THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
Facebook
EXCLUSIVE CONTENT

สายเกินไปที่จะจินตนาการถึงโลกอนาคตที่ไม่มี ‘Facebook’ แม้นักลงทุนไม่กดไลก์ แต่ยังทรงอิทธิพลมหาศาล?

... • 23 ก.พ. 2022

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เอมี แซลแมน หรือ @amyzalman เป็นนักอนาคตศาสตร์ เจ้าของบริษัทที่ปรึกษา Prescient ที่ช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต เธอเขียนบทความลงใน latimes.com ว่าสายเกินไปแล้วที่จะจินตนาการถึงโลกอนาคตที่ไม่มี Facebook เพราะหาก Facebook  ‘ล่มสลาย’ พ่ายแพ้ให้กับเครือข่ายสังคมคู่แข่งไป แต่โลกที่ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัทของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็ยังมีอิทธิพลโดยตรงต่อชาวเน็ตทุกคนอยู่ดี
  • ข้อเขียนของเอมีสะท้อนภาพรวมอนาคตบริษัทต้นสังกัด Facebook อย่าง Meta ว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่ Facebook จะรักษา Total Dominance หรืออำนาจเหนือเครือข่ายสังคมออนไลน์แบบเบ็ดเสร็จ เพราะคู่แข่งทั้ง TikTok, Twitter, YouTube, LinkedIn และ WeChat รวมถึงบริษัทโซเชียลมีเดียอีกหลายร้อยแห่งนั้นสามารถเรียกความสนใจจากพวกเราได้อยู่ตลอดเวลา
  • ถ้า Facebook ล้มหายตายไปในวันพรุ่งนี้ สิ่งที่ไม่ตายตามไปด้วยคือ อิทธิพลของ Facebook ที่จะยังทรงพลังอยู่ เพราะ Facebook ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลของชาวโลกอย่างลึกซึ้งในลักษณะที่ไม่สามารถหยุดหรือยกเลิกได้ ดังนั้นไม่ว่า Facebook จะอยู่รอดหรือไม่ ก็แทบจะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงวิถีการท่องเน็ตของผู้คนเลย โดยปัญหาเดิมที่วนเวียนอยู่รอบ Facebook ก็จะยังคงมีอยู่เช่นเดิม

เดือนกุมภาพันธ์ 2022 คือเดือนที่สื่อมวลชนทั่วโลกรายงานข่าวว่าเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Facebook อาจกำลังเข้าสู่ช่วงเริ่มต้นของการล่มสลาย ตั้งแต่ต้นเดือน หลังจากต้นสังกัด Facebook เปิดเผยว่า สูญเสียผู้ใช้รายวันนับล้านรายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 18 ปี ซึ่งนำไปสู่ภาวะหุ้นร่วง 27% มูลค่าตลาดบริษัทดิ่งเหว 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.7 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 1 ใน 4 ของมูลค่าของบริษัท 

 

สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงอีกเมื่อ Facebook ประเมินว่า ข้อจำกัดของฟีเจอร์ใหม่บนระบบปฏิบัติการ iOS ของ Apple ที่เพิ่มการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ในการถ่ายโอนข้อมูลอัตโนมัติไปยังผู้ลงโฆษณานั้นอาจทำให้ Facebook สูญรายได้ราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2021

 

ขณะเดียวกัน Google ก็เพิ่งออกประกาศฟีเจอร์ใหม่ที่คล้ายกันสำหรับผู้ใช้โทรศัพท์ระบบปฏิบัติการ Android ซึ่งน่าจะทำให้ Meta บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก สูญรายได้มากขึ้นอีก

 

นอกจากรายได้จะหด แนวโน้มฐานผู้ใช้ของ Facebook ยังถดถอยสู้คู่แข่งไม่ได้ เพราะผู้ใช้ Facebook ส่วนใหญ่มีอายุมาก และคนรุ่นใหม่หันมาใช้แพลตฟอร์มแชร์วิดีโออย่าง TikTok จนดูเหมือนว่าบริษัทกำลังจะไม่สามารถเข้าถึงตลาดใหม่ได้ดีเหมือนเคย 

 

Facebook

 

ทางแก้เกมที่ถูกเตรียมไว้คือ Metaverse หรือการสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริงแบบสมจริง ซึ่งจะมีอิมแพ็กต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของโลกอย่างมหาศาล อย่างไรก็ตาม เกมนี้ยังต้องใช้เวลาหลายปีในการวิจัยและการลงทุนเพิ่มเติมอีกหลายพันล้านดอลลาร์ ทำให้ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า Metaverse จะลูกผีหรือลูกคน

 

แน่นอนว่าสถานการณ์เหล่านี้ไม่ได้คว่ำ Meta จนไปต่อไม่ได้ เพราะ Facebook ยังมีผู้ใช้รายเดือน 2,910 ล้านราย และยังคงเป็นเครือข่ายโซเชียลที่ใหญ่ที่สุดในโลก นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 2004 2547 สามารถครองแชมป์โดยเข้าถึงผู้ใช้มากกว่า 50% ของประชากรโลก 

 

แม้มูลค่าตลาดปัจจุบันจะลดเหลือ 565,000 ล้านดอลลาร์ จากระดับที่เคยสูงสุด 1 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ส่งให้ Meta เป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับที่ 11 ของโลก

 

กอดเก้าอี้ไม่ไหว

เอมี แซลแมน หรือ @amyzalman นักอนาคตศาสตร์ เจ้าของบริษัทที่ปรึกษา Prescient เชื่อว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่ 2547 จะสามารถรักษาตำแหน่งแชมป์ใหญ่ที่กินรวมส่วนแบ่งตลาดเครือข่ายสังคมออนไลน์ไว้รายเดียว 

 

เพราะคู่แข่งสำคัญอย่าง TikTok, Twitter, YouTube, LinkedIn และ WeChat รวมถึงบริษัทโซเชียลมีเดียอีกหลายร้อยแห่งจะสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดได้ต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งหากบริษัทเหล่านี้แซงหน้า Facebook ได้ ก็เชื่อว่าเป็นเพราะโมเดลหรือรูปแบบที่ Facebook สร้างขึ้นมา

 

เอมีอธิบายว่า Facebook ได้ทำให้สภาพแวดล้อม ‘การเข้าสังคมออนไลน์’ ของชาวโลกตกผลึกในแบบที่ทุกคนเคยมองข้ามไป โดย Facebook ทำให้ความคิดที่ว่า “พวกเราสามารถมีส่วนร่วมในเครือข่ายสังคมที่มีขนาดเท่าประชากรโลก” เป็นเรื่องปกติ 

 

Facebook ยังทำให้เราเชื่อมต่อกับ ‘เพื่อนของเพื่อนๆ’ และรักษาความสัมพันธ์กับผู้คนทั่วโลกได้ ทำให้เป็นเรื่องธรรมดาที่ใครสักคนจะลุกขึ้นมาสร้างกลุ่มและการเคลื่อนไหวทั้งหมดผ่านการเชื่อมต่อออนไลน์

 

Facebook

 

เอมีสรุปอีกว่า เพราะ Facebook พวกเราจึงเคยชินกับการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมแบบใหม่คือ ทั้งแบบสาธารณะและแบบใกล้ชิดในเวลาเดียวกัน (Public และ Intimate) ความเคยชินนี้ฝังรากจนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกได้ ซึ่งไม่ว่า Facebook จะอยู่รอดหรือไม่ ก็แทบจะไม่มีผลกับการใช้งานในอนาคต

 

เอมีย้ำด้วยว่า ปัญหาที่วนเวียนอยู่รอบ Facebook จะยังคงมีอยู่ และไม่ว่าบริษัท Meta จะล่มสลายในวันไหน พวกเราชาวโลกก็ยังคงต้องแก้ไขจุดเจ็บปวด หรือเพนพอยต์ พื้นฐานของโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ชาวโลกมีชีวิตอยู่และเจริญรุ่งเรืองร่วมกันบนโลกดิจิทัลกันได้ต่อไป

 

ปัญหาข้อมูลส่วนบุคคลสำคัญที่สุด

สิ่งที่ตอกย้ำว่า ‘ปัญหาที่สำคัญที่สุดของวงการเครือข่ายสังคมคือ การจัดการพลังมหาศาลของข้อมูลส่วนบุคคล’ คือรายได้ของ Facebook  เพราะเม็ดเงินมหาศาลแสดงให้เห็นว่า ข้อมูลส่วนบุคคลนั้นมีคุณค่าทางการเงินเพียงใดเมื่อมีการสร้างรูปแบบธุรกิจที่อนุญาตให้ผู้โฆษณากำหนดเป้าหมายผลิตภัณฑ์แบบเจาะไปยังบุคคล 

 

วันนี้ ‘คู่แข่งหลัก’ ของ Facebook อาศัยหลักการเดียวกันในการโฆษณาตามเป้าหมาย หลายบริษัทติดตามข้อมูลประชากรและพฤติกรรมของผู้ใช้ทางออนไลน์ในระดับที่กฎหมายเปิดช่องให้สามารถทำได้ และพยายามคัดสรรเครื่องมือมากำหนดเป้าหมายกลุ่มย่อยจากฐานผู้ใช้ทั้งหมด ซึ่งเป็นลูกค้าที่มีแนวโน้มซื้อสินค้ามากที่สุด

 

ประเด็นนี้ยิ่งมีความชัดเจนขึ้นอีก เมื่อทุกธุรกิจต้องย้ายไปทำมาหากินผ่านระบบดิจิทัล พฤติกรรมของผู้ใช้ที่สามารถติดตามได้ทั้งบนโลกออนไลน์และบนโลกจริงล้วนมีค่ามากขึ้น 

 

โดยนอกจากเรื่องเศรษฐกิจ พลังของข้อมูลยังเปลี่ยนโฉมการเมืองของโลกอีกด้วย อิทธิพลของโซเชียลมีเดียต่อการเลือกตั้งอาจก่อให้เกิดเรื่องอื้อฉาว เพราะสามารถทำแคมเปญที่กำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนปัจจุบัน การกำหนดเป้าหมายบนสื่อดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการหาเสียงทางการเมืองในวงกว้างของสหรัฐอเมริกา รวมถึงเมืองไทยไปแล้วเรียบร้อย

 

อีกปัญหาที่ยังมะรุมมะตุ้ม Facebook อยู่คือ ความท้าทายเรื่องคำพูดแสดงความเกลียดชัง เรื่องนี้ต้องไปดูกรณีที่ ฟรานเซส ฮอเกน อดีตผู้จัดการผลิตภัณฑ์ของส่วนงานแก้ปัญหาข้อมูลที่ไม่ถูกต้องของเฟซบุ๊ก ออกมาเปิดเผยเอกสารภายในของ Facebook ที่ระบุว่า คำพูดแสดงความเกลียดชังที่โพสต์บน Facebook มากกว่า 95% นั้นยังคงอยู่ที่เดิม ไม่ได้ถูกลบไป 

 

กลายเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นความล้มเหลวที่ชัดเจนของระบบแก้ไขปัญหา Hate Speech ของ Facebook ที่เน้นใช้อัลกอริทึมและการรายงานโดยผู้ใช้ ซึ่งยังไม่มีแผนปรับใช้ระบบที่ดีกว่าในขณะนี้

 

Facebook

 

นอกจากนี้ความยิ่งใหญ่และความมั่งคั่งแบบทวีคูณของ Facebook แม้ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ ยังทำให้ความรู้สึกต่อต้านการผูกขาดกำลังเพิ่มขึ้น เห็นได้ชัดจากการที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกากำลังฟ้องร้อง Facebook โดยตั้งข้อหาว่า Facebook มีส่วนร่วมในการต่อต้านการแข่งขันและผูกขาดตลาดเครือข่ายสังคมออนไลน์ 

 

ซึ่งหากรัฐบาลชนะ Meta อาจถูกบังคับให้ต้องแตกเป็นบริษัทขนาดเล็กกว่าปัจจุบัน ขณะเดียวกัน Facebook ยังขัดแย้งกับบางประเทศในยุโรป เรื่องกฎระเบียนด้านการถ่ายโอนข้อมูล ซึ่งอาจนำไปสู่การปิดบริการในอนาคต

 

ในบทความเอมีทิ้งท้ายว่า วันนี้เครือข่ายโซเชียลหลายแห่งกำลังทดลองระบบใหม่ เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยที่มากขึ้น บางแห่งเลือกเก็บข้อมูลไว้ในเซิร์ฟเวอร์หลายจุดทั่วโลก โดยเปิดให้ผู้ใช้เลือกจุดเก็บในประเทศที่เชื่อถือว่ามีการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลที่แข็งแกร่ง ยังมีบางโซเชียลที่โฟกัสตัวเองเป็นเครือข่ายสังคมที่ใช้บล็อกเชนแบบกระจายศูนย์ที่ปลอดภัยกว่าเดิม รวมถึงบางค่ายที่ชูตัวเองเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลที่ไม่มีโฆษณา 

 

ทั้งหมดนี้ถือเป็นการสร้างขึ้นบนรากฐานที่ Facebook วางเอาไว้ในโลกที่เชื่อมต่อแบบดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผู้ใช้ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าต้นทุนหรือราคาที่ต้องเสียเพื่อใช้งานเครือข่ายสังคมเหล่านี้คือเท่าใดกันแน่

 

ที่สุดแล้วภาพใหญ่ ‘อนาคต Facebook’ จึงเด่นชัดว่า ไม่ว่าตัว Facebook จะอยู่หรือไป แต่อิทธิพลมหาศาลจะยังคงอยู่ไม่จืดจาง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

อ้างอิง:

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 23 ก.พ. 2022

READ MORE



Latest Stories