(11 ม.ค.) นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในการเสวนาเรื่องการศึกษาที่พรรคเพื่อไทยว่า แนวคิดนโยบายการศึกษาของพรรคคือมุ่งพัฒนาคนให้ทันโลก มีทักษะศตวรรษที่ 21 ไม่ทิ้งลูกหลานไทยไว้ข้างหลัง โดยนโยบายจะแก้ปัญหาพื้นฐานสำคัญ 3 เรื่องคือ
1. สร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เด็กไทยจะยากดีมีจน อยากเรียนต้องได้เรียน
2. ยกระดับคุณภาพการศึกษาทุกช่วงชั้น ตั้งแต่เด็กอ่อนจนถึงมหาวิทยาลัย
3. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ การใช้งบประมาณ และกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้โรงเรียน-ชุมชนเข้าร่วมจัดการศึกษา
โดยแนวคิดของพรรคมีเป้าหมายให้คนไทยมีสมรรถนะและทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะ 3 ภาษา ไทย-อังกฤษ-จีน เรียนจบแล้วมีงานทำ โดยเฉพาะอาชีวศึกษา ให้คนเรียนมีฝีมือและทักษะตามที่ตลาดต้องการ พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการศึกษาปฐมวัย หรือเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงอายุ 8 ขวบ เพราะการศึกษาของเด็กเล็กเปรียบเหมือนเสาเข็มแรกของชีวิต โดยแนวคิดเชิงนโยบายบางส่วนที่มีการนำเสนอเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานการศึกษาไทย เช่น
- เรียนฟรี 15 ปีต้องฟรีจริง
- ไม่ทิ้งเด็กไทยไว้ข้างหลัง เด็กจะยากดีมีจนก็ต้องได้เรียนหนังสือ สนับสนุนให้แก่นักเรียนที่ออกจากโรงเรียนเพราะยากจนให้เรียนจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน สนับสนุนให้เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษากลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและพัฒนาอาชีพ
- 8 ปีชี้ทางชีวิต เพิ่มงบประมาณและให้ความสำคัญการศึกษาปฐมวัย มีมาตรการช่วยเหลือตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาถึงอายุ 8 ขวบ ยกระดับให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอัจฉริยะ 20,000 แห่ง
- เรียนก่อนผ่อนทีหลังเมื่อมีงานทำ ด้วยกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต ผ่อนคืนเมื่อมีรายได้
- โรงเรียนออนไลน์ คนไทยต้องเข้าถึงการศึกษาคุณภาพทุกที่ทุกเวลาด้วยการเรียนรู้แบบดิจิทัลผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มด้วยเนื้อหาระดับโลก
- ปฏิรูปหลักสูตร ‘หลักสูตรศตวรรษที่ 21 เลิกท่องจำ ก้าวล้ำคิดสร้างสรรค์’ ให้เด็กไทยมีทักษะคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ สร้างสมรรถนะ เลิกการเรียนแบบท่องจำ คนรุ่นใหม่ต้องคิดเป็น แก้ปัญหาได้
- สอนน้อยลง แต่เก่งมากขึ้น ลดชั่วโมงเรียนทั้งปีลง แต่ไปเรียนรู้ทักษะและฝึกสมรรถนะอนาคตมากขึ้น
- เด็กไทยได้ 3 ภาษา ไทย-อังกฤษ-จีน พลิกโฉมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้สามารถสื่อสารได้ตั้งแต่ชั้น ม.3 ผ่านครูเจ้าของภาษาและแอปพลิเคชันฝึกภาษา
- หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียน สองภาษา ไทยและอังกฤษ เพื่อเพิ่มทักษะด้านภาษาและการเรียนรู้ให้นักเรียนทั่วประเทศ
- สร้างครูพันธุ์ใหม่และคืนครูให้ห้องเรียน เวลาอย่างน้อย 90% ของครูต้องใช้เพื่อการเรียนการสอน ไม่ใช่ไปทำงานธุรการ
- เรียนฟรีสำหรับผู้เรียนอาชีวศึกษาในสาขาขาดแคลน
- ศูนย์ฝึกทักษะฝีมืออัจฉริยะในทุกภูมิภาค เพื่อฝึกทักษะฝีมือครู นักเรียน ประชาชน
- กองทุนอาชีวะสตาร์ทอัพ เพื่อมีเงินทุนตั้งต้นส่งเสริมให้นักเรียนอาชีวะไปเป็นผู้ประกอบการ
- มหาวิทยาลัยให้บริการเรียนรู้ตลอดชีวิตและรองรับสังคมผู้สูงอายุ ฝึกทักษะใหม่ให้คนทำงาน
- ‘โรงเรียนของเรา ชุมชนของเรา’ กระจายอำนาจ เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชนท้องถิ่นในการจัดการศึกษาของโรงเรียน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์