วันเลือกตั้ง

เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี จี้ กกต. เปิดข้อมูลเพื่อความโปร่งใสโดยด่วน ยกประเด็นบัตรเสีย นับคะแนนพลาด

26.03.2019
  • LOADING...
บัตรเลือกตั้ง

เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี จี้ กกต. เปิดข้อมูลเพื่อความโปร่งใสโดยด่วน ยกประเด็นบัตรเสีย นับคะแนนพลาด ทำประชาชนไม่ไว้วางใจการทำงาน แม้สถานการณ์ในหลายหน่วยเลือกตั้งจะราบรื่น แต่ก็มีประเด็นความไม่ชอบมาพากลบางอย่าง

 

วันนี้ (26 มี.ค.) เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรีหรืออันเฟรล (ANFREL) นำโดย โรฮานา เฮทเทียราชชี เลขาธิการอันเฟรล ได้จัดงานแถลงข่าวผลการสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศไทย 2562 หลังจากส่งทีมงานผู้สังเกตการณ์กว่า 34 คน พร้อมด้วยผู้วิเคราะห์อีก 2 คน ลงปฏิบัติหน้าที่เฝ้าสังเกตการณ์เป็นระยะเวลารวมกว่า 45 วัน ในหน่วยเลือกตั้งจุดต่างๆ (ทีมลงพื้นที่แต่ละทีมมีระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่ไม่เท่ากัน และส่วนใหญ่มีปูมหลังความรู้การเมืองไทย)

 

ซึ่งจากการลงพื้นที่ อันเฟรลพบว่าสถาณการณ์ระหว่างการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมานั้นดำเนินไปอย่างราบรื่น ขณะที่การเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ยังมีปัญหาเรื่องระบบการจัดการที่ยังทำได้ไม่ดีพอ พร้อมแสดงความเห็นว่าควรจะจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นจำนวน 2 วันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

 

อย่างไรก็ดี อันเฟรลชี้ว่าหลังปีดหีบการเลือกตั้งในช่วงเวลา 17.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พบว่ากระบวนการของคณะกรรมการการเลือกตั้งในครั้งนี้ยังคงมีปัญหาอยู่ นอกจากนี้ก็ยังพบประเด็นความไม่ชอบมาพากล ซึ่งพอจะสรุปเป็นประเด็นคร่าวๆ ดังนี้

 

1. บัตรเสียเยอะ – จำนวนบัตรเสียในครั้งนี้ที่สูงกว่า 2.8 ล้านใบนับเป็นจำนวนที่สูงมาก โดยคิดเป็น 6% ของจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมด ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งโดยปกติทั่วไปจะมีจำนวนบัตรเสียเฉลี่ยประมาณ 2-3% เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะให้ข้อมูลความรู้การเลือกตั้งกับผู้ที่มีสิทธิมากกว่านี้ (รูปแบบการกากบาทในบัตรเลือกตั้งที่ระบุว่าทำได้มากถึง 16 แบบ ชัดเจนแค่ไหน?) ขณะเดียวกันก็ควรจะมีการสอบสวนและเปิดเผยที่มาของบัตรเสียเหล่านั้นด้วย

 

2. ความผิดพลาดในการนับคะแนน – ปัญหาในการนับคะแนนผิดพลาดและล่าช้า อันเฟรลมองว่าการเลือกตั้งในไทยยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานประชาธิปไตยสากล แต่ก็เข้าใจว่าอาจจะมีความยากลำบากในเชิงเทคนิคอยู่ ทั้งนี้แนะนำให้ กกต. เปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียดให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างโปร่งใส เพราะถือเป็นเรื่องที่จำเป็นและทุกคนก็อยากรู้เหมือนๆ กัน

 

3. Ghost Voter จำนวนคะแนนเสียงเลือกตั้งสูงกว่าผู้มีสิทธิจริง – กกต. ควรจะต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจนในประเด็นนี้ ขณะเดียวกันระยะเวลาการเปิดเผยข้อมูลที่ระบุไว้ว่าจะสำเร็จใน 45 วันก็ถือเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควร เนื่องจากประชาชนอยากทราบผลการเลือกตั้งโดยเร็ว

 

4. กรอบกฎหมายไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน – ประเด็น ส.ว. 250 คน ที่ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นประชาธิปไตยในการเลือกตั้งครั้งนี้ เช่นเดียวกันในประเด็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และพ้องกับชื่อพรรคพลังประชารัฐก็ถือเป็นส่ิงที่ไม่เหมาะสมอย่างมาก

 

5. กลไกรับเรื่องร้องเรียนต้องเร็วกว่านี้ – แม้จะมีการยุติข้อพิพาท แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีกระบวนการทำงานและการตอบสนองที่เร็วกว่าปัจจุบัน โปร่งใส และเทกแอ็กชันได้เร็วกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับประชาชน

 

ทั้งนี้อันเฟรลระบุว่าจะสามารถสรุปข้อคิดเห็นจากการสังเกตการณ์ได้โดยละเอียดสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อทราบผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 100%

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X