วันเลือกตั้ง

ส่องความหล่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง 62 อำนาจทางเพศผ่านสายตาที่ชวนคุณเข้าคูหากาใจเขา

06.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • คำว่า ‘ความหล่อ’ เป็นเรื่องปัจเจกบุคคลมากๆ หมายถึงทุกคนต่างมีนิยามและความหมายของความหล่อในแบบของตัวเองที่แตกต่างกันทั้งเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว หรือลักษณะทางกายภาพ
  • งานวิจัยเรื่อง Halo Effects and the Attractiveness Premium in Perceptions of Political Expertise ของ คาร์ล แอล. พาลเมอร์ และโรลฟ์ ดี. ปีเตอร์สัน ในปี 2016 ได้อธิบายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหน้าตาและภาพลักษณ์ของผู้ลงสมัครเลือกตั้งไว้ว่า ความน่าสนใจที่เกิดขึ้นในภาพของผู้แทนที่คุณเห็นในสื่อ มีกลไกคล้ายกับการที่เราเปิดหน้าหนังสือสักเล่มแล้วเลือกมองภาพก่อนที่จะเริ่มอ่านข้อความ
  • ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ น่าจะเป็นผู้ลงสมัครเลือกตั้งคนแรกๆ ที่ถูกกระทำให้กลายเป็น ‘วัตถุทางเพศ’ (Sex Object) ด้วยการมีข้อความล่วงละเมิดทางเพศ หรือการนำเอาภาพของเขาไปปะติดกับโลโก้ของค่ายหนังโป๊เกย์ญี่ปุ่น ซึ่งเราอาจมองได้ว่าเป็นความไม่เหมาะสม หรือในอีกแง่หนึ่งคือการเกิดภาพจำตัวเขาจากกรณีดังกล่าว

ในสนามการเลือกตั้ง 2562 ที่คนไทยรอกันมานามนมนั้น ประเด็นหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจคือบรรดา ‘หน้าตา’ ของผู้สมัครรับเลือกตั้งและสมาชิกพรรคที่พร้อมเพรียงกันมาร่วมช่วงชิงพื้นที่สื่อและที่นั่งในสภา ซึ่งไม่ได้หมายถึงหน้าตาทางสังคมแต่อย่างใด แต่กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจกันมากคือ ‘หน้าตา’ อันหมายถึงบุคลิกภาพและความหล่อเหลาของบุคคลเหล่านั้น

 

เราค้นพบว่าในยุคที่เราใช้โซเชียลมีเดียกันอย่างแพร่หลายกว่าเมื่อก่อน เทคโนโลยีการสื่อสารทำให้เราได้เห็นภาพของผู้สมัครรับเลือกตั้งและสมาชิกพรรคอย่างกว้างขวางขึ้น รู้จักตัวตนของเขามากขึ้นผ่านสื่อหลักและสื่อส่วนตัว เราได้เห็นตั้งแต่ไลฟ์สไตล์ของเขาที่อยู่นอกเหนือจากการรับบทผู้ท้าชิงที่พูดปราศรัยอย่างเข้มข้นและดุเดือด ไปจนถึงชีวิตรักและชีวิตครอบครัว หรือแม้แต่การได้เห็นผู้แทนเหล่านั้นในลุคอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียงใส่สูทผูกไทให้ดูน่าอึดอัดใจ อย่างเช่นที่เราได้ชื่นชมความหล่อเหลาและสุภาพของ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ กันมาตั้งแต่สมัยที่คุณน้าของเขายังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อหลายปีก่อน หรือการมาถึงของ เอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ผู้คนต่างหลงใหลในภาพกล้ามล่ำๆ ของเขาและวิถีการออกกำลังกายที่ปล่อยออกมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราไม่ได้ต้องการให้คุณรู้สึกว่าเรากำลังละลาบละล้วงทางเพศแต่อย่างใด แต่เราต้องการสำรวจรูปร่างหน้าตาของพวกเขาที่มีผลต่อการรับรู้ของประชาชน หรือส่วนที่ทำให้ผู้คนสนใจในตัวพวกเขาต่างหาก

 

Photo: Instagram @thanathorn.ig

 

แท้จริงแล้วคำว่า ‘ความหล่อ’ เป็นเรื่องปัจเจกบุคคลมากๆ หมายถึงทุกคนต่างมีนิยามและความหมายของความหล่อในแบบของตัวเองที่แตกต่างกันทั้งเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว หรือลักษณะทางกายภาพ คำถามที่เกิดขึ้นเล็กน้อยคือทำไมสังคมถึงให้ความสนใจ ‘ความหล่อ’ หรือ ‘เรือนร่าง’ ของเพศชายอย่างอัตโนมัติ เช่น การมีอยู่ของโพสต์จากเพจในเฟซบุ๊กที่รวบรวมภาพความหล่อของพวกเขา หรือการที่ประโยค ‘เอากับผมไหม?’ จากปากธนาธรกลายเป็นความหมายสองแง่สองง่ามที่หลากหลายกลุ่มนำไปแซวกันจนเป็นเรื่องสนุก ปัจจัยทั้งหมดนั้นไม่ใช่แค่เพราะเราอยู่ในช่วงเลือกตั้งที่ต้องเห็นพวกเขาตามสื่ออย่างต่อเนื่อง พวกเขาจึงถูกพูดถึงในแง่มุมต่างๆ แต่เราอาจหมายรวมถึง ‘อำนาจทางเพศ’ ที่ถูกปลูกฝังกันมานานในสังคมที่ทำให้ประเด็น ‘ความหล่อ’ กลายเป็นที่สนใจ

 

อำนาจทางเพศที่เรากำลังกล่าวถึงคืออำนาจของเพศชายในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) การที่เพศชายนั้นยังคงมีอำนาจเหนือเพศอื่นๆ ในสังคม รวมไปถึงคอนเซปต์ของเพศชายในกลุ่มคนหลากหลายทางเพศส่วนหนึ่งที่ยังคงแบ่งความเป็นชายเป็นหญิงในเพศวิถีของตนอีกด้วย (อาทิ การแบ่งแยกเกย์รุก และเกย์รับ) ที่ทำให้เพศชายได้รับการยอมรับมากกว่าเพศอื่นเสมอในแง่ของการเป็นผู้นำ และความหล่อดังกล่าวที่ผู้คนเห็นคือ ‘ภาพแทน’ หนึ่งของอำนาจนั้น เพราะการที่ผู้ลงสมัครเลือกตั้งสักคนหนึ่ง มีบุคลิกภาพที่ดี มีเครื่องหน้าแบบที่สังคมนิยม นั่นเท่ากับพวกเขาจะได้รับความสนใจในทันที เพราะสิ่งที่เราได้เห็นผ่านสายตาก่อนเป็นลำดับแรกเสมอคือ ‘ร่างกาย’ (Body) ก็เหมือนเวลาเราชี้ชวนให้เพื่อนเราดูคนอื่น “คนนั้นหล่อจัง” “คนนี้หุ่นดีจัง” นั่นแหละ และยิ่งถ้าเขาคนนั้นที่พวกเราคิดว่าหล่อ พ่วงมาด้วยภาวะของความเป็นผู้นำ อดทน กล้าหาญ เข้มแข็ง สิ่งเหล่านี้นับเป็นสูตรสำเร็จของเพศชายที่สังคมเข้าใจ ยิ่งสร้างพลังของอำนาจทางเพศนี้ให้แข็งแรงยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งหากลองมองในทางกลับกัน หากคุณได้พบเห็นผู้แทนผู้หญิง ผู้แทนเกย์ ผู้แทนเลสเบี้ยน หรือผู้แทนทรานส์ที่มีภาวะความเป็นผู้นำ มีบุคลิกภาพที่ดึงดูดคุณแบบนั้นบ้าง แน่นอนว่าอำนาจทางเพศของพวกเขาก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย

 

งานวิจัยเรื่อง Halo Effects and the Attractiveness Premium in Perceptions of Political Expertise ของ คาร์ล แอล. พาลเมอร์ และโรลฟ์ ดี. ปีเตอร์สัน ในปี 2016 ได้อธิบายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหน้าตาและภาพลักษณ์ของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งไว้ว่า ความน่าสนใจที่เกิดขึ้นในภาพของผู้แทนที่คุณเห็นในสื่อของพวกเขาจะมีกลไกคล้ายกับการที่เราเปิดหน้าหนังสือสักเล่มแล้วเลือกมองภาพก่อนที่จะเริ่มอ่านข้อความ เพราะสิ่งนั้นคล้ายกับจุดดึงดูดสายตาให้คุณสนใจ และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับภาพของผู้แทนที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เราจะสนใจในภาพลักษณ์และตัวตนของเขาก่อนที่จะเริ่มสนใจว่าเขากำลังพูดเรื่องอะไรอยู่ และภาพที่นำเสนอนั้นส่วนใหญ่มักจะเป็นภาพของมนุษย์ที่คล้ายคลึงกัน ต้องมีความน่าเชื่อถือและความจริงใจ ซึ่งล้วนเป็นภาพของผู้แทนในสภาที่อยู่ในอุดมคติของประชาชน

 

ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว หมายความว่าเราตัดสินใจลงคะแนนให้ผู้แทนผ่านสายตามากกว่านโยบายของพวกเขาหรือเปล่า

 

คำตอบคือแล้วแต่คุณจะเป็นคนตัดสินใจ แน่นอนว่าการเมืองในประเทศไทย เราใส่ใจกับการเลือกพรรคที่รัก ไม่มักพรรคที่ชังกันมาเสมอ ฉะนั้นการมาถึงของผู้สมัครรับเลือกตั้งหน้าใหม่ๆ จึงเป็นความน่าสนใจที่น่าจับตามองในการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าจะมีแรงกระเพื่อมใหม่ๆ เกิดขึ้นหรือไม่จากนโยบายของพวกเขา

 

แต่เราขอข้ามผ่านนโยบายที่คุณต้องไปศึกษาและหาข้อมูลกันอีกที แล้วมาโฟกัสเพียงแค่ใบหน้าอันหล่อเหลา และสิ่งที่ว่าที่ผู้ลงสมัครเลือกตั้งเหล่านี้ต้องการนำเสนอตัวตนผ่านสายตาให้เราเห็น มาดูกันว่า ณ สนามเลือกตั้งที่รอคอยกันมากว่า 8 ปีเต็ม มีหนุ่มๆ คนไหนถูกพูดถึงอยู่บ้าง

 

Photo: Instagram @thanathorn.ig

 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

หนุ่มวัย 40 ปีที่เข้ามาลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้สังกัดพรรคสีส้ม ‘อนาคตใหม่’ มีหลายๆ คนอ้างอิงความหล่อเหลาของเขาเหมือนดาราญี่ปุ่น ซึ่งจากการสังเกต เราค้นพบว่าธนาธรน่าจะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งคนแรกๆ ที่ถูกกระทำให้กลายเป็น ‘วัตถุทางเพศ’ (Sex Object) ด้วยการมีข้อความล่วงละเมิดทางเพศ หรือการนำเอาภาพของเขาไปปะติดกับโลโก้ของค่ายหนังโป๊เกย์ญี่ปุ่น ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นความไม่เหมาะสม หรือในอีกแง่หนึ่งคือการเกิดภาพจำของตัวเขาจากกรณีดังกล่าว แต่ความน่าสนใจในความหล่อของเขามีมากกว่านั้น ด้วยไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจทั้งการเป็นนักธุรกิจ เล่นดนตรี ออกกำลังกายเอ็กซ์ตรีม ปั่นจักรยาน และการไม่มีมาดของเขามากนัก สังเกตเห็นได้จากการโพสต์รูปในอินสตาแกรมส่วนตัวที่เผยให้เห็นอิริยาบถต่างๆ ที่เรียบง่าย จึงทำให้ธนาธรเป็นหนุ่มหล่อผู้ก่อตั้งพรรคคนแรกๆ ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

 

Photo: Instagram @paritw

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ

หนึ่งในผู้สมัครรับเลือกตั้งไฟแรงที่น่าชื่นชมทั้งในเรื่องทัศนคติและความเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ ที่น่าสนใจ ด้วยวัยเพียง 27 ปี รอยยิ้มและความคมเข้มของใบหน้าเป็นสิ่งที่เราสามารถจดจำเขาได้ตั้งแต่ครั้งแรกๆ แถมความโชคดีของพริษฐ์คือการที่เขาอยู่ในหน้าสื่อมานานหลายปี เราจึงพอจะรู้จักเขาในฐานะอื่นๆ มาบ้าง ทั้งเป็นหลานชายของอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือการที่เขาคบหาดูใจกับอดีตคนรักอย่าง ณิชา-ณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์ นางเอกจากวิกพระรามสี่ โดยพริษฐ์เองเดินหน้าสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ในชื่อกลุ่ม ‘New Dem’ ซึ่งมีความน่าสนใจในการดึงเอาจุดเด่นของกลุ่มคนรุ่นใหม่ออกมาตั้งคำถามกับค่านิยมเดิมๆ ของสังคมที่สืบทอดกันมา

 

Photo: Instagram @eggkanawat

 

คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์

อีกหนึ่งหนุ่มจากบ้านประชาธิปัตย์ที่มีดีกรีเป็นอดีตนักแสดงมาก่อนจากภาพยนตร์เรื่อง เฟรนด์ชิพ เธอกับฉัน เมื่อปี 2551 ปัจจุบันคณวัฒน์เป็นตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 7 ประกอบไปด้วยเขตบางซื่อและเขตดุสิต ความน่าสนใจของหมอเอ้ก คณวัฒน์ คือการนำเสนอประเด็นการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับกัญชา ในฐานะที่เขาเองก็เป็นนายแพทย์ จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในงานศึกษาวิจัยพืชชนิดดังกล่าว นับว่าเป็นจุดแข็งที่น่าสนใจ พ่วงด้วยดีกรีของการเป็นนายแบบและนักแสดงมาก่อน เราพบว่าทุกภาพในอินสตาแกรมส่วนตัวของเขานั้นน่ามองไปเสียหมด!

 

Photo: Instagram @klaothamatas และชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์

หนึ่งในแกนนำจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งเราขอข้ามในส่วนของนโยบายพรรคหรือกิจกรรม ‘การเดินคารวะแผ่นดิน’ อันเป็นภาพจำของพรรคนี้ไปก่อน เรากลับพบว่าเขตรัฐเป็นอีกคนที่น่าสนใจในแง่การใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่มีการปกครองสองรูปแบบทั้งเสรีนิยมและเผด็จการ จากการที่เขาเติบโตมาในสังคมของสหรัฐอเมริกาและจีน ด้วยวัยเพียง 29 ปี บวกกับรูปร่างหน้าตาที่น่ามอง นี่จึงเป็นอีกหนึ่งหนุ่มที่น่าสนใจในการเลือกตั้งครั้งนี้หรือครั้งต่อๆ ไป

 

Photo: Instagram @wayots6 และ THE STANDARD

 

วาโย อัศวรุ่งเรือง

อดีตคนคว้าดาวจากเวที เดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว ปี 6 (ปีเดียวกันกับ กัน-นภัทร อินทร์ใจเอื้อ, โตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ และริท-เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช) ในกรณีที่คุณเคยชมรายการดังกล่าวจะพบว่าหมอเก่ง วาโย เป็นผู้ชายไม่กี่คนที่ ‘ตกรอบแรก’ ในการประกวดของรายการนี้ ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีเสน่ห์ แต่เขาอาจไม่ได้เป็นผู้เข้าประกวดในแบบที่ผู้ชมตามหา ปัจจุบันวาโยในวัย 32 ปีรับหน้าที่รองโฆษกประจำพรรคอนาคตใหม่ ทั้งยังมีดีกรีการศึกษาการันตีถึง 6 ใบในหลากหลายสาขา ทั้งด้านแพทยศาสตร์บัณฑิต นิติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กฎหมายการแพทย์ และบริหารธุรกิจ นับเป็นอีกหนึ่งหนุ่มที่มีความรอบรู้และน่าจับตามองมากกว่าความน่ารักและความหล่อตามแบบสมัยนิยมที่เขาเป็น

 

Photo: Instagram @pongkasem_s

 

พงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ

ปิดท้ายด้วยอีกคนที่ก้าวออกจากหน้าจอตู้สู่สนามการเมือง พงศ์เกษมคืออดีตผู้ประกาศข่าวที่ไปปรากฏตัวมาแล้วหลายช่อง ตั้งแต่ช่อง 9 ช่อง 7 และงานสุดท้ายก่อนลาออกมาร่วมการเมืองอย่างผู้ประกาศข่าวช่องวัน นอกเหนือจากบุคลิกภาพที่ถูกเทรนมาเป็นอย่างดีเพื่อออกหน้ากล้อง สิ่งที่เชื่อมือเขาได้คือการพูดจาที่น่าฟัง ฉะฉาน และชัดเจน โดยพงศ์เกษมนั้นเข้าสู่เกมการเมืองนี้ในฐานะโฆษกพรรคไทยรักษาชาติ

 

ที่เหลือก็อยู่ที่คุณแล้วว่า 24 มีนาคมนี้จะเข้าคูหากาใจคนไหน?

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X