THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
Fed ลดดอกเบี้ย
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

คาด Fed ลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในครึ่งแรกปีนี้ แม้เผชิญแรงกดดันทางการเมือง

... • 4 ก.พ. 2025

HIGHLIGHTS

  • สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกทรงตัวจากแรงกดดันในช่วงต้นสัปดาห์ จากข่าว AI จีน DeepSeek ที่ทำให้เกิดความกังวลต่อการพัฒนาหรือการลงทุนใน AI ในอนาคตว่าอาจไม่มากอย่างที่คาด
  • FOMC มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ย สะท้อนตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งขึ้น ด้านประธาน Fed ยืนยัน ไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ยจนกว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงสู่เป้าหมาย 2%
  • อย่างไรก็ตาม บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ยังเชื่อว่าจะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้ โดยลดในช่วงครึ่งปีแรก จาก 4 ปัจจัยสนับสนุน

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกทรงตัวจากแรงกดดันในช่วงต้นสัปดาห์ จากข่าว AI จีน DeepSeek ที่ทำให้เกิดความกังวลต่อการพัฒนา หรือการลงทุนใน AI ในอนาคตว่าอาจไม่มากอย่างที่คาด เนื่องจาก DeepSeek จะใช้เงินลงทุนในการพัฒนาต่ำกว่า AI อื่นมาก กดดันหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลดลง 3.2% แต่กลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายสัปดาห์หลังภาพรวมงบออกมาเติบโตดีกว่าคาด 

 

ด้าน FOMC มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ย สะท้อนตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งขึ้น ด้านประธาน Fed ยืนยันไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ย จนกว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงสู่เป้าหมาย 2% อย่างต่อเนื่อง หนุนหุ้นกลุ่มการเงินปรับเพิ่มขึ้น 1.2% 

 

ด้าน GDP สหรัฐฯ ใน 4Q24 เติบโต 2.3%QoQ ต่ำกว่าคาดจากการระบายสินค้าคงคลัง แต่การบริโภคยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งที่ 4.2%QoQ ด้าน ECB ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps ตามคาดสู่ 2.75% และเปิดโอกาสในการผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจยุโรปที่อ่อนแอ นำโดยเยอรมนีและฝรั่งเศส ส่วนเงินเฟ้อจะยังอยู่ที่ 2.4% สูงกว่าเป้าหมาย 2% และมีสัญญาณการชะลอตัวของค่าจ้างและตลาดแรงงาน 

 

ตลาดหุ้น EM ปรับขึ้นเล็กน้อย แม้หลายตลาดในเอเชียจะปิดเนื่องในเทศกาลตรุษจีน 

 

ตลาดน้ำมันปรับตัวลงกดดันจากตัวเลข PMI จีนที่อ่อนแอ และทรัมป์ที่เรียกร้องให้ OPEC เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อลดราคาน้ำมันและเงินเฟ้อ

 

ตลาดหุ้นไทยยังคงอ่อนแอกว่าตลาดอื่นในภูมิภาค กดดันจากแรงขายจากกลุ่มที่มีปัจจัยเฉพาะตัว เช่น กลุ่มเครื่องดื่มจากการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น รวมถึงแรงกดดันจากหุ้น DELTA ในประเด็นความกังวลกับการเข้ามาของ DeepSeek ท่ามกลางมูลค่าซื้อขายที่เบาบาง เนื่องจากอยู่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน 

 

Fed ลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในครึ่งปีแรก 

 

ในส่วนมุมมองต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในปัจจุบัน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า FOMC ยังคงแสดงความระมัดระวังเป็นพิเศษต่อเงินเฟ้อ โดยต้องการเห็นการชะลอตัวที่ชัดเจนก่อนพิจารณาลดดอกเบี้ย ขณะที่ตลาดการเงินเริ่มส่งสัญญาณลบจากท่าทีระมัดระวังนี้ สะท้อนผ่านตลาดหุ้นที่ปรับตัวลง Yield Curve ที่ชันขึ้น และผลกระทบของดอกเบี้ยจำนองสูงต่อภาคอสังหาและเศรษฐกิจโดยรวมในระยะถัดไป 

 

นอกจากนี้ยังมีความท้าทายจากแรงกดดันทางการเมืองที่อาจกระทบความเป็นอิสระของ Fed และนโยบายของทรัมป์ที่อาจสร้างความไม่แน่นอน

 

อย่างไรก็ตาม บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ยังเชื่อว่าจะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้ โดยลดในช่วงครึ่งปีแรกจาก

 

  1. มาตรการของรัฐบาลทรัมป์ที่ยังไม่เปลี่ยนมาก (โดยเรามองว่านโยบายของทรัมป์จะรุนแรงขึ้นในครึ่งปีหลัง ซึ่งจะกดดันความคาดหวังเงินเฟ้อ) 
  2. เงินเฟ้อจะลดลงในช่วงครึ่งปีแรกจากปัจจัยฐานสูง (โดยเฉพาะราคาน้ำมัน) และนโยบายทรัมป์ในการกดดัน OPEC รวมถึงสนับสนุนให้สหรัฐฯ เพิ่มกำลังการผลิต 
  3. ดอกเบี้ยในตลาดการเงินที่สูงขึ้นเริ่มทำร้ายประชาชน โดยเฉพาะ Mortgage Rates ที่อยู่สูง ตามมุมมอง Rob Kaplan 
  4. ความเสี่ยงความผันผวนทางการเงินจะมีมากขึ้นในระยะต่อไป จากดอกเบี้ยที่ยังสูงและการทำ QT ต่อเนื่อง

    ทั้งนี้ เราจะติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้อและท่าทีของคณะกรรมการ FOMC อย่างต่อเนื่อง

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

  1. หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์บวกจากการที่รัฐออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค โดยนำค่าซื้อสินค้ามาลดหย่อนภาษี (Easy e-Receipt) และแจกเงินหมื่นเฟส 2 ในช่วงเทศกาลตรุษจีน แนะนำ กลุ่มพาณิชย์ (CRC, HMPRO, CPALL, TNP) กลุ่มท่องเที่ยว (MINT, AWC, ERW, AOT)

  2. นักลงทุนที่ต้องการหุ้นปันผลสูงซึ่งคาดว่าจะมีเงินปันผลจ่ายที่เหลือจากกำไรปี 2024 คิดเป็น Dividend Yield เกิน 3% เพื่อสร้างกระแสเงินสดให้แก่พอร์ตลงทุน แนะนำ AP, KTB, BBL, PTT

  3. หุ้น Earnings Play ซึ่งมองว่าราคาหุ้นยังไม่ได้ปรับขึ้น สะท้อนโมเมนตัมกำไร 4Q24 อีกทั้งยังมีศักยภาพการจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ เลือก ADVANC, TRUE, AMATA, TIDLOR, MTC, AU, HTC

  4. Trading Idea: 1) หุ้นที่คาดว่ามีโอกาสเพิ่มอัตราการจ่ายปันผล หรือซื้อหุ้นคืน เนื่องจากมี P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า และมีสภาพคล่องทางการเงินสูง เลือก PTT, KBANK, BBL และ 2) หุ้น Mid-Small Cap ที่ราคาหุ้นปรับลง YTD มากกว่าตลาด แต่ 4Q24 และปี 2025 คาดกำไรยังเติบโตดีและมีฐานะการเงินแกร่ง เลือก AMATA, AU, BCH, BLA, TIDLOR

 

“มองดัชนี SET ยังมีแนวต้านสำคัญที่บริเวณ 1,350 จุด โดยแม้ภาพการลงทุนในตลาดต่างประเทศจะได้รับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนและผลประกอบการนอกกลุ่มการเงินของ บจ. สหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง รวมไปถึงแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าจากการปรับลดดอกเบี้ยที่ค่อยเป็นค่อยไป แต่ในประเทศยังไร้ปัจจัยใหม่มาช่วยหนุนบรรยากาศลงทุนในตลาดหุ้นไทย ทั้งนี้ สถานการณ์การส่งออกไทยน่าจะมีความเสี่ยงมากขึ้นจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และเงินเฟ้อที่ต่ำ ทำให้เศรษฐกิจไทยยังไม่โดดเด่นมากนัก ส่งผลให้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยยัง Underperform ตลาดหุ้นทั่วโลก” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

  1. อัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนมกราคม
  2. ความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อแคนาดาและเม็กซิโก 25% และจีน 10% 

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: TIDLOR - ฟื้นตัวดี มี Valuation ถูก

 

แนะนำ บมจ.เงินติดล้อ หรือ TIDLOR เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้

  • เป็นผู้นำในตลาดไมโครไฟแนนซ์ที่มีขนาดใหญ่และยังมีการเข้าถึงจำกัด โดยมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน, อันดับ 2 ในตลาดไมโครไฟแนนซ์, อันดับ 3 ในตลาดจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัยให้รายย่อย และอันดับ 7 ในธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย
  • กำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวดี โดย 4Q24 คาดกำไรจะเพิ่มขึ้น 9%QoQ และ 20%YoY ขณะที่ปี 2024 คาดกำไรจะเติบโต 12%YoY และเติบโตต่ออีก 15%YoY ในปี 2025 โดยได้รับแรงหนุนจากสินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียมที่เติบโต 10% รวมถึง NIM ที่ขยายตัว 64 bps และ Credit Cost ที่ลดลง 5 bps
  • Valuation ถูกสุดเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในธุรกิจเดียวกัน และราคาหุ้นปรับขึ้น 2.3%YTD ซึ่งมองยังไม่สะท้อนกำไรที่ฟื้นตัวดี อีกทั้งมองว่ามีโอกาสจะปรับเพิ่มอัตราจ่ายเงินปันผลหลังปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทเป็น Holding Company
  • เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 21 บาท (อิง P/BV 1.7 เท่า) และคาดว่ามีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 0.37 บาท คิดเป็น Dividend Yield ปีละราว 2%

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก


ตลาดมีความผันผวนผลจากหุ้นกลุ่มเทคและเซมิคอนดักเตอร์ที่ในช่วงต้นสัปดาห์มีความกังวลจากการแข่งขันจากคู่แข่งรายใหม่ DeepSeek ที่เป็นบริษัทจีนซึ่งพัฒนาโมเดล AI ที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าและต้นทุนที่ต่ำกว่าบริษัทเทคในสหรัฐฯ แต่ก็กลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายสัปดาห์ หลังภาพรวมงบออกมาเติบโตดีกว่าคาดและมีความคาดหวังในการฟื้นตัวทั้ง META, TSLA, AAPL ยกเว้น MSFT ที่ราคาปรับตัวลงหลังรายได้คลาวด์ผิดคาด สะท้อนความคาดหวังที่สูง

 

  • DeepSeek เป็น AI ที่คล้ายกันกับ ChatGPT, Gemini และ Claude แต่มีการทำ Agentic AI ซึ่งเป็นการนำ AI ไปเชื่อมกับ AI อื่นและนำมาเป็นของตัวเอง แตกต่างจากสหรัฐฯ ที่เอาข้อมูลไปเรียนรู้และพัฒนาเอง ทำให้ใช้พลังงานในการประมวลผลน้อยและมีต้นทุนที่ถูกโดยอยู่ที่ 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับเจ้าอื่นที่ 100-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (Cost of Model Training)
  • เราประเมินว่าการเข้าตลาดของ DeepSeek อาจส่งผลให้ 1. ต้นทุนกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และ CAPEX เปลี่ยนหรือลดลงได้ในระยะถัดไป แต่อย่างไรก็ดี ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าผลกระทบได้ หลังยังมีหลายปัจจัยที่ยังไม่ชัดเจน เช่น โมเดลการทำงาน DeepSeek ทำให้เรายังคงติดตามทิศทางธุรกิจ 2. มองว่าการที่ Generative AI ถูกลงจะช่วยหนุนให้มีการใช้งาน AI มากขึ้น 3. เรามองว่ากลุ่มที่จะได้ประโยชน์คือกลุ่ม AI ปลายน้ำที่จะใช้งานในต้นทุนที่ถูกลง โดยเฉพาะกลุ่มซอฟต์แวร์ รวมถึงมองข้อมูลที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางการใช้งานอาจส่งผลให้ความต้องการ Cybersecurity เพิ่มขึ้น 4. แนะระมัดระวังกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์หลังยังคงมีความเสี่ยงจากอัตราภาษีของทรัมป์และประเด็น DeepSeek ที่ยังไม่ชัดเจน

 

ด้านภาพรวมผลประกอบการกลุ่มเทคใหญ่ออกมาเติบโตและดีกว่าคาด ทั้งนี้ ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวดี

 

  • Microsoft เผย งบดีกว่าคาดและเติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจ อย่างไรก็ดี รายได้คลาวด์เติบโตต่ำกว่าคาดและ CAPEX เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด ส่งผลให้ตลาดตอบสนองเชิงลงต่องบที่ออกมา ขณะที่เรามองเป็นจังหวะการสะสมหุ้นที่ดี เชื่อว่าแนวโน้มการเติบโตยังดีอยู่จาก AI

 

  • TSLA เผย งบอ่อนแอหลังธุรกิจ EV ซบเซาจากสงครามราคา และค่าใช้จ่ายด้าน AI กดดันมาร์จิ้น แต่อย่างไรก็ดี หุ้นปรับตัวขึ้นตามความคาดหวังการฟื้นตัวในปี 2025 จาก FSD และรถรุ่นประหยัด ด้วยภาพนี้ทำให้เรามองว่าราคาหุ้นปรับตัวไม่สมเหตุสมผลกับภาพการฟื้นตัวที่ไม่ได้ชัดเจน ทำให้เรายังคงแนะนำให้หลีกเลี่ยง
  • META งบโตดีกว่าคาด หลังมีแรงหนุนจากรายได้ Ads ที่ฟื้นตัว และธุรกิจ Reality Labs มีภาพการฟื้นตัว นอกจากนี้บริษัทเตรียมลงทุนใน AI และศูนย์ข้อมูลเพิ่มขึ้น หลังมอง Meta AI จะช่วยหนุนให้มีผู้คนมากกว่า 1 พันล้านคนมาใช้บริการในปี 2025 ทั้งนี้ เตรียมพัฒนาโมเดล Llama 4 ขณะที่เราเชื่อว่าราคาหุ้นจะยังไปต่อได้ในปี 2025 จาก AI และ Ads ทำให้เราแนะนำให้เก็งกำไรเป็นรอบๆ

 

  • AAPL เผยงบ 4Q24 ดีกว่าคาด โดยรายได้มีแรงหนุนจากกลุ่ม Service และ iPad ที่โตราว 15%YoY อย่างไรก็ดี การเติบโตยังมีแรงกดดันจากยอดขายในจีน และ iPhone ที่หดตัวลงอยู่ ด้านราคาหุ้นตอบสนองเชิงบวกต่อคาดการณ์บริษัทที่สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัว อย่างไรก็ดี เราประเมินว่าราคาหุ้นปรับตัวไม่สมเหตุสมผลกับภาพการฟื้นตัวที่ไม่ได้ชัดเจน รวมถึงภาพ Innovation ยังตามหลัง Peers เราจึงยังไม่ชอบ

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

เงินสด / สภาพคล่อง

 

สินทรัพย์สภาพคล่องมีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ เช่น ข้อพิพาทบนช่องแคบไต้หวัน ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง สงครามรัสเซีย-ยูเครน และข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยล่าสุดทรัมป์ขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีสินค้าจำพวกชิปคอมพิวเตอร์ ยา และเหล็ก ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อกดดันให้ผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้ผลิตในสหรัฐฯ

 

ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว

 

โอกาสที่ UST Yield Curve จะเพิ่มความชันยังมีอยู่ โดยยีลด์ตัวยาวมีโอกาสทรงตัวถึงเพิ่มขึ้นต่อ ทั้งจากการขาดดุลการคลังที่มากขึ้น เงินเฟ้อที่ยังหนืด (ตามนโยบายกีดกันการค้าและกีดกันผู้อพยพ) และ Fed ที่มีแนวโน้มระมัดระวังการลดดอกเบี้ยหลังถ้อยแถลงล่าสุดของพาวเวลล์มองว่ายังไม่จำเป็นต้องเร่งรีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในตอนนี้ ทั้งนี้ บอนด์อายุ 2-4 ปี มีความเสี่ยง Duration ไม่มากนัก และมี Coupon มากพอ จึงทำให้น่าสนใจลงทุน และคุ้มที่จะถือเพื่อ Hedge 

 

US Treasury & IG

 

UST Yield มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากความกังวลในตลาดว่า Fed อาจชะลอการลดดอกเบี้ย เห็นได้จากการที่ล่าสุดพาวเวลล์ยังไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ และจะไม่ดำเนินการใดๆ จนกว่าจะมีข้อมูลที่แน่นอน ประกอบกับความกังวลแนวโน้มการขาดดุลการคลังในสหรัฐฯ ที่มากขึ้น จากแนวนโยบายของทรัมป์ แนะนำลงทุนทั้ง UST และ US IG Bond โดยเน้นลงทุน Duration ประมาณ 2-4 ปี ที่ให้ยีลด์เฉลี่ยยังสูงกว่าประมาณการอัตราดอกเบี้ย ‘ระยะยาว’ ของ Fed เพื่อเป็นการ Lock Coupon 

 

High Yield Bond

 

US HY มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนเป็นบวกตาม 

  1. Default Rate ของ US HY อยู่ที่ 1.5% ซึ่งต่ำกว่าของ Leveraged Loan ที่ 4.5% 
  2. ตัวเลขหุ้นกู้ Rising Stars ยังมีแนวโน้มมากกว่า Fallen Angels สอดคล้องกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังดี และ HY Spread ที่ยังต่ำ
    3. ความผันผวนของ US HY ยังต่ำ
  3. ประเด็น Maturity Wall ของ US HY ปี 2025 อยู่ที่เพียง 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

อย่างไรก็ตาม ด้วย HY Spread ที่แพง และ UST Yield ตัวยาวที่ยังเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อ จึงอาจทำให้ Upside ของ US HY มีจำกัด

 

สินทรัพย์ผสมกึ่งหนี้กึ่งทุนและ REITs

 

REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับพอร์ตโฟลิโอได้ ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับพอร์ตโฟลิโอจากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ

สินทรัพย์ผสม (Ready Mixed - Asset Allocation) ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง

 

US REITs

 

US REITs มีปัจจัยหนุนจาก 

  1. ปัจจัยพื้นฐานที่ดี ตามภาพรวมตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง รวมทั้ง Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 94% และกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) ที่เติบโตต่อเนื่อง 
  2. ผลการดำเนินงานที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากต้นทุนทางการเงินที่ลดลงตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง โดยเราคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยในปีนี้ จำนวน 50 bps 
  3. งบดุลที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถรองรับการเติบโตในอนาคต 
  4. Valuation ที่อยู่ในระดับที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต

    อย่างไรก็ตาม Bond Yield สหรัฐฯ ที่อาจปรับตัวขึ้นจากนโยบายของทรัมป์และเงินเฟ้อที่หนืดยังเป็นปัจจัยกดดัน US REITs 

 

Private Credit

 

เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหน้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)

 

หุ้นไทย

 

ดัชนีฯ ได้ปัจจัยหนุนในระยะยาวจาก 

  1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ เช่น โครงการบ้านเพื่อคนไทย 
  2. แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ กนง. ใน 1H25 อีก 25 bps 
  3. กำไรของ บจ. ที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและทยอยปรับตัวดีขึ้น ท่ามกลาง Valuation ที่อยู่ในระดับไม่แพง โดยผลประกอบการของหุ้นกลุ่มธนาคารในช่วง 4Q24 ออกมาดีกว่าตลาดคาด 

 

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นดัชนีฯ เผชิญแรงกดดันจากความกังวลต่อนโยบายกีดกันการค้าของทรัมป์และความกังวลด้านธรรมาภิบาลในตลาดหุ้นไทย ดังนั้นเรายังไม่แนะนำลงทุนหุ้นไทยขนาดกลางและเล็ก โดยนักลงทุนยังคงรอติดตามผลประกอบการของ บจ. ในช่วง 4Q24 ที่ทยอยออกมา

 

หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนระยะสั้น หลัง Fed ส่งสัญญาณชะลอการปรับลดดอกเบี้ย ท่ามกลางความกังวลประเด็น DeepSeek แอปพิลเคชัน AI สัญชาติจีน ต่อหุ้นในกลุ่มที่เกาะกระแส AI และความไม่แน่นอนจากนโยบายการเก็บภาษีนำเข้าของทรัมป์ อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ยังได้แรงหนุนจากกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี

หุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากการลดดอกเบี้ย แต่ยังเผชิญแรงนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ และเสถียรภาพทางการเมืองในเยอรมนีลดลง 

 

หุ้นญี่ปุ่นได้อานิสงส์จากเงินเยนอ่อนค่าและการปฏิรูปบรรษัทภิบาลของตลาดฯ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นอาจส่งผลลบต่อหุ้นส่งออกและดัชนีฯ

 

หุ้นสหรัฐฯ

 

ความคาดหวังของตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ ขณะที่ Consensus คาดว่า การเติบโตของรายได้ และกำไรของ S&P500 ใน 4Q24 จะ +4.5% และ +9.1%YoY ตามลำดับ ตลาดคาดหวังต่อนโยบายปรับลดภาษีเงินได้ของทรัมป์ ซึ่งล่าสุดทรัมป์ย้ำว่าต้องการลดภาษีเงินได้แก่บริษัทที่ผลิตสินค้าในสหรัฐฯ จาก 21% เหลือ 15% 

 

นอกจากนี้ตลาดฯ ยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากกระแส AI แม้ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประเด็น DeepSeek แอปพลิเคชัน AI สัญชาติจีนยังมีอยู่ ทั้งนี้ เรายังเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่ EPS มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ผสมผสานกับหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ช่วยลดผลกระทบทางลบจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า

 

หุ้นยุโรป

 

ดัชนีหุ้นยุโรปมีแนวโน้มได้รับปัจจัยหนุนจาก 

  1. วัฏจักรการลดดอกเบี้ยของ ECB สู่ Neutral Rate ที่ 2% 
  2. Valuation ของดัชนีฯ ที่ถูกกว่าดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ประมาณ 40% ขณะที่ค่าเงิน USD ที่อยู่ในทิศทางแข็งค่าเทียบกับ EUR มีแนวโน้มส่งผลเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่ม Healthcare

 

นอกจากนี้การเปิดตัวของ DeepSeek ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่ามีแนวโน้มส่งผลเชิงบวกต่อกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะ ASML 

 

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาประเด็นการขยายเพดานหนี้สาธารณะของเยอรมนีเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจผ่านการลงทุนภาครัฐ ที่จะมีแนวโน้มชัดเจนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2025 และประเด็นการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจเป็นปัจจัยกดดันดัชนีฯ ในระยะสั้น

 

หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่

 

ตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชียยังเผชิญความท้าทายในปี 2025 จาก 

  1. 10Y UST Yield ที่ปรับสูงขึ้นและค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น 
  2. ความเป็นไปได้ในการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ หลังการสาบานตนของทรัมป์ต่อเศรษฐกิจ
  3. ความไม่แน่นอนด้านนโยบายและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแต่ละประเทศ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในภูมิภาค แม้อาจปรับลดขนาด

 

ความเร็วลงตามแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ทั้งนี้ เน้นลงทุนในตลาดฯ ที่มีความยืดหยุ่นและพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก

 

หุ้นอินเดีย

 

ตลาดหุ้นอินเดียเผชิญแรงกดดันระยะสั้นจาก 

  1. ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ปรับลดคาดการณ์ GDP ใน FY2025 ลงอยู่ที่ 6.4% จากเดิมคาดไว้ที่ 7.2% 
  2. 10Y UST Yield ปรับเพิ่มขึ้น และเงินรูปีอ่อนค่า 
  3. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องมาตั้งแต่ 4Q24 จนถึงปีนี้ 
  4. Valuation ของดัชนีฯ ที่ค่อนข้างแพง 

 

อย่างไรก็ดี เราคาดว่าดัชนีฯ ยังได้รับแรงหนุนจากการอัดฉีดสภาพคล่องในระบบธนาคาร เพื่อปูทางสู่การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps ในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อกระตุ้นการบริโภค (คิดเป็น 60% ของ GDP) 

 

นอกจากนี้เศรษฐกิจอินเดียยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจำกัดจากนโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐฯ และโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดีระยะยาว 

 

หุ้นอินโดนีเซีย

 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซียได้รับปัจจัยหนุนจาก 

  1. เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีและ FDI ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 
  2. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของปราโบโว ซึ่งจะช่วยหนุนภาคการบริโภคและก่อให้เกิดการจ้างงาน 
  3. ภาคการบริโภคที่ได้ปัจจัยหนุนจากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ปรับตัวขึ้น 6.5% ในปี 2025 และแนวโน้มการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมของ BI ในปี 2025 อีกราว 50 bps มาที่ 5.25% หลังเพิ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย 25 bps เพื่อกระตุ้นการบริโภค 
  4. Valuation ของดัชนีฯ ที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน และความกังวลต่อนโยบายของทรัมป์ ซึ่งจะส่งผลกดดันภาคการส่งออกเป็นปัจจัยกดดันดัชนีฯ ในระยะสั้น

 

หุ้นจีน

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการทยอยออกมาตรการทางการเงิน การคลัง ภาคอสังหา และตลาดทุนของทางการจีน รวมทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวของกำไรบริษัทในดัชนีฯ หลังกำไรภาคอุตสาหกรรมล่าสุดกลับมาเพิ่มขึ้น หลังจากที่ลดลงติดต่อกัน 4 เดือน ขณะที่ความไม่แน่นอนบนข้อพิพาททางการค้าและเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ ยังมีอยู่ โดยล่าสุดมีรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจาก Bloomberg ว่า เจ้าหน้าที่ของทรัมป์​กำลังพิจารณามาตรการควบคุมเพิ่มเติมในการขายชิปของ NVIDIA ให้กับจีน 

 

สินค้าโภคภัณฑ์

 

ปัจจัยพื้นฐานของทองคำยังคงสนับสนุนการลงทุนในพอร์ตระยะยาว เนื่องจาก 

  1. เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้ ท่ามกลางความขัดแย้งในตะวันออกกลางและสงครามรัสเซีย-ยูเครน 
  2. ความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่อยู่สูง สนับสนุนการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ 
  3. ช่วยกระจายความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากนโยบายการกีดกันทางการค้า 
  4. Fund Flow ของ ETF ที่กลับมาซื้อสุทธิใน 2H24 ราว 113 ตัน 

 

อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า และ US Bond Yield ที่ยังอยู่สูงจากความกังวลต่อนโยบายของทรัมป์ อาจกดดันราคาทองคำในระยะสั้น

 

ภาพ: Chip Somodevilla / Staff / Getty Images 

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 4 ก.พ. 2025

READ MORE



Latest Stories