เวทีการเมืองที่ต้องการหาทางออกให้สังคมไทยวันนี้ จัดขึ้นที่ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีตัวแทนจาก 7 กลุ่มการเมืองเข้าร่วม แต่ทว่าวันนี้ขาดไป 2 กลุ่มคือ สรอรรถ กลิ่นประทุม ผู้แทนพรรคภูมิใจไทย และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้แทนพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งแจ้งว่าติดภารกิจมาไม่ได้
จัดโดยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และเครือข่ายตรวจสอบภาคประชาชน อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ในฐานะผู้จัดงานบอกเล่าถึงที่มาของงานนี้ว่า ด้วยมองเห็นสภาพบ้านเมืองที่ ‘ตีบตันทางความคิด’ จึงนำมาสู่หนทางว่า จะทำอย่างไรจึงจะนำบ้านเมืองออกจากวิกฤตก่อนที่จะเกิดภาพที่หลายฝ่ายไม่ปรารถนา ซึ่งก็คือความขัดแย้ง
และในช่วงเวลาที่เหลือก่อนการเลือกตั้งจะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ประเทศไทยมีทางออก เพื่อให้นักการเมืองเดินหน้าอย่างชัดเจน นักการทหารจะได้กลับกรมกอง อย่างสบายใจ
เพราะไม่อยากเห็นรัฐบาลลงมาเป็นผู้เล่นเอง ขอให้มาเป็น ‘คนกลาง’ ทางลงนี้จะส่งให้สง่างาม อดุลย์กล่าวย้ำ
ขณะที่ก่อนเริ่มการเสวนาในหัวข้อ ‘อนาคตประเทศไทยตายหรือตันก่อนวันเลือกตั้ง’ ญาติวีรชนจำนวน 6 คนได้เป็นตัวแทนมอบดอกไม้ให้กับนักการเมืองที่เข้าร่วมเสวนาในวันนี้
จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
จากสุสานคนเป็น สู่การคลายล็อกหัวใจตัวเองเพื่อหาจุดร่วมการเมือง
จตุพรเริ่มต้นด้วยการออกตัวว่า วันนี้มาในฐานะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดก็ไม่ได้ ถือเป็นราษฎรเต็มขั้น รู้สึกห่วงใยสถานการณ์บ้านเมือง
จตุพรชี้ให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ถูกออกแบบให้มีเรื่องได้ตลอดเวลา สิ่งสำคัญมากกว่ากติกาที่เป็นปัญหาวันนี้คือ นักการเมืองต้อง ‘คลายล็อกหัวใจตัวเอง’ ให้ได้ก่อน
ประธาน นปช. ยังให้ภาพของบรรยากาศเวทีเลือกตั้งหากในอนาคตเกิดขึ้นว่า ‘จะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย’ เพราะพรรคการเมืองถูกออกแบบไม่ให้พรรคไหนใหญ่ได้ ดังนั้นหากไม่ตกลงกันให้ได้ก่อนไปเลือกตั้งต้องเกิดเรื่องแน่นอน
การมี นายกฯ คนนอก vs คนใน ถึงอย่างไรก็ต้องเจอกับองค์กรอิสระที่ออกแบบไว้ยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 การไปหักมุมเอาคนที่ไม่อยู่ในสนาม ปัญหาก็จะเริ่มเกิด
จตุพรเสนอว่า ทุกฝ่ายต้องคุยกัน อย่าเพิ่งหาเศษหาเลยกันในตอนนี้ เพราะภายใต้กติกาที่ยังเป็นแบบนี้ ตอนเลือกตั้งจะเกิดปัญหาใหญ่
สิ่งสำคัญคือการสร้างบรรยากาศ นอกจากพรรคการเมืองที่ต้องทำแล้ว ยังรวมถึงผู้มีอำนาจด้วย เพื่อจะไม่ให้เกิดเรื่องแบบพฤษภาคม 2535
“ตอนนี้เดือดร้อนอะไรก็แล้วแต่ ถูกรัฐอธิบายกลบด้วยคำว่าสงบและไม่สงบ หากพรรคการเมืองไม่ทำความเข้าใจกันเองก่อน ผมมองว่าเราจะไปไม่ถึงการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งไกลออกจากฝั่งไปตามลำดับ”
จตุพรตั้งคำถามและให้ข้อสังเกตด้วยว่า เรามาถึงจุดที่กำลังอยู่ใน ‘ระยะเปลี่ยนผ่าน’ ของประเทศไทย ซึ่งมีนาทีทองที่สำคัญคือการให้ผู้มีอำนาจลงจากตำแหน่ง ซึ่งที่ผ่านมาการลงจากตำแหน่งที่มีทั้งที่สวยงามและไม่สวยงาม และในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจมักจะเลือกทางที่ไม่สวยงามเสมอ
“เราเอาประชาธิปไตยให้ได้ก่อน เลือกพรรคเป็นเรื่องรอง ส่วนรวมมาก่อนส่วนตัว ถ้าไม่แก้กันก่อนจะยิ่งยากและเกิดวิกฤตขึ้นอีก”
เขายังย้ำว่า หากพรรคการเมืองสามารถตกลงกันได้จะถือเป็นการตัดสินใจที่จะเป็นรอยต่อสำคัญ
“โดยเฉพาะหากสามารถตกลงกันได้ เรื่องการรวมเสียงข้างมากเพื่อตั้งรัฐบาลก็จะปิดประตูไม่ให้คนนอกมีโอกาสเข้ามาเป็นนายกฯ ได้ ถ้าตกลงกันได้ก็ทำเป็นสัญญาประชาคมร่วมกันว่าเราเลือกหนทางนี้ ก็จะทำให้ประเทศไทยเดินต่อไปได้
จตุพรยังได้เล่าถึงช่วงที่ตนเองต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ หรือ ‘สุสานคนเป็น’ ว่า ได้คุยกับแกนนำสีเสื้อทุกสี หากเอาเทปปราศรัยในสถานการณ์หนึ่งมาเปิดอีกสถานการณ์หนึ่ง มันคนละอารมณ์ ซีกประชาชนเมื่อไปอยู่ในเรือนจำ ไม่ว่าเป็นตน นายสนธิ พระพุทธอิสระ มีโอกาสก็คุยกัน
“เราไม่เคยมีปัญหาส่วนตัว แต่ 10 ปีที่ผ่านมาเป็นความเชื่อ แต่ในสถานการณ์ที่เราอยู่ในจุดต่ำสุดคุยกันได้ ที่พูดไม่ได้หมายความว่าให้ทุกพรรคไปคุยกันในเรือนจำ ที่ผ่านมาเป็นเรื่องของความเชื่อ เมื่อมาอยู่ในสถานที่ต่ำสุดในชีวิต ก็สามารถคุยกันได้ เราไม่เคยมีเรื่องขัดแย้งกันมาก่อน
“ผมเชื่อว่าถ้าเราคลายล็อกทางจิตใจได้ก็เป็นเรื่องที่ดี เหมือนที่ผมทำได้เมื่ออยู่ในเรือนจำ”
จตุพรย้ำในช่วงท้ายว่า ภายใต้กติกาที่เราทำอะไรไม่ได้ ถ้าซีกนักการเมืองจับมือกันได้เป็นภาวะทางหัวใจที่จะรับผิดชอบต่อประชาชน ผมเชื่อว่าคนนอกจะเข้ามาไม่ได้
จตุพรตอบคำถามเมื่อถูกถามว่า กลุ่มมวลชนของแต่ละพรรคจะออกมาอีกหรือไม่ในอนาคตว่า “คู่ขัดแย้งมันเป็นเรื่องของสถานการณ์ สิ่งที่ผมต้องการให้พูดคุยกันก็เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์มวลชนวนกลับออกมาแบบเดิม รัฐธรรมนูญนี้ถูกออกแบบให้มีเรื่องได้ตลอดเวลา”
นพ.ระวี มาศฉมาดล ผู้แทนพรรคพลังธรรมใหม่
ไม่เอาประชาธิปไตยแบบตะวันตก ไม่เอาเผด็จการที่ไม่ทำเพื่อชาติ
นพ.ระวียอมรับว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นศึกระหว่างพรรคเพื่อไทยกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นก๊กหลักที่ต้องรบกันในศึกครั้งนี้
“เราไม่สนับสนุนที่จะเข้าร่วมกับเผด็จการทหารแน่นอน ยืนยันเราเป็นก๊กอิสระ”
นพ.ระวียังขยายความถึงจุดยืนของพรรคว่า พลังธรรมใหม่นั้นไม่เอาประชาธิปไตยแบบตะวันตก และประชาธิปไตยที่ประชาชนมีเวลาออกเสียงเพียง 1 นาที โดยขอชูหลักการธรรมาธิปไตย เพราะพรรคมองว่าขณะนี้ประชาธิปไตยแบบตะวันตกกำลังถดถอย วันข้างหน้าประเทศไทยต้องเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม
เมื่อถามว่าเผด็จการทหารกับเผด็จการรัฐสภาอันไหนร้ายแรงกว่ากัน นพ.ระวี ยกตัวอย่างให้เห็นว่า จีน เป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่สามารถแก้ปัญหาประเทศที่ทำเพื่อประเทศ ปราบการโกงได้สำเร็จ ก้าวขึ้นสู่ประเทศมหาอำนาจ ขณะที่สิงคโปร์มีผู้นำอย่าง ลีกวนยู ถูกมองว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา แต่เขาก็เขียนให้อย่างน้อยต้องมีฝ่ายค้านหนึ่งคน สิ่งที่เราต้องการให้มองคือ “เผด็จการแบบไหน แบบทำเพื่อชาติเพื่อประชาชนหรือไม่”
พรรคพลังธรรมใหม่จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญบางจุดที่เป็นปัญหา ไม่ใช่ทั้งฉบับ เพราะอย่างน้อยที่มายังยึดโยงจากเสียงประชาชน
“เราวางตัวเองเป็นตรงกลางที่จะเข้ามาทำงาน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบเหลืองแดง และเป็นผู้ประสานงานตรงกลางไม่ให้เกิดรูปแบบเผด็จการแบบรัฐสภา”
นพ.ระวีย้ำว่า แนวทางของพรรคพลังธรรมใหม่คือ สนับสนุนให้คนดีได้บริหารประเทศ แต่หากไม่สามารถหนุนคนดีได้ ต้องไปดูว่าฝ่ายไหน อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย แต่ให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคเราโหวตว่าจะเอาใคร จากทั่วประเทศ
นพ.ระวีไม่เชื่อว่าบ้านเมืองจะถึงคราวตีบตัน เพราะเชื่อตามคำกล่าวที่ว่า ‘กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี’ และหลังการเลือกตั้งตนเองมองว่า ‘ทุกคนคือคนไทย’ จากการพูดคุยกันหลายกลุ่ม ทุกฝ่ายน่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้นในการหันหน้ามาปรองดองสมานฉันท์กัน เชื่อว่าสังคมไทยจะผ่านวิกฤตไปได้
ขณะเดียวกันมองว่า หากมีกลุ่มการเมืองใดรวบรวมเสียงได้มากกว่า 250 เสียงเพื่อตั้งรัฐบาล คสช. ก็ควรที่จะยุติบทบาทตัวเอง ปล่อยให้พรรคที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เข้ามาบริหารจัดการบ้านเมืองตามเสียงโหวตของประชาชน
สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้แทนพรรคชาติไทยพัฒนา
พร้อมเป็นฝ่ายค้าน ไม่เอานายกฯ คนนอก ต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตัวเอง
“เราไม่เอานายกฯ คนนอก” พรรคชาติไทยไม่เคยกั๊ก เหมือนคนทำธุรกิจไม่เคยคิดว่าตายหรือตัน แต่จะทำอย่างไรให้มันไปข้างหน้าได้ สิริพงศ์ตอบชัดเจนฉะฉานเมื่อเริ่มเสวนาบนเวที
เขายังอธิบายว่า คนเลือกอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเลือกแล้วใครได้เป็นนายกฯ เพราะเขาไม่ได้เลือกทางตรง มันเป็นการเลือกผู้แทนเพื่อไปเลือกนายกฯ อีกที
“ผมเห็นด้วยกับคุณจตุพร มันอยู่ที่สถานการณ์วันนั้นว่ามันจะเป็นอย่างไร บางครั้งเราก็เลือกว่าจะยืนอยู่บนจุดของเรา และจะไม่มีการปฏิวัติถ้านักการเมืองอย่างพวกเราไม่สร้างเงื่อนไขให้เขามา”
สิริพงศ์ชี้ว่า แทบไม่มีประโยชน์เลยที่จะไปดูการเมืองต่างประเทศโดยไม่เอาประวัติศาสตร์ของตัวเองมาเป็นบทเรียนว่าจะแก้ไขอย่างไร
“พรรคชาติไทยพร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้าน ถ้าพรรคใหญ่เป็นรัฐบาลบริหารได้ เราก็พร้อมที่จะทำให้ฟังก์ชันนี้สมบูรณ์ พรรคใดตั้งรัฐบาลแล้วมีแนวโน้มเกิดวิกฤต ปี 2562 ถ้ามีการเลือกตั้งแล้วอยากออกจากวังวน ทุกคนต้องออกมาจากมุมของตัวเอง” สิริพงศ์ย้ำถึงแนวทางที่เขามองว่าจะพาทุกคนไปต่อได้
เขามองว่า 3 คำที่ทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองวันนี้คือ ‘อดทนไม่เป็น เย็นไม่พอ รอไม่ได้’ เพราะการเมืองรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ทุกคนมองว่าฝั่งตรงกันข้ามทำคือผิดหมด เป็นเงื่อนไขให้เขาปฏิวัติทุกครั้ง
ขณะที่เวลานี้มีการพูดมาโดยตลอดว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ดีไม่ดี แต่พูดกันจริงๆ คือไม่ใช่สถานการณ์ที่จะแก้มันได้ แต่มันหมายถึงเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรกับมัน
สิริพงศ์ในฐานะแม่บ้านพรรคชาติไทยพัฒนายืนยันว่า พรรคจะเสนอชื่อ ลูกท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน ในฐานะว่าที่หัวหน้าพรรคในอนาคต
“สิ่งจำเป็นต่อจากนี้คือ การยึดถือในหลักการที่เป็นหลักการสากล ที่ทุกคนทุกฝ่ายยอมรับกันได้ เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการที่ให้พรรคการเมืองอันดับหนึ่งรวมเสียงข้างมากในสภาก่อน แต่นั่นเป็นโลกอุดมคติ ส่วนโลกของความเป็นจริง ถ้าไม่เป็นแบบนั้น หากวันนั้นมาถึง คำถามก็คือเราอดทนกันได้หรือไม่อย่างไร”
สิริพงศ์ย้ำในเชิงตั้งคำถามว่า เมื่อเกิดสิ่งที่ดีที่สุดหรือเลวร้ายที่สุด ทุกคนอดทนพอที่จะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ ขออย่าไปเร่งปฏิกิริยาหรือทำให้มีเงื่อนไขสู่การปฏิวัติอีก
“ผมว่านี่จะเป็นทางออกของประเทศ”
จาตุรนต์ ฉายแสง ผู้แทนพรรคเพื่อไทย
ไม่เอา คสช. ทุกเงื่อนไข ไม่ปิดประตูร่วมงานพรรคการเมืองใด
จาตุรนต์ชี้ให้เห็นถึงสถาการณ์วันนี้ว่า สิ่งที่ คสช. กับพวกทำคือให้มีการเลือกตั้ง แต่ไม่ให้ปรึกษาหารือกับใครที่ต้องสื่อสาร รวมทั้งกับประชาชน เมื่อไม่สามารถพบประชาชนอย่างกว้างขวาง ประชาชนก็จะไม่รู้ว่าแต่ละพรรคมีนโยบายอย่างไร
“นี่ไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นความจงใจ ตั้งแต่เขียนรัฐธรรมนูญ รวมถึงกติกาต่างๆ ที่ต้องการให้เกิดสภาวะที่นำไปสู่ข้อสรุปว่า ระบบการเลือกตั้งได้เท่านี้ พรรคการเมืองไม่เห็นมีนโยบายเด่นๆ สู่ภาพ คสช. ที่โดดเด่นผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์”
จาตุรนต์ย้ำอย่างหนักแน่นว่า “พรรคเพื่อไทยไม่สนับสนุน คสช.” ไม่รอผลการเลือกตั้งแล้วค่อยตัดสินใจ และพร้อมเป็นฝ่ายค้านหากฝ่าย คสช. ตั้งรัฐบาลได้ และหากผู้นำ คสช. เป็นรัฐบาล ยินดีร่วมกับทุกพรรคเพื่อเป็นฝ่ายค้านด้วยกัน
“ถ้าในเรื่องร่วมกับผู้นำ คสช. เราคิดว่าไม่ได้ ไม่มีประตูนี้อีก และไม่มีเงื่อนไขใดๆ แม้มีกรรมการบริหารพรรคใหม่และผ่านการเลือกตั้ง จุดยืนไม่สนับสนุน คสช. ก็จะเป็นจุดยืนต่อไป”
ส่วนในอนาคตจะตัดสินใจอย่างไร ทำอะไรนั้น ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทย จะทำตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แม้เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ แต่ก็เป็นประชามติที่ไม่ชอบธรรม
จาตุรนต์ยังให้ภาพถึงการรวมเสียงเพื่อที่พรรคการเมืองจะจัดตั้งรัฐบาลว่า ในรัฐธรรมนูญใหม่ เขียนไว้ว่ารวมเสียงได้เกิน 250 คน แต่ในความจริงก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นรัฐบาลได้ เพราะ ส.ว. ยังมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการลงมติ คือพรรคที่รวมเสียงได้อาจจะเลือกประธานสภาได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าตอนเลือกนายกฯ จะได้ทิศทางการโหวตแบบนั้น เพราะเพียง 126 คนไปรวมกับ 250 เสียงของ ส.ว. ก็สามารถตั้งนายกฯ ได้
“คำถามคือ ตอนนั้น 250 เสียงยังอยู่แบบเดิมไหม เรื่องนี้มันจึงไม่ง่าย เพราะอาจได้เป็นนายกฯ ที่ ส.ว. สนับสนุน แต่เมื่อภิปรายไม่ไว้วางใจ ส.ส. ที่รวมกันได้ 250 เสียง โหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้เหมือนกัน แต่จะเหนียวแน่นจริงแบบนั้นหรือไม่”
ขณะที่ข้อห่วงใยสำคัญจากจาตุรนต์คือเสถียรภาพของรัฐบาลและประเทศจะไปได้ไหม เมื่อประชาชนตั้งคำถามกับเสียงโหวตของตัวเองว่า พรรคที่เลือกเหตุใดไม่มีที่ทางหรือสามารถจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศได้
“และเมื่อบ้านเมืองแย่มากๆ เพราะกติกาของรัฐธรรมนูญทำให้มีปัญหา และพบว่าแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะแก้ยาก มันกลายไปเป็นทางแพร่งสองทางที่สังคมไทยต้องเลือก มันกลายเป็นเรื่องต้องว่าไปตามรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั่นเอง”
จาตุรนต์ย้ำว่า ในอนาคต “พรรคเพื่อไทยไม่ปิดทางที่จะร่วมกับพรรคการเมืองใด ตราบใดที่พรรคการเมืองนั้นไม่ประกาศตัวไปสนับสนุน คสช. หรือคนนอก”
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์
2 ปัจจัยหลักสู่ทางตัน คสช. 4 เหตุผลสู่เลือกตั้งรู้รักสามัคคี
“อนาคตประเทศไทยไม่มีวันตายและไม่มีวันตัน ที่กำลังเดินหน้าไปสู่ทางตันคือ คสช. มีปัจจัยใหญ่ 2 ประการคือ เศรษฐกิจและการเมือง” จุรินทร์มองประเทศไทยในวงเสวนาวันนี้และขยายความถึงปัจจัยหลัก 2 ประการว่า
เศรษฐกิจ แม้รัฐบาลจะบอกว่า GDP โต โตต่อเนื่อง 4 ปี ถ้าดูในอาเซียน ยกเว้นสิงคโปร์และบรูไน จะเห็นว่าไทยโตต่ำสุดในอาเซียน สิ่งที่โตไม่ได้ตกอยู่ที่รากหญ้า แต่ตกอยู่ในมือคนไม่กี่คน นำไปสู่ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ในทุกภูมิภาค
หากมองดูตัวเลขประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไทยขยับอันดับโลกขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ของโลก เศรษฐกิจฐานรากจะเร่งเร้าสภาพ คสช. ไปสู่ทางตันมากขึ้น
และรัฐบาลรู้ว่านี่คือปัญหาใหญ่ จึงเร่งหว่านเงินไปในระบบสารพัดโครงการ สุดท้ายลงไปไม่ถึง เพราะ ‘เกาไม่ถูกที่คัน’ และที่สำคัญ ‘เพราะคนทำไม่รู้จักประชาชน’ และ ‘ไม่ได้มาจากประชาชน’
การเมือง มีปัจจัยภายนอกจากต่างประเทศและปัจจัยภายในประเทศ โพลหลายสำนักบอกประชาชนอยากเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่ส่วนหนึ่งลังเลว่าเลือกตั้งแล้วจะกลับมาเหมือนเดิม ขัดแย้ง แตกแยกอีกหรือไม่
จุรินทร์มองว่า สุดท้ายในการเลือกตั้งครั้งนี้ คสช. ก็ยังอยู่ในตำแหน่ง ‘ผู้เขียนกติกา’ และเป็น ‘ผู้กำกับการแข่งขัน’ ที่มีอำนาจสูงสุด และก็จะเป็น ‘ผู้เล่น’ ในสนามเลือกตั้งด้วย
คสช. เป็นผู้กำกับที่มีอำนาจรองรับไว้ในรัฐธรรมนูญ สามารถใช้ ม.44 ได้กับการเลือกตั้ง นับหนึ่งตั้งแต่การแต่งตั้ง ส.ว. ซึ่ง คสช. เป็นผู้ออกกฎหมายเอง
และแม้เลือกตั้งเสร็จ ไปถึงขั้นตอนการเลือกตั้งนายกฯ คสช. ก็ยังมีอำนาจอยู่ คสช. จะพ้นไปเมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้วเท่านั้น กล่าวคือ คสช. จะมีอำนาจทั้งหมด ทั้งเลือก ส.ว. และเลือกตั้งจนยาวไปถึงมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
จุรินทร์ได้เสนอว่า มีทางออกอยู่ด้วยกัน 4 ประการที่จะนำการเลือกตั้งไปสู่ความรู้รักสามัคคี
- ทุกฝ่ายยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี
- พรรคการเมืองที่รวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้จะเป็นฝ่ายตั้งรัฐบาล เสียงข้างน้อยเป็นฝ่ายค้าน
- ฝ่ายบริหารต้องไม่ใช้เสียงข้างมากตามอำเภอใจ เป็นเผด็จการรัฐสภาฯ โดยไม่ฟังเสียงข้างน้อย
- ยึดมั่นหลักกฎหมาย หลักนิติรัฐ นิติธรรม
ทั้งนี้ หากดำเนินตามหลักทั้ง 4 จะไม่พาประเทศกลับไปสู่ความขัดแย้ง ประเทศเกิดวิกฤต
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า