วันเลือกตั้ง

กกต. แจงปมผู้มาใช้สิทธิพุ่งเป็น 74.69% เพราะเพิ่งรวมคะแนนเลือกตั้งนอกเขต-นอกราชอาณาจักร

29.03.2019
  • LOADING...

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. แถลงคะแนนการเลือกตั้งครบ 100% อย่างกะทันหันในวันนี้ (28 มี.ค.) ซึ่งผิดไปจากที่แจ้งสื่อมวลชนว่ามีกำหนดจะแถลงในวันที่ 29 มีนาคม

นอกจากวันแถลงจะคลาดเคลื่อนแล้ว ชุดข้อมูลจากการแถลงครั้งนี้ยังมีตัวเลขที่ผิดพลาดในหลายๆ จุด จนกลายเป็นที่มาของคำถามของสื่อมวลชนที่ยิงรัวต่อเจ้าหน้าที่ กกต.

 

กฤช เอื้อวงศ์ รองเลขาธิการ กกต. ผู้รับหน้าที่แถลงข่าวสำคัญในวันนี้ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ THE STANDARD Daily โดยตอบคำถามคาใจหลายข้อ

 

ได้ข้อมูลและรวมคะแนนได้เร็วกว่าที่คาด จึงเลื่อนแถลงเร็วขึ้น

 

รองเลขาธิการ กกต. ชี้แจงถึงเหตุผลที่แถลงข่าวก่อนวันนัดหมายว่า เพราะ กกต. รับฟังเสียงเรียกร้องจากหลายๆ ทาง ว่าทำไมไม่รีบประกาศผล และบังเอิญว่าข้อมูลจาก 2 จังหวัดสุดท้าย คือกรุงเทพมหานครและของแก่นเข้ามาเมื่อวาน ซึ่งทำให้สามารถรวมคะแนนได้เลย จึงคิดว่าไม่ควรประวิงเวลาให้ช้ากว่านี้ เพื่อให้หลายๆ คนสบายใจ โดยวันพรุ่งนี้จะไม่มีการแถลงผลคะแนนอย่างเป็นทางการแล้ว

 

ทำไมเอกสารมีตัวเลข 2 ชุด ฉบับแจกสื่อมวลชนไม่ตรงกับที่แถลง

 

 

รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า เอกสารมีการทบยอดคะแนนไปเรื่อยๆ ตามห้วงเวลาที่คะแนนเข้ามา ซึ่งจะมีวันและเวลาอยู่ที่กระดาษ แต่สำนักประชาสัมพันธ์ กกต. ไปหยิบเอกสารที่ไม่ใช่ฉบับล่าสุดมาแถลงข่าว โดยฉบับล่าสุดจะเป็นคะแนนรวมยอดเต็มจำนวนเมื่อเวลา 14.00 น. ก่อนเวลาแถลงข่าวเพียงนิดเดียว

 

ยืนยันว่าเราไม่ได้แก้คะแนน แต่สำนักประชาสัมพันธ์ไปหยิบเอกสารที่ยังไม่ล่าสุดมา ซึ่งยืนยันได้ด้วยวันที่และเวลาที่กำกับไว้ที่มุมกระดาษ

 

#บัตรเกิดใหม่ในหีบ ทำไมสุดท้ายยอดผู้ใช้สิทธิจึงเพิ่มเป็น 74.69%

 

รองเลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่า วันที่ 24 มีนาคม ซึ่งนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แถลงข่าวว่ามีผู้มาใช้สิทธิรวม 65.96% เป็นการแถลงบนข้อมูลของระบบแรพพิด รีพอร์ต ซึ่งนับคะแนนไปประมาณ 93% ที่สำคัญคือในโปรแกรมแรพพิด รีพอร์ต ยังไม่ได้รวมคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตประมาณ 2.6 ล้าน และเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรอีกประมาณ 1 แสนกว่าคะแนน

 

“ประธาน กกต. ท่านทราบ และท่านแถลงไปบนพื้นฐานของการใช้โปรแกรมแรพพิด รีพอร์ต แต่ในรายละเอียดท่านไม่ได้แถลงลึกลงไปว่ายังไม่รวมคะแนนนอกเขตและนอกราชอาณาจักร ตัวเลขขณะนั้นท่านไม่ได้แถลงผิด แต่พอรวมคะแนนเป็นทางการ 100% ซึ่งมีคะแนนนอกเขตและนอกราชอาณาจักรมารวมด้วย ทำให้คะแนนตรงนี้พุ่งขึ้นไป และยืนยันว่าไม่มีคะแนนงอกแน่นอน เพราะตัวประกาศคะแนนมาจากจังหวัด จังหวัดมาจากหน่วย หน่วยก็มีตัวเลขหน้าหน่วยอยู่”

 

#บัตรเขย่ง คืออะไร ทำไมยอดรวมไม่ตรงกับจำนวนบัตรที่ใช้ทั้งหมด

 

รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า กรณีบัตรที่ใช้มีผลรวมไม่ตรงบัตรดี บัตรเสีย และบัตรไม่เลือกผู้ใดนั้น พรุ่งนี้ (29 มี.ค.) จะมีคำตอบที่ชัดเจนว่าเหตุเกิดที่หน่วยใด

 

แต่ตามหลักการ ในการเลือกตั้งทุกครั้งสมัยก่อนที่กระทรวงมหาดไทยจัด เขาเรียกว่า ‘บัตรเขย่ง’ ถามว่ามันเกิดขึ้นได้ไหม ต้องบอกว่าเกิดขึ้นได้ เช่น อาจจะเป็นการนับจำนวนผู้มาใช้สิทธิผิด อาจจะมีการนับจำนวนบัตรที่ใช้ผิด ซึ่งอาจจะเกิดจากความเร่งรีบของกรรมการประจำหน่วย แต่สุดท้ายให้ยึดถือตรงจุดเดียวว่าคะแนนของผู้สมัครแต่ละคนที่ได้รับต้องไม่ผิด เพราะคะแนนมันประกาศอยู่บนบอร์ดและอ่านคะแนนกันไปแล้ว เพียงแต่ตอนนับบัตรเพื่อบันทึกลงในแบบบันทึกคะแนนอาจจะนับคลาดเคลื่อนไปบ้าง

 

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กกต. เห็นว่าตัวเลขไม่ตรงยอดกันตั้งแต่ก่อนแถลงข่าว แต่ในรายละเอียดเรากำลังสอบทานว่าผิดพลาดที่ตรงไหน โดยพรุ่งนี้จะมีความชัดเจนว่ามันผิดพลาดเพราะอะไร และเหตุเกิดที่จุดไหน

 

ส่วนการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อตามฐานคะแนนของ กกต. ซึ่งสื่อแต่ละสำนักจะคำนวณออกมาได้ไม่ตรงกันนั้น

 

รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า การคำนวณสูตรในการคำนวณก็ไม่ง่าย คือเอาคะแนนรวมของทุกพรรคมารวมกัน หารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 500 ได้เท่าไรเป็นค่าเฉลี่ยคะแนนของ ส.ส. 1 คน

 

จากนั้นเอาค่าเฉลี่ยนั้นไปหารคะแนนรวมของแต่ละพรรค ก็จะได้ ส.ส. พึงมี และนำไปลบกับ ส.ส. แบ่งเขตที่พรรคได้รับ

 

อย่างไรก็ตามตรงนี้จะมีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งประเทศเยอรมนีก็เจอคือ Overhang คือจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อรวมแล้วเกิน 150 คน ซึ่งเราต้องบีบให้ได้ 150 โดยการเทียบบัญญัติไตรยางศ์

 

“สมมติว่ารวมกันทุกพรรคแล้วได้ 159 เราก็ต้องลดให้เหลือ 150 โดยจะต้องไปดูว่าจะลดในสัดส่วนไหนให้ทุกพรรคได้ประโยชน์เท่าเทียมกัน” รองเลขาธิการ กกต. กล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X