การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เกมการเมืองไทยถูกวิเคราะห์ออกเป็น ‘สามก๊ก’ คือ
ก๊กแรกคือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งแม้จะถูกพลังดูด และพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ แต่ก็ยังเป็นพรรคอันดับ 1 จากการสำรวจของโพลต่างๆ
ก๊กสองคือ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี 250 ส.ว. อยู่ในกำกับ ตามคำสัมภาษณ์ของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ว่า “เราตั้ง เราก็ต้องคุมให้ได้”
ก๊กสามคือ พรรคประชาธิปัตย์ ที่พัฒนาตัวเองจากแค่ ‘กั๊ก’ (แทงกั๊ก) กลายเป็น ‘ก๊ก’ ได้สำเร็จ หลังผลโพลหลายสำนักประเมินว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ที่ ส.ส. มากกว่า พรรคพลังประชารัฐ
ด้วยกติกาการเลือกตั้งที่บังคับให้พรรคการเมืองต้องจัดตั้ง ‘รัฐบาลผสม’ ขณะที่พรรคการเมืองใหญ่ๆ ประกาศจุดยืนและเงื่อนไขในการร่วมและไม่ร่วมรัฐบาลกับใคร การจับขั้วรัฐบาลจึงต้องวิเคราะห์จากจุดยืนที่ได้ประกาศไว้ก่อนการเลือกตั้ง รวมถึงจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคจะได้รับ
THE STANDARD วิเคราะห์และอธิบายผ่านรูปแบบการ์ดเกมเพื่อให้คุณเข้าใจง่ายขึ้น
กติกาการเล่นเกม
ด้วยกติกาทำให้ ‘ผลการเลือกตั้ง’ ถูกแยกออกจากการ ‘ตั้งนายกฯ’ และรัฐบาล
โดยหลังการนับคะแนน เรามีแนวโน้มสูงที่จะไม่ทราบว่าใครจะเป็นนายกฯ เพราะพรรคที่ได้ ส.ส. อันดับ 1 ไม่จำเป็นต้องได้เป็นนายกฯ หรือรัฐบาล
เนื่องจาก 250 ส.ว. ซึ่งตั้งโดย คสช. เป็นตัวแปรสำคัญ เพราะใครจะเป็นนายกฯ ต้องได้เสียงรวม 376 เสียงขึ้นไป (ส.ส. 500 + ส.ว. 250)
ขณะที่พรรคการเมืองใหญ่ๆ ประกาศจุดยืนและเงื่อนไขในการร่วมและไม่ร่วมรัฐบาลกับใคร หรือที่บางคนอาจเรียกเงื่อนไขของบางพรรคว่า ‘กั๊ก’
แนะนำตัวละคร
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
บุคคลที่มีอำนาจ หรือค่าพลังสูงที่สุดในเวลานี้
- พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ซึ่งมีอำนาจเต็มและ ม.44-จนกว่ารัฐบาลใหม่จะถวายสัตย์ปฏิญาณฯ
- พลเอก ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ คนเดียวของพรรคพลังประชารัฐ
- พลเอก ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นผู้แต่งตั้ง ส.ว. 250 คน ซึ่งมีอำนาจร่วมเลือกนายกฯ
ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล กำหนดให้มีอำนาจร่วมเลือกนายกฯ และทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งโดย คสช.
อ่านที่มา ส.ว. เพิ่มเติม thestandard.co/first-250-senate/
งูเห่า เป็นชื่อเรียกทางการเมืองของกลุ่ม ส.ส. ที่ย้ายพรรค หรือทรยศมติพรรคไปสนับสนุน หรือเข้าสังกัดฝ่ายตรงข้าม
ตัวอย่างกลุ่มงูเห่าครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2541 เมื่อกลุ่ม ส.ส. นำโดย นายวัฒนา อัศวเหม ย้ายมาสังกัดพรรคประชากรไทย เพื่อสนับสนุนให้ นายชวน หลีกภัย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจาก พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออก
สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตัวเต็งของพรรคเพื่อไทย
พรรคเพื่อไทย คือพรรคตัวเต็งที่ถูกคาดหมายว่าจะได้จำนวน ส.ส. มากเป็นอันดับ 1
จุดยืนและเงื่อนไข คือ
- ไม่สนับสนุน พลเอก ประยุทธ์
- นายกฯ ต้องแต่งตั้งโดย ส.ส. เสียงข้างมากเท่านั้น
- ไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ
- ไม่ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์
- ประกาศตัวเป็นแกนนำพรรคฝ่ายประชาธิปไตย
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียวของพรรค
พรรคประชาธิปัตย์ คือพรรคที่ถูกคาดว่าจะได้ ส.ส. มากเป็นอันดับ 2
จุดยืนและเงื่อนไข คือ
- ไม่สนับสนุน พลเอก ประยุทธ์
- นายกฯ ต้องแต่งตั้งโดย ส.ส. เสียงข้างมากเท่านั้น
- ไม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทย
- ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐได้ แต่ต้องไม่มี พลเอก ประยุทธ์
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักการเมืองหน้าใหม่ กระแสแรงที่ต้องจับตา
พรรคอนาคตใหม่ ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีการคาดการณ์ว่าฐานคนรุ่นใหม่ 7-8 ล้านคน ถ้าไปเลือกตั้งประมาณ 5 ล้านคน พรรคอนาคตใหม่น่าจะได้คะแนนจากคนกลุ่มนี้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ก็คือได้ ส.ส. ประมาณ 30 ที่นั่ง
จุดยืนและเงื่อนไข คือ
- ไม่สนับสนุน พลเอก ประยุทธ์
- นายกฯ ต้องแต่งตั้งโดย ส.ส. เสียงข้างมากเท่านั้น
- ประกาศตัวเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย
อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. รับบทบาทเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่ไม่ใช่ผู้สมัคร ส.ส. และแคนดิเดตนายกฯ
พรรคพลังประชารัฐ ถูกจับตาว่าเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งให้ พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ และมี 250 ส.ว. ไว้ในกำกับ
จุดยืนและเงื่อนไข คือ
- สนับสนุน พลเอก ประยุทธ์
- ไม่เคยปฏิเสธใช้เสียง 250 ส.ว. ตั้งนายกฯ
อนุทิน ชาญวีรกูล แคนดิเดตนายกฯ พรรคภูมิใจไทย
พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคขนาดกลาง มีซูเปอร์สตาร์ที่คอยสนับสนุนคือ ‘เนวิน ชิดชอบ’ และพรรคถูกมองว่ามีความได้เปรียบ เพราะไปได้กับทุกฝ่าย
จุดยืนและเงื่อนไข คือ
- นายกฯ ต้องแต่งตั้งโดย ส.ส. เสียงข้างมากเท่านั้น
- ร่วมกับพรรคใดก็ได้
พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีต ผบ.ตร. ผู้มีบทบาทโดดเด่นในการวิจารณ์รัฐบาล คสช. อย่างหนักหน่วง และได้รับความนิยมในโซเชียลมีเดีย
พรรคเสรีรวมไทย ย้ำจุดยืนอย่างแน่วแน่ในการปฏิรูปกองทัพ และประกาศเป็นศัตรูกับเผด็จการทหาร
จุดยืนและเงื่อนไข คือ
- ไม่สนับสนุน พลเอก ประยุทธ์
- ไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ
- นายกฯ ต้องแต่งตั้งโดย ส.ส. เสียงข้างมากเท่านั้น
- ประกาศตัวเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย
มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตรองนายกฯ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคพลังประชาชน
พรรคเศรษฐกิจใหม่ โดดเด่นขึ้นเพราะลีลาการร่วมเวทีดีเบตของ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ พร้อมนโยบายเศรษฐกิจที่น่าสนใจ
จุดยืนและเงื่อนไข คือ
- ไม่สนับสนุน พลเอก ประยุทธ์
- ร่วมกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น
สุวัจน์ ลิปตพัลลภ แคนดิเดตนายกฯ พรรค นักการเมืองรุ่นเก๋ามือประสานสิบทิศ
พรรคชาติพัฒนา ชูสโลแกน No Problem ไม่ขัดแย้งกับใคร มีฐานเสียงสำคัญที่จังหวัดนครราชสีมา
จุดยืนและเงื่อนไข คือ
- ร่วมกับพรรคใดก็ได้
- ไม่เคยปฏิเสธใช้เสียง 250 ส.ว. ตั้งนายกฯ
สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. อดีตรองนายกฯ และอดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์
พรรครวมพลังประชาชาติไทย มี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง มีจุดยืนแน่วแน่ในการส่ง พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีกสมัย (เผลอๆ อาจจะแน่วแน่กว่าพรรคพลังประชารัฐด้วยซ้ำ)
จุดยืนและเงื่อนไข คือ
- สนับสนุน พลเอก ประยุทธ์
- ไม่เคยปฏิเสธใช้เสียง 250 ส.ว. ตั้งนายกฯ
- ไม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทยและพรรคฝ่ายประชาธิปไตย
วันมูหะมัดนอร์ มะทา นักการเมืองมุสลิม แกนนำกลุ่มวาดะห์ อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตรองนายกรัฐมนตรี มีชื่อเรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘วันนอร์’
พรรคประชาชาติ ถูกจับตาว่าเป็นอีกสาขาของฝ่ายทักษิณ ชินวัตร ตามยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย มีฐานเสียงสำคัญในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้และกลุ่มพี่น้องชาวมุสลิม
จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธาน นปช. หรือกลุ่มคนเสื้อแดง
พรรคเพื่อชาติ ถูกจับตาว่าเป็นอีกสาขาของฝ่ายทักษิณ ชินวัตร ตามยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตว่า พรรคนี้เป็นแบงก์จริงหรือแบงก์ปลอมของฝ่ายทักษิณ
อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อชาติ โดดเด่นที่สุดในการเชื่อมโยงกับอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ โดยมี 15 ผู้สมัครของพรรคเป็นอย่างน้อยเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ’ เพื่อสร้างความจดจำ พร้อมประกาศพาทักษิณกลับบ้านเพื่อพิสูจน์ว่ากระบวนการยุติธรรมไทยเป็นสากล
ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต ส.ว. สรรหา รับตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในยุค คสช.
พรรคประชาชนปฏิรูป ยึดหลักน้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้า และอยู่ข้างเดียวกับ คสช. พร้อมเปิดตัวสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู
วราวุธ ศิลปอาชา ลูกชายคนสุดท้องของ บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี
พรรคชาติไทยพัฒนา คือพรรคการเมืองที่สืบทอดมาจากพรรคชาติไทยซึ่งถูกยุบไป มีฐานที่มั่นแข็งแกร่งในจังหวัดสุพรรณบุรี มีจุดยืนไม่ขัดแย้งกับใคร ไปได้กับทุกฝ่าย
สูตรการตั้งรัฐบาลที่เป็นไปได้
สูตรตั้งรัฐบาล 1
สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
การรวมตัวกันของพรรคฝ่ายประชาธิปไตย
- พรรคเพื่อไทย
- พรรคเพื่อชาติ
- พรรคประชาชาติ
- พรรคเสรีรวมไทย
- พรรคอนาคตใหม่
- พรรคภูมิใจไทย
- พรรคเศรษฐกิจใหม่
เงื่อนไข คือ
- ต้องรวม ส.ส. ได้ 376 เพราะมีโอกาสน้อยมากที่จะได้เสียงจาก 250 ส.ว.
สูตรตั้งรัฐบาล 2
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
การรวมตัวกันของพรรคเชียร์ คสช. และพรรคที่ไม่เคยประกาศเรื่องเสียง ส.ว.
- พรรคพลังประชารัฐ
- พรรครวมพลังประชาชาติไทย
- พรรคประชาชนปฏิรูป
- พรรคชาติไทยพัฒนา
- พรรคชาติพัฒนา
- 250 ส.ว.
- ส.ส. งูเห่า
เงื่อนไข คือ
- พรรคพลังประชารัฐ รวมเสียง ส.ส. ให้ได้ 126 แต่ไม่ถึง 251
- จากนั้นใช้เสียง 250 ส.ว. ตั้งนายกฯ
- หลังได้นายกฯ ต้องดึง ส.ส. งูเห่าย้ายข้างให้ได้ 251 ไปตั้งรัฐบาลเพื่อให้ทำงานได้
สูตรตั้งรัฐบาล 3
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
การรวมตัวกันของพรรคที่ไม่เคยปฏิเสธ พลเอก ประยุทธ์
- พรรคพลังประชารัฐ
- พรรครวมพลังประชาชาติไทย
- พรรคประชาชนปฏิรูป
- พรรคชาติไทยพัฒนา
- พรรคชาติพัฒนา
- พรรคภูมิใจไทย
- 250 ส.ว.
เงื่อนไข คือ
- พรรคพลังประชารัฐ รวมเสียง ส.ส. ให้ได้ 251เสียง
- 250 ส.ว. มีความชอบธรรมในการสนับสนุนตั้งนายกฯ โดยอ้างเคารพเจตนารมณ์ประชาชน
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
การรวมตัวกันของพรรคที่ไม่เคยปฏิเสธร่วมกับพลังประชารัฐ
- พรรคประชาธิปัตย์
- พรรคพลังประชารัฐ
- พรรครวมพลังประชาชาติไทย
- พรรคประชาชนปฏิรูป
- พรรคชาติไทยพัฒนา
- พรรคชาติพัฒนา
- พรรคภูมิใจไทย
- 250 ส.ว.
เงื่อนไข คือ
- ประชาธิปัตย์ ได้เสียง ส.ส. มากกว่าพลังประชารัฐ
- ประชาธิปัตย์บีบพลังประชารัฐให้ทิ้ง พลเอก ประยุทธ์
- ประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐรวมเสียง ส.ส. ได้ 251เสียง
- บีบ 250 ส.ว. ให้สนับสนุนตั้งนายกฯ โดยอ้างเคารพเจตนารมณ์ประชาชน
ภาพประกอบ: Thiencharas W.
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า