จากเหตุการณ์ทางการเมืองใหญ่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 มาสู่ประเด็นการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งถูกจับตาอย่างใกล้ชิดในเวลานี้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคหรือไม่
สำหรับประเด็นการยุบพรรคและการตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคกลายเป็นข้อถกเถียงทางกฎหมายว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น การถูกตัดสิทธิทางการเมืองมีกำหนดระยะเวลาหรือไม่
เช้าวันนี้ (13 ก.พ.) นายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ทางรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่าในกรณีถ้า กกต. วินิจฉัยและมีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และศาลวินิจฉัยยุบพรรรคนั้น
เราต้องเข้าใจว่าเขาให้ศาลตัดสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งโทษของการตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้มีการกำหนดอายุ เพราะว่าถ้าดูในกฎหมายที่กำหนดอายุนั้นเป็นเรื่องของการตัดสิทธิเลือกตั้ง และเมื่อถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง บุคคลนั้นจะไปตั้งพรรคการเมืองหรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ตลอดชีวิต
นายอุดมกล่าวด้วยว่า ตอนที่คิดกันในการยกร่างรัฐธรรมนูญคือเขาต้องมีพฤติกรรมที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น อาจจะทุจริต หรือทำความผิดที่ดูแล้วไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะการมาเป็นผู้นำทางการเมือง อันนี้จะเป็นเหตุผลในการพิจารณาว่าสมควรถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่
ผู้ดำเนินรายการถามด้วยว่า หากยุบพรรคและถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเท่ากับเป็นการประหารชีวิตทางการเมืองโดยสมบูรณ์แบบ แบบนี้ถือว่าแรงไปหรือไม่
นายอุดมชี้แจงว่า การสมัครรับเลือกตั้งเป็นเรื่องความไว้วางใจที่สังคมจะมี ซึ่งต้องพิจารณาจากฐานความผิดว่าร้ายแรงเพียงใด เพราะเราถือว่าการทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชน ถ้าทำความผิดจนกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประชาชนก็ไม่ควรทำหน้าที่ทางการเมืองอีก แต่ไปประกอบอาชีพอื่นได้ หรือไปสนับสนุนพรรคการเมืองต่างๆ ได้ แต่ไม่มีสิทธิจะไปเป็นตัวแทนประชาชน
อดีต กรธ. ยืนยันว่า กกต. มีอำนาจในการวินิจฉัยและส่งศาลรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่ามีเหตุเชื่อได้ว่ากระทำการขัดต่อกฎหมาย
ส่วนพรรคไทยรักษาชาติสามารถชี้แจงหรือยื่นข้อต่อสู้ทางกฎหมายต่อ กกต. ได้หรือไม่นั้น กฎหมายให้อำนาจ กกต. ในการใช้ดุลพินิจในเรื่องดังกล่าว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์