วันเลือกตั้ง

จากสปีชคมๆ กลางงานสุพรรณหงส์ ถึงวิสัยทัศน์จาก 8 พรรคการเมืองในเสวนา ‘อนาคตหนังไทยหลังการเลือกตั้ง’

08.03.2019
  • LOADING...

“ภาพยนตร์ไทยไม่ได้รับการปกป้อง ไม่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลที่ผ่านมาเท่าที่ควร ดิฉันขอชื่นชมนักทำหนังทุกท่านและผู้กำกับทุกคนที่มีใจต่อสู้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้รับการเหลียวแล แต่ว่าก็พยายามสู้ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อจนเกิดเป็นผลงานขึ้นมา แล้วก็หวังว่าในอนาคตถ้ามีรัฐบาลใหม่ จะสนใจแล้วก็ดูแลภาพยนตร์ไทยดีกว่านี้ค่ะ”

 

อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับภาพยนตร์ มะลิลา ขณะขึ้นรับรางวัลสุพรรณหงส์ในสาขา ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เมื่อคืนวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ร้องขอให้รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น หันมาสนใจและสนับสนุนวงการภาพยนตร์ไทยให้ดีขึ้น ซึ่งนั่นก็ทำให้สปอตไลต์หันมาสาดส่องให้กับวงการภาพยนตร์ไทยในทันที

 

อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับภาพยนตร์ มะลิลา

 

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ทางสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ร่วมกับมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาชนและหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้จัดงานเสวนาขึ้นในหัวข้อ ‘อนาคตหนังไทยหลังการเลือกตั้ง’ โดยเชิญตัวแทนจาก 8 พรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่ในสนามเลือกตั้ง 2562 มาร่วมพูดคุยถึงปัญหาและแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับทิศทางของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในอนาคต

 

เราต้องเพิ่มส่วนแบ่งของภาพยนตร์ไทยให้ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาฉายภายในประเทศ

 

อลงกรณ์ พลบุตร จากพรรคประชาธิปัตย์ นำเสนอนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยหนึ่งในองค์ประกอบของนโยบายนี้คือ ภาพยนตร์และสื่อวีดิทัศน์ ซึ่งมุ่งเน้นใน 5 เป้าหมายหลักคือ

 

  • สื่อภาพยนตร์จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
  • เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อเป็นตัวสร้างรายได้ให้ประชาชนและประเทศชาติ
  • ประเทศไทยจะต้องเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งเอเชีย
  • เพิ่มการส่งออกภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดโลก
  • เพิ่มส่วนแบ่งของภาพยนตร์ไทยให้ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาฉายภายในประเทศ

 

รัฐบาลต้องสนับสนุนนักทำหนังที่เป็นนักศึกษามากกว่านี้ นักทำหนังรุ่นใหม่มากกว่านี้ หรือนักทำหนังคนใดก็ตามที่มีโพเทนเชียลให้มากกว่านี้

 

อนุสรณ์ สร้อยสงิม จากพรรคสามัญชน

นำเสนอนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ คือ

 

  • สนับสนุนสถานที่ถ่ายทำในเขตราชการ
  • สนับสนุนในด้านเงินทุนแก่นักศึกษาภาพยนตร์ในการถ่ายทำ
  • ดูแลด้านการปกป้องสิทธิของบุคลากรในภาพยนตร์ ร่วมถึงสวัสดิการให้เทียบเท่ากับอาชีพอื่นๆ
  • การจัดตั้งระบบ Box Office อย่างจริงจัง เพื่อให้มาตรฐานเทียบเท่านานาชาติ
  • ปรับปรุงระบบการจัดเรตติ้งให้มีความสมเหตุสมผลมากขึ้น รวมถึงยกเลิกการแบนภาพยนตร์
  • ส่งเสริมภาพยนตร์ให้เป็นสินค้าส่งออกเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ
  • การสนับสนุนให้เกิดเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศไทย
  • ลดภาษีภาพยนตร์ต่างประเทศ
  • การสร้างแพลตฟอร์มสตรีมมิงภาพยนตร์ไทยเป็นของตัวเอง
  • การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักศึกษาภาพยนตร์ในแต่ละมหาวิทยาลัยต่างๆ

 

การจะทำอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้แข็งแรงได้ เราต้องมีรากที่แข็งแรง รากที่จะแข็งแรงอย่างแรกคือรากของคนดู คนดูต้องมีวัฒนธรรมการดูหนังที่แข็งแรง และหลากหลาย ถ้าเราไม่ปลูกฝังคนดูให้มีรสนิยมที่แข็งแรงและหลากหลาย ธุรกิจภาพยนตร์ไทยไม่มีวันที่จะฟื้นตัวได้เลย  

 

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ จากพรรคอนาคตใหม่ ได้นำเสนอการแก้ปัญหาของวงการภาพยนตร์ไทย โดยแบ่งเป็นหัวข้อหลักดังนี้

 

  • การส่งเสริมให้ผู้ชมมีวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ให้มีความแข็งแรงและหลากหลายมากขึ้น โดยเริ่มจากระบบการศึกษาในการสนับสนุนด้านจินตนาการให้แก่นักเรียน-นักศึกษา แลกเปลี่ยนความคิดในการดูภาพยนตร์ไทย
  • การพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยได้รับการสนับสนุนภาพยนตร์ไทยจากกระทรวงวัฒนธรรมแบบครบวงจร ทั้งเงินทุน การถ่ายทำและการเข้าฉาย รวมถึงการส่งเสริมสวัสดิการให้กับบุคลากรภาพยนตร์ไทย
  • การสร้างพื้นที่ในการฉายภาพยนตร์ให้กับภาพยนตร์ไทย โดยสร้างโรงภาพยนตร์ชุมชนภายในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีราคาในการจำหน่ายตั๋วถูกกว่าโรงภาพยนตร์ปกติลงครึ่งหนึ่ง เพื่อให้เกิดการแข่งขันและไม่เกิดการผูกขาดทางธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนให้นักศึกษานำผลงานภาพยนตร์ของตัวเองเข้าฉายได้

 

ผมเรียนตามตรงว่า ถ้าวันนี้เรายังคงมีรัฐธรรมนูญแบบนี้ เรายังมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแบบนี้ เรายังมี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์แบบนี้ เรายังมี พ.ร.บ. ไซเบอร์ เรายังมี พ.ร.บ. ชุมนุมในที่สาธารณะแบบนี้ ฯลฯ ผมคิดว่าความตั้งใจที่เราพูดมากันทั้งหมดในวันนี้ ชาตินี้ก็ไม่ได้เกิด

 

ธนพร ศรียากูล จากพรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอนโยบายในประเด็นดังนี้

 

  • การแก้ไขกลไกทางการเมืองและกฎหมายที่ควบคุมสื่อภาพยนตร์ไทยในปัจจุบันให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น
  • การแก้ปัญหาผูกขาดทางการตลาดของธุรกิจภาพยนตร์
  • การสนับสนุนบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ให้มีสิทธิ์ในการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน
  • การแก้ไขภาษีฟรีแลนซ์ ลดหย่อนภาษีให้มีความเท่าเทียมกัน
  • การสนับสนุนในราคาค่าตั๋วของภาพยนตร์ไทยให้นักศึกษาลดลงครึ่งหนึ่ง

 

 

รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ จากพรรคพลังท้องถิ่นไท ได้นำเสนอนโยบายในการแก้ไขปัญหาด้วยกัน 3 เรื่อง ได้แก่

 

  • การพัฒนาในด้านบุคลากรในอุตสาหกรรมให้มีความสามารถทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมในด้านการส่งออกภาพยนตร์ไทยให้เป็นสินค้าส่งออกวัฒนธรรม โดยมีภาครัฐเข้ามาสนับสนุนในเรื่องของบทภาพยนตร์และงบประมาณในการถ่ายทำ
  • การส่งเสริมให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากขึ้นในด้านของงบประมาณ รวมถึงการนำไทยแลนด์แอปพลิเคชันเป็นช่องทางในการชมภาพยนตร์ และการสร้างโรงภาพยนตร์ชุมชน โดยการให้ประชาชนกลุ่มรากหญ้าเริ่มทำธุรกิจภาพยนตร์เองจากการขายตั๋วด้วยแอปพลิเคชัน
  • การพัฒนาผู้ชมจากการแก้ปัญหาในเรื่องของการตรวจสอบภาพยนตร์ เพื่อให้ผู้ชมได้ชมภาพยนตร์ที่หลากหลายมากขึ้น โดยได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

 

 

เถกิง สมทรัพย์ จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้นำเสนอนโยบายพรรค

 

  • จัดตั้งองค์การมหาชนให้กับวงการภาพยนตร์ มอบอำนาจในการคัดเลือกผู้บริหารและจัดการภายในองค์การ โดยบุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์
  • การสนับสนุนจัดงบประมาณจากภาครัฐให้กับองค์การ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ
  • สนับสนุนในเรื่องสถานที่ถ่ายทำภายในประเทศ

 

สนับสนุนให้เกิดครีเอทีฟใหม่ สนับสนุนให้กับคนทำหนังใหม่ การสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์ใหม่

 

รัฐชทรัพย์ นิชิด้า จากพรรคชาติไทยพัฒนา ได้นำเสนอนโยบายพรรค

 

  • ส่งเสริมบุคลากรคนรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และมอบอำนาจให้กับบุคลากรในภาพยนตร์ในการกำกับดูแลด้านงบประมาณร่วมกับภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
  • จัดตั้งคณะกรรมการในการคัดเลือกบทภาพยนตร์ของคนรุ่นใหม่ ทั้งจากภาครัฐและบุคลากรภาพยนตร์

 

หนังไทยแต่ก่อนนะครับ ปีหนึ่งมี 365 วัน หนังไทยเปิดกล้องเกินกว่าหนึ่งเรื่องต่อวัน นั่นคือหนังไทยในอดีตที่รุ่งเรืองที่สุด แต่วันนี้เหรอครับ เพิ่งประกาศรางวัลสุพรรรณหงส์ทองคำ มีหนังไทยอยู่ไม่กี่สิบเรื่องเองนะครับ ผมไม่อยากเห็นหนังไทยตายไป เหมือนกับที่ลิเกกำลังหายไปครับ

 

มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ จากพรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้นำเสนอนโยบายหลักของพรรค

 

  • สร้างอาชีพให้คนรุ่นใหม่และวัยรุ่น
  • เปิดบันเทิงไทยสู่บันเทิงโลก และผลักดันให้ตลาดภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดโลก
  • แก้ปัญหาผูกขาดของโรงภาพยนตร์โดยลดส่วนแบ่งทางการตลาดของภาพยนตร์ไทยลง 25 เปอร์เซ็นต์

 

สื่อภาพยนตร์เอง ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ และนับวันเม็ดเงินในธุรกิจนี้ยิ่งเติบโต ซึ่งเราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์และบุคลากรภาพยนตร์ไทยนั้น จะเดินไปในทิศทางไหน พรรคการเมืองต่างๆ จะทำนโยบายให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างที่นำเสนอไว้หรือไม่ โปรดติดตามได้หลังจากการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่จะถึงนี้

 

รับชมคลิปงานเสวนาแบบเต็มๆ ได้ที่  

www.facebook.com/thaifilmdirectorpage/videos/272402140347254/

 

ภาพ: www.facebook.com/thaifilmdirectorpage/

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X