THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
ทรัมป์
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

‘สงครามการค้า-นโยบายภาษี’ ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่มาพร้อมกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47

... • 11 พ.ย. 2024

HIGHLIGHTS

  • หุ้นโลกปรับตัวดีขึ้นและทำจุดสูงสุดใหม่ระหว่างสัปดาห์ หลังจากผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะ ทำให้กลุ่มหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นจากความคาดหวังด้านนโยบายที่จะหนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ดีต่อเนื่อง
  • อย่างไรก็ตาม ทรัมป์พร้อมกับพรรครีพับลิกันได้เสียงข้างมากทั้ง 2 สภา ทำให้ตลาดเริ่มกังวลนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าที่ทรัมป์หาเสียงไว้ รวมถึงการขาดดุลการคลังจากการลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% สู่ 15%
  • บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่านโยบายของทรัมป์อาจไม่น่าทำได้เร็ว โดยเฉพาะสงครามการค้าและการลดภาษี และแม้เกิดสงครามการค้า แต่แรงกดดันเงินเฟ้อไม่สูงมากนัก
  • จึงแนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่ได้อานิสงส์บวกหลังทรัมป์คว้าชัยชนะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเฉพาะด้านกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งจะทำให้มีการย้ายฐานการผลิต แนะนำ AMATA และ WHA 

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นได้ดี โดยเฉพาะฝั่ง DM นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ระหว่างสัปดาห์ ภายหลังจากความชัดเจนของผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะ ทำให้กลุ่มหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นจากความคาดหวังด้านนโยบายที่จะหนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายลดภาษีนิติบุคคล ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ พุ่งขึ้น 

 

ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเช่นกัน ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดดอกเบี้ย 25 bps ตามคาด 

 

กลุ่มเทคโนโลยีปรับเพิ่มขึ้น 5.7% จากการลงทุนใน AI กลุ่มการเงินปรับเพิ่มขึ้น 4% และหุ้นขนาดเล็กเพิ่มขึ้น 4.2% จากนโยบายลดภาษีและนโยบายสนับสนุน ส่วนกลุ่ม Healthcare ได้รับผลจากนโยบายปรับลดราคายา อย่างไรก็ตาม กลุ่ม Utilities และอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลง 1% หลังผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง 

 

ตัวเลข ISM ภาคบริการสหรัฐฯ เดือนตุลาคมปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.0 สูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2022 การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้นเพียง 12,000 ตำแหน่ง อันเป็นผลของเฮอร์ริเคนและการประท้วงของ Boeing ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ 4.1% 

 

ด้านตลาดหุ้น EM ปรับตัวขึ้นเช่นกัน นำโดยตลาดหุ้นจีน หลังตัวเลขเศรษฐกิจและผลประกอบการของจีนเริ่มฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นไทยผันผวนตามปัจจัยภายนอกหลังค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น กระแสเงินทุนต่างชาติไหลออก รวมถึงถูกกดดันจากผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจากแรงหนุน OPEC+ เลื่อนแผนเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีก 1 เดือน แม้ระหว่างสัปดาห์ผันผวนตามสินทรัพย์เสี่ยงอื่น

 

ตลาดกังวลนโยบายทรัมป์ 

 

ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ เบื้องต้นบ่งชี้ว่าทรัมป์จะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 พร้อมกับพรรครีพับลิกันได้เสียงข้างมากทั้ง 2 สภา ทำให้ตลาดเริ่มกังวลนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าที่ทรัมป์หาเสียงไว้ (จีน 60% และประเทศอื่น 10%) รวมถึงการขาดดุลการคลังจากการลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% สู่ 15% โดยตลาดกังวลว่าอาจทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูง และกระทบแผนลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในปี 2025 ให้น้อยลงกว่าที่คาด ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรปรับสูงขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงเร็วเช่นกัน 

 

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า 

 

  1. นโยบายของทรัมป์อาจไม่น่าทำได้เร็ว โดยเฉพาะสงครามการค้า (ที่เราคาดว่าจะเริ่มทำอย่างเต็มที่ในปี 2026) และการลดภาษี (ที่น่าจะทำได้ใน 4Q25) เนื่องจาก พ.ร.บ.ลดภาษี (TCJA) จะหมดอายุลงในช่วงดังกล่าว 

 

  1. แม้เกิดสงครามการค้า แต่แรงกดดันเงินเฟ้อไม่สูงมากนัก (การคาดการณ์ของ IMF ให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.2% จากกรณีฐานในปี 2026) ซึ่งจะทำให้ Fed น่าจะยังลดดอกเบี้ยตามแผนได้ 

 

  1. ด้วยมาตรการลดภาษีที่ยังไม่บังคับใช้จนกระทั่งปลายปี 2025 ประกอบกับดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ที่น่าจะลดได้ต่อเนื่อง ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวไม่น่าจะปรับตัวได้สูงขึ้นกว่านี้มากนัก (โดยพันธบัตร 10 ปีอาจอยู่ที่ 4.5% ก่อนลดลง) ขณะที่ผลตอบแทนระยะสั้นจะลดลงตามดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะทำให้เส้นผลตอบแทนชันขึ้น 

 

  1. ด้วยนโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่น่าจะลดดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกับทิศทางนโยบายการเงินที่อื่นๆ รวมถึงไทยที่จะผ่อนคลายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เรามองว่าเงินบาทน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน โดยเฉลี่ยที่ 35.6 บาทต่อดอลลาร์ในปีหน้า ใกล้เคียงปีนี้ที่ 35.1 บาทต่อดอลลาร์ 

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

  1. หุ้น Earning Play ซึ่งหากนักลงทุนต้องการเก็งกำไรระยะสั้นสำหรับหุ้นที่คาดว่าสัปดาห์หน้าจะประกาศกำไร 3Q24 ออกมาเติบโตดี YoY เลือก AWC, BDMS, TIDLOR, CPALL, BEM และ AOT 

 

  1. หุ้นที่ได้อานิสงส์บวกหลังทรัมป์คว้าชัยชนะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ฐานกำแพงภาษีสินค้านำเข้า โดยเฉพาะจากจีน จะทำให้มีการย้ายฐานการผลิต แนะนำ AMATA และ WHA ส่วนนโยบายการลดภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อ แนะนำ CPF, TU, AOT และ MINT

 

  1. หุ้นที่จ่ายปันผลสูงและคาดได้อานิสงส์จากการเป็นเป้าหมายสะสมของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง และกองทุนที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เลือก BBL, ADVANC, HMPRO และ BCP 

 

  1. สำหรับนักลงทุนที่ยังกังวลสถานการณ์ในตะวันออกกลางและต้องการหุ้นน้ำมันสำหรับป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ยังคงเลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP

 

“ช่วงสั้นมอง SET จะแกว่งตัว Sideway Up โดยปัจจัยลบที่มีต่อเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศมีค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ดี คาดเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะยังชะลอตัวลง ทำให้แนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยยังไม่เปลี่ยนแปลง รวมไปถึงความชัดเจนในการดำเนินนโยบายของทรัมป์หลังการเลือกตั้ง น่าจะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดยังคงปรับตัวขึ้นต่อไป ทั้งนี้ ผลกระทบจากความคาดหวังของนโยบายรัฐบาลใหม่ต่อเศรษฐกิจมหภาคจะทำให้ตลาดมีความผันผวนสูง และอาจส่งผลกับทิศทาง Fund Flow โดยเฉพาะนโยบายระหว่างประเทศที่มีต่อจีน ส่วนปัจจัยในประเทศคาดจะถูกขับเคลื่อนด้วยการเข้าสู่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการประกาศงบ 3Q24” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

  1. ตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนตุลาคม ทั้งยอดค้าปลีก, ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม, อัตราการว่างงาน และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร 

 

  1. อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือนตุลาคม เช่น เงินเฟ้อ, ยอดขายปลีก และดัชนี PPI

 

  1. GDP 3Q24 ที่รายงานรอบแรกของญี่ปุ่น ตลาดคาดขยายตัว 1.1%QoQ SAAR ชะลอจาก 2Q24 ที่ขยายตัว 3.1%

 

  1. เข้าสู่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการรายงานผลประกอบการ 3Q24 ของ บจ. Real Sector ของไทย

 

  1. ส.อ.ท. แถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนตุลาคม ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: AMATA - Backlog New High ถึงปี 2025 

 

แนะนำ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน หรือ AMATA เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้

  • เป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ในไทย ซึ่งมีลูกค้าจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 1,000 ราย โดยมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมในไทย 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ระยอง และในเวียดนาม 1 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เบียนหัว
  • ณ สิ้น 3Q24 มี Backlog 1.94 หมื่นล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แบ่งเป็นจากไทย 90% และเวียดนาม 10% ซึ่ง Backlog จากไทยจะบันทึกรายได้ตั้งแต่ 4Q24-2025 ขณะที่ Backlog จากเวียดนามคาดบันทึกปลายปี 2025 - ต้นปี 2026 ซึ่งมองบวกต่อยอดขายที่ดินยังโตเด่นใน 4Q24 ซึ่งจะต่อยอด Backlog ในอนาคต
  • Valuation น่าสนใจ โดยราคาหุ้น AMATA ซื้อขายที่ PER 2025F ที่ 11 เท่า คิดเป็น -1S.D. จาก PER เฉลี่ย 10 ปี ซึ่งมองยังไม่สะท้อนโมเมนตัมกำไรที่ยังจะเติบโตแข็งแกร่ง โดยปี 2024 คาดกำไรจะเติบโต 27%YoY และโตต่อ 17.6%YoY ในปี 2025 สู่ระดับ 2,820 ล้านบาท (บนสมมติฐานไม่มีกำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์)
  • เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 32.30 บาท อิงวิธี PER 13.4 เท่า และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 0.83 บาท คิดเป็น Div. Yield ราวปีละ 2.8% 

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก

 

สัปดาห์นี้มีเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นทั้ง 1. ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2. Fed ปรับลดดอกเบี้ยลง ซึ่งภาพรวมตลาดตอบสนองเชิงบวก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ขณะที่เรามองว่าตลาดรับรู้ประเด็นนี้ไปแล้ว แนะหันมองปัจจัยพื้นฐานแทน โดยเรามองกลุ่มการเงินและบริษัทในสหรัฐฯ จะได้ประโยชน์จากนโยบายทรัมป์ สวนทางกลุ่มเทคและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับจีนที่มีความเสี่ยง

 

  • Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ตามตลาดคาดการณ์ ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในปีนี้ หลังจากที่ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือนกันยายน
  • ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมถึงในทุก Swing State 7 รัฐ ประกอบกับพรรครีพับลิกันได้เสียงข้างมากทั้ง 2 สภา โดยสภาบนได้คะแนน 52 ต่อ 42 และสภาล่างได้ 198 ต่อ 180 
  • ภาพรวมตลาดตอบสนองในทิศทางบวกต่อ 2 ประเด็นนี้ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ที่มีความคาดหวังต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไปที่จะดูดีขึ้นจากนโยบายของทรัมป์ที่มุ่งเน้น American First และการลดดอกเบี้ยของ Fed 

 

ขณะที่เรามองว่าราคาหุ้นรับรู้ประเด็นเรื่องผลการเลือกตั้งไปพอสมควร ซึ่งทำให้ภาพในระยะถัดไป ผลตอบแทนจากธีมนี้เริ่มจำกัด ซึ่งเราแนะหันกลับมามองปัจจัยพื้นฐานของหุ้น รวมถึงแนะติดตามการดำเนินนโยบายของทรัมป์ว่าจะสำเร็จหรือไม่ 

 

นอกจากนี้ หากอิงตามแนวโน้มนโยบายที่ทรัมป์เคยปราศรัยหลักๆ เรามองว่ากลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายคือ 

 

  1. กลุ่มการเงิน ทั้งบริการชำระเงินและธนาคาร: หลังกฎระเบียบในอุตสาหกรรมมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น 

 

  1. กลุ่ม Retail อย่าง COST, WMT และ HD รวมถึง V และ CMG คาดได้รับประโยชน์จากการลดภาษีนิติบุคคล ในทางตรงกันข้าม มองกลุ่มเทคและกลุ่มธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับจีนจะมีความเสี่ยงในระยะถัดไป

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

เงินสด / สภาพคล่อง

 

สินทรัพย์สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ หลัง Fed มีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยครั้งละ 25 bps นอกจากนี้ สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังดำเนินต่อ เช่น ความขัดแย้งภายในตะวันออกกลางและข้อพิพาททางการค้า โดยล่าสุดทรัมป์ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าที่อัตรา 60% กับสินค้าจีนทั้งหมด และเก็บ 10% กับสินค้าจากทั่วโลก (ยกเว้นจีน)

 

ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว

 

โอกาสที่ UST Yield Curve จะปรับเพิ่มความชันแบบ Steepener (UST Yield ตัวยาวเพิ่มขึ้นนำ) ยังมีอยู่ หลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงขาขึ้นของเงินเฟ้อ ทั้งจากการจำกัดผู้อพยพ การกีดกันทางการค้า และการผ่อนคลายการคลัง (การขาดดุลการคลังที่มากขึ้นยังนำไปสู่การออก UST ตัวยาวที่มากขึ้น) โดยที่ Bond ตัวยาว (> 7 ปีขึ้นไป) มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 

 

ในขณะที่ Bond อายุ 2-4 ปี มีความเสี่ยง Duration ที่น้อยกว่าและ Coupon ที่มากเพียงพอ จึงทำให้ตราสารหนี้ตัวสั้นยังมีความน่าสนใจในการถือลงทุนเพื่อรับ Coupon Income และยังคุ้มที่จะถือเพื่อ Hedge กรณีที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะตัวเลขตลาดแรงงานออกมาต่ำกว่าคาด 

 

US Treasury & IG

 

10Y UST Yield เพิ่มขึ้น QTD หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ยังชี้แนวโน้ม Soft Landing ในสหรัฐฯ และลดความคาดหวังของตลาดเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยที่มากของ Fed ในระยะถัดไป (ล่าสุดตลาดคาด Fed จะลดดอกเบี้ยรวมราว 75 bps ในปี 2025 จากเดิมเคยคาดว่าจะลดถึง 175 bps) ประกอบกับความกังวลยอดขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นผ่านการออก UST ที่มากขึ้นจากแนวนโยบายของทรัมป์ 

 

แนะนำลงทุนทั้ง UST และ US IG (ซึ่งมี Net Margins และสถานะด้านสภาพคล่องที่ยังดี) โดยเน้นลงทุนใน Duration ประมาณ 2-4 ปี ที่ให้ Yield ในกรอบ 4.3-4.9% ซึ่ง Yield เฉลี่ยยังสูงกว่าประมาณการอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของ Fed ที่ 2.9% เพื่อเป็นการ Lock Coupon 

 

High Yield Bond

 

แม้ว่า UST Yield เพิ่มขึ้น QTD แต่ US HY มีผลตอบแทนรวมติดลบเล็กน้อย ส่วนหนึ่งมาจากการแคบลงของ Spread ซึ่งสะท้อน 

 

  1. US HY LTM Default Rate ที่ทยอยลดลง ล่าสุดอยู่ 1.39% 

 

  1. จำนวน HY Issuers ที่ถูก Upgrade มากกว่าถูก Downgrade 

 

  1. ความผันผวนของตลาด US HY ที่ยังต่ำ 

 

  1. Maturity Wall ปี 2025 ยังไม่น่ากังวล โดยมียอดครบกำหนดเพียง 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับของปี 2026 ที่ 1.19 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ด้วย US HY Spread ที่แพงมากเมื่อดูค่าเฉลี่ย 10 ปี จึงทำให้ Upside ของ US HY มีค่อนข้างจำกัด

 

สินทรัพย์ผสม / กึ่งหนี้กึ่งทุน / REITs

 

REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับ Portfolio ได้ ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ

 

สินทรัพย์ผสมช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง

 

US REITs

 

US REITs มีปัจจัยหนุนจาก 

 

  1. Bond Yield สหรัฐฯ ที่ยังมีแนวโน้มปรับลดลง ตามแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งเราคาดว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยอีก 125 bps จนถึงสิ้นปี 2025 (แม้ชัยชนะของทรัมป์อาจส่งผลให้ Bond Yield ปรับเพิ่มขึ้นจากแผนขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้น) 

 

  1. Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 94% 

 

  1. กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) ที่เติบโตต่อเนื่อง 

 

  1. งบดุลที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถรองรับการเติบโตในอนาคต 

 

  1. Valuation ที่อยู่ในระดับที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต

 

Private Credit

 

เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหน้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)

 

หุ้นไทย

 

ดัชนีได้ปัจจัยหนุนจาก 

 

  1. เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากโครงการแจกเงิน 10,000 บาท การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว 

 

  1. การประกาศแผนลงทุนในไทยของ NVIDIA ช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่าจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนด้าน Data Center และการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาทในปีนี้ 

 

  1. ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มถูกปรับประมาณการดีขึ้นจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว 

 

  1. Valuation ที่ดูจาก Earning Yield Gap ของไทยอยู่ในระดับที่น่าสนใจ เนื่องจาก Bond Yield ของไทยยังไม่ได้ปรับขึ้นมาก

 

หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว

 

เรามองว่าการที่ Fed ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายภายใต้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบ Soft Landing จะทำให้ตลาดหุ้นโลกมีผลตอบแทนที่ดีในกรอบเวลา 6-12 เดือน ด้านผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ช่วยสนับสนุนหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการของทรัมป์ เช่น กลุ่มการเงินและกลุ่มพลังงาน

 

ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปเผชิญแรงกดดันจากแนวโน้มการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ท่ามกลางความขัดแย้งการเมืองภายในเยอรมนี / หุ้นญี่ปุ่นได้อานิสงส์จากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า ทำให้เงินเยนอ่อนค่า และสนับสนุนหุ้นในกลุ่มส่งออกของญี่ปุ่น เน้นติดตามการผลักดันนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ในระยะต่อจากนี้

 

หุ้นสหรัฐฯ

 

ความคาดหวังแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่โตในอัตราชะลอลงแบบ Soft Landing ยังมีอยู่ หลังแถลงการณ์หลังการประชุม Fed รอบล่าสุดระบุว่า GDP Growth ยังแข็งแกร่งและเงินเฟ้อมีความคืบหน้าในการลดลงสู่เป้าหมายที่ 2% ขณะที่การทยอยรายงานผลประกอบการของ S&P 500 ใน 3Q24 พบว่า โดยเฉลี่ย บจ.สหรัฐฯ ที่รายงานแล้ว มี EPS Surprise ที่ +6.5% นำโดยกลุ่ม Com. Services และ Cons. Discretionary และอาจช่วยหนุนให้ Consensus ทยอยปรับประมาณการ S&P 500 EPS ทั้งปี 2024 ดีขึ้น 

 

นอกจากนี้ ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ทรัมป์ชนะ หนุนความคาดหวังของตลาดบนแนวโน้มการผ่อนคลายด้านกฎระเบียบและการลดภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นผลดีต่อหุ้นสหรัฐฯ

 

หุ้นยุโรป

 

ดัชนีหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักในยุโรป โดยเราเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ยุโรปที่มีความสามารถในการทำกำไรสูงและมีงบดุลแข็งแกร่ง แม้ยังมีความเสี่ยงจากภาคการเมืองของเยอรมนีที่เสถียรภาพลดลง หลังนายกรัฐมนตรีสั่งปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมทั้งข้อพิพาทการค้ากับจีน (หลังจีนบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดชั่วคราวต่อการนำเข้าบรั่นดีจาก EU) และแนวโน้มการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ หลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง

 

หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่

 

เงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากหุ้นในตลาดเกิดใหม่เอเชีย (ไม่รวมจีน) ส่วนใหญ่ หลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ สร้างความกังวลต่อประเด็นการเก็บภาษีสินค้านำเข้า ขณะที่ 10Y UST Yield ปรับเพิ่มขึ้น และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 

 

ตลาดหุ้นจีนยังได้รับแรงหนุนจากการที่การประชุม NPC Standing Committee อนุมัติแผนวงเงิน 10 ล้านล้านหยวน สำหรับให้รัฐบาลท้องถิ่นนำไปรีไฟแนนซ์หนี้ LGFVs แม้ว่าจะไม่ได้ประกาศอนุมัติโควตาการออกเพิ่มเติมสำหรับการเพิ่มทุนของธนาคาร

 

เศรษฐกิจของอินเดียเติบโตชะลอตัวลง ขณะที่รายงานกำไรของ บจ. มีแนวโน้มออกมาน้อยกว่าคาดและอาจถูกปรับประมาณการลงท่ามกลาง Valuation ที่แพง กดดันดัชนีระยะสั้น

 

หุ้นอินเดีย

 

เรามีมุมมองระมัดระวังต่อตลาดหุ้นอินเดียในระยะสั้นจากการขยายตัวของ GDP ที่มีทิศทางชะลอตัวลง โดย GDP ใน CY2Q24 ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ +6.7%YoY และเริ่มส่งผลต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียน โดย EPS ใน 3QCY24 ขยายตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และ EPS ใน CY24 มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการลง นักลงทุนต่างชาติโยกเงินลงทุนออกจากอินเดียนับตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 

 

นอกจากนี้ Valuation ของดัชนียังอยู่ในระดับที่แพง อย่างไรก็ดี สัดส่วนส่งออกสินค้าอินเดียไปสหรัฐฯ ต่ำกว่าประเทศ EM ในกรณีที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีศุลกากรจะส่งผลกระทบต่อ GDP อินเดียจำกัด โครงสร้างการเติบโตในระยะยาวแข็งแกร่ง เหมาะแก่การทยอยสะสมเมื่อดัชนีย่อตัว 

 

หุ้นอินโดนีเซีย

 

ดัชนีมีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก 

 

  1. เศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีจากการบริโภคที่ฟื้นตัว โดยการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนพฤศจิกายนจะช่วยสนับสนุนภาคการบริโภค การส่งออกที่ขยายตัวดี นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นของรัฐบาลชุดใหม่ที่ให้ความสำคัญกับอาหาร ศักยภาพแรงงาน และการลงทุนมากขึ้น 

 

  1. แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอินโดนีเซีย โดยเราคาดว่าจะปรับลดดอกเบี้ยในช่วง 4Q24 อีก 50 bps จากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ 

 

  1. FDI ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย FDI ใน 2Q24 ขยายตัว +16.6%YoY 

 

  1. กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวใน 2H24 

 

  1. Valuation ของดัชนีที่อยู่ในระดับไม่แพง

 

หุ้นจีน

 

ดัชนีมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการตั้ง Swap Facility เพื่อหนุนการซื้อหุ้น และ Re-Lending Facility เพื่อหนุนการซื้อหุ้นคืน รวมทั้งจากมาตรการการคลังรอบล่าสุดที่เน้นการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ซ่อนเร้นของรัฐบาลท้องถิ่นวงเงิน 10 ล้านล้านหยวน ในการประชุม NPC Standing Committee ล่าสุด

 

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่ทางการจีนจะผ่อนคลายการคลังมากขึ้น ผ่านการส่งสัญญาณเกี่ยวกับเป้าการเติบโตและงบการคลังสำหรับปีหน้าในการประชุม CEWC เดือนธันวาคมนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ

 

สินค้าโภคภัณฑ์

 

ปัจจัยพื้นฐานของทองคำยังคงสนับสนุนการลงทุนในพอร์ตระยะยาว เนื่องจาก 

 

  1. เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้ ท่ามกลางความขัดแย้งในตะวันออกกลาง 

 

  1. ความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังทรัมป์ชนะเลือกตั้ง สนับสนุนการลดการถือเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศและสะสมทองคำมากขึ้น 

 

  1. เงิน Fund Flow ของ ETF ทองคำกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ หลังจากเทขายมาตั้งแต่ต้นปี 2024 จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าและ US Bond Yield ที่ปรับขึ้นหลังชัยชนะของทรัมป์ มีแนวโน้มส่งผลกดดันต่อการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำในระยะสั้น

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 11 พ.ย. 2024

READ MORE



Latest Stories