- ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอีกครั้ง เนื่องจากเผชิญความเสี่ยงที่หลากหลาย ตั้งแต่ตลาดแรงงานชะลอตัว ไปจนถึง IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีหน้าเหลือ 2.7%
- ตลาดเงินผันผวนหนักหลังจาก BOE ไม่ต่ออายุมาตรการ QE ส่งผลให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะตึงตัวทางการเงินเพิ่มขึ้น
- ความเสี่ยง 2 ประการหลักของตลาดการเงินที่รออยู่คือ การขาดสภาพคล่อง (Illiquidity) และการล้มละลาย (Insolvency) ซึ่งจะทำให้เกิดวงจรเงินเฟ้อขาขึ้น และการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อปราบเงินเฟ้อต่อเนื่องอีก
- ส่งผลให้ในปีหน้า ความเสี่ยงเศรษฐกิจจะมากขึ้น ทั้งจากความตึงตัวทางการเงินและนโยบายการเงินที่แตกต่างกัน
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดกลับมาปรับตัวลดลงอีกครั้งจากหลากหลายปัจจัยเสี่ยง กล่าวคือ
1. ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยตำแหน่งงานเพิ่ม 2.63 แสนตำแหน่งใกล้เคียงคาด ขณะที่อัตราว่างงานกลับลดลงมาอยู่ที่ 3.5% อีกครั้ง ทำให้ตลาดมองว่า Fed จะยังคงขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง โดยมีโอกาส 84% ที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน
2. IMF ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีหน้าลงเหลือ 2.7% จาก 2.9% พร้อมส่งสัญญาณกังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง
3. ความกังวลภาวะตลาดการเงินโลกผันผวนกลับมาอีกครั้งหลังธนาคารกลางอังกฤษ หรือ BOE ประกาศไม่ต่ออายุมาตรการ QE หลังหมดอายุในวันศุกร์ที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนกองทุนบำเหน็จบำนาญที่ขาดทุนหลังผลตอบแทนพันธบัตรอังกฤษปรับสูงขึ้น ทำให้หลายฝ่ายกังวลความตึงตัวทางการเงินมากขึ้น
4. สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทวีความรุนแรงขึ้นหลังสะพานที่เชื่อมระหว่างแคว้นไครเมียและรัสเซียถูกโจมตี ทำให้ทางการรัสเซียตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธถล่มกรุงเคียฟอย่างรุนแรง
5. ตลาดการเงินสหรัฐฯ เริ่มเผชิญความเสี่ยงตราสารหนี้ที่ค้ำประกันโดยเงินกู้สหรัฐฯ (CLOs) ถูกเทขายเป็นจำนวนมากหลังวิกฤตพันธบัตรอังกฤษ และทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเด้งขึ้นใกล้ 4% อีกครั้ง
6. รองประธาน Fed และประธาน Fed สาขาชิคาโกเริ่มกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น และออกมาแสดงถึงความระมัดระวังในการขึ้นดอกเบี้ย
7. จำนวนผู้ป่วยโควิดของจีนปรับตัวสูงสุดในรอบ 2 เดือนก่อนการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีน
อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีปัจจัยบวกขึ้นเล็กน้อย หลังตัวเลขการคาดการณ์เงินเฟ้อใน 1 ปีข้างหน้าสหรัฐฯ ของ Fed New York ปรับลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยล่าสุดมาอยู่ที่ 5.4%
โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง 1.9% (EM -3.7%, DM -1.7%) โดยได้รับแรงกดดันจากการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกของ IMF สหรัฐฯ ควบคุมการเข้าถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของจีน และจำนวนผู้ป่วยใหม่ของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้กังวลต่อการล็อกดาวน์ รวมถึงตัวเลขสถานะทางการเงินของประเทศ EM ที่ดูเหมือนอ่อนแอลงจากภาพของเงินทุนสำรอง
ส่วนหุ้นกลุ่ม Value (-1.3%) ให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้นกลุ่ม Growth (-2.6%) หุ้นขนาดเล็ก (-1.5%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ (-2.0%) กลุ่มเทคโนโลยีปรับลดลง 3.3% จากมาตรการควบคุมการเข้าถึงเทคโนโลยีของสหรัฐฯ จากจีน กลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคารปรับลดลง 3% จากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่วนกลุ่มเชิงรับปรับตัวลดลงเล็กน้อยโดย -0.5-1%
ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลงจากหลายปัจจัยเสี่ยง กล่าวคือ ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ตลาดมองว่า Fed จะยังคงขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง รวมถึง IMF ส่งสัญญาณกังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น อีกทั้งความกังวลภาวะตลาดการเงินโลกผันผวนกลับมาอีกครั้งหลังธนาคารกลางอังกฤษ หรือ BOE ประกาศไม่ต่ออายุมาตรการ QE ขณะเดียวกัน สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนรุนแรงขึ้นหลังสะพานที่เชื่อมระหว่างแคว้นไครเมียและรัสเซียถูกโจมตี
ส่วนตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรงตามทิศทางตลาดการเงินโลก ผลจากความกังวลเศรษฐกิจโลกที่มากขึ้น ขณะที่ตลาดยังเชื่อว่า Fed จะยังขึ้นดอกเบี้ยแรง ด้านตัวเลขผู้ติดเชื้อจีนที่สูงขึ้นกดดันโอกาสในการที่จีนจะเปิดประเทศและเป็นบวกต่อภาคการท่องเที่ยวไทย ขณะที่ ธปท. ออกจดหมายชี้แจงคลังหลังพลาดเป้าเงินเฟ้อ โดยมองว่าเงินเฟ้อจะกลับมาสู่เป้าหมายกลางปีหน้า และพร้อมขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป สนับสนุนหุ้นกลุ่มธนาคารด้วยเช่นกัน
ทางด้านผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี ปรับขึ้นแรงไปอยู่ที่ระดับ 3.95% ขณะที่ระยะสั้น 2 ปี ปรับขึ้นแรงเช่นกันไปอยู่ที่ 4.16% ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ย 2-10 ปี ทรงตัวที่ 0.36% ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นแรงมาอยู่ที่ 3.20% ขณะที่ระยะสั้น อายุ 2 ปี ปรับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.88% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 45,489 ล้านบาท
‘ขาดสภาพคล่อง-ล้มละลาย’ ความเสี่ยงหลักตลาดเงิน
InnovestX มองว่า ปัจจุบันตลาดการเงินกำลังประสบปัญหา 2 ประการ กล่าวคือ 1. การขาดสภาพคล่อง (Illiquidity) และ 2. การล้มละลาย (Insolvency) โดยปัญหาสภาพคล่องจะเกิดขึ้นก่อน เห็นได้จากกองทุนบำเหน็จบำนาญของอังกฤษ ที่เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้นจะต้องเผชิญกับการเรียกหลักประกัน (Margin Call) ทำให้ต้องขายพันธบัตรมาจ่าย Margin Call ดังกล่าว ทำให้ดอกเบี้ยปรับขึ้นแรงมาก จนทำให้ธนาคารกลางอังกฤษต้องเข้ามาทำ QE อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การทำ QE คือการเติมสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ทำให้ความเสี่ยงเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งในระยะต่อไป ความผันผวนทางการเงินจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการดึงสภาพคล่องของ Fed และอาจนำมาสู่ความเสี่ยง Insolvency ได้ ซึ่งหากธนาคารกลางเข้ามาสนับสนุนก็จะรอดได้ชั่วคราว แต่ก็จะทำให้เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ย/ดึงสภาพคล่องออกมากขึ้น กดดันเศรษฐกิจและเพิ่มความผันผวนในระยะต่อไป
ด้านทิศทางเศรษฐกิจ เราเห็นด้วยกับ IMF ที่ว่าภาพเศรษฐกิจอาจยังไม่ชะลอลงแรงในปีนี้ แต่ในปีหน้าความเสี่ยงเศรษฐกิจจะมากขึ้น ทั้งจากความตึงตัวทางการเงินและนโยบายการเงินที่แตกต่างกัน ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่อยืดเยื้อ รวมถึงปัญหาวิกฤตการเงินทั้งในสถาบันการเงินประเทศเจริญแล้ว และค่าเงินในตลาดเกิดใหม่
สัปดาห์นี้ต้องติดตาม GDP ไตรมาส 3 ของจีนที่คาดว่าจะฟื้นตัวที่ 1% หลังขยายตัวต่ำที่ 0.4% ในไตรมาส 2 รวมถึงต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะชะลอลงจากเดือนก่อน รวมถึงเงินเฟ้อยุโรป ตัวเลขภาคอสังหาสหรัฐฯ และรายงานเศรษฐกิจ Fed Beige Book ของสหรัฐฯ
“เราเชื่อว่าตลาดกำลังปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในระยะต่อไปได้แก่ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่อาจมีมากขึ้นจากการ Fed Hawkishness ดังนั้นอาจต้องระมัดระวังความผันผวนในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม InnovestX เชื่อว่าการลงทุนจะกลับมาสู่ปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น โดยนักลงทุนจะลดความกังวลในการขึ้นดอกเบี้ยลง และหันมามุ่งเน้นในสินทรัพย์/ตลาดที่ยังมีความแข็งแกร่งและต้านทานการขึ้นดอกเบี้ย และการชะลอลงของเศรษฐกิจได้ แต่ยังคงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง”
กลยุทธ์ลงทุนตลาดหุ้นไทย
InnovestX มองว่า ตลาดรับรู้ความเสี่ยงต่างๆ ไประดับหนึ่งแล้ว แต่คาด Upside ยังจำกัด เนื่องจากบรรยากาศการลงทุนจะยังถูกกดดันจากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอยที่มีมากขึ้น หลังธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกปรับขึ้นดอกเบี้ย
กลยุทธ์ลงทุนช่วงสั้นจึงแนะนำ Selective ในหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ดังนี้
1. หุ้นธนาคาร ซึ่งคาดกำไร 3Q65 ออกมาเติบโตดี และมีแนวโน้มที่จะได้ประโยชน์มากสุดจากวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น เลือก BBL, KTB และ KBANK
2. หุ้น Non-Bank ซึ่งคาดว่าจะพรีวิวโมเมนตัมกำไรยังแข็งแกร่งใน 3Q65 เลือก HMPRO, CRC, CPF, ZEN, SNNP และ AOT
3. หุ้นรอจังหวะซื้อหาก SET หลุด 1,550+/- ส่งผลให้ราคาปรับลงแรง (PBV ต่ำกว่า -1SD.) สวนทางพื้นฐานที่ยังมีศักยภาพเติบโตได้ เลือก MTC, GPSC, BGRIM, CBG และ SCGP
4. หุ้นเก็งกำไรจากการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งหากมีการผ่อนคลายนโยบาย Zero-COVID และ/หรือ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เลือก IVL, ERW, SPA, PSL และ WICE
ช่วงสั้นยังแนะนำเลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงกดดันผลประกอบการ ดังนี้
1. หุ้นโรงกลั่น หลังคาดงบ 3Q65 อาจได้รับผลกระทบค่าการกลั่นลดลง และขาดทุนสต๊อก โดยเฉพาะ บจ. ที่ไม่ได้ทำ Hedging
2. หุ้นเดินเรือซึ่งคาดได้รับผลกระทบจากอุปทานเรือใหม่ที่เข้ามา และอุปสงค์การขนส่งสินค้าเริ่มชะลอตัวลง
ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
1. ตัวเลขการส่งออก 20 วันเกาหลีใต้ที่คาดว่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่อง
2. ตัวเลข GDP 3Q22 ของจีนที่คาดว่าจะลดลง 1.5%QoQ
3. ความเชื่อมั่นของยุโรปที่คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่อง และตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงอย่าง 10%YoY
4. ตัวเลขภาคการผลิตของ Philadelphia ที่หดตัวน้อยลง
5. ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของสหรัฐฯ ยุโรป และกลุ่มธนาคารของไทย
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: CPF - ราคาเนื้อสัตว์ดี หนุนกำไรแข็งแกร่ง
สัปดาห์นี้ InnovestX เลือกแนะนำ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของไทย ซึ่งมีฐานการผลิตและตลาดในหลายประเทศ รวมทั้งมีสินค้าจัดจำหน่ายที่หลากหลาย ทำให้มีความสามารถในการแข่งขัน และศักยภาพในการทำกำไรที่สูง
- 3Q22 คาดมีกำไรปกติ 4.8 พันล้านบาท ฟื้นตัวจากขาดทุนปกติ 5 พันล้านบาท ใน 3Q21 และเติบโต 30%QOQ หลักๆ เกิดจากราคาสัตว์บกในไทย และราคาสุกรในเวียดนามและจีนที่ดีขึ้น ส่วน 4Q22 คาดกำไรจะดีขึ้น YoY จากราคาสัตว์บกอยู่ในระดับที่สามารถทำกำไรได้ในทุกประเทศ แต่จะลดลง QoQ จากปัจจัยฤดูกาล หนุนให้ปี 2022 คาดมีกำไรปกติสู่ระดับ 1 หมื่นล้านบาท
- มีแผนปลดล็อกมูลค่าแฝง โดยบริษัทวางแผนจดทะเบียน CTI ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ และ C.P. Vietnam ในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ใน 2H23 โดยขึ้นอยู่กับการอนุมัติของทางการและสภาวะตลาด ซึ่งหากแผนดังกล่าวสำเร็จ คาดว่าจะช่วยสนับสนุนภาพรวมการเติบโตในอนาคต
- ราคาหุ้น CPF ปรับลง 3.9%YTD ซึ่งมองยังไม่ได้สะท้อนผลประกอบการที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วใน 1Q22 และเริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ 2Q22 จากมาร์จิ้นที่จะกว้างขึ้นหลังราคาเนื้อสัตว์ดีขึ้น และต้นทุนอาหารสัตว์ลดลง จึงมองเป็นโอกาสที่ดีในการทยอยเข้าซื้อลงทุน
- เราประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 32.00 บาท (อิงวิธี SOTP) และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2022 อีกหุ้นละ 0.65 บาท คิดเป็น Div. Yield ราวปีละ 2.7%
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
สภาพคล่อง/เงินสด
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อการถือครองเงินสด และ/หรือ สินทรัพย์สภาพคล่อง โดยสินทรัพย์เสี่ยงยังคงเผชิญปัจจัยกดดัน จากการที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งใช้นโยบายแทรกแซงค่าเงิน
พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อพันธบัตรรัฐบาลไทย และต่างประเทศ โดยเรามอง UST Yield ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อ โดยเฉพาะอายุ 2 ปี ตามการปรับคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed โดย Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ย 75 bp ในเดือนพฤศจิกายน และจะขึ้น 50 bp ในเดือนธันวาคมปีนี้ (โอกาสที่จะขึ้น 75 bp เริ่มมีมากขึ้น) รวมทั้งจะขึ้นอีก 25 bp ในช่วง 1Q66 อย่างไรก็ดี ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยหาก Fed เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะช่วยจำกัดการเพิ่มขึ้นของ 10y UST Yield
กองทุนแนะนำ
Krungsri Yenjai Fund
- กองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนกองทุนในตราสารหนี้หรือกองทุนตราสารหนี้ หุ้นไทย และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่คาดหวังความเจริญเติบโตของสินทรัพย์ในระยะยาว
หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Positive ต่อหุ้นกู้ไทยกลุ่ม Investment Grade (IG) โดยเฉพาะกลุ่ม AAA และ AA เนื่องจากอุปสงค์โดยรวมที่ยังคงมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะจาก บลจ. และบริษัทประกัน แม้ว่าอุปทานการออกพันธบัตรและหุ้นกู้เอกชนจะอยู่ในระดับที่สูง และเริ่มมีสัญญาณการขายหุ้นกู้ไม่หมดในบางบริษัทก็ตาม นอกจากนี้ Bond Yield ของไทยไม่ได้ปรับตัวขึ้นรุนแรงเหมือนสหรัฐฯ และหลายประเทศ รวมทั้ง Corporate Spread โดยเฉพาะกลุ่ม AAA และ AA ที่ไม่ได้เร่งตัวขึ้นมาก และยังอยู่ต่ำใกล้เคียงกับ Pre-Covid
เรามีมุมมอง Positive ต่อหุ้นกู้ต่างประเทศกลุ่ม IG โดยเราคาดว่า Credit Spread ของ US IG ยังมีแนวโน้มทรงตัว อย่างไรก็ตาม เรายังมีมุมมอง Slightly Negative ต่อหุ้นกู้ต่างประเทศกลุ่ม High Yield (HY) โดย HY Spread มีแนวโน้มกว้างขึ้นได้อีก จากความเสี่ยงการถูกปรับลดอันดับเครดิตที่ยังคงมีอยู่ ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นกู้ HY จีน ตามความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาจีน ที่ยังน่ากังวล (กลุ่มมีกำหนดชำระหนี้หุ้นกู้ในช่วงเดือนนี้ อยู่ที่ 7 พันล้านดอลลาร์)
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยตลาดมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางหลักที่ต่างๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่สูง และความกังวลเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี การเปิดเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม DM และผลประกอบการ บจ. ใน 3Q65 ที่มีแนวโน้มดีกว่าตลาดคาด จะสามารถช่วยประคองให้ตลาด DM มีแนวโน้มทรงตัวถึงฟื้นตัวขึ้นบางส่วน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ว่าตลาดยังคงมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวต่อเนื่องของ Fed หลัง CPI สหรัฐฯ เดือนกันยายนสูงกว่าที่ตลาดคาด แต่เรามองว่าตลาดยังได้แรงหนุนจาก Valuation ของตลาดที่ลดความตึงตัวลง จาก Sentiment นักลงทุนที่ยังค่อนข้าง Bearish เกินไป ขณะที่การซื้อหุ้นคืน บจ.สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปี และผลประกอบการ บจ. ใน 3Q65 ที่แนวโน้มออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ การที่ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ มีสัดส่วนกลุ่ม Growth สูงกว่าตลาด DM อื่น จึงทำให้ได้อานิสงส์ หากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 2
เรามีมุมมอง Slightly Negative ต่อตลาดหุ้นยุโรป โดยปัจจัยที่ยังกดดัน ได้แก่ วิกฤตพลังงานในยุโรป ที่ยังจะกระทบต่อทั้งภาคการผลิตและการบริโภคผ่านเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น และเราเริ่มเห็นสัญญาณของเงินเฟ้อที่กระจายตัวมากขึ้น ส่งผลให้มีการใช้นโยบายการคลังเพื่อช่วยเหลือ แต่ผลบวกต่อเศรษฐกิจจากนโยบายการคลังมีแนวโน้มที่จะถูกลดทอนด้วยนโยบายการเงินที่ตึงตัว และหลายประเทศเริ่มมีประเด็นเรื่องหนี้สาธารณะ อีกทั้งรัสเซียมีแนวโน้มที่จะยกระดับความรุนแรงมากขึ้น ยังกดดันภาพการลงทุนในหุ้นยุโรป
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
เรายังคงมีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยเรามองว่าทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจะกลับมาเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคการส่งออก ในขณะที่ค่าเงินเยนที่อ่อนค่านั้น เป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภายในประเทศจากราคาสินค้านำเข้าที่มีราคาแพงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อเริ่มมีการเร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะสั้นนั้นยังคงได้รับประโยชน์จากการเปิดเมืองสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับ Valuation ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จะช่วยหนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่น เมื่อดัชนีฯ ปรับลดลงมา
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน H-Share จาก Valuation ของดัชนีฯ ที่ไม่แพง การคุมเข้มด้านกฎระเบียบกับกลุ่ม Platform ที่น่าจะผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องการกีดกันการค้า การแข่งขันด้านเทคโนโลยี (โดยล่าสุดสหรัฐฯ เตรียมที่จะไม่อนุมัติคำขอใดๆ เกี่ยวกับอุปกรณ์โทรคมนาคมใหม่จาก Huawei และ ZTE ในสหรัฐฯ โดยอ้างเหตุผลความมั่นคง) และการโดนคว่ำบาตรทางอ้อม ในประเด็นเกี่ยวเนื่องกับรัสเซียและไต้หวัน ความกังวลภาคอสังหาที่ยังคงมีอยู่ และสถานการณ์การระบาดในจีนที่ยังไม่แน่นอน จะยังคงกดดัน Upside ของดัชนีฯ
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน A-Share โดยแม้ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนยังมีแนวโน้มออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการสนับสนุนภาคอสังหาเพิ่มเติม ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงการประชุม Politburo ปลายเดือนนี้ แต่อย่างไรก็ตาม การที่ทางการจีนมีแนวโน้มคงนโยบาย Zero-COVID ที่ยาวนานขึ้น โดยเราคาดว่าการยกเลิกจะเกิดขึ้นในช่วง 2Q65 ตลอดจนกิจกรรมภาคอสังหาที่ยังซบเซา อาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึง 1Q66
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อหุ้นไทย เนื่องจากเศรษฐกิจที่เพิ่งอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวจากการเปิดประเทศที่ช้ากว่าที่อื่น ผนวกกับนโยบายการเงินที่ตึงตัวไม่มาก ซึ่งหนุน Earning ให้ยังขยายตัวได้ ท่ามกลาง Valuation ที่น่าลงทุน นอกจากนี้ ตลาดมีโอกาสได้ปัจจัยหนุนชั่วคราวจากช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งของไทยในเดือนพฤษภาคมอย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนตามทิศทางของตลาดหุ้นโลก ทั้งนี้ เรายังแนะนำหุ้นในกลุ่ม High Quality เพื่อรับมือความเสี่ยง โดยเน้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น และหลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องการส่งออก
กองทุนแนะนำ
SCB Dividend Stock Open End Fund
- กองทุน SCBDV เป็นกองทุนหุ้นไทยที่เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีนโยบายหรือมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นเวียดนาม โดยแม้ว่าตลาดฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจเวียดนามที่ยังมีโมเมนตัมการฟื้นตัวดีขึ้น และผลประกอบการ บจ.เวียดนามใน 2H65 ที่มีแนวโน้มขยายตัวค่อนข้างดี แต่ความเสี่ยงที่ธนาคารกลางเวียดนามจะยังปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในช่วงที่เหลือของปีนี้เริ่มมีมากขึ้น หลังอัตราเงินเฟ้อล่าสุดอยู่ใกล้เป้าหมายของทางการที่ 4% และเงินดองยังมีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าต่อเทียบดอลลาร์ นอกจากนี้ Sentiment นักลงทุนรายย่อยภายในประเทศยังคงซบเซา ตามที่ความไม่แน่นอนในการปราบปรามการทุจริต ของทางการเวียดนามยังคงมีอยู่
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นอินโดนีเซีย โดยตลาดยังได้ปัจจัยหนุนจาก 1. เศรษฐกิจอินโดนีเซียโดยรวมที่ยังเติบโตได้ดี โดยภาคส่งออกได้รับแรงหนุนจากการส่งออกถ่านหินตามอุปสงค์ของ EU ที่จะเข้าสู่ฤดูหนาวใน 4Q65 และน้ำมันปาล์ม (แม้เผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อและการปรับขึ้นดอกเบี้ย) นอกจากนี้ ในปีหน้าจะได้แรงหนุนจากการเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งในต้นปี 2567 2. EPS ในปี 2565-2566 มีแนวโน้มถูกปรับขึ้นและ Valuation ยังน่าสนใจ และ 3. เสถียรภาพต่างประเทศที่ยังดี และธนาคารกลางดำเนินนโยบาย Pre-emptive รวมถึงการปล่อยให้ค่าเงินเคลื่อนไหวไปกับ Regional Peer ไม่ฝืนตลาดมากเกินไป จะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงที่ตลาดจะถูกโจมตีจากความเชื่อมั่นของนักลงทุน
กองทุนแนะนำ
SCB Indonesia Equity Fund
- กองทุน SCB Vietnam เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ได้แก่ กองทุน VanEck Indonesia Index ETF (กองทุนหลัก) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) บนความคาดหวังความเจริญเติบโต และการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศอินโดนีเซีย
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อทองคำ โดยในระยะสั้นถึงกลางราคาทองคำจะยังคงถูกกดดันจากทิศทาง Real Yield ที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ จนกว่า Fed จะเริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ราคามีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก 1. การเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่มีความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย และ 2. ความต้องการถือครองจากธนาคารกลางเพื่อเป็นทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อน้ำมัน แม้ว่าในระยะสั้นราคาน้ำมันมีแนวโน้มผันผวนจากความกังวลด้านอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะการปิดเมืองในจีน แต่เรามองว่าโดยราคายังมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้ตาม อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นการใช้น้ำมันเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในยุโรปช่วงฤดูหนาว ขณะที่อุปทานยังคงมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น จาก 1. กลุ่ม OPEC+ ยังคงพยายามเข้ามาควบคุมราคาน้ำมันด้วยการลดกำลังการผลิต 2. ผลของการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียของทางกลุ่ม EU จะเริ่มเห็นผลชัดมากขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม และ 3. การปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเริ่มชะลอตัวลงช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs ประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยปัจจัยฉุดรั้งสำคัญคือ การเพิ่มขึ้นของ LT Bond Yield ตามแรงกดดันจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวของ Fed ซึ่งผลตอบแทนโดยรวม (USD Term) ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาลดลงหนัก โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐฯ โดยแนะนำให้หลีกเลี่ยงตลาดยุโรป เนื่องจากผลกำไรของ REITs ถูกกดดันจากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อสูง และภาวะการเงินตึงตัว ในตลาด DMs มีเพียงญี่ปุ่นที่แรงกดดันจากตลาดพันธบัตรมีไม่มาก ท่ามกลางการได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) แม้ตลาดเอเชียถูกกระทบจากการเพิ่มขึ้นของ LT Bond Yield เช่นกัน แต่ Yield ไม่ได้ขึ้นรุนแรงอย่างสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะไทย ทำให้ตลาดไทยลดลงไม่มากเท่ากับสหรัฐฯ และยุโรป ผนวกกับผลบวกจากการเปิดเมือง รวมถึงไทยได้รับประโยชน์จาก Relocation-FDI บางส่วน ขณะที่สิงคโปร์ได้รับผลลบจากดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงสอดคล้องไปกับสหรัฐฯ มากกว่าไทย ท่ามกลางความเสี่ยงของการกลับมาใช้มาตรการดูแลโควิดอีกครั้ง หลังจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภาวะตลาดผันผวนและดอกเบี้ยขาขึ้น ควรหลีกเลี่ยง REITs ที่มีภาวะหนี้สูง/มีสภาพคล่องต่ำ เพื่อลดผลลบจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รายงานชี้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยไม่ช่วยสกัดเงินเฟ้อ ตราบใดที่การใช้จ่ายภาครัฐยังอยู่ในระดับสูง
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ ‘หดตัว’ สองไตรมาสต่อเนื่อง เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ขณะที่ NBER ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ