THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

เศรษฐกิจไทยไม่พ้นเงาการเมือง! ตลาดจับตา ครม.ใหม่ หากโครงสร้างคล้ายเดิม คาด GDP ปีนี้โต 2.3%

... • 19 ส.ค. 2024

HIGHLIGHTS

7 MIN READ
  • สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวขึ้นได้ดี หลังผ่านเหตุการณ์ Sell Off ในช่วง Black Monday หลังสัญญาณตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังห่างจากภาวะถดถอย แต่ชะลอแบบ Soft Landing ชัดเจนมากขึ้น
  • แต่ตลาดหุ้นไทยถูกกดดันจากความไม่ชัดเจนด้านการเมือง หลังศาล รธน. มีมติให้ เศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรี ตลาดอยู่ระหว่างจับตาการจัดตั้ง ครม.ชุดใหม่ ว่าจะทำได้รวดเร็วเพียงใด หลังสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ
  • บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่าหากโครงสร้างรัฐบาลใหม่ไม่เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันมากนัก เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.3% และ 2.7% ในปี 2024-2025
  • นอกจากนี้ยังต้องจับตาการประชุมสัมมนาวิชาการประจำปีของ Fed ที่เมืองแจ็กสันโฮล ระหว่างวันที่ 22-24 ส.ค. ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท. ตลาดคาดว่ายังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50%

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวขึ้นได้ดี หลังผ่านเหตุการณ์ Sell Off ในช่วง Black Monday หลังสัญญาณตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังห่างจากภาวะถดถอย แต่ชะลอแบบ Soft Landing ชัดเจนมากขึ้น หนุนโดยตัวเลขขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ที่ต่ำกว่าคาดต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน ยอดค้าปลีกเดือนกรกฎาคมขยายตัว 1%MoM สูงกว่าคาด 

 

นอกจากนั้นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.9%YoY ในเดือนกรกฎาคม ต่ำกว่าคาด ขณะที่เงินเฟ้อผู้ผลิต (PPI) เพิ่มขึ้น 2.2% ต่อปีในเดือนกรกฎาคม ต่ำกว่าคาด 

 

ตลาดยังคงมุมมองการลดดอกเบี้ยของ Fed ในเดือนกันยายน แต่มุมมองที่ว่าการปรับนโยบายของ Fed ล่าช้าลดลงทำให้โอกาสปรับลดดอกเบี้ยรุนแรงลดลงเช่นกัน 

 

ด้าน GDP 2Q24 ของญี่ปุ่นขยายตัว 0.8%QoQ สูงกว่าคาดที่ 0.5%QoQ หนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นฟื้นตัวได้เช่นกัน 

 

ฝั่งตลาดหุ้น EM ปรับขึ้น 1.2% ตามตลาดหุ้นทั่วโลก แม้ตัวเลขเศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำกว่าคาด จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม ปรับตัวขึ้น 5.1%YoY ต่ำกว่าคาด ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในช่วง 7M24 เพิ่มขึ้น 3.6% ต่ำกว่าคาด ส่วนอัตราว่างงานในพื้นที่เขตเมืองเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.2% ในเดือนกรกฎาคม จากระดับ 5% ในเดือนมิถุนายน ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีน Underperform 

 

เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทยที่ถูกกดดันจากความไม่ชัดเจนด้านการเมือง หลังศาล รธน. มีมติให้ เศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรี ตลาดอยู่ระหว่างจับตาการจัดตั้ง ครม.ชุดใหม่ ว่าจะทำได้รวดเร็วเพียงใด หลังสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ

 

ส่วนราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นจากความกังวลต่อความไม่สงบในตะวันออกกลางและความกังวลเศรษฐกิจชะลอลดลง

 

คาด Fed ลดดอกเบี้ย 25 bps หลังสัญญาณ Soft Landing ชัดขึ้น 

 

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 2.9% ต่ำกว่าที่ตลาดและเราคาดที่ 3% โดยหากพิจารณาในองค์ประกอบเงินเฟ้อแล้ว พบว่าเป็นการลดลงของทั้งเงินเฟ้อส่วน Cost-Push ตามราคาอาหารและพลังงาน โดยอยู่ที่ 0.49% (p.p.) ซึ่งเป็นทิศทางชะลอตัวตามราคาโภคภัณฑ์โลก และเงินเฟ้อส่วน Demand-Pull อันได้แก่ค่าเช่าบ้านและค่าจ้าง ที่มีทิศทางชะลอต่อเนื่องในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา บ่งชี้เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้โอกาสลดดอกเบี้ยมีมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อและตลาดแรงงานที่ชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นไปในลักษณะ Soft-Landing ทำให้เรายังคงมองว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ย 25 bps ในการประชุมเดือนกันยายน

 

ด้านหุ้นโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังความผันผวนจากสถานการณ์ Black Monday ในช่วงวันที่ 5 สิงหาคม ลดลง โดยตัวเลขเศรษฐกิจโลกชะลอในลักษณะ Soft Landing ขณะที่ค่าเงินเยนในปัจจุบันมีเสถียรภาพที่ประมาณ 147 เยนต่อดอลลาร์ 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงและมี Downside Risk มากขึ้นตามความเสี่ยงทางการเมือง โดย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่าหากสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ได้ภายในเดือนสิงหาคม และโครงสร้างรัฐบาลใหม่ไม่เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันมากนัก เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.3% และ 2.7% ในปี 2024-2025 

 

ขณะที่โอกาสในการทำดิจิทัลวอลเล็ตลดลง หรืออาจปรับเปลี่ยนในรายละเอียด แต่หากไม่ใช่ อาจทำให้กระบวนการงบประมาณส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและนักลงทุน ทำให้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.0% และ 2.5% ในปี 2024-2025 ขณะที่โอกาสในการทำดิจิทัลวอลเล็ตน่าจะถูกยกเลิก

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

1. กลุ่ม Earning Play ซึ่งมีโมเมนตัมกำไรยังดี โดย 3Q67 คาดเติบโต YoY และ QoQ ส่วน 2H67 คาดเติบโต HoH และ YoY อีกทั้ง Valuation ไม่แพง เลือก DELTA, GULF, TU, BTG, BDMS, TRUE, BEM

 

2. นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำและต้องการสร้างกระแสเงินสดในพอร์ต แนะนำหุ้นปันผลสำหรับลงทุนระยะสั้น เลือก BCP, TU ซึ่งคาดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากกำไร 1H67 โดยให้ Dividend Yield 2%

 

3. หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์บวกจากแผนปรับเงื่อนไขกองทุน ThaiESG ใหม่ โดยขยายวงเงินเป็น 3 แสนบาท และลดเวลาถือเหลือ 5 ปี เลือก ADVANC, AOT, CPALL, BDMS, BBL, KTB, GULF

 

4. หุ้นที่สามารถลดความผันผวนและเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากกรณีความไม่สงบในตะวันออกกลาง เลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP

 

“ในช่วงสั้น SET จะยังมีแนวโน้มผันผวน ระหว่างรอความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เพื่อทราบถึงนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการบริหารประเทศ อย่างไรก็ดี ภาพความเสี่ยงการเข้าสู่สุญญากาศการเมืองทำให้มอง SET Index มี Downside โดยประเมินจุดตั้งรับสำหรับการเข้าซื้อจะอยู่ที่บริเวณ 1,250-1,280 จุด ขณะที่ตัวเลข PMI เดือนสิงหาคมของอียูและสหรัฐฯ ที่จะประกาศออกมาคาดยังมีแนวโน้มอ่อนแอ ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดมองถึงการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed สอดคล้องกับรายงานการประชุมของ Fed ส่วน กนง. คาดว่าจะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.5%” 

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

1. การประกาศตัวเลข GDP 2Q24 ของไทย ตลาดคาดขยายตัว 2.4%YoY (เราคาด 2.1%) เร่งขึ้นจาก 1Q24 ที่ขยายตัว 1.5% 

 

2. การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท. ตลาดคาดว่ายังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50%

 

3. รายงานการประชุมของ Fed เมื่อวันที่ 30-31 กรกฎาคม และการประชุมสัมมนาวิชาการประจำปีของ Fed ที่แจ็กสันโฮล ระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม

 

4. ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น เดือนสิงหาคม

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: LHHOTEL - ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง

 

แนะนำ บมจ.แอล เอช โฮเทล หรือ LHHOTEL เนื่องจากเหตุผลหลักดังนี้

 

  • เป็นกอง REIT ประเภทโรงแรมที่มีขนาดสินทรัพย์รวมใหญ่ที่สุดและมูลค่าตามราคาตลาดสูงที่สุดในประเทศไทย โดยมีการเข้าลงทุนในโรงแรม 5 โครงการ (3 โครงการใน กทม. และ 2 โครงการในพัทยา) ซึ่งอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพ อีกทั้งได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยและการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย
  • 3Q24 คาดกำไรปกติทรงตัว QoQ แต่ยังเติบโต YoY แรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยและรายได้เพิ่มเติมจากทรัพย์สิน 2 โครงการที่เข้าลงทุนใน 4Q23 ส่วนปี 2024 คาดมีกำไรปกติ 1.4 พันล้านบาท โตเด่น 45.5%YoY ซึ่งในประมาณการยังมี Upside หลังกำไร 1H24 คิดเป็น 62% ของประมาณการ
  • เป็นหุ้น Defensive อีกทั้งเลือกเป็น Top Pick ของกลุ่ม REIT และ IFF จากทรัพย์สินทุกโครงการที่มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทย และยังให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่น่าสนใจ
  • เราประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่หุ้นละ 15 บาท (อิงวิธี DDM) และคาดว่าจะมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 ที่หน่วยละ 1.16 บาท คิดเป็น Dividend Yield สูงราวปีละ 9.7%

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก

 

ผลประกอบการกลุ่มเทคใหญ่ของจีนอย่าง JD, Alibaba และ Tencent ยังคงเติบโตได้ช้าและอ่อนแอหากเทียบกับฝั่งสหรัฐฯ หลังยังมีแรงกดดันจากการแข่งขันด้านราคาในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะคลาวด์และคอมเมิร์ซ ประกอบกับภาพรวมเศรษฐกิจจีนยังคงฟื้นตัวได้ไม่สม่ำเสมอ ด้วยภาพนี้ทำให้การลงทุนกลุ่มนี้ในจีนยังคงไม่น่าสนใจและมีความเสี่ยง ซึ่งทำให้เราแนะนำให้มอง 1. กลุ่มเทคและคอมเมิร์ซในสหรัฐฯ ที่มีการเติบโตดีกว่า 2. หากให้เลือกในกลุ่มจีน เรามองว่า Tencent มีแนวโน้มดีสุด

 

  • JD.com เผยงบดีกว่าที่คาด โดยเฉพาะกำไรที่เพิ่มขึ้นกว่า 92%YoY สะท้อนภาพการควบคุมต้นทุนที่ดี แต่อย่างไรก็ดีอุปสงค์ผู้บริโภคยังคงชะลอตัว สะท้อนจากรายได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 1.2%YoY และการดำเนินกลยุทธ์ราคาต่ำเพื่อดึงดูดผู้บริโภค
  • Alibaba เผยผลประกอบการต่ำกว่าคาด โดยรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 4%YoY และกำไรหดตัวกว่า 27%YoY หลังการเติบโตของธุรกิจหลักอย่าง Taobao และ Tmall หดตัวลง นอกจากนี้รายได้จากธุรกิจคลาวด์ที่เคยเป็น Growth Driver สำคัญกลับเติบโตเพียง 6%QoQ
  • Tencent เผยงบดีกว่าคาด โดยรายได้เพิ่มขึ้น 8%YoY และกำไรเพิ่มขึ้น 82%YoY หนุนจากธุรกิจเกมที่ฟื้นตัวดีจากการเปิดตัวเกมใหม่ รวมถึง Ads ที่ฟื้นตัวจากแพลตฟอร์มวิดีโอ ขณะที่ฟินเทคและ คลาวด์โตต่ำกว่าคาด สะท้อนถึงการใช้จ่ายในจีนที่ยังอ่อนแอ

 

เรามองว่าการลงทุนกลุ่มนี้ในจีนยังคงไม่น่าสนใจและมีความเสี่ยงหลัง

 

1. กลุ่มบริษัทจีนยังคงมีแรงกดดันหลักจากภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมทั้งคลาวด์ คอมเมิร์ซ และอินเทอร์เน็ตที่รุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของมาร์จิ้นและยอดขาย เช่น การลดราคาขาย การจัดทำโปรโมชัน

 

2. ยอดขายยังคงได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของผู้บริโภคที่ยังคงเปราะบางหลังเศรษฐกิจจีนยังคงฟื้นตัวไม่สม่ำเสมอ

 

3. การเติบโตยังคงอ่อนแอกว่าภาพยอดค้าปลีกของจีนและกลุ่มบริษัทในสหรัฐฯ

 

ด้วยภาพนี้ทำให้เรามองว่าอาจลงทุนใน

 

1. กลุ่มเทคและคอมเมิร์ซในสหรัฐฯ ที่มีภาพการฟื้นตัวและเติบโตดีกว่าอย่าง AMZN, GOOGL 

 

2. หากให้เลือกในกลุ่มจีน เรามองว่า Tencent มีแนวโน้มดีสุดหลังอุตสาหกรรม Ads และเกมยังคงฟื้นตัวได้

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

เงินสด/สภาพคล่อง

 

สินทรัพย์สภาพคล่อง/เงินสด มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ นอกจากนี้สภาพคล่อง/เงินสดมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจพักฐานต่อ และจากความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ข้อพิพาทการค้าระหว่างจีน-คู่ค้าต่างๆ และความตึงเครียดในตะวันออกกลาง แม้ล่าสุดประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่า การทำข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซาจะช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้อิหร่านทำการโจมตีอิสราเอลก็ตาม

 

ตราสารหนี้/เงินฝากระยะยาว

 

CPI และ PPI เดือนกรกฎาคม ต่ำกว่าที่ตลาดคาด สนับสนุนการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ขณะที่ตัวเลขจำนวนผู้รับสวัสดิการจ้างงานที่ต่ำคาดและยอดค้าปลีกเดือนกรกฎาคมที่ดีกว่าคาดช่วยลดความกังวลด้านเศรษฐกิจถดถอย 

 

เรายังคงมุมมองว่าตราสารหนี้ยังมีความน่าสนใจในการถือเพื่อรับ Income และคุ้มค่าที่จะถือเพื่อ Hedge ในกรณีที่เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด 

 

เราคาดว่าความผันผวนของ Bond จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ โดย Bond ตัวยาว (> 7 ปีขึ้นไป) มีความเสี่ยงจากนโยบายการคลังหลังเลือกตั้ง ขณะที่ Bond ช่วงอายุ 2-4 ปี มีความเสี่ยง Duration ที่น้อยกว่า และ Coupon ยังเพียงพอที่จะลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

US Treasury & IG

 

UST Yield, Spread และ YTW ของ IG Credit ค่อนข้างทรงตัวในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังปรับตัวลงแรง จากความกังวลเศรษฐกิจถดถอยช่วงต้นเดือน เช่นเดียวกับ 10Y TGB Yield อยู่ในภาพที่ทรงตัว แนะนำลงทุนทั้ง US Treasury และ IG Bond โดยยังแนะนำให้ลงทุนใน Duration ประมาณ 2-4 ปี เพื่อ Lock Rate ในช่วงของ Curve Steepening โดยผลตอบแทนเฉลี่ยยังอยู่ใกล้ 4-5% ซึ่งสูงกว่าที่ Fed ประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายปกติ ‘ระยะยาว’ ที่ 2.8%

 

High Yield Bond

 

US HY Spread เริ่มทรงตัว หลังตัวเลขผู้ขอสวัสดิการจ้างงานต่ำกว่าคาด และยอดค้าปลีก เดือนกรกฎาคมที่แข็งแกร่ง ช่วยคลายความกังวลด้านเศรษฐกิจถดถอย เราคาดการณ์ว่า Spread ของ HY จะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น และซัพพลายของการรีไฟแนนซ์ที่จะเริ่มออกมาในช่วงปลายปี 2024

 

สินทรัพย์ผสม/กึ่งหนี้กึ่งทุน/REITs

 

REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับพอร์ตโฟลิโอได้ ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับพอร์ตโฟลิโอจากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ 

 

สินทรัพย์ผสมช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง

 

US REITs

 

US REITs มีปัจจัยหนุนจาก 

 

1. Bond Yield สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลง จากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed โดยเราคาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยจำนวน 3 ครั้ง รวม 75 bps ในปีนี้ 

2. Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 93% และกำไรสุทธิจากการดำเนินงานที่เติบโต 

3. อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของ CMBS ในภาค Office ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง 

4. Valuation ที่อยู่ในระดับที่ไม่แพง

 

Private Credit

 

เรามีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)

 

หุ้นไทย

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้ปัจจัยหนุนระยะยาวจาก 

 

1. เศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้นในช่วง 2H24 จากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว 

2. Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพง ขณะที่ผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตขึ้นตามภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว 

3. กระแสเงินทุนจากกองทุนวายุภักษ์ที่จะเข้ามาหนุนดัชนีฯ ในช่วงปลายปี       

4. ค่าเงินบาทที่จะแข็งค่าขึ้นหลังการลดดอกเบี้ยของ Fed จำนวน 3 ครั้งในปีนี้ เป็นบวกต่อเงินทุนไหลเข้าดัชนีฯ ขณะที่ประเด็นทางการเมืองในประเทศที่มีความชัดเจนมากขึ้นช่วยลดความกังวลของนักลงทุน

 

หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว

 

เรามองว่าการเติบโตของกำไรในหุ้นกลุ่ม Growth จะมีลักษณะยังเติบโตสูงกว่าภาพรวมตลาด แต่เริ่มเข้าสู่ภาวะเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลง (Normalization) 

 

ด้วย Valuation ของ Growth Stock ที่มีส่วนต่างกับกลุ่ม Value และ Defensive ค่อนข้างมาก คาดว่า Sector Rotation จะยังมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปี

 

CME FedWatch Tool ปรับน้ำหนักการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed ในปี 2024 ลดลงจาก 125 bps ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม เหลือเพียง 100 bps หลังตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนกรกฎาคม ออกมาดีกว่าคาด ช่วยลดความกังวลเศรษฐกิจถดถอย

 

หุ้นสหรัฐฯ

 

หุ้นเทคโนโลยีฟื้นตัวแรง หลังปรับลดลงในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม จากการคลายความกังวลเรื่อง Recession อย่างไรก็ตาม หุ้นในกลุ่ม Defensive (Utilities, Healthcare และ Consumer Staple) ที่ได้รับแรงหนุนจากการปรับลดดอกเบี้ย และกำไรกิจการมีเสถียรภาพมากกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ ยังคงปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง แสดงถึงแรงส่งของ Sector Rotation ที่ยังมีโมเมนตัมสนับสนุน เรายังเน้นกลยุทธ์ลงทุนแบบ Barbell Strategy ซึ่งมีสัดส่วนของหุ้นกลุ้ม Quality Growth ผสมผสานกับหุ้นกลุ่ม Defensive 

 

หุ้นยุโรป

 

ตลาดหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของ ECB และ BOE (CPI อังกฤษล่าสุดออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด) ที่หนุนทั้ง Valuation และหนุน EPS ตลาด นอกจากนี้ EPS ยังได้แรงหนุนเพิ่มจากโมเมนตัมเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังดี โดยเราเน้นกลุ่มที่มีความสามารถในการทำกำไรที่สูง และมีงบดุลที่แข็งแกร่ง แม้ว่าความเสี่ยงข้อพิพาทการค้ากับจีนรวมถึงกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจสร้างความผันผวนและกดดัน Sentiment ตลาดโดยรวมอยู่ก็ตาม

 

หุ้นญี่ปุ่น

 

เราคาดว่ากลุ่ม Value ญี่ปุ่นมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการปฏิรูปธรรมาภิบาลในญี่ปุ่น นอกจากนี้กลุ่มฯ มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการคุมเข้มทางการเงินของ BOJ เพิ่มเติม (ทั้งขึ้นดอกเบี้ยต่อ และเริ่มลดการเข้าซื้อ JGB) แม้ความไม่แน่นอนทางการเมืองในญี่ปุ่นอาจเพิ่มขึ้น หลังนายกฯ คิชิดะประกาศไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค LDP ก็ตาม

 

หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่

 

การประชุม 3rd Plenum ของรัฐบาลจีน มีมุมมองสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะกลางถึงยาว แต่ยังไม่มีความชัดเจนในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจีนต้องแข่งกับภาพการบริโภคและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงอ่อนตัว 

 

การส่งออกของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ยังบ่งชี้ถึงการฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีที่เริ่มกระจายตัวจากธีม AI มายังกลุ่ม Conventional อย่างสมาร์ทโฟน, ดาต้าเซิร์ฟเวอร์ โดยเราคาดว่าการฟื้นตัวของอุปสงค์ในกลุ่มนี้จะมีสัญญาณชัดเจนขึ้นใน 2H24

 

หุ้นอินเดีย

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยการประกาศงบประมาณปี FY25 บ่งชี้ว่ารัฐบาลยังคงเป้าขาดดุลงบประมาณ ลดลงอยู่ที่ 4.9% ของ GDP แม้ว่าการใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีช่วยทำให้รายได้เพิ่มขึ้น และเงินปันผลของธนาคารกลางที่สูงขึ้น นอกจากนี้ได้เพิ่มเติมงบประมาณในโครงการกระตุ้นการจ้างงาน (Employment Linked Incentive Scheme) ซึ่งช่วยปิดจุดอ่อนรัฐบาลโมดี ด้านการจ้างงานที่อ่อนแอใน 2 เทอมที่ผ่านมา

 

หุ้นอินโดนีเซีย

 

ดัชนีฯ มีปัจจัยหนุนในระยะยาวจาก 

 

1. เศรษฐกิจที่เติบโตแข็งแกร่งจากภาคการบริโภคที่ฟื้นตัว และภาคการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดย GDP ใน 2Q24 ขยายตัวที่ 5.05%YoY นอกจากนี้เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นของรัฐบาลชุดใหม่ 

2. FDI ที่ไหลเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย FDI ในช่วง 2Q24 เติบโตราว 16.6%YoY จากการมีแร่นิกเกิลจำนวนมาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ EV  

3. กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วง 2Q24 เป็นต้นไป 

4. Valuation ที่อยู่ในระดับไม่แพง 

5. ค่าเงินรูเปียห์ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นหลัง Fed ลดดอกเบี้ย

 

หุ้นจีน

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจาก EPS Growth ใน 1Q24 ที่ผ่านจุดต่ำไปแล้ว และจากความคาดหวังการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมอีก หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนส่วนใหญ่ เดือนกรกฎาคมออกมาชะลอลง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่ GDP ทั้งปีอาจพลาดเป้าที่ราว 5% นอกจากนี้คาดว่าบริษัทจดทะเบียนจีน A-Share มีแนวโน้มเพิ่มผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นมากยิ่งขึ้น และทางการจีนยังมีแนวโน้มเข้ามาช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลงและรักษาเสถียรภาพของตลาด

 

สินค้าโภคภัณฑ์

 

ปัจจัยพื้นฐานยังคงสนับสนุนการถือครองทองคำในพอร์ตระยะยาว เนื่องจาก 

 

1. เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ และความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้  

2. เริ่มมีความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์  

3. ประเทศหลักๆ ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ได้กระจายความเสี่ยง ลดการถือเงินดอลลาร์ในทุนสำรองระหว่างประเทศ และมีความต้องการสะสมทองคำมากขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะกลางถึงยาว 

4. เงิน Fund Flow ของ ETF ทองคำ เริ่มกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ หลังจากเทขายมาตั้งแต่ต้นปี 2024 จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 19 ส.ค. 2024

READ MORE



Latest Stories