วันเลือกตั้ง

ทำไม กกต. เลือก 10 มี.ค. เป็นวันเลือกตั้งแทน 24 ก.พ.

08.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS READ
  • การเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ แทบจะปิดประตูไปได้เลย เพราะนอกจากจะทับซ้อนกับพระราชพิธีสำคัญแล้ว จนถึงขณะนี้ (8 ม.ค.) พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง ส.ส. ยังไม่โปรดเกล้าฯ ลงมา
  • 10 มีนาคม 2562 จึงเป็นตัวเลือกที่เป็นไปได้ที่สุดในเวลานี้ เพราะไม่เสี่ยงกับการถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความให้เป็นโมฆะ

การเลือกตั้งที่เคยเข้าใจว่าจะเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ทำท่าจะไม่ใช่อีกต่อไป เหตุด้วยมีปัจจัยสำคัญ 2 ประการ

 

1. เมื่อกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลนำข้อมูลมาให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาประกอบการตัดสินใจ

2. พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้ง ส.ส. ยังไม่โปรดเกล้าฯ ลงมาให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

 

ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลกับ กกต. โดยอ้างว่า หากยังเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จะทำให้การรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 60 วันเกิดขึ้นภายในวันที่ 24 เมษายน 2562 ซึ่งจะตรงกับช่วงเตรียมการของรัฐบาลในการจัดพระราชพิธี

 

ที่สำคัญ หากเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 กำหนดการเดิมของรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกคือ 9 พฤษภาคม 2562 ซึ่งนายวิษณุอ้างว่า ห่างจากช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเพียง 3 วัน และอาจทับซ้อนกับกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธี

 

การเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ ที่เคยเข้าใจกันแทบจะปิดประตูไปได้เลย เพราะนอกจากจะทับซ้อนกับพระราชพิธีสำคัญตามที่รัฐบาลอ้างแล้ว จนถึงขณะนี้ (8 ม.ค.) พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. ยังไม่โปรดเกล้าฯ ลงมา

 

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ยืนกรานว่า ต้องรอให้มี พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง จึงจะเริ่มนับหนึ่งกำหนดวันเลือกตั้ง และพร้อมจัดเลือกตั้งแน่นอน

 

 

ถ้าไม่ใช่ 24 กุมภาพันธ์ แล้วทำไมต้อง 10 มีนาคม และ 24 มีนาคม

หลายฝ่ายมองว่า วันที่ 10 มีนาคม 2562 เป็นวันที่เหมาะสมที่สุดในการจัดเลือกตั้ง โดยคิดจากการเอาวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 (วันครบ 150 วันจัดเลือกตั้ง) เป็นตัวตั้ง แล้วนับย้อนกลับมา 60 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ กกต. จะต้องประกาศผลเลือกตั้ง จะทำให้ตรงกับวันที่ 11 มีนาคม แต่เนื่องจากวันที่ 11 มีนาคมเป็นวันจันทร์ การเลือกตั้งต้องจัดในวันอาทิตย์ จึงเอาวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคมเป็นวันที่เหมาะสม โดยคาดการณ์ว่าพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งจะมีผลบังคับใช้ก่อนวันเลือกตั้ง 45 วัน คือประมาณวันที่ 20-25 มกราคมนี้

 

เลือกตั้ง 24 มีนาคม เสี่ยงถูกยื่นตีความเป็นโมฆะ

ส่วนวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นตัวเลือกที่นายวิษณุเสนอ แต่ต่อมามีฝ่ายการเมืองท้วงติงว่า หากจัดเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม มีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะหาก กกต. ยึดเวลาตามกรอบกฎหมายให้รับรองผลเลือกตั้งไม่เกิน 60 วันหลังวันลงคะแนน ก็จะทำให้การเลือกตั้งเสร็จสิ้นเลยกรอบเวลา 150 วัน หรือ 9 พฤษภาคม 2562

 

 

8 มกราคม 2562 ประธาน กกต. ให้สัมภาษณ์ถึงการกำหนดวันเลือกตั้งว่า “ยังไม่ถึงเวลาที่จะพิจารณาชัดเจนว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งประเด็นประกาศผลเลือกตั้งภายใน 60 วัน และการจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน แต่สิ่งที่ กกต. จะเน้นก็คือ ถ้ามีประกาศวันเลือกตั้งแล้ว กกต. จะต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย”

 

สรุปได้ว่าจุดยืนเบื้องต้นของ กกต. คือ วันเลือกตั้งจะต้องเพลย์เซฟ ไม่เสี่ยงต่อการถูกตีความให้เป็นโมฆะ ‘10 มีนาคม 2562’ จึงเป็นตัวเลือกที่เป็นไปได้ที่สุดในเวลานี้

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญของการเลือกตั้งคือ ‘พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง’ ที่ยังไม่โปรดเกล้าฯ ลงมา อีกทั้งตามขั้นตอนกฎหมายก็สามารถประกาศ ‘พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง’ ช้าที่สุดได้ไกลถึง 10 มีนาคม (ภายใน 90 วัน หลัง พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. บังคับใช้)

 

ดังนั้น หาก ‘พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง’ ประกาศใช้ไม่ทันให้ กกต. กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 10 มีนาคม 2562 ก็อาจจะถึงเวลาที่ กกต. ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ตกลงแล้วคำว่า ‘จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ’ ตามกรอบเวลา 150 วัน ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 268 นั้น นับเฉพาะแค่วันลงคะแนน หรือรวมถึงช่วงการนับคะแนนและรับรองผลเลือกตั้งด้วย

 

10 มีนาคม จึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของวันเลือกตั้ง เช่นเดียวกับ 24 กุมภาพันธ์ ที่เคยเหมือนว่าจะใช่ แต่ก็ไม่ใช่ในที่สุด

 

 

ภาพประกอบ: Thiencharas W.

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X