชีรายชื่อและสมาชิกของพรรคได้ ขณะที่ร่างระเบียบของ กกต. กำหนดให้ระบุชื่อ ภาพถ่ายผู้สมัคร ภาพถ่ายผู้สมัครคู่กับหัวหน้าพรรค หรือบุคคลที่นักการเมืองมีมติเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ชื่อพรรคการเมือง โลโก้พรรค หมายเลขผู้สมัคร และข้อความอื่นได้เท่าที่จำเป็น (กรณีอดีตนายกฯ ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ประธาน กกต. ระบุว่าให้พิจารณาเอาเองว่าเข้าเงื่อนไขเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นหรือไม่)
  • หลายพรรคสอบถาม กกต. เรื่อง ‘รถหาเสียง’ ว่าสามารถปิดป้ายหาเสียง รวมทั้งขึ้นตระเวนพูดหาเสียงบนรถได้หรือไม่ หากตรวจสอบแล้วกฎหมายไม่ห้าม กกต. จะอนุญาตให้ทำได้

 

ขณะที่ประเด็นการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุมภาคบ่าย สาระสำคัญในห้องประชุมมีดังนี้

 

  • รายงานข่าวในห้องประชุมแจ้งว่า กกต. ชี้แจงในส่วนการหาเสียงออนไลน์ กำหนดให้พรรคต้องแจ้งช่องทางการนำเสนอ (ไม่ใช่เนื้อหา) เช่น แจ้งบัญชีเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และชื่อเว็บไซต์ที่พรรคจะใช้หาเสียง เพื่อเป็นการคุ้มครองพรรคในกรณีที่ต้องพิสูจน์หากเกิดปัญหา
  • เมื่อ กกต. พบการกระทำต้องห้าม หากเป็นส่วนของพรรคที่แจ้งไว้ กกต. จะแจ้งให้แก้ไข หากพบเป็นคนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับพรรค จะมีการประสานไปยังแพลตฟอร์มให้ตรวจสอบเท่าที่ทำได้
  • ที่ประชุมขอให้ กกต. ช่วยเป็นผู้แถลงแก้ข่าว หากพิสูจน์แล้วว่าเป็นข้อความที่ไม่จริง โดย กกต. รับไว้พิจารณา
  • เสนอให้ กกต. มีคณะทำงานหรือวอร์รูมในส่วนการหาเสียงอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อการพิจารณาต่างๆ จะได้รวดเร็ว
  • ตัวแทนพรรคการเมืองเสนอให้ยุติการหาเสียงออนไลน์ก่อนวันเลือกตั้ง 3 วัน เพื่อให้มีเวลาแก้ไขหากเกิดข้อเสียหาย รวมทั้งเสนอให้ กกต. จัดงบกลางสนับสนุนหาเสียงออนไลน์
  • พรรคการเมืองมีการสอบถามกรณี ‘การซื้อโฆษณาสื่อออนไลน์’ (Advertorial) โดย กกต. รับไปพิจารณา แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะอนุญาตให้พรรคการเมืองซื้อโฆษณาสื่อออนไลน์หรือไม่

 

ทั้งนี้ประธาน กกต. แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียงผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยว่า มีพรรคการเมืองสอบถามเรื่องการใช้หุ่นยนต์และป้ายแอลอีดีในการหาเสียง ซึ่ง กกต. จะได้จัดให้การใช้หุ่นยนต์หาเสียงเป็นการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมย้ำว่าพรรคการเมืองไม่ต้องขออนุญาตหาเสียงทางออนไลน์ เพียงแต่ต้องแจ้งช่องทางการหาเสียงให้ทราบ เพื่อป้องกันการบิดเบือนให้ร้ายระหว่างการหาเสียง

 

ส่วนการตั้งคณะทำงานหรือวอร์รูม มีจุดมุ่งหมายเพื่อดูแลการหาเสียงผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะ รวมถึงรับแจ้งเหตุทุจริตด้วยเพื่อประหยัดงบประมาณ

 

ประธาน กกต. ยังกล่าวถึงประเด็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งต่างประเทศว่า ที่ผ่านมาถือเป็นแนวทางการปฏิบัติของ กกต. ในการให้มีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งได้หารือกับ กกต. อีก 6 คนนอกรอบแล้ว เห็นว่าควรทำต่อไป เพราะยังไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงข้อปฏิบัติเป็นอย่างอื่น ส่วนท่าทีอย่างเป็นทางการต้องรอให้เป็นมติการประชุม กกต. ขณะที่ท่าทีของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไม่มีผลต่อการตัดสินใจของ กกต.

 

สำหรับการประชุมดังกล่าวมีขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมือง โดยมีพรรคเข้าร่วมประชุม 77 พรรค โดยประธาน กกต. ระบุว่าจะนำข้อคิดเห็นที่ได้ไปร่างเป็นระเบียบ กกต. ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินสิ้นปีนี้

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X