วันเลือกตั้ง

กกต. แจง 59 พรรคการเมือง หาเสียงผ่านโซเชียลทำได้หลัง พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง ไม่ตอบขอบเขตอำนาจ คสช. ช่วงเลือกตั้ง

28.09.2018
  • LOADING...

วันนี้ (28 ก.ย.) ที่โรงแรมเซ็นทาราศูนย์ราชการ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินการแก่พรรคการเมือง โดยมีตัวแทน 59 พรรคการเมืองและกลุ่มผู้แจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรค 84 กลุ่มเข้าร่วม

 

พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าว

ถึงกรอบการหาเสียงโดยโซเชียลมีเดียตามมาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้คำสั่ง คสช. ยังอยู่ในขั้นคลายล็อกพรรคการเมือง จึงยังห้ามใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการหาเสียง

 

แต่เมื่อมีการปลดล็อกและประกาศ พ.ร.ฎ. เลือกตั้งแล้วนั้น พรรคการเมืองสามารถใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการรณรงค์หาเสียงได้

 

โดยพรรคการเมืองสามารถเผยแพร่ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียได้เลยโดยไม่ต้องผ่านการอนุมัติจาก กกต. แต่ต้องแจ้งข้อความที่จะเผยแพร่มาที่ กกต. เพื่อเก็บเป็นข้อมูลป้องกันการสวมรอยกลั่นแกล้งใส่ร้าย

 

นอกจากนี้ กกต. มีแนวคิดจะจัดการดีเบตโดยไม่ใช้เวทีกลางแจ้ง แต่จะจัดให้มีการถ่ายทำแล้วซื้อเวลาสถานีโทรทัศน์เพื่อออกอากาศ รวมทั้งการแถลงนโยบายพรรค นอกจากนี้ยังจะจัดให้มีแอปพลิเคชันเพื่อให้ประชาชนเข้าไปดูข้อมูลได้

 

ขณะที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงความชัดเจนในการแบ่งเขตเลือกตั้งว่า หลัง กกต. ออกระเบียบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. จำนวนเขต 350 เขต ซึ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา

 

ประธาน กกต. เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าช่วงวันที่ 4-13 ตุลาคม กกต. จังหวัดทุกจังหวัดจะเสนอรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง 3 รูปแบบติดประกาศไว้ที่สำนักงาน กกต. จังหวัด รวมถึงส่วนราชการในจังหวัด อาทิ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ และที่ว่าการองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นเวลา 10 วัน เพื่อให้พรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดนั้นให้ข้อคิดเห็น

 

หลังจากนั้นอีก 3 วัน ไม่เกินวันที่ 16 ตุลาคม กกต. จังหวัดจะรายงานผลการรับฟังข้อคิดเห็นดังกล่าวมาให้ กกต.

 

จากนั้นไม่เกิน 20 วัน กกต. ส่วนกลางจะพิจารณาว่าจะเลือกรูปแบบไหนที่ดีที่สุด โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมและข้อคิดเห็นที่ได้รับ

 

คาดว่าไม่เกิน 10 พฤศจิกายน จะสามารถประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้พรรคการเมืองได้คัดเลือกผู้สมัครเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน นับจากวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้

 

อย่างไรก็ตาม ประธาน กกต. ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นถึงขอบเขตอำนาจของรัฐบาล คสช. ในช่วงการเลือกตั้งว่ามีอำนาจมากน้อยแค่ไหน โดยประธาน กกต. ระบุว่า ในส่วนของตนมุ่งเน้นเรื่องการจัดการเลือกตั้งให้เรียบร้อย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีประเด็นใดที่ กกต. ต้องไปหารือกับรัฐบาล

 

ทั้งนี้ก่อนการประชุมเกิดเหตุวุ่นวายขึ้นเล็กน้อย เมื่อเจ้าหน้าที่ กกต. ไม่อนุญาตให้นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด หัวหน้ากลุ่มเกรียนพร้อมพวก เข้าร่วมรับฟังการประชุม โดยให้เหตุผลว่านายสมบัติและพวกแต่งกายไม่สุภาพ และผู้ใหญ่ไม่อนุญาตให้เข้า

 

ทั้งนี้การเจรจาใช้เวลาประมาณ 10 นาที สุดท้ายนายสมบัติจึงยอมไม่เข้าห้องประชุม และขอนั่งรออยู่หน้าห้องประชุมแทน

 

สำหรับนายสมบัติยื่นขอจัดตั้ง ‘พรรคเกรียน’ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้จดจัดตั้งชื่อนี้ จึงเปลี่ยนเป็นชื่อ ‘พรรคเกียน’ แต่ก็ยังไม่ถูกรับรองจาก กกต. โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการร้องต่อศาลปกครอง

 

นายสมบัติระบุด้วยว่า ถ้ายังจดจัดตั้ง ‘พรรคเกียน’ ไม่ได้ อาจเปลี่ยนชื่อเป็น ‘พรรคพลังประชาลาก’ เพราะโดนลากยาวการตั้งพรรคมากว่า 5 เดือนแล้ว

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising