การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 คือการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบกว่า 8 ปี นับตั้งแต่การเลือกตั้งที่มีผลทางกฎหมายเมื่อปี 2554
จากสถิติย้อนหลังพบว่า การเลือกตั้งปี 2562 นี้ มีจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุด โดยครั้งนี้มีผู้มีสิทธิ์กว่า 51.4 ล้านคน มากกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และ 2550 ซึ่งมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 46.9 ล้านคน และ 44 ล้านคน ตามลำดับ
ขณะที่จำนวนผู้สมัคร ส.ส. ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีจำนวนมากที่สุดเช่นกัน
สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รวบรวมผลการประกาศรับรองผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต ทั้ง 350 เขต
โดยการส่งสมัครรับเลือกตั้งระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ มีพรรคการเมืองทั้งสิ้น 81 พรรค ส่งผู้สมัครรวม 11,181 คน
6 พรรคส่ง ส.ส. ครบ 350 เขต แต่อาจไม่มีสักพรรคที่ได้ลงสนามครบ
ทั้งนี้ มีพรรคการเมืองเพียง 6 พรรคที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตครบ 350 คน ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคอนาคตใหม่, พรรครวมพลังประชาติไทย และพรรคพลังประชารัฐ
แต่เมื่อ กกต. ตรวจสอบคุณสมบัติและประกาศรับรองรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต ปรากฏว่า การเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะไม่มีพรรคการเมืองใดส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตได้ครบทั้ง 350 เขต โดย ประชาธิปัตย์ มีผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตไม่ถูกประกาศรายชื่อ 1 คน, พรรคภูมิใจไทย ไม่ประกาศรายชื่อ 2 คน, พรรคเสรีรวมไทย ไม่ประกาศรายชื่อ 6 คน, พรรคอนาคตใหม่ ไม่ประกาศรายชื่อ 2 คน, พรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ประกาศรายชื่อ 6 คน และพรรคพลังประชารัฐ ไม่ประกาศรายชื่อ 2 คน
4 พรรคส่งเต็มบัญชี 150 คน แต่ ‘ประชาธิปัตย์’ คือพรรคเดียวที่รอดครบจำนวน
ส่วนการประกาศรับรองรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่ 77 พรรคการเมืองส่งสมัคร จำนวน 2,917 คน โดย กกต. ประกาศรับรอง 2,810 คน และไม่รับรอง 107 คน
ทั้งนี้มีเพียง 4 พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเต็มบัญชี 150 คน ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย, พรรคเพื่อชาติ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย
แต่มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ กกต. ประกาศรับรองรายชื่อผู้สมัครครบ 150 คน ส่วนพรรคภูมิใจไทย ไม่ประกาศรายชื่อ 6 คน, พรรคเพื่อชาติ ไม่ประกาศรายชื่อ 7 คน และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ประกาศรายชื่อ 10 คน
ทั้งนี้ ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อที่ถูกสำนักงาน กกต. ตัดสิทธิ์สมัคร สามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในเวลา 7 วันนับจากวันประกาศรายชื่อ เพื่อขอให้วินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 49 และมาตรา 59 ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
ภาพประกอบ: Dreaminem
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- รวบรวมจากสำนักงาน กกต. ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 18 ก.พ. 2562
- www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190218162759.pdf
- www.ect.go.th/ect_th/ewt_dl_link.php?nid=2236