- จากรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ และท่าทีของประธาน Fed ระบุว่า เห็นความก้าวหน้าด้านการชะลอตัวของเงินเฟ้อ แม้ว่าจะไม่ระบุชัดเจนถึงช่วงเวลาการลดดอกเบี้ย
- ตัวเลขเศรษฐกิจดัชนี ISM PMI สหรัฐฯ เดือนมิถุนายน ยังมีทิศทางชะลอลง สอดคล้องกับมุมมองคณะกรรมการ Fed หลายท่านเริ่มแสดงความกังวลต่อการว่างงานที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- สำหรับจีน มาตรการภาครัฐยังไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ในปัจจุบัน เนื่องจากการผลักดันเศรษฐกิจผ่านการส่งออก ด้วยการสนับสนุนภาคเศรษฐกิจที่รัฐบาลมองว่าเป็นอนาคตด้วยการกดค่าแรงในประเทศเพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำ
- SET Index ยังเปราะบางและแกว่งตัวในกรอบแคบ หลังการเมืองในประเทศยังยืดเยื้อ โดยศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดียื่นวินิจฉัยคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นได้หลังมีแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ในสัปดาห์ก่อน (กลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.2%) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังปรับตัวขึ้นได้โดดเด่น โดยตลาดยังไม่กังวลต่อประเด็นที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสชนะการเลือกตั้งมากขึ้นหลังผ่านการดีเบตครั้งแรก
นอกจากนั้นรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ และท่าทีของประธาน Fed ระบุว่า เห็นความก้าวหน้าด้านการชะลอตัวของเงินเฟ้อ แม้ว่าจะไม่ระบุชัดเจนถึงช่วงเวลาการลดดอกเบี้ย ด้านตัวเลขเศรษฐกิจดัชนี ISM PMI สหรัฐฯ เดือนมิถุนายน ยังมีทิศทางชะลอลงทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ตลาดแรงงานเริ่มชะลอลงทั้งการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ และยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน สอดคล้องกับมุมมองคณะกรรมการ Fed หลายท่านเริ่มแสดงความกังวลต่อการว่างงานที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ด้านตลาดหุ้นฝั่ง EM ปรับขึ้นเช่นกัน นำโดยตลาดหุ้นเกาหลีและไต้หวันตามทิศทางของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่จีนบวกได้เล็กน้อย แม้ตัวเลขเศรษฐกิจยังอ่อนแอจากความคาดหวังการประชุม Third Plenum เพื่อกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระยะยาวในเดือนนี้
ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงเล็กน้อย แต่ยังยืนเหนือ 1,300 จุดได้เล็กน้อย การเริ่มใช้ Uptick สำหรับธุรกรรม Short Sales ส่งผลให้มูลค่า Short Sales ลดลงกว่า 70% จากค่าเฉลี่ยในช่วง 1H24 อีกทั้งยังพบสัญญาณการทำ Cover Short เกิดขึ้นจากปริมาณการขายชอร์ตที่ยังไม่ได้ซื้อคืนลดลง ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง จากหลังปริมาณน้ำมันสำรองสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ลดลงกว่าที่คาดมาก สะท้อนภาวะอุปทานตึงตัว
ความต้องการแรงงานใหม่ในสหรัฐฯ เริ่มลดลง กระทบต่อค่าจ้างในระยะต่อไป
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า เศรษฐกิจที่ชะลอลงในสหรัฐฯ เริ่มเห็นเด่นชัดขึ้นทั้งจาก
1. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจากสถาบัน ISM ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ บ่งชี้ว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มถูกกระทบจากดอกเบี้ยที่สูงยาวนานขึ้น ท่ามกลางดัชนีย่อยด้านราคาที่ลดลง
2. ตลาดแรงงานที่ชะลอลงทั้งตำแหน่งงานเปิดใหม่ (JOLT) ที่แม้ปรับเพิ่มขึ้น แต่มีการปรับลด (Revise Down) ในเดือนก่อน และการจ้างงานภาคเอกชน (ADP) ที่ลดลงต่อเนื่อง บ่งชี้ว่า ความต้องการแรงงานใหม่เริ่มลดลง กระทบต่อค่าจ้างในระยะต่อไป
3. เงินเฟ้อ Core PCE ของสหรัฐฯ ที่ชะลอต่อเนื่อง ภาพทั้งหมดทำให้เราปรับประมาณการลดดอกเบี้ยครั้งแรกของ Fed จากเดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนกันยายน สอดคล้องกับมุมมองของประธาน Fed
ในส่วนของเศรษฐกิจจีนเรามองว่ามาตรการภาครัฐยังไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ในปัจจุบัน เนื่องจากการผลักดันเศรษฐกิจผ่านการส่งออก ด้วยการสนับสนุนภาคเศรษฐกิจที่รัฐบาลมองว่าเป็นอนาคต เช่น EV, แบตเตอรี่ และเซมิคอนดักเตอร์นั้น ผลักดันด้วยการกดค่าแรงในประเทศเพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำ ทำให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออกขยายตัวได้ต่อเนื่อง เห็นได้จาก Caixin Manufacturing PMI ขณะที่ภาคการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศ (วัดจาก Official PMI) ยังคงหดตัว
นอกจากนั้นยังรวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กองทุน 3 แสนล้านหยวน ช่วยในการระบายสต็อกบ้านสร้างเสร็จ แต่ไม่มีส่วนช่วยในการขายบ้านใหม่ ทำให้ยอดขายบ้านใหม่จึงยังคงตกต่ำ (แม้เริ่มลดลงก็ตาม) ทั้งนี้ ต้องจับตาการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 3 (Third Plenum) ที่จะเริ่มขึ้นในปลายเดือนนี้ ซึ่งเราคาดว่าจะส่งสัญญาณถึงแนวนโยบายรัฐในการสนับสนุนเศรษฐกิจ (เช่น ด้านอสังหา ด้านการบริโภค ด้านตลาดทุน และด้านเศรษฐกิจจริง) ผ่านมาตรการการคลังต่อเนื่อง
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
1. หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์ Cover Short หลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเริ่มใช้มาตรการ Uptick ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เลือก HANA, TOP, BEM, MINT, OSP, BBL, SCGP และ AOT
2. หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์บวกจากแผนปรับเงื่อนไขกองทุน Thai ESG ใหม่ โดยขยายวงเงินเป็น 3 แสนบาท และลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปี เลือก ADVANC, CPALL, BDMS, BBL และ BEM
3. หุ้น Global Play ที่คาดว่าผลประกอบการมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่จะขึ้นอยู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศที่ไม่แน่นอน เลือก KCE, SCGP, TU และ MINT (ทั้งนี้ KCE และ SCGP แนะนำให้ซื้อเมื่ออ่อนตัว หลังมีแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ออกมาอ่อนแอ)
4. หุ้นที่สามารถลดความผันผวนและเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากกรณีความไม่สงบในตะวันออกกลาง เลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP
“ช่วงสั้นมอง SET Index ยังเปราะบางและแกว่งตัวในกรอบแคบ หลังการเมืองในประเทศยังยืดเยื้อ โดยศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดียื่นวินิจฉัยคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้ และคดียุบพรรคก้าวไกลในวันที่ 17 กรกฎาคม ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศน่าจะได้รับแรงหนุนจากท่าทีของประธาน Fed ที่อาจส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น ทั้งนี้ ดัชนี CPI เดือนมิถุนายน ของสหรัฐฯ คาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือ 3.1%YoY จาก 3.3%YoY ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางตัวเลขตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงและตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้า”
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
1. ประเด็นทางการเมืองไทย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีนัดพิจารณาคดีถอดถอนนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน กรณีแต่งตั้ง ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้
2. ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐฯ และจีน เดือนมิถุนายน
3. หอการค้าไทยแถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และสภาธุรกิจตลาดทุนไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนมิถุนายน
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: KTB - หุ้น ESG ที่มี Valuation ถูก ให้ปันผลดี
แนะนำ บมจ.ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นธนาคารของรัฐที่มีสินทรัพย์ในงบการเงินรวมมากเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มธนาคาร และมองว่าอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดในการคว้าโอกาสปล่อยสินเชื่อภาครัฐ อีกทั้งยังมีศักยภาพในการจ่ายเงินปันผลติดต่อกันมาแล้ว 22 ปี ด้วย Dividend Yield จูงใจอย่างน้อยปีละ 5% และมีความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ต่ำกว่าธนาคารอื่นๆ
- 2Q24 คาดว่ากำไรเติบโต 7%YoY จาก NIM และ Non-NII ที่ดีขึ้น ขณะที่ปี 2024 คาดว่ามีกำไรเติบโต 5%YoY สู่ 3.86 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังมี Upside จาก NIM (โอกาสที่จะคงดอกเบี้ยนโยบาย) และ Credit Cost (จากลดความเสี่ยงของพอร์ตสินเชื่อ)
- เป็นหุ้นใน SETESG Index ที่น่าสนใจซึ่งได้ Rating ‘AAA’ จึงคาดว่าจะได้ประโยชน์จากแผนปรับเงื่อนไขกองทุน Thai ESG ใหม่ปีนี้ที่จะเพิ่มวงเงินเป็น 3 แสนบาทและลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปี ขณะที่ Valuation ถูก โดยซื้อ-ขายด้วย PBV ปี 2024F ที่ 0.53x เทียบกับ ROE ที่ 10% และยังให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลดี
- เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 20 บาท อิงวิธี PBV 0.7 เท่า และคาดว่าจะมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 0.97 บาท คิดเป็น Dividend Yield ปีนี้ราว 5.5%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
เราเริ่มเห็นท่าทีของ Fed ผ่อนคลายกว่าที่คาดไว้จาก Dot Plot ผ่าน Powell Speech และรายงานการประชุม Fed เดือนมิถุนายน ประกอบกับตลาดแรงงานเริ่มมีการชะลอตัวลงตามทิศทางเงินเฟ้อ ทำให้เรามองว่า Fed เริ่มประเมิน Downside ตลาดแรงงานและความเสี่ยงมากขึ้นในช่วงเงินเฟ้อชะลอตัวลง เราจึงให้น้ำหนักการปรับลดดอกเบี้ย 2H24 เพิ่มขึ้น ขณะที่ในภาพเศรษฐกิจชะลอระยะสั้น เรายังคงแนะให้มองกลุ่มสินค้าจำเป็นและเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มการเติบโตและอุปสงค์ที่ดี
- สถานการณ์เงินเฟ้อ: ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่า เงินเฟ้อกำลังกลับสู่แนวโน้มที่ลดลง โดยมาตรวัดเงินเฟ้อที่ Fed ชอบเพิ่มขึ้นน้อยสุดในรอบ 6 เดือนที่ 0.1% ในเดือนพฤษภาคม
- ตลาดแรงงานในเดือนพฤษภาคมชะลอตัวลง: ตำแหน่งงานว่าง, การจ้างงาน และการเลิกจ้าง เพิ่มขึ้นเกินคาด ส่วนอัตราส่วนของตำแหน่งงานว่างต่อคนว่างงาน รวมถึงปริมาณการลาออก อยู่ในระดับต่ำ
- Powell Speech และรายงานการประชุม Fed เดือนมิถุนายน ออกมาในทิศทางเดียวกัน โดยผ่อนคลายกว่าที่คาดไว้จาก Dot Plot: คณะกรรมการดูเหมือนจะเคลื่อนเข้าใกล้การผ่อนคลายนโยบายมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่ถึงจุดตัดสินใจ โดยส่วนใหญ่เห็นว่า
1. การเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังค่อยๆ ชะลอตัวลง
2. มีความกังวลว่าการว่างงานอาจเพิ่มขึ้นหากอุปสงค์อ่อนแอลง
3. เห็นความคืบหน้าในการควบคุมเงินเฟ้อ
4. ยังคงต้องการหลักฐานเพิ่มเติมก่อนที่จะตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยแบบแน่ชัด
- การคาดการณ์เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย: คณะกรรมการยังคงแบ่งแยกเกี่ยวกับระยะเวลาที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง บางคนเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการอดทน ในขณะที่บางคนพร้อมที่จะขึ้นดอกเบี้ยหากเงินเฟ้อยังคงสูง
เรามองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มประเมิน Downside จากตลาดแรงงานและความเสี่ยงมากขึ้นในช่วงที่เงินเฟ้อชะลอตัวลง ซึ่งจะทำให้น้ำหนักในการปรับลดดอกเบี้ยมีเพิ่มขึ้นใน 2H24 ซึ่งเราคาดว่า Fed จะปรับลด 2 ครั้งในปีนี้
ขณะที่หากดูภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในระยะสั้น เราแนะนำให้มองกลุ่มสินค้าจำเป็นที่ยังคงมีแรงซื้อ WMT และ COST รวมทั้งเทคที่มีแนวโน้มดี AMZN, GOOGL, MSFT และ AAPL
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
เงินสด / สภาพคล่อง
สินทรัพย์สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังทรงตัวอยู่สูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ หลังรายงานประชุม Fed รอบล่าสุดชี้ว่า Fed รอเงินเฟ้อชะลอตัวแตะระดับ 2% อย่างยั่งยืนก่อนลดอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินต่อ ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความตึงเครียดภายในตะวันออกกลาง ข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ และข้อพิพาทในช่องแคบไต้หวัน
ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว
ความคาดหวังที่ว่าพรรครีพับลิกันจะได้ทั้งสองสภา (Red Sweep) ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ได้สะท้อนใน 10Y UST ที่เพิ่มขึ้นในช่วงสั้น อย่างไรก็ดี ตัวเลขแรงงานที่กำลังปรับตัวเข้าสู่สมดุล แนวโน้มเงินเฟ้อที่ลดลงต่อ และตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าที่คาดในเดือนมิถุนายน ส่งผลให้ UST Yield ทั้งตัวสั้นและตัวยาวกลับเข้าสู่แนวโน้มขาลงอีกครั้ง
Real Yield ในปัจจุบันมีความน่าสนใจในการถือเพื่อรับ Income และมีความคุ้มค่าที่จะถือเพื่อ Hedge ในกรณีที่เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด
เราคาดว่า Volatility ของ Bond จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ โดย Bond รุ่นตัวยาว (>= 7 ปีขึ้นไป) มีความเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนบนผลของการเลือกตั้ง และขนาดของ Fiscal Policy ที่จะถูกประกาศออกมาหลังเลือกตั้ง Bond ช่วง Mid-Curve (2-4 ปี) มีความเสี่ยงของ Duration ที่น้อยกว่า และ Coupon ที่ได้รับเพียงพอที่จะลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
US Treasury & IG
UST Yield ปรับตัวลดลง หลังตัวเลข ISM Composite ต่ำกว่าคาด และ Unemployment Rate ที่สูงกว่าคาด อย่างไรก็ตาม Credit Spread ของ IG Bond ไม่ได้ดีดตัวขึ้นสะท้อนความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเกิดจากปริมาณ Supply ของ IG Bond ที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับ Demand
TGB Yield Curve ทรงตัวต่อเนื่อง Spread ของ IG ยังทรงตัว ด้านอัตราผลตอบแทนยังน่าสนใจ แนะนำให้ลงทุนทั้ง US Treasury และ IG Bond Duration 2-4 ปี เนื่องจาก Fed อาจลดดอกเบี้ยช้ากว่าคาดและผลตอบแทนเฉลี่ยยังอยู่ใกล้ 4.5-5.5% ยังสูงกว่าที่ Fed ประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายปกติ ‘ระยะยาว’ (Long Run Normal Policy Rate) ที่ 2.6%
High Yield Bond
US HY Yield-to-Worst และ HY Spreads ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักและยังคงอยู่ใกล้ระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 เราคาดการณ์ว่า Spreads ของ HY จะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้นและ Supply ของการ Refinance ที่จะเริ่มออกมาในช่วงปลายปี 2567
สินทรัพย์ผสม / กึ่งหนี้กึ่งทุน / REITs
REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับ Portfolio ได้ทั้งในระยะกลาง-ยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ
สินทรัพย์ผสมช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง
US REITs
US REITs มีปัจจัยหนุนจาก
1. Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 93% และกำไรสุทธิจากการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่อง
2. อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของ CMBS ในภาค Office ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง
3. Valuation ที่อยู่ในระดับที่ไม่แพง
4. Bond Yield สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลง หลังจากภาพรวมตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายนส่งสัญญาณชะลอตัวลง
Private Credit
เรามีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิ์เรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)
หุ้นไทย
ดัชนีฯ ได้ปัจจัยหนุนจาก
1. เศรษฐกิจไทยในช่วง 2H67 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ได้แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวและการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ความคืบหน้าของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นบวกต่อ Sentiment ลงทุน และหุ้นกลุ่มค้าปลีก
2. มาตรการขับเคลื่อนตลาดทุนจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน ได้แก่ การปรับเงื่อนไขกองทุน T-ESG การนำกองทุนวายุภักษ์กลับมาอีกครั้ง มาตรการยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน เช่น มีการบังคับใช้กฎที่เข้มงวดเกี่ยวกับการขายชอร์ต (เช่น Uptick Rule) และการควบคุมการซื้อ-ขายความถี่สูง
3. Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพง อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อความไม่แน่นอนทางด้านการเมือง อาจกดดันการลงทุนในระยะสั้น
หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
หุ้นกลุ่ม Quality Growth กลับมา Outperform ได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจาก Bond Yield ที่ทรงตัวระดับต่ำ
กลุ่มสาธารณูปโภคได้รับประโยชน์จากกระแส AI
ตลาดกลับมาให้น้ำหนักการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกันยายนอีกครั้ง เร็วขึ้นจากเดือนธันวาคม
ความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรปลดต่ำลงหลังผ่านช่วงเลือกตั้งสำคัญ และเห็นทิศทางของการจัดตั้งพรรครัฐบาลและแนวทางนโยบายของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในยุโรปมากขึ้น เรามองว่า EPS ดัชนีหุ้นยุโรป มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี หลังตัวเลขเศรษฐกิจ EU ส่วนใหญ่ยังดีกว่าที่คาดไว้
หุ้นสหรัฐฯ
วัฏจักรของกำไรบริษัทจดทะเบียนกำลังเข้าสู่ช่วงเร่งตัวขึ้น และเริ่มเห็นการขยายตัวของกำไรกระจายตัวสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ จากที่เคยกระจุกตัวอยู่ใน IT, Consumer Service และ Consumer Discretionary โดยคาดการณ์ล่าสุด EPS (Earnings per Share) ในปี 2024 อยู่ที่ 243 ดอลลาร์ (+11%YoY) และในปี 2025 อยู่ที่ 278 ดอลลาร์ (+14%YoY) การเร่งตัวของกำไรรายไตรมาส และ Financial Condition ที่ยังอยู่ในภาวะผ่อนคลายจะเป็นตัวประคอง Valuation ของตลาดฯ
คาดการณ์กำไรในครึ่งปีหลังจะเห็นส่วนต่างการเติบโตระหว่างหุ้น Magnificent 7 และหุ้นที่เหลือในตลาดเริ่มหดแคบลง จากฐานที่สูงของ MAG 7 การเร่งตัวขึ้นของกำไรในกลุ่มที่เหลือ
หุ้นยุโรป
ตลาดหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากการลดดอกเบี้ยของ ECB และ BOE ที่ช่วยหนุน Valuation ที่ยังไม่แพงและช่วยหนุน EPS เช่นกัน ผ่านต้นทุนทางการเงินที่ลดลงกับยอดขายที่ดีขึ้น นอกจากนี้ EPS ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากโมเมนตัมเศรษฐกิจ EU และโลกที่ดีขึ้น โดยเราเน้นกลุ่มที่มีความสามารถในการทำกำไรที่สูงและมีงบดุลที่แข็งแกร่ง แม้ว่าข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับจีน และความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรปที่มีอยู่อาจสร้างความผันผวนและกดดันตลาดฯ โดยรวมอยู่ก็ตาม
หุ้นญี่ปุ่น
เราคาดว่าหุ้นกลุ่ม Value ญี่ปุ่น มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการปฏิรูปธรรมาภิบาลในญี่ปุ่นที่จะหนุน P/BV และ ROE โดยรวมให้สูงขึ้น นอกจากนี้กลุ่มฯ มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการคุมเข้มทางการเงินของ BOJ โดยเราคาดว่า BOJ มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่อในการประชุมฯ เดือนนี้เป็นอย่างเร็ว และเริ่มลดการเข้าซื้อ JGB ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป
หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
การเติบโตของ Global GDP ในปี 2024 ถูกปรับประมาณการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปี สนับสนุนการขยายตัวของการค้าโลก และส่งผลให้หุ้นกลุ่ม Value ที่มีอยู่มากในหุ้นกลุ่ม EM มีความน่าสนใจมากขึ้น โดย Valuation ของกลุ่ม EM ส่วนใหญ่ (ยกเว้นอินเดีย) ถูกกว่า DM ทั้งในแง่ของ FWD P/E และ PBV รวมทั้งกำไรเติบโตมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อ PMI และ GDP ของฝั่งตลาด EM มีภาพของการขยายตัวที่สูงกว่าตลาด DM
หุ้นอินเดีย
ความกังวลบนความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการผ่านร่างนโยบายต่างๆ และความต่อเนื่องของนโยบายหลักบรรเทาลง หลังรัฐบาลผสมภายใต้การนำของ นเรนทรา โมดี ไม่ได้สับเปลี่ยนตำแหน่งคณะรัฐมนตรีที่สำคัญ นโยบายภาคการลงทุนที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของอินเดียจะดำเนินต่อไป แต่อาจมีนโยบายประชานิยมที่สนับสนุนภาคการบริโภคมากขึ้น
เราชอบหุ้นขนาดใหญ่มากกว่าขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งกว่าและมี Valuation ที่ถูกกว่า ทั้งยังได้แรงหนุนจากเงินทุนจากต่างประเทศที่ฟื้นตัว บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ทำผลงานได้ดีกว่ามากเมื่อปีที่แล้วมีความเสี่ยงที่จะถูกขายทำกำไร เนื่องจากการประเมินมูลค่าที่สูงและการถูกตรวจสอบที่เพิ่มขึ้นจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
หุ้นอินโดนีเซีย
ดัชนีฯ ได้รับปัจจัยกดดันในระยะสั้นจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงและค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อน กระทบต้นทุนการผลิตและนักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนออก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จากการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวตามความต้องการแบตเตอรี่นิกเกิลที่เพิ่มขึ้น FDI ยังคงไหลเข้าและการบริโภคเริ่มฟื้นตัว กำไรของ บจ. มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช่วง 2H24 ขณะที่ Valuation ยังไม่แพง นอกจากนี้ในระยะกลาง-ยาวยังได้แรงหนุนจากการเติบโตเชิงโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งความชัดเจนของนโยบายจากรัฐบาลใหม่
หุ้นจีน A-Share
ดัชนีหุ้นจีน A-Share มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก GDP ของจีนที่มีแนวโน้มทำจุดต่ำสุด QoQ ใน 2Q24 แล้วทยอยฟื้นตัวขึ้นหลังจากนั้น และจากความคาดหวังการออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน การคลัง และด้านอสังหา เพิ่มเติม โดยเฉพาะในช่วงการประชุมสำคัญของทางการในเดือนนี้
นอกจากนี้เราคาดว่าบริษัทจดทะเบียนจีน A-Share มีแนวโน้มเพิ่มผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นมากขึ้นผ่านการจ่ายเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืนที่มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจของดัชนีฯ ในสายตานักลงทุนกลุ่มต่างๆ
สินค้าโภคภัณฑ์
ราคาทองคำมีแนวโน้มเข้าสู่ช่วงพักฐานในระยะสั้น หลังปรับขึ้นมารวดเร็วบนความกังวลของสงคราม อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานยังคงสนับสนุนการถือครองทองคำในพอร์ตระยะยาว เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้ ประกอบกับเริ่มมีความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งประเทศหลักๆ ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ได้กระจายความเสี่ยง ลดการถือเงินดอลลาร์สหรัฐ ในทุนสำรองระหว่างประเทศ และมีความต้องการสะสมทองคำมากขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะกลาง-ยาว
ภาพ: Yurou Guan / Getty Images