นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประกาศกลางเวทีเสวนาของงาน ‘Shaping Thai Industry: ทิศทางอุตสาหกรรมไทย’ จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขอเป็นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของประเทศไทย เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยวิจารณ์ระบบและกระบวนการพิจารณาของภาครัฐที่ล่าช้า กฎหมายซ้อนทับจำนวนมาก ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเดินไปอย่างล่าช้า นอกจากนี้ยังกล่าวกับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ร่วมวงเสวนาว่า “ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ทั้ง 3 ท่าน (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์) ใครจะได้เป็นรัฐบาล ยังไงก็ต้องชวนผมร่วมรัฐบาลด้วย ไม่อย่างนั้นตั้งรัฐบาลไม่ได้หรอกครับ” ซึ่งถือว่าท่าทีของนายอนุทินในเวทีการเมืองดุดันมากขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งนี้
ขณะที่ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอแนวคิดให้ลดจำนวนข้าราชการทั้งระบบลงและเพิ่มเงินเดือนให้กับข้าราชการแทน เปรียบเทียบเงินเดือนของนายกรัฐมนตรีไทยกับชาติอื่น ซึ่งถือว่าน้อย และน่าจะเพิ่มเงินเดือนด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ทาง ส.อ.ท. ยังเสนอให้ยกระดับอุตสาหกรรมด้วยการใช้เทคโนโลยี การสร้างนวัตกรรม และการใช้ข้อมูลเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในทุกกระบวนการ ขณะเดียวกันต้องผลักดันสินค้า Made in Thailand ให้มากขึ้นในเวทีโลก
นายสุพันธุ์เสนอปัจจัยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง ประกอบด้วย 5 ปัจจัยสำคัญคือ
1. สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมด้วยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมร่วมกับภาครัฐ รวมถึงการตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่
2. เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมไทย โดยสนับสนุนการพัฒนา AI Robotic และ Lean Automation การตั้งกองทุน Innovation Fund และการตั้งศูนย์ Big Data ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร (Smart Agro)
3. ยกระดับ SMEs และส่งเสริม Made in Thailand โดย SME Venture Program และยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล จัดตั้งกองทุนผู้เชี่ยวชาญช่วย SMEs และประชาสัมพันธ์สินค้าที่ผลิตในไทยให้ทั้งในและต่างประเทศเชื่อถือ รวมทั้งส่งเสริมการตลาดด้วยการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการขายผ่านอีคอมเมิร์ซทุกแพลตฟอร์มทั่วโลก และขอให้ภาครัฐสนับสนุนการซื้อสินค้า Made in Thailand
4. เสริมสร้างธรรมาภิบาลความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการส่งเสริมให้ SMEs ทำบัญชีเดียว ขอให้รัฐพิจารณาจัดให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น และปฏิรูปบุคลากรภาครัฐ รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อม
5. ยกระดับทักษะ ความรู้ และคุณภาพชีวิตทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการตั้งศูนย์การศึกษา Life Long Learning และปรับการศึกษาให้เข้ากับภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill)
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์