เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง ‘การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 2562’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25-26 มีนาคม 2562 จากผู้ที่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,182 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา
พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 91.96 ระบุว่า ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ขณะที่ร้อยละ 8.04 ระบุว่า ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 17 มีนาคม 2562
สำหรับความคิดเห็นต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนร้อยละ 7.02 ระบุว่า มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมมากที่สุด ร้อยละ 18.95 ระบุว่า มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมมาก ร้อยละ 38.16 ระบุว่า มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมปานกลาง
ร้อยละ 14.81 ระบุว่า มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมน้อย ร้อยละ 18.44 ระบุว่า มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมน้อยที่สุด ร้อยละ 0.50 ระบุว่า ไม่ทราบ ร้อยละ 0.34 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 1.78 ระบุว่า ไม่แสดงความคิดเห็น
ขณะที่วันเดียวกัน ‘สวนดุสิตโพล’ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนจากทั่วประเทศจำนวน 1,752 คน เรื่อง ‘ประชาชนคิดอย่างไร? กับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา’
สิ่งที่ประชาชนประทับใจในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 66.14 ระบุ ได้ออกมาใช้สิทธิ ทำตามหน้าที่ของตนเอง รองลงมา ร้อยละ 17.30 ระบุ ประชาชนตื่นตัว ช่วยกันตรวจสอบ บรรยากาศการเลือกตั้งคึกคัก ร้อยละ 14.14 ระบุ ผู้สมัครที่ชื่นชอบได้เป็น ส.ส. ร้อยละ 9.67 ระบุ หน่วยเลือกตั้งอยู่ใกล้บ้าน เดินทางสะดวก และร้อยละ 8.56 ระบุ ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น
สิ่งที่ประชาชนวิตกกังวลในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 69.47 ระบุ ความไม่โปร่งใส ทุจริตการเลือกตั้ง ผลคะแนนไม่ชัดเจน ร้อยละ 28.88 ระบุ การจัดตั้งรัฐบาล ผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 11.32 ระบุ ความขัดแย้ง ความวุ่นวายทางการเมืองที่อาจจะมีมากขึ้น ร้อยละ 10.37 ระบุ ผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่หวัง เป็นโมฆะ ต้องเลือกตั้งใหม่ และร้อยละ 4.26 ระบุ กลัวทำบัตรเสีย กาผิด เข้าใจผิด
สำหรับผลการเลือกตั้งในภาพรวม ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 48.74 ระบุ ผิดหวัง เพราะความไม่โปร่งใสในการเลือกตั้ง การทำงานของ กกต. การนับคะแนน ประกาศผลล่าช้า ผู้สมัครที่ชื่นชอบแพ้ ขณะที่ร้อยละ 30.71 ระบุ เฉยๆ เพราะไม่อยากคาดหวัง ใครก็ได้ที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ยอมรับกับคะแนนเสียงส่วนใหญ่ และร้อยละ 20.55 ระบุ สมหวัง เพราะได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งของตนเอง ผลการเลือกตั้งเป็นไปตามที่หวังไว้ ผู้สมัครที่ชื่นชอบได้เป็น ส.ส.
คลิกอ่านรายละเอียดผลโพลทั้งสองแห่งฉบับเต็ม
นิด้าโพล: nidapoll.nida.ac.th/index.php?op=polls-detail&id=648
สวนดุสิตโพล: suandusitpoll.dusit.ac.th/UPLOAD_FILES/POLL/2562/PS-2562-1553995948.pdf
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า