วันเลือกตั้ง

ปลื้ม-สุรบถ หลีกภัย ในอนาคตสนามการเมือง แตกต่างเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่แตกแยกไม่ใช่

08.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ปลื้ม-สุรบถ หลีกภัย เป็นที่รู้จักมาตั้งแต่เด็ก ด้วยเป็นลูกชายคนเดียวของอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย จากวันนั้นเขาเติบโตขึ้น และวันนี้เขาประกาศเดินสู่สนามการเมืองเช่นเดียวกับบิดา
  • ปลื้มบอกว่าการตัดสินใจทำงานการเมืองมาจากตัวเขาเอง เพราะต้องการเห็นการเมืองที่สร้างสรรค์และมีพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ เขาไม่กลัวเจ็บ เขาเชื่อว่าความแตกต่างมีได้ แต่ความแตกแยกนั้น เราต้องร่วมมือกันไม่ให้ประเทศเดินไปสู่ทิศทางนั้น

“ขอ 3 คำ” คือวลีฮิตในหมู่วัยรุ่นช่วงหลายปีที่ผ่านมาท่ามกลางความขัดแย้งเสื้อสี ซึ่งคนรุ่นใหม่ที่รู้จักวลีนี้อาจเป็นคนที่ไม่รู้เลยถึงต้นตอรากลึกของความขัดแย้ง

 

ที่น่ากลัวที่สุดคือความเกลียดชังจะอยู่ในสังคมไทยไปอีกหลายรุ่นจนเราหลงลืมว่าโกรธเกลียดกันเพราะอะไร

 

เยาวชนที่วันนี้นอกจากอยู่ในสังคมที่ครอบด้วยความขัดแย้งของผู้ใหญ่ ปลื้ม-สุรบถ หลีกภัย บุตรชายอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย และพิธีกรรายการสุดฮิตที่มีคาแรกเตอร์ในการ “ขอ 3 คำ” ยังเห็นว่าเขาถูกครอบด้วยกรอบและการตีตราของผู้ใหญ่อีกชั้นหนึ่งว่าอะไรคือคุณค่าของเขาที่ควรถูกเชิดชูยกย่อง อะไรคือมีสาระ อะไรคือไร้สาระ

 

ด้วยความเชื่อว่าเจเนอเรชันตัวเองคือคนรุ่นใหม่ที่สามารถเป็นสะพานระหว่างคนรุ่นเบบี้บูมซึ่งต่างวัย และคนรุ่นตัวเองที่สามารถคุยกันได้แม้จะเห็นต่างทางการเมือง

 

วันนี้สุรบถจึงต้องก้าวเข้ามาเพื่อทำการเมือง ‘สร้างสรรค์’ เพื่ออนาคตไทยที่ก้าวข้ามความขัดแย้ง และเพื่ออนาคตเยาวชนที่จะได้แสดงศักยภาพในแนวทางที่ตนเองได้ค้นหาอย่างเต็มที่ ไม่ถูกครอบด้วยผู้ใหญ่ซึ่งไม่พยายามเข้าใจ

 

เพราะสุรบถเชื่อว่า “สิ่งที่เด็กๆ ชอบไม่มีอะไรเลยที่ไร้สาระ เพียงแต่ผู้ใหญ่ไม่รู้จักสิ่งนั้นอย่างแท้จริงอย่างที่เด็กๆ รู้จักเท่านั้นเอง”

 

 

ทำไมถึงเข้ามาทำงานการเมืองตอนนี้ ทั้งที่การเมืองไทยมีแต่ความขัดแย้ง

ใช่ แต่ถ้าไม่เข้ามาตอนที่ถึงที่สุดแล้วจริงๆ จะเข้ามาตอนไหน ผมรู้สึกว่ามันคือตอนนี้ที่เราต้องเข้ามาทำอะไรสักอย่าง เราไม่รู้หรอกว่าเราช่วยสังคมได้แค่ไหนหรือทำอะไรได้เยอะแค่ไหน แต่เราเชื่อว่าเราต้องทำอะไรสักอย่าง และไม่ใช่แค่ผม แต่เราทุกคนที่มีส่วนช่วยทำอะไรสักอย่างในยุคที่เป็นแบบนี้ ผมคิดว่าเรารู้อยู่ว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง

 

แล้วอะไรที่คือรูปธรรมของเหตุผลที่ผลักให้ต้องเข้ามา

ผมว่ามีสองข้อ หนึ่ง เรื่องการเมือง ผมว่าเรื่องความขัดแย้ง เราขัดแย้งนานเกินไป แล้วมันจะน่ากลัวที่สุดคือนานเกินจนเราไม่รู้ว่าเราเกลียดกันเพราะอะไร ไม่รู้กันแล้วว่าโกรธกันเรื่องอะไร แต่รู้แค่ว่าอยู่กันคนละด้าน มันไม่เมกเซนส์เลยที่เราจะโกรธกันไปตลอด

 

ผมรู้สึกว่าควรพอได้แล้ว คือไม่ได้แปลว่าแตกต่างกันไม่ได้เลย แตกต่างได้ สังคมมีความแตกต่าง ยิ่งมีโซเชียลมีเดียยิ่งแตกต่างได้ แต่มันต้องไม่ใช่แตกแยกกันขนาดนี้ แตกต่างเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่แตกแยกไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ

 

ถามว่าทำอย่างไรถึงจะแก้ความขัดแย้ง ผมว่าต้องเริ่มจากตัวเราก่อน เรายังจำเป็นต้องหันไปมองอดีตที่ทำให้แต่ละคนไม่พอใจไหม ผมว่านักการเมืองในอดีตต่างประสบพบเจอเรื่องต่างๆ มีการต่อสู้กันมา ทำให้ยากที่เขาจะคุยกันในเร็ววัน แต่ในเจเนอเรชันเราไม่ได้มี ผมไม่ได้รู้สึกว่าเราโกรธเกลียดกันขนาดนั้นนะ

 

ผมรู้สึกว่าเราคุยกันได้ เพราะผมก็มีเพื่อนที่อยู่ต่างพรรคการเมืองเยอะมากๆ เรานั่งกินข้าวกัน นั่งคุยกันได้แบบปกติเลย เพราะอะไร เพราะเราไม่ยกเรื่องบาดหมางขึ้นมาพูดกัน ไม่ใช่ว่าตีเบลอหรือลืม แต่เราเข้าใจว่าอนาคตต้องไปต่อ การจมปลักกับอดีตไม่ก่อผลใดๆ ผมรู้สึกว่าอนาคตคือวันพรุ่งนี้

 

ทุกคนนอนหลับในวันนี้เพราะคาดหวังว่าวันพรุ่งนี้จะดีขึ้น แต่ถ้าไม่เริ่มในวันนี้ มันไม่เกิดขึ้นแน่ๆ ผมเชื่อว่าเบสิกที่สุด อย่างน้อยเราต้องไม่ทะเลาะกันเอง ประเทศถึงจะขับเคลื่อนไปข้างหน้า

แตกต่างได้ แต่มันต้องไม่ใช่แตกแยกกันขนาดนี้ แตกต่างเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่แตกแยกไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ

 

รูปธรรมที่สองที่ผมอยากเข้ามาคือเรื่องเยาวชน เป็นเรื่องที่ผมอยากทำ มาเปลี่ยนระบบทางความคิดของผู้ใหญ่ อย่างน้อยให้ผมเป็นตัวเชื่อม เพราะเด็กหลายคนถูกทิ้งไปจากสังคม ถูกทอดทิ้งทางความคิด

 

ตอนนี้เด็กที่จะได้รับการยอมรับเชิดชูจากทุกคนกลายเป็นว่าต้องเป็นเด็กเรียนเก่ง เป็นเด็กที่ทำในแบบที่สังคมผู้ใหญ่ตีตราว่าเป็นเรื่องที่ดี ผมรู้สึกว่าเป็นอะไรอย่างนั้นมากเกินไป

 

ผมรู้สึกว่าสังคมเรามีความแตกต่างมากๆ บางครั้งการเรียนเก่งมันเป็นเรื่องขีดจำกัดนะ เด็กบางคนมีความแตกต่าง เด็กบางคนไม่ได้เกิดในครอบครัวที่มีความพร้อม ทุกวันนี้เรากำลังมัดรวมให้ความแตกต่างมากมายไปกระจุกรวมกันในบรรทัดฐานและกรอบของผู้ใหญ่ แล้วผู้ใหญ่แก้ปัญหาอย่างไร ก็คือให้ไป ‘คิดนอกกรอบ’ ทุกคนสร้างสรรค์ไปเลย แต่พอเด็กออกนอกกรอบจริงๆ แล้วเป็นยังไง รับไม่ได้ ไอ้นั่นไร้สาระ นั่นมอมเมา นอกกรอบ ไม่จริง  

 

ผมบอกเลยว่าผมเข้าใจมากๆ ผมต้องการเข้ามาเพื่อเปลี่ยนเรื่องนี้ และผมจะไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะถูกตราหน้าหรือกลั่นแกล้งอย่างไรก็ตามแต่ เขามีคุณค่า และเราต้องเข้าใจในความชอบของเขา

 

 

มีตัวอย่างที่พอจะทำให้เห็นภาพขึ้นอีกไหม

ผมยกตัวอย่างที่ชัดเจนคือเกม ตอนนี้เป็นจำเลยสังคม อีสปอร์ตชัดเจนที่สุด เด็กติดเกม ใช้เวลาว่างไม่เป็นประโยชน์ สุดท้ายก็ไปบอกว่าไร้สาระ

 

ผมอยากบอกเลยว่าสิ่งที่เด็กๆ ชอบไม่มีอะไรเลยที่ไร้สาระ มีแต่คุณไม่รู้จักสิ่งนั้นอย่างแท้จริงอย่างที่เขารู้จัก ทุกสิ่งมีสาระและมีสิ่งที่อยู่สูงสุดในสิ่งนั้นๆ เช่น ถ้าบอกว่าเด็กติดเกมไม่ดี มอมเมา แปลว่าคุณไม่รู้เลยว่าเกมส่งเสริมอะไรบ้าง มันเป็นยุคสมัย เป็นสิ่งที่คุณไม่มีวันไปหยุดมันได้ ตลาดอีสปอร์ตก็ไม่มีวี่แววจะหยุดลงเลย คนจะสนใจยิ่งขึ้น

 

เราไม่ควรจะบอกว่าไร้สาระ แต่ควรอธิบายด้วยเหตุผลถึงความพอดี สนับสนุนในความชอบของเขา เราอาจส่งเสริมให้เขาไปเขียนโค้ดเกม หรือส่งเสริมให้เป็นนักกีฬาอีสปอร์ต ซึ่งถ้าเขาประสบความสำเร็จ มันอาจต่อยอดไปได้หลายอย่าง เราต้องเข้าใจความชอบของเด็ก

 

ท้ายที่สุดการมองว่ามันไร้สาระเป็นเหมือนผู้ใหญ่ปิดกั้นแล้วไปทำให้เขาต้องเดินในทางที่เขาไม่ถนัด ซึ่งคุณจะไม่รู้หรอกว่าเขาไม่ถนัดอะไรจริงๆ ตราบใดที่ไม่ลองให้เขาทำก่อน เราต้องเปิด ไม่ว่าอะไรก็ตามแต่ อาจเป็นเรื่องความชอบ เช่น คุณชอบดูแอนิเมะ ชอบดูหนัง ทุกอย่างมีสาระของมัน มันต่อยอดไปสู่ทางอื่นๆ ได้ สมมติคนคนนี้ติดซีรีส์ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าวันหนึ่งเขาอาจเป็นนักเขียนนิยายที่โด่งดังก็ได้ หรือเขาอาจเป็นผู้กำกับทำหนังร้อยล้านพันล้านก็ได้

 

อะไรก็ตามที่มองว่าไร้สาระ มันมีสาระและมีจุดสูงสุดของมัน เราต้องสนับสนุนเขา อย่างการเป็นติ่งเกาหลี คนจะคิดแล้วว่าแย่ ไปตามกรี๊ด ซึ่งมันคือเรื่องรสนิยมและความชอบ ทำให้สังคมมีความหลากหลาย พอสังคมมีความหลากหลาย มันมีการเติบโตในทุกๆ ภาค แต่เราต้องสนับสนุนเขา

ในโลกที่หมุนเร็วเสียเหลือเกิน ยังไงการทำงานแบบคนยุคใหม่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องมาเป็นตัวเชื่อมเจเนอเรชัน

 

ความขัดแย้งที่เป็นมรดกตกทอดมายังเจเนอเรชันใหม่มันไม่น่ากลัวสำหรับเราหรือ ยิ่งวันนี้ที่ตัดสินใจเข้าสู่การเมือง มันไม่หนักกว่าเดิมหรือ จะอยู่กับมันอย่างไร

ถามว่ากลัวไหม ต้องเรียกว่าถ้าใจเราพร้อม มันไม่มีอะไรต้องกังวล ถ้าเรารู้สึกว่าพร้อมจริงๆ ผมคิดว่าแพสชันจะเป็นตัวทำให้เราต่อสู้กับอุปสรรคที่เรากลัว

 

แต่จริงๆ รู้สึกว่าความกลัวคืออนาคต ความกลัวคือสิ่งที่ยังไม่เกิด แต่เรากลัวไปก่อน มันยังไม่เกิดขึ้น เราไม่ควรกลัวไปก่อน ถ้าเรากลัว เราจะเริ่มทำอะไรไม่ได้เลย แต่ถามว่าเจ็บตัวไหม อันนี้แน่ๆ แต่พร้อม ถามว่าแล้วทำไมถึงยอมเข้ามาเจ็บตัว เพราะผมเชื่อว่าหลายคนคิดว่าคนเข้ามาทำงานการเมืองต้องหวังผลประโยชน์ ผมบอกเลยนะว่ามีอีกหลายอาชีพที่ไม่ต้องเจ็บตัวและได้ประโยชน์อย่างนี้

 

แล้วถามว่าเจเนอเรชันผม ถ้าไม่เข้ามามันก็ต้องเป็นนักการเมืองรุ่นพ่อรุ่นแม่ไปเรื่อยๆ ซึ่งผมไม่ได้บอกว่านักการเมืองรุ่นผู้ใหญ่ไม่ดีนะ พวกท่านมีประสบการณ์ แต่ถามว่าในโลกที่หมุนเร็วเสียเหลือเกิน ยังไงการทำงานแบบคนยุคใหม่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องมาเป็นตัวเชื่อมเจเนอเรชัน

 

อะไรเป็นเหตุผลที่คุณต้องเลือกพรรคประชาธิปัตย์

นอกจากเรื่องเป็นสถาบันทางการเมืองแล้ว ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เก่าแก่ที่สุดในไทยเลยนะ ในความเก่าแก่ แน่นอน มีคนแซว คนพูดว่าไดโนเสาร์มาก แต่อย่าลืมว่าอะไรที่อยู่นานๆ จะคู่กับการมีประสบการณ์ ประชาธิปัตย์สามารถเอาประสบการณ์เหล่านั้นมาหล่อหลอมกับการทำงานของคนยุคใหม่ มันจะได้เคมีอะไรบางอย่าง และผมว่ามันเป็นเรื่องของตรรกะที่ว่าเคมีระหว่างเรากับประชาธิปัตย์สามารถจูนกันได้

ผมไม่อยากได้การเมืองประเภทเอาพรรคพวก เอาเพื่อนมา เราต้องเอาคนที่เก่งที่สุดมาเพื่อไม่ให้ประเทศเราน้อยหน้าใคร

 

ฝันว่าอยากจะเห็นการเมืองเป็นแบบไหน

การเมืองแบบคัดสรรบุคคลที่เก่งที่สุดเพื่อประเทศชาติครับ ผมให้คำจำกัดความมันว่าการเมืองแบบสร้างสรรค์ก็ได้

 

ผมรู้สึกว่ามันคือการที่เราเอาใครก็ตามแต่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้นๆ มาช่วยกันปรึกษาหารือเพื่อประเทศชาติและปากท้องให้ไปในทางที่ดีที่สุด

 

อำนาจตัดสินใจไม่ควรไปอยู่ที่ใครหรือที่พรรคใดพรรคหนึ่ง มันควรเป็นการเมืองที่คุยกันได้ ถ้าคนรู้สึกว่าพรรคนี้ คนนี้เก่งด้านนี้ที่สุด เราควรเอาเขามาคุย เอามาช่วย ควรให้เขามีอำนาจตัดสินใจ

 

ผมไม่อยากได้การเมืองประเภทเอาพรรคพวก เอาเพื่อนมา เราต้องเอาคนที่เก่งที่สุดมาเพื่อไม่ให้ประเทศเราน้อยหน้าใคร

 

 

คิดว่าทำไมกระแสคนรุ่นใหม่ถึงเป็นประเด็นขึ้นมา ทุกพรรคก็ต้องเปิดตัวคนรุ่นใหม่

ผมมองว่าเพราะคนเบื่อ เบื่อการที่เปิดข่าวมาแล้วไม่เข้าใจเลย ผมเคยคุยกับเด็กวัยรุ่นว่าทำไมไม่สนใจเลย เขาบอกอยู่สองเรื่อง เรื่องแรก เปิดข่าวมาแล้วนักการเมืองทะเลาะกันในเรื่องที่เขาไม่รู้สึกว่าเกี่ยวกับเขาเลย มันทำให้กลายเป็นเรื่องไกลตัวไปโดยปริยาย

 

สอง เขารู้สึกว่าความคิดเห็นของเขาไม่มีประโยชน์ที่จะเสนอออกไป ไม่รู้สึกว่าความคิดเห็นของเขาจะมีค่าในการไปช่วยเปลี่ยนอะไรได้ พอเขาไม่เห็นค่าก็ไม่สนใจ ก็ปล่อยปละละเลย ดังนั้นเทรนด์ของนักการเมืองรุ่นใหม่มันอาจจะเปลี่ยนจุดนี้ได้ ทำให้คนไม่เบื่อการเมือง เพราะการที่คนเบื่อการเมืองทำให้เกิดผลเสีย การเมืองมันเป็นทุกๆ เรื่อง  

 

คนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เสนอตัวมาทำงานการเมือง คิดว่าเขาตื่นตัวทางการเมืองไหม

ผมคิดว่าตื่นตัวได้มากกว่านี้ และมันเป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ในทุกๆ พรรคที่ต้องทำให้เขาสนใจ คือผมไม่สนเลยว่าใครจะชนะเลือกตั้ง ใครจะได้เป็นรัฐบาล เป็นฝ่ายค้าน ผมสนแค่อยากให้ทุกคนที่เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ในทุกๆ พรรคมาช่วยกันแชร์ประเด็น แชร์ความน่าสนใจที่จะทำให้คนรุ่นใหม่มาสนใจ มันเป็นสิทธิประโยชน์ของเขาเองที่เขาต้องสนใจ

 

คนมักรู้สึกยี้เวลาพูดเรื่องการเมือง อะไรจะทำให้คนไม่ยี้

ผมว่าเรื่องภาษา เราต้องพูดภาษาเดียวกัน ไม่ทำให้เป็นเรื่องยาก อย่างผมไปบรรยายตามมหาวิทยาลัยเรื่องงานสายโปรดักชันของเรา เราจะไม่ใช้ภาษายากๆ ทางโปรดักชัน เราต้องอย่าลืมว่าเราไม่ได้มาโชว์ภูมิ เราไม่ได้มาโชว์ว่าเราเก่ง คนจะเก่งหรือไม่เก่งนั้นไปดูที่งานที่ทำออกมาได้ แต่เราต้องสื่อสารให้เข้าใจว่าจะคุยภาษาเดียวกันกับเขาอย่างไร เริ่มจั่วหัวจากเรื่องอะไรง่ายๆ ให้เขารู้ถึงความสำคัญ ดูไม่ยาก แต่ก็ไม่ตลกเกินไปถ้าเป็นเรื่องการเมือง เพราะเรื่องของประเทศชาติเป็นเรื่องสำคัญ

ประเทศชาติเป็นของทุกเจเนอเรชัน ทุกคนต้องคุยกันตรงกลางแล้วทำให้เกิดประสิทธิผลที่สุด แต่จุดเริ่มต้นคือต้องลดอีโก้

 

พูดเรื่องคนรุ่นใหม่มามาก แล้วคนรุ่นคุณพ่อเราจะจูนกับเขาอย่างไร

คนรุ่นเบบี้บูม ผมว่าเราต้องลดอีโก้ของทุกคน ผมไม่ได้บอกว่าคนรุ่นเก่าไม่ดี คนรุ่นเก่าเก๋าเกม มีประสบการณ์มากกว่าเรา รู้ว่าทำอะไรมีประโยชน์ต่อสังคม แต่ผู้ใหญ่ก็ต้องยอมรับว่าต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามา เหมือนเทียบกับสายงานเสนอขายโฆษณาซึ่งเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งเลยในการอธิบายภาพในหัวของเราให้ลูกค้าเข้าใจ แล้วให้ภาพในหัวนำไปสร้างงานให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมจริงๆ ได้ ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องของการแบ่งแยกว่าผู้ใหญ่อยู่โน่น เด็กอยู่นี่ แต่ประเทศชาติเป็นของทุกเจเนอเรชัน ทุกคนต้องคุยกันตรงกลางแล้วทำให้เกิดประสิทธิผลที่สุด แต่จุดเริ่มต้นคือต้องลดอีโก้ ผมเคยทำงานกับผู้ใหญ่ที่เปิดใจ มันสุดยอดมาก เขาจะเอาประสบการณ์ของเขามาเสริมเรา

 

ตอนนี้เตรียมตัวเองอย่างไร

เบื้องต้นมีคุยกับคนรุ่นใหม่ในพรรคว่าจะทำอะไรกันบ้าง นโยบายที่ชัดเจน อย่างที่บอกว่าการเมืองในยุคใหม่จะเป็นการเมืองของคนที่ถนัดในแต่ละเรื่อง เราเอาคนที่เก่งมาคุยว่าจะทำอะไรในแต่ละด้าน

 

คาดหวังกับอนาคตตัวเองบนเส้นทางการเมืองที่มาเล่นตอนนี้อย่างไร

รูปธรรมทางผลงาน คือผมไม่คิดว่าจะต้องอยู่กี่ปีแล้วจะได้เป็นอะไร ผมรู้สึกว่าต่อให้ผมไม่มีตำแหน่งอะไรเลย แต่ถ้าสิ่งที่ผมคิดเป็นประโยชน์ต่อสังคมและถูกนำไปใช้ มันทำได้จริงๆ มีคนเชื่อมือพวกเราว่าเราทำได้ ผมเชื่อว่ามันจะออกมาเป็นอะไรที่ดีมากๆ โดยไม่ต้องเอาตำแหน่งมาคิด เป็นเรื่องของคนยุคใหม่ที่ไม่ได้อยากสร้างผลงานเอาหน้า แต่อยากสร้างผลงานที่ออกมาช่วยสังคมได้จริงๆ

การที่เรามีแสงสว่างในใจจะทำให้เราไม่ออกนอกลู่นอกทาง ไม่ทำให้เราไปเบียดเบียนใคร หรือไปทำอะไรแย่ๆ กับคนอื่น

 

คุยกับคุณพ่อไหม

คุย แต่ไม่ได้คุยในแง่ว่าจะวางแผนยังไง จะเปิดตัวยังไง คือแค่คุยว่าปลื้มมีแพสชันอย่างนี้ มีความคิดว่าปลื้มกับกลุ่มเพื่อนจะทำได้ดีและเกิดประโยชน์

 

คิดว่าได้อะไรจากคุณพ่อมากที่สุด

หลักการ ความคิดด้านความดี คุณพ่อจะไม่ใช่คนที่สอนโดยห้ามทำโน่นทำนี่ว่ามันไม่ดี แต่คุณพ่อจะให้เหตุผล แล้วเหตุผลนั่นแหละครับที่หล่อหลอมให้ผมเข้าใจคำว่าความดี และการที่ผมมีความดียึดเหนี่ยวในจิตใจ ผมไม่ได้บอกว่าผมเป็นคนดีที่สุดนะ แต่ผมรู้สึกว่าการที่เรามีแสงสว่างในใจจะทำให้เราไม่ออกนอกลู่นอกทาง ไม่ทำให้เราไปเบียดเบียนใคร หรือไปทำอะไรแย่ๆ กับคนอื่น

 

ผมรู้สึกว่าคุณพ่อเป็นตัวอย่างที่ดี แต่อย่างที่บอกว่าคุณพ่อก็ส่วนคุณพ่อ ผมไม่ใช่ร่างโคลนนิ่ง ผมมีสไตล์การทำงานแบบของผม ผมคือปลื้ม ไม่ได้บอกว่าคุณพ่อเป็นอย่างนี้แล้วผมต้องเป็นอย่างนี้ แต่อย่างน้อยที่สุดคือคุณพ่อสอนผมเรื่องความดี

 

ประสบการณ์จาก VRZO จะอามาช่วยด้านการเมืองได้อย่างไร

ไม่ส่งเสริมกันครับ (หัวเราะ) ชัดเจนครับ เพราะผมจะไม่มีวันเอาแบรนด์ VRZO มาเกี่ยวกับการเมืองครับ ผมจะไม่เอา VRZO มาใช้หาเสียง เพราะมันเป็นแบรนด์เพื่อวัยรุ่น สร้างคอนเทนต์เพื่อวัยรุ่น สร้างฝันให้กับเด็กๆ

 

ผมไม่เอา VRZO มารวมกับทางสายการเมืองแน่ๆ ว่าเราจะเอาฐานอันนั้นมานี่นั่นโน่น คืออาจหลีกเลี่ยงเรื่องที่ว่าผมเป็นเจ้าของ VRZO ไปไม่ได้ แต่ผมจะไม่เอาแบรนด์ประชาธิปัตย์ไปใส่ใน VRZO แน่ๆ มันผิดความตั้งใจผมมากๆ เลย

 

ทำการเมืองคือการตั้งต้นใหม่

ทำใหม่ ตั้งใหม่ เหมือนกับตอนผมทำ VRZO ผมก็ไม่เอาชื่อคุณพ่อมาใช้ เราก็ไม่เคยทำอย่างนั้น มันคนละพาร์ตกันเลย มันจะกลายเป็นว่าไม่ได้พิสูจน์อะไรเลย

 

รายการจะยังมีต่ออยู่ไหม

ก็ยังทำ เรามีโปรดิวเซอร์ มีคนที่บริษัทดูแลต่อ ผมมาตรงนี้ก็ทุ่มพลังกับตรงนี้จริงๆ เรามาทำเล่นๆ ไม่ได้ เหมือนอย่างที่ผมจะทำเรื่องเกี่ยวกับเด็ก เราไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง ผมก็ต้องเข้ามาทำในทุกส่วนจริงๆ ให้เต็มที่ เพราะฉะนั้นส่วนของ VRZO ก็มีการบริหารจัดการของบริษัท

ความสร้างสรรค์เป็นบ่อเกิดของทุกอย่างที่ไปในทางที่ดี ถ้าเราไม่คิดสร้างสรรค์ เราจะบินไม่ได้เลยแบบทุกวันนี้

 

กลับมาเรื่องในบ้านที่หมายถึงในพรรคประชาธิปัตย์ที่กำลังมีการเลือกผู้นำใหม่ คิดว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในความคิดที่อยากเลือกมีคุณสมบัติอย่างไร

สองข้อครับ เก่งและเปิดรับ เก่งเป็นคุณสมบัติของผู้นำที่ดีที่สุด คนเก่งมีวิธีการจัดสรรบุคลากร นโยบาย ความคิดที่จะพาทุกอย่างไปทางที่ดี อย่างที่สองคือเปิดรับ หัวหน้าอาจเป็นคนที่ไม่ได้เจเนอเรชันเดียวกับผม เพราะนั้นอาจจะกลับมาสู่สิ่งที่เราคุยทั้งหมดว่าเขาต้องเปิดรับให้เราได้มีเวทีของตัวเองเพื่อบอกว่ามีอะไรบ้างที่เราทำได้

 

สุดท้ายต้องสไตล์ปลื้มหน่อย ไม่ได้เอา VRZO มาเกี่ยวข้อง แต่ต้องขอ 3 คำสักหน่อย

นั่นไง!

 

3 คำให้กับการเริ่มต้นใหม่วันนี้กับที่เราตัดสินใจทุ่มเต็มตัว ขอ 3 คำให้กับสิ่งที่คุณกำลังจะทำในอนาคตเกี่ยวกับการเมือง

ต้องสร้างสรรค์

 

เพราะผมเชื่อว่าความสร้างสรรค์เป็นบ่อเกิดของทุกอย่างที่ไปในทางที่ดี ถ้าเราไม่คิดสร้างสรรค์ เราจะบินไม่ได้เลยแบบทุกวันนี้ เพราะเราอยากจะบินเหมือนนกก็เลยสร้างสรรค์เครื่องบินขึ้นมา การสร้างสรรค์หมายถึงอะไรใหม่ๆ ที่จะก้าวเดินไป ก็เลยรู้สึกว่าต้องสร้างสรรค์

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising