11 ธันวาคม 2562 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษ์ถึงประเด็นรูปแบบบัตรเลือกตั้งว่า จะเป็นแบบมีชื่อพรรคการเมือง และโลโก้พรรคการเมือง หรือจะเป็นบัตรเลือกตั้งที่จะมีเพียง ‘หมายเลข’ และ ‘ช่องกากบาท’ เท่านั้น โดยขอตอบในนาม กกต. คนหนึ่งว่า ถ้าเป็นบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตก็มีเพียงตัวเลขและช่องกากบาทมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ส่วนแบบอีกบัตรหนึ่งที่มีหมายเลข มีชื่อพรรค มีโลโก้พรรค เป็นแบบที่ใช้กับการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อนับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2544
แต่ในคราวนี้ การเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อไม่ได้มีโดยตรง เป็นการนับคะแนนจากการเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องมีบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จึงเหลือบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตอย่างเดียว
ส่วนที่ว่า กกต. จะพิจารณาเป็นอย่างไรต้องอดใจรออีกนิด เพราะมันมีปัจจัยหลายอย่างต้องพิจารณา ทั้งการป้องกันการพิมพ์ผิด รวมถึงการพิมพ์บัตรได้ทันเวลา เพราะต้องมีการใช้บัตรลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง 2 ส่วนคือ การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร (4-16 ก.พ. 2562) และการเลือกตั้งล่วงหน้า (17 ก.พ. 2562) เพราะฉะนั้นเรื่องระยะเวลาก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องบริหารจัดการให้ตรงเวลา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยประกอบอื่นๆ เช่น การคำนึงถึงความสะดวกของประชาชน และการคำนึงไม่ให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิ์สับสน ทั้งหลายทั้งปวงต้องนำมาพิจารณา
สำหรับรูปแบบบัตรเลือกตั้งที่สำนักงาน กกต. เสนอให้ กกต. พิจารณามี 2 รูปแบบ คือ
1. แบบมีโลโก้-ชื่อพรรค มีรายละเอียด 4 ช่อง คือ ช่องหมายเลข,โลโก้พรรค, ชื่อพรรค, ช่องทำเครื่องหมายลงคะแนน
2. แบบมีแต่หมายเลขและช่องลงคะแนน
มีรายละเอียด 2 ช่อง คือ ช่องหมายเลขพรรค และ ช่องทำเครื่องหมายลงคะแนน
ขณะที่ขนาดบัตรเลือกตั้ง กกต. ก็ยังต้องมีการพิจารณา โดยจะพิจารณาเลือกระหว่าง บัตรเลือกตั้งแบบช่องเดียวเรียงจากบนลงล่าง ซึ่งรูปแบบนี้จะทำให้บัตรลงคะแนนมีความยาวประมาณ 2-3 ฟุต
ส่วนอีกรูปแบบจะเป็นการเรียงช่องซ้ายขวาไล่ลงมา ซึ่งรูปแบบนี้เคยมีบางพรรคการเมืองไม่พอใจเมื่อช่องลงคะแนนของตนเองอยู่ด้านขวา และมีการร้องเรียนให้แก้ไขมาแล้ว
สำหรับการเลือกตั้ง 2562 มีความไม่ชัดเจนในประเด็นต่างๆ สลับคิวกันผุดขึ้นมาอยู่เสมอ ตั้งแต่ความชัดเจนเกี่ยวกับวันเลือกตั้ง การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ขยายเวลาออกไปและบางจังหวัดได้เขตเลือกตั้งที่ไม่ตรงกับ 3 รูปแบบที่ กกต. จังหวัดเสนอไปก่อนหน้า จนล่าสุดคือบัตรเลือกตั้งที่จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ชัดเจน ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ว่า กกต. ทำงานโดยปราศจากการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจจริงหรือไม่?
ภาพประกอบ: Karin Foxx
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า