- ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลงในช่วงสัปดาห์รอยต่อสิ้นปี 2024 ต่อเนื่องมายังต้นปี 2025 จากความเสี่ยงลดดอกเบี้ยช้าและความไม่แน่นอนจากนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์
- ตัวเลขเงินเฟ้อ Core PCE สหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายน 2024 ต่ำกว่าคาด แต่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนแรงกดดันด้านราคาที่เริ่มผ่อนคลาย
- บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด มองว่าการควบคุมเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมาย จะเป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้แต่เดิม
- สำหรับเศรษฐกิจไทยมองว่าจะเสี่ยงมากขึ้น จากการส่งออกที่แม้ยังดี แต่การส่งออกในเอเชียเห็นสัญญาณชะลอตัวลงชัดเจนขึ้น
ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลงในช่วงสัปดาห์รอยต่อสิ้นปี 2024 ต่อเนื่องมายังต้นปี 2025 จากความเสี่ยงลดดอกเบี้ยช้าและความไม่แน่นอนจากนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ อีกทั้งยังเกิดจากแรงขายทำกำไรหลังปี 2024 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนโดดเด่น 23% ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งกว่าคาดอย่างต่อเนื่อง
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มปรับลดดอกเบี้ยลง นอกจากนั้นความชัดเจนจากผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ทรัมป์ได้รับชัยชนะ ช่วยหนุนให้เกิดแรงส่งต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง
ด้านตัวเลขเงินเฟ้อ Core PCE สหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายน 2024 ต่ำกว่าคาด แต่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนแรงกดดันด้านราคาที่เริ่มผ่อนคลาย
ด้านตลาดหุ้น EM ปรับลดลงเช่นกัน นำโดยจีนที่อ่อนตัวลงกดดันจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนค่อนข้างช้า แม้ว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดย Caixin PMI เดือนธันวาคม อ่อนตัวจากเดือนก่อนและต่ำกว่าคาด สอดคล้องกับตัวเลขของทางการจีนที่รายงานไปก่อนหน้า แม้ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จะกล่าวถึงมุมมองเศรษฐกิจจีนว่าจะขยายตัวได้ตามเป้าที่ 5% และรัฐบาลยังมีแผนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเน้นการบริโภคในประเทศ โดยประกาศว่าจะมีการออกพันธบัตรพิเศษมูลค่า 3 ล้านล้านหยวนในปี 2025 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ด้านตลาดหุ้นไทยอ่อนตัว 1.5% หลุด 1,400 จุดอีกครั้งจากแรงตัวเลขเศรษฐกิจเดือนพฤศจิกายนที่เสี่ยงมากขึ้น กองทุนประหยัดภาษีที่เปลี่ยนจากด้านซื้อปลายปีมาเป็นความเสี่ยงด้านการขาย LTF ที่ครบกำหนดช่วงต้นปี และประเด็นเฉพาะตัวของไม่กี่บริษัทที่กระทบจาก GMT ราคาน้ำมันฟื้นตัวเด่นจากการบริโภคของสหรัฐฯ ที่เพิ่มต่อเนื่อง สอดคล้องกับเศรษฐกิจ และคาดหวังการกระตุ้นเพิ่มเติมจากจีน
Fed ใช้เวลา ‘คุมเงินเฟ้อ’ นานกว่าคาด
บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด มองว่าเงินเฟ้อ Core PCE สหรัฐฯ ที่ต่ำกว่าคาดอาจให้ความหวังบ้างว่าแรงกดดันเงินเฟ้อกำลังผ่อนคลาย แต่การปรับประมาณการของ Fed หลังการประชุม FOMC แสดงถึงความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงิน ทำให้เรามองว่า Fed จะยังคงมีท่าทีระมัดระวัง และมองว่าการควบคุมเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายจะเป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ทั้งนี้ เรามองว่าเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลทรัมป์เป็นสำคัญ
ในส่วนของตัวเลข PMI ภาคการผลิตจีนที่ต่ำกว่าคาด สะท้อนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่เพียงพอ แม้จะมีสัญญาณบวกจากภาคบริการและก่อสร้างก็ตาม แต่จีนยังเผชิญความท้าทายหลายด้าน ทั้งภาวะเงินฝืด การส่งออก-นำเข้าที่ต่ำกว่าคาด และกำไรภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ การที่รัฐบาลจีนออกพันธบัตรพิเศษมูลค่า 3 ล้านล้านหยวนพร้อมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอาจเป็นปัจจัยบวก แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความเสี่ยงสงครามการค้าจากสหรัฐฯ อาจส่งผลต่อการเติบโตของจีนในปี 2025
เศรษฐกิจไทยเสี่ยงมากขึ้น เหตุส่งออกในเอเชียชะลอตัวลงชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้ มองว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยเสี่ยงมากขึ้น จากการส่งออกที่แม้ยังดี แต่การส่งออกในเอเชียเห็นสัญญาณชะลอตัวลงชัดเจนขึ้น ขณะที่ MPI ในประเทศก็หดตัวเช่นกัน อันเป็นผลจาก MPI ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก นอกจากนั้นยังสะท้อนถึงการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภคสินค้าคงทน การลงทุนเครื่องมือเครื่องจักร และรายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลง ท่ามกลางสภาวะการเงินที่ตึงตัวและความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ภาพความเปราะบางทั้งภาคการใช้จ่ายและภาคการผลิตทำให้ INVX GDP Now ชะลอลงเหลือ 1.7% ในเดือนพฤศจิกายน
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
- หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์บวกจากรัฐออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค โดยนำค่าซื้อสินค้ามาลดหย่อนภาษี (Easy e-Receipt) ในช่วงวันที่ 16 มกราคม - 28 กุมภาพันธ์ 2568 และแจกเงินหมื่นเฟส 2 ในช่วงเทศกาลตรุษจีน แนะนำกลุ่มพาณิชย์ (CRC, HMPRO, CPALL และ TNP) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (CBG และ OSP) และกลุ่มท่องเที่ยว (MINT)
- นักลงทุนที่ต้องการหุ้นปันผลสูง ซึ่งคาดว่ามีเงินปันผลจ่ายที่เหลือจากกำไรปี 2567 คิดเป็น Dividend Yield เกิน 3% เพื่อสร้างกระแสเงินสดให้แก่พอร์ตลงทุน แนะนำ AP, KTB, BBL และ PTT
- หุ้น Earning Play ซึ่งมองราคาหุ้นยังไม่ได้ปรับขึ้น สะท้อนโมเมนตัมกำไร 4Q67 ที่คาดว่าจะเติบโตดี อีกทั้งยังมีศักยภาพการจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ เลือก GULF, OSP, AMATA, AU, TIDLOR และ BCP
- Trading Idea: นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงอาจเก็งกำไรหุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน แนะนำ IVL และ PTTGC
“แม้ช่วงสั้นมองว่าดัชนี SET จะแกว่งตัว Sideway ในกรอบ 1,380-1,420 จุด ทั้งนี้ เป็นผลจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ โดยตัวเลขเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณการฟื้นตัวและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี ปัจจัยในประเทศที่ค่อนข้างผสมจากความคาดหวังเชิงบวกที่มีต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจถูกบั่นทอนด้วยการขาดปัจจัยสนับสนุนใหม่ๆ และยังมีแรงกดดันต่อความไม่ชัดเจนทางการเมืองในประเทศยังเป็นความเสี่ยงที่กดดันให้ Fund Flow ยังมีทิศทางไหลเข้ามาค่อนข้างจำกัด อีกทั้งยังมีแรงขายกดดันจากเม็ดเงินโครงการกองทุน LTF ที่ครบกำหนด” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- รายงานการประชุม FOMC เมื่อวันที่ 17-18 ธันวาคม 2024 เพื่อติดตามสัญญาณเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินในปี 2025
- อัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนธันวาคม
- ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ เดือนธันวาคม
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BBL - หุ้นเด่นของกลุ่มธนาคาร
แนะนำ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดในไทยเมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์รวม อีกทั้งมีเครือข่ายในต่างประเทศมากที่สุด ทำให้มองว่าอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดที่จะได้โอกาสในการขยายสินเชื่อจากการย้ายฐานธุรกิจมายังอาเซียน
- 4Q24 คาดว่าสินเชื่อจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อกิจการต่างประเทศและลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ หนุนให้ปี 2024 คาดว่าจะเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่สินเชื่อเติบโตได้โดยแม้จะอยู่ในระดับต่ำเพียง 1% (เทียบค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ -2%) และยังเติบโตต่อ 3% (เทียบค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 1%) ในปี 2025
- Valuation ถูกที่สุดในกลุ่มธนาคาร โดยซื้อ-ขาย PER และ PBV ปี 2025F ต่ำสุดที่ 6.2x (เทียบค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 8x) และ 0.48x (เทียบค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 0.8x) ตามลำดับ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ต่ำที่สุดในกลุ่มฯ ขณะที่ปี 2024 คาดว่ากำไรจะเติบโต 7%YoY และเติบโตต่อ 3%YoY ในปี 2025 แรงหนุนจาก Credit Cost ลดลง, NIM และสินเชื่อขยายตัวดี รวมทั้งมีอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่ลดลง
- เราประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่หุ้นละ 180 บาท (อิง PBV ที่ 0.58 เท่า) และคาดว่าจะมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 ที่หุ้นละ 8.00 บาท คิดเป็น Dividend Yield ปีละ 5.3%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
ยอดส่งมอบ EV ของ Tesla ทั้งปี 2024 ต่ำกว่าคาดและลดลงจากปีก่อน สวนทาง BYD ที่ทำยอดขายทั้งปี 2024 ดีกว่าคาดและเทียบเท่า TSLA ขณะที่ระยะสั้นเรามองราคาหุ้นกลุ่ม EV ยังผันผวนได้จากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและความต้องการที่ซบเซา แต่หากมองในเชิง Valuation นั้น BYD มีความน่าสนใจกว่า TSLA ที่ราคาปรับตัวขึ้นมาสูง โดย TSLA เราแนะนำให้รอราคาหุ้นปรับตัวลงรับรู้แรงกดดันจน Consolidated มากกว่านี้ ก่อนที่จะหาจังหวะเข้าเก็งกำไรจากแนวโน้มธุรกิจที่ดูดีขึ้นในปี 25
- Tesla เผยยอดส่งมอบรถยนต์ทั่วโลกใน 4Q24 อยู่ที่ 495,930 คัน ซึ่งต่ำกว่าคาดตลาดที่ 510,400 คัน ส่งผลให้ยอดส่งมอบปี 24 อยู่ที่ 1.78 ล้านคัน ต่ำกว่าที่คาดและลดลงจากปีก่อนที่ 1.8 ล้านคัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่หดตัวจากปีก่อน หลังมีแรงกดดันจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการผู้บริโภคที่ซบเซาที่เป็นผลจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
- ในทางตรงกันข้าม BYD เผยยอดขายรวมทั้ง EV และ Hybrid เดือนธันวาคม ทำสถิติใหม่ที่ 509,440 คัน ส่งผลให้ยอดขายทั้งปี 2024 มียอดขายเพิ่มขึ้น 41% โดยคิดเป็นยอดส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 1.76 ล้านคัน ซึ่งน้อยกว่า Tesla เล็กน้อย ยอดขายที่เพิ่มขึ้นได้รับแรงหนุนจากเงินอุดหนุนทางภาครัฐและการให้ส่วนลดพิเศษแก่ผู้ซื้อ
- ระยะสั้นเราประเมินว่ากลุ่มรถ EV ยังมีแรงกดดันจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ความต้องการผู้บริโภคที่ซบเซาอันเป็นผลจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ รวมถึงนโยบายทรัมป์ที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้ในระยะสั้นราคาหุ้นทั้ง TSLA และ BYD จะยังมีแนวโน้มผันผวนได้ แต่เชื่อได้ว่าในระยะยาวทั้งสองบริษัทจะเป็นผู้ที่อยู่รอดบนกลุ่ม EV เนื่องจากยอดขายเติบโตแข็งแกร่งและมีความได้เปรียบด้านต้นทุน
- ขณะที่หากมองในเชิง Valuation อาจมอง BYD ที่มีความน่าสนใจกว่า TSLA ที่ราคาปรับตัวขึ้นมาสูง โดยในส่วนของ TSLA เราแนะนำให้รอราคาหุ้นปรับตัวลงรับรู้แรงกดดันจน Consolidated มากกว่านี้ ก่อนที่จะหาจังหวะเข้าเก็งกำไรจากแนวโน้มธุรกิจที่ดูดีขึ้นในปี 25 หลัง
- เตรียมเปิดตัวรุ่นใหม่ของ Model 3 และ Y ที่ราคาถูกลง
- การเพิ่มขึ้นของการใช้ซอฟต์แวร์ FSD การเปิดตัวการทดสอบรถยนต์ไร้คนขับและผลิตภัณฑ์ เช่น Cybercab
- เป้าหมายการเติบโตของยอดขายในปี 2025 อยู่ที่ 10-15%
- เรามองเครดิตภาษีที่ Cybertruck ได้ จะช่วยกระตุ้นยอดขายในระยะสั้น เนื่องจากลูกค้าหลายรายรอสิทธิ์ลดหย่อนภาษีนี้
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
เงินสด / สภาพคล่อง
สินทรัพย์สภาพคล่องมีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ เช่น ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ข้อพิพาทบนช่องแคบไต้หวัน สงครามรัสเซีย-ยูเครน และข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยล่าสุดจีนมีแผนคุมเข้มข้อจำกัดด้านการส่งออกเทคโนโลยีบางประเภทที่ใช้ในการสร้างส่วนประกอบของแบตเตอรี่และการแปรรูปโลหะสำคัญ 2 ชนิด
ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว
โอกาสที่ US Yield Curve จะเพิ่มความชัน โดยที่ Yield ตัวยาวเพิ่มขึ้นยังมีอยู่ แม้ว่า Fed จะยังคงลดดอกเบี้ยต่อ แต่นโยบายของทรัมป์อาจจำกัดการปรับลดลงของ Bond Yield ตัวสั้น ขณะที่ Bond Yield ตัวยาวมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นและเงินเฟ้อที่ยังหนืด แม้ว่า Fed จะมีแนวโน้มยุติการลดขนาดงบดุลและทยอยกลับมาซื้อ UST ในปี 2025 ก็ตาม ทั้งนี้ Bond อายุ 2-4 ปีมีความเสี่ยง Duration ไม่มาก และมี Coupon มากพอ จึงทำให้น่าสนใจลงทุนและคุ้มที่จะถือเพื่อ Hedge หากตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ต่ำกว่าที่คาดไว้มาก
US Treasury & IG
US Yield มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากความกังวลในตลาดว่า Fed อาจชะลอการลดดอกเบี้ยในปี 2025 หลังล่าสุดตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2024 และต่ำกว่าที่ตลาดคาด ประกอบกับความกังวลแนวโน้มการขาดดุลการคลังที่มากขึ้นและแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังหนืดจากการผลักดันนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ อย่างเช่น การกีดกันการค้ากับคู่ค้าต่างๆ และการกีดกันผู้อพยพ
แนะนำลงทุนทั้ง UST และ US IG Bond โดยเน้นลงทุนใน Duration ประมาณ 2-4 ปีที่ให้ Yield เฉลี่ยยังสูงกว่าประมาณการอัตราดอกเบี้ย ‘ระยะยาว’ ของ Fed ที่ 3% เพื่อเป็นการ Lock Coupon
High Yield Bond
US HY ยังมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนเป็นบวก ส่วนหนึ่งมาจาก Spread ที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำต่อตาม (1) Default Rate ของ US HY ที่ทยอยลดลงและยังต่ำ สวนทางกับ Leveraged Loan ที่เพิ่มขึ้น และสูงกว่า (2) Upgrade / Downgrade Ratio ของ US HY ยังทยอยเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับโมเมนตัมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังดีอยู่ และ (3) ประเด็น Maturity Wall ในระยะสั้นของ US HY ที่ยังไม่ได้น่ากังวลนัก โดยที่ยอดครบกำหนดในปี 2025 อยู่ที่เพียง 36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ด้วย US HY Spread ที่ค่อนข้างแคบ และ UST Yield ตัวยาวที่ยังเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อ จึงทำให้ Upside ของ US HY อาจจำกัด
สินทรัพย์ผสม กึ่งหนี้กึ่งทุน และ REITs
REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับ Portfolio ได้ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ
สินทรัพย์ผสม (Ready Mixed - Asset Allocation) ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง
US REITs
US REITs มีปัจจัยหนุนจาก
- ปัจจัยพื้นฐานที่ดีตามภาพรวมตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง รวมทั้ง Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 94% และกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) ที่เติบโตต่อเนื่อง
- ผลการดำเนินงานที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากต้นทุนทางการเงินที่ลดลงตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง
- งบดุลที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถรองรับการเติบโตในอนาคตได้
- Valuation ที่อยู่ในระดับที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต
อย่างไรก็ตาม Bond Yield สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้น หลังรายงาน Dot Plot ของ Fed ในเดือนธันวาคมปรับลดคาดการณ์การลดดอกเบี้ยในปี 2025 เหลือ 2 ครั้ง เป็นปัจจัยกดดัน US REITs ในระยะสั้น
Private Credit
เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิ์เรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)
หุ้นไทย
ดัชนีฯ ได้ปัจจัยหนุนระยะยาวจาก
- เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น ภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเติบโตดี รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ อาทิ โครงการ Entertainment Complex
- นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยเดือนกุมภาพันธ์ 2025 อีก 25 BPS อยู่ที่ 2.0%
- มาตรการแก้หนี้ของภาครัฐ ช่วยหนุนการบริโภค บรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนุนคุณภาพสินเชื่อ
- กำไรของ บจ. มีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและทยอยปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งแรงขายกองทุนรวม LTF ที่จะครบกำหนดในปี 2025 อาจกดดันดัชนีฯ ในระยะสั้น
หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนระยะสั้น หลัง Fed ส่งสัญญาณชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ยังมีแรงหนุนจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เป็น Soft Landing และแนวโน้ม EPS ที่ขยายตัวได้ดี ท่ามกลางผลบวกจากกระแส AI และนโยบายการกระตุ้นของทรัมป์
หุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากการลดดอกเบี้ย แต่ยังเผชิญแรงนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ และเสถียรภาพทางการเมืองในฝรั่งเศสและเยอรมนีลดลง
หุ้นญี่ปุ่นได้อานิสงส์จากเงินเยนอ่อนค่าและการปฏิรูปบรรษัทภิบาลของตลาดฯ
หุ้นสหรัฐฯ
ความคาดหวังแนวโน้มเศรษฐกิจ Soft Landing ในสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ หลัง PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้น ด้าน Consensus คาด S&P 500 EPS Growth ใน 4Q24 และปี 2024 จะ +8%YoY และ +9%YoY ตามลำดับ ส่วนการที่คณะทำงานของทรัมป์เตรียมเข้ามาบริหารประเทศในเดือนมกราคม 2025 ได้เพิ่มความหวังในตลาดเกี่ยวกับการผ่อนคลายกฎระเบียบและการลดภาษีเงินได้ในสหรัฐฯ ที่ส่งผลบวกต่อ EPS เพิ่มเติมมากขึ้นจากแรงหนุนจากกระแส AI ในสหรัฐฯ ทั้งนี้ เรายังเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่ EPS มีแนวโน้มขยายตัวดี ผสมผสานกับหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ช่วยลดผลกระทบทางลบจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า
หุ้นยุโรป
การทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักในยุโรปมีแนวโน้มสนับสนุนดัชนีหุ้นยุโรป โดยเราเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่มีความสามารถในการทำกำไรสูงและมีงบดุลแข็งแกร่ง ท่ามกลาง Valuation ของดัชนีที่ถูกกว่าดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างมีนัย
อย่างไรก็ตาม เรามีมุมมองระมัดระวังบนประเด็นการเมืองของเยอรมนีและฝรั่งเศสที่มีเสถียรภาพลดลงเนื่องจากการมีรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภา ขณะที่ยังไร้ข้อสรุปบนร่างงบประมาณประจำปี 2568 นอกจากนี้แนวโน้มการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบกับการส่งออกรถยนต์ (กลุ่ม Auto) ของสหภาพยุโรป ท่ามกลางการแข่งขันกับอุตสาหกรรมรถ EV จีนที่มีต้นทุนถูกกว่า
หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
ตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชียยังเผชิญความท้าทายในปี 2025 จาก
- 10Y UST Yield ที่ปรับสูงขึ้นและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น
- ความเป็นไปได้ในการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ หลังการสาบานตนของ โดนัลด์ ทรัมป์ ต่อเศรษฐกิจ
- ความไม่แน่นอนด้านนโยบายและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแต่ละประเทศ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในภูมิภาค แม้อาจปรับลดขนาดความเร็วลงตามแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ทั้งนี้ เน้นลงทุนในตลาดฯ ที่มีความยืดหยุ่น ได้รับประโยชน์จากนโยบายสนับสนุนของจีน และเศรษฐกิจพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก
หุ้นอินเดีย
ตลาดหุ้นอินเดียมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะสั้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาด ตามดัชนี PMI เดือนธันวาคม 2024 ที่อยู่ระดับต่ำสุดในรอบปี โดยธนาคารกลางอินเดียปรับลดคาดการณ์ GDP ใน FY2025 ลงอยู่ที่ 6.6% จากเดิมคาดไว้ที่ 7.2% และได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 6.5% จากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูง ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นอินเดียใน 4Q24 ท่ามกลาง Valuation ของดัชนีฯ ที่ซื้อ-ขายบน Forward P/E เหนือค่าเฉลี่ย 5 ปี ราว +1 S.D.
อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากนโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐฯ น้อยกว่า EM อื่นๆ และโครงสร้างเศรษฐกิจยังเติบโตดีในระยะยาว ทำให้เราแนะนำทยอยสะสมเมื่อย่อตัว
หุ้นอินโดนีเซีย
ตลาดหุ้นอินโดนีเซียได้รับปัจจัยหนุนในระยะยาวจาก
- เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี และ FDI ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ ปราโบโว ซูเบียนโต ซึ่งจะช่วยหนุนภาคการบริโภค และก่อให้เกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น
- ภาคการบริโภคที่ได้ปัจจัยหนุนจากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ปรับตัวขึ้น 6.5% ในปี 2025 และแนวโน้มการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมของ BI ในปี 2025 ราว 75 BPS มาที่ 5.25% ซึ่งจะช่วยหนุนกำลังซื้อของผู้บริโภค
- Valuation ของดัชนีฯ ที่น่าสนใจ โดยซื้อ-ขายบน Forward P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ราว -1 S.D.
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลงเกินระดับแนวรับสำคัญที่ 16,000 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ อาจกดดันดัชนีฯ ในระยะสั้น
หุ้นจีน
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS, ดัชนีฯ ที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว และจากการทยอยออกมาตรการทางการเงิน การคลัง ภาคอสังหาริมทรัพย์ และตลาดทุน ของทางการจีน โดยล่าสุดจีนเตรียมระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวพิเศษจำนวนมากในปี 2568 เพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคธุรกิจและการบริโภค ประกอบกับ จีนจะขยายโครงการนำสินค้าเก่ามาแลกสินค้าใหม่ในปี 2025 ให้ครอบคลุมอุปกรณ์ส่วนบุคคลจากเดิมบนเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและรถยนต์ แม้ว่าข้อพิพาทการค้ากับสหรัฐฯ จะยังดำเนินต่อไปก็ตาม
สินค้าโภคภัณฑ์
ปัจจัยพื้นฐานของทองคำยังคงสนับสนุนการลงทุนในพอร์ตระยะยาวเนื่องจาก
- เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้ ท่ามกลางความขัดแย้งในตะวันออกกลางและสงครามรัสเซีย-ยูเครน
- ความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่อยู่สูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังทรัมป์ชนะเลือกตั้ง สนับสนุนการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ
- ช่วยกระจายความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากนโยบายการกีดกันทางการค้า
- Fund Flow ของ ETF ที่กลับมาซื้อสุทธิใน 2H24 ราว 110 ตัน อย่างไรก็ตาม สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าและ US Bond Yield ที่ปรับขึ้น มีแนวโน้มส่งผลกดดันราคาทองคำในระยะสั้น
ภาพ: Patchareeporn Sakoolchai / Getty Images