ตลาดการเงินมีความชัดเจนมากขึ้นว่า นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายกำลังจะสิ้นสุดลงในไม่ช้า ภายหลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณลดวงเงินซื้อสินทรัพย์เช่นเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงก็ตาม ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง ส่วนตลาดพันธบัตรทรงตัวรอการประกาศอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนนี้
ปัจจัยที่ต้องจับตาในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขยอดค้าปลีกและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดแนวทางนโยบายการเงินสหรัฐฯ ต่อไป นอกจากนี้ ยังต้องติดตามจีนว่าจะออกมาตรการควบคุมราคาสินค้าโภคภัณฑ์อีกหรือไม่ หลังจากตัวเลข PPI เดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้น 9.5% สูงสุดในรอบ 13 ปี
สำหรับปัจจัยใหม่ที่ต้องติดตาม คือ ท่าทีของสหรัฐฯ-จีน หลังผู้นำทั้ง 2 ประเทศเริ่มกลับมาเจรจากันอีกครั้ง โดยมีท่าทีที่ประนีประนอมมากขึ้น
ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) ระบุว่า ยังมีมุมมองด้านเศรษฐกิจว่ามีความเสี่ยงเรื่องการชะลอตัว ในขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจกำลังยุติ ด้านความเสี่ยงเงินเฟ้อและโควิดยังไม่หายไปไหน ดังนั้น นักลงทุนจึงควรมีการกระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี เพิ่มความระมัดระวังในการเก็งกำไร
ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง 0.9% โดยตลาดเกิดใหม่ (EM) ลดลง 1.2% ส่วนตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว (DM) ลดลง 0.9% ซึ่งตลาดได้รับแรงกดดันจาก
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในสหรัฐฯ ยุโรป และจีน
- ความกังวลต่อท่าทีของธนาคารกลางที่จะใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้น
- ห่วงโซ่อุปทานที่ยังมีปัญหา ซึ่งส่งผลลบกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- การขายน้ำมันดิบสำรองของจีน
ตลาดยังขาดปัจจัยบวก
แนวโน้มตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้คาดว่ามีโอกาสแกว่งตัว/อ่อนตัวลง จากแนวโน้มตัวเลขเศรษฐกิจของจีนที่คาดว่าจะชะลอตัว ส่วนเงินเฟ้อในสหรัฐฯ มีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันตลาดกำลังรอความชัดเจนของ Fed ในการประกาศชะลอมาตรการ QE อย่างเป็นทางการ ทำให้ภาพรวมตลาดขาดปัจจัยหนุน
ส่วนกลยุทธ์ลงทุนแนะนำ Defensive โดยรอซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว เนื่องจากคาดว่าตลาดหุ้นมีโอกาสปรับฐานในเดือนกันยายน สำหรับสัปดาห์นี้แนะนำลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีนโยบายสนับสนุน ได้แก่ พลังงานสะอาด โดย SCBS แนะนำ LONGi Green Energy Technology (601012)
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ช่วงแกว่งตัว ส่วนการคลายล็อกดาวน์ รวมถึงหากมีการยกเลิกเคอร์ฟิว จะส่งผลบวกต่อกลุ่มค้าปลีกเป็นหลัก ภาพรวมการลงทุนยังคงเน้นกลยุทธ์ Defensive เลือกหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรสุทธิที่ดีในช่วงครึ่งหลังปี 2021
สัปดาห์นี้แนะนำหุ้น บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ซึ่งเป็นหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว และได้รับประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า โดย TU เป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ทูน่าระดับชั้นนำของโลก อีกทั้งเป็นเจ้าของแบรนด์ชั้นนำทั่วโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar, Rügen Fisch และแบรนด์ชั้นนำในไทยอย่าง ซีเล็ค, ฟิชโช, คิวเฟรช, โมโนริ ฯลฯ
ส่วนไตรมาส 3 ปี 2021 คาดกำไรปกติทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) จากยอดขายและมาร์จิ้นที่ดีขึ้นจากธุรกิจอาหารทะเล ควบคู่ไปกับการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก Red Lobster ที่ยังแข็งแกร่ง ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและยูโร หากเกิดต่อเนื่องจะสร้าง Upside ต่อประมาณการกำไร
มีปัจจัยบวกเฉพาะ (Catalyst) จากการมีแผนปลดล็อกมูลค่าแฝงผ่านการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) โดยตั้งเป้านำ ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ และ Global PetCare เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ช่วง ไตรมาส 4 ปี 2021 และปี 2022 รวมทั้งมีแผนนำ Red Lobster จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กในอีก 3-4 ปีข้างหน้า
ขณะที่มูลค่า (Valuation) ยังไม่แพงหลังปัจจุบันซื้อขายเทียบอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (PER) ณ คาดการณ์ปี 2022 ที่ 12.7 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 14.0 เท่า และมี Upside Gain เกิน 15% จากราคาเป้าหมายที่เราประเมินไว้ที่ 25 บาท อีกทั้งคาดให้อัตราส่วนผลตอบแทนจากเงินปันผล (Div. Yield) ปีนี้ 4.5%
3 ประเด็นข่าวร้อนทั่วโลกที่น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
- ท่าทีของ ECB ยังไม่ทำนโยบายตึงตัวเกินไป
แม้ว่า ECB จะลดการซื้อตราสารหนี้ผ่านโครงการ PEPP น้อยลงในไตรมาสที่ 4 ปี 2021 แต่ประธาน ECB จะยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัว
นอกจากนั้น คาดว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอยู่ในกรอบ 1.5%-2% ความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานที่มีปัญหาจะส่งผลกับภาคการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ Fed ผ่าน Beige Book ในภาพรวมเรามองว่าเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯ สามารถจะฟื้นตัวหรือเติบโตได้ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมโดยไม่มีนโยบายการเงินช่วยเหลือ สำหรับในระยะสั้น เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจะยังเป็นตัวกำหนดทิศทางของผลตอบแทนการลงทุน และมีการดูดสภาพคล่องที่จะสร้างความผันผวนด้านลบมากขึ้น
- ค่ายรถยนต์เกาหลีใต้และญี่ปุ่นลงทุนในแบตเตอรี่
โดย Toyota ยังเดินหน้าลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดลงทุน 1.5 ล้านล้านเยน (ราว 4.5 แสนล้านบาท) เพื่อพัฒนาแบตเตอรี่ เช่น Hybrid, Fuel Cell และไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งคงเป้ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้ารวม 8 ล้านคันในปี 2030
ในฝั่งของ Hyundai เปิดเผยแผนพัฒนาแบตเตอรี่พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งคาดว่าจะนำมาใช้กับรถยนต์ขนาดใหญ่ในปี 2028 และต้นทุนของไฮโดรเจนนั้นจะใกล้เคียงกับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอื่นในปี 2030 มองว่าการลงทุนในพลังงานสะอาดเป็นการลงทุนในระยะยาว โดยกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเป็น S-Curve ในช่วงปี 2021-2025 จากภาพนี้เรามองว่าในระยะกลางถึงยาวความต้องการของพลังงานฟอสซิลจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป
- จีนส่งสัญญาณระบายน้ำมันดิบสำรอง
โดยรัฐบาลจีนจะปล่อยน้ำมันดิบออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ เพื่อช่วยให้โรงกลั่นภายในประเทศสามารถควบคุมต้านทุนราคา คาดว่าจะช่วยให้ภาวะอุปทานและอุปสงค์ในตลาดของจีนมีเสถียรภาพมากขึ้น อีกทั้งเป็นการรับประกันความมั่นคงด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของจีน และลดแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อในระยะสั้น โดยมีการมองจุดขายที่ระดับราคา US$70-75/bbl จากประเด็นนี้เป็นแรงกดดันราคาน้ำมันเชิง Sentiment ในระยะสั้น เปรียบเทียบกับการระบายทองแดงสำรองในช่วงเดือนมิถุนายนนั้น ราคาทองแดงไม่ปรับลดลงแรง แต่ราคาทองแดงก็ไม่ปรับขึ้นเช่นกัน เรามองว่าราคาน้ำมันที่เกินกว่า US$75/bbl แนะนำให้ขายทำกำไร เพราะ Upside มีจำกัด และตอบสนองข่าวดีเรื่องอุปสงค์ไประดับหนึ่งแล้ว
จีนกำลังเข้าสู่ Stagflation และเงินไหลเข้าอาเซียน
จำนวนผู้ป่วยรวมของประเทศหลักในอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และไทยนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง จากราว 1 แสนรายต่อวันในช่วงต้นเดือนสิงหาคม มาเหลือ 6-7 หมื่นรายต่อวัน พร้อมกับการกระจายวัคซีนที่เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากภาพดังกล่าวทำให้กระแสเงินเริ่มไหลกลับเข้ากลุ่มประเทศในอาเซียนในภาพรวมตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา รวมมูลค่ากว่า 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ราคาหุ้นของประเทศในอาเซียนมีการปรับตัวขึ้น 3.8% มากกว่าตลาดเอเชียและตลาดหุ้นโลก ภาพต่อไปอาจจะต้องจับตากระแสเงินไหลออกจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และการระบาดของสายพันธุ์มิว
ภาพรวมเศรษฐกิจในระยะนี้เป็นภาพของการชะลอตัวลงของภาคการผลิตจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา และปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ส่งผลกระทบกับการผลิต และส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น นโยบายพลังงานสะอาดทำให้อุปทานของโลหะอุตสาหกรรมหายไปในระยะสั้น
โดยรวมการเติบโตของจีนเริ่มชะลอตัวลงและเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และยังมีนโยบายการเงินที่ตึงตัวทั่วโลก ทำให้เรามองว่าเศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มเป็น Stagflation ในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งเป็นภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่อัตราเงินเฟ้อและการว่างงานอยู่ในระดับสูง การลงทุนอาจจะเน้นหุ้นที่มีลักษณะเชิงรับและมีอำนาจในการกำหนดราคาสูงเป็นสำคัญ นอกจากนั้น หุ้นที่มีปันผลสูงมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดี
ประเด็นที่ต้องจับตาในสัปดาห์นี้
- ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของจีน (Data Dump) เดือนสิงหาคม เช่น ดัชนียอดขายปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์คงที่
- การพิจารณาปรับเพิ่มหรือยกเลิกเพดานหนี้ชั่วคราวของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการชำระหนี้ของรัฐ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการแก่ประชาชน
- ติดตามการประเมินสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ภายหลังจากรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์ครบ 14 วัน
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ: 4
โดยตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย ความคืบหน้าการฉีดวัคซีน และการทยอยเปิดเมือง ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น จากความกังวลผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาต่อเศรษฐกิจ การเกิด Sector Rotation และแนวโน้มการส่งสัญญาณปรับลดวงเงิน QE ของ Fed
กองทุนแนะนำ
SCB Global Experts Fund หรือ SCBGEX(A)
กองทุน SCBGEX(A) เป็นกองทุนหุ้นทั่วโลกที่ลงทุนในสไตล์ Core-Satellite Portfolio คัดเลือกกองทุนโดย บล.ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ โดยกองทุนหลัก (Core) ลงทุนในกองทุน Julius Baer Global Excellence Equity เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพ เติบโต และกำไรสูง และกองทุนเสริม (Satellite) ในหุ้นธีมเมกะเทรนด์หลักของโลก
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ: 4
โดยดัชนียังได้รับแรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แม้ Fed มีแนวโน้มส่งสัญญาณ Advance Notice เรื่อง Taper ในการประชุมวันที่ 21-22 กันยายนนี้ รวมทั้งความคาดหวังต่อการผ่านร่างกฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน (Bipartisan Infra Bill) วงเงินใช้จ่ายใหม่ราว 5.5 แสนล้านดอลลาร์ ภายในปลายเดือนกันยายนนี้ ประกอบกับ Earnings Momentum ของดัชนีหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่ม Secular G rowth ที่ยังแข็งแกร่ง ทั้งนี้ เราปรับคำแนะนำสัดส่วนถือครองหุ้นสไตล์ Growth และหุ้นสไตล์ Value / Defensive จากเดิม 60:40 เป็น 70:30
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ: 4
ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้นยุโรป ช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มออกมาดี นำโดยหุ้นกลุ่ม Value/Cyclical การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่และแผนการเปิดประเทศจะช่วยหนุน Sentiment ตลาดได้ต่อ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม EU Fit for 55 ล่าสุดที่มุ่งเป้าการลดการปล่อยก๊าซให้ได้อย่างน้อย 55% ภายในปี 2030 และการที่ ECB มีแนวโน้มยังไม่ส่งสัญญาณ QE Taper ชัดเท่า Fed และ EU Bond Yield ในระดับต่ำยังเป็นปัจจัยบวก จับตาการเลือกตั้งเยอรมนีในวันที่ 26 กันยายน และ Chancellor คนใหม่
กองทุนแนะนำ
MFC Continental European Equity Fund หรือ MEURO
กองทุน MEURO ลงทุนในกองทุน BGF Continental European Flexible Fund ซึ่งลงทุนในหุ้นยุโรปภาคพื้น (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) โดดเด่นในการสร้างผลตอบแทนย้อนหลัง รวมทั้งลงทุนแบบยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนสไตล์การลงทุนและขนาดของหุ้นได้ตามสภาวะตลาด
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ: 4
SCB CIO ได้ปรับมุมมองความน่าสนใจที่มีต่อหุ้นญี่ปุ่นขึ้น 1 ระดับ มาอยู่ที่ระดับ 4 เนื่องจาก Valuation ของหุ้นญี่ปุ่นยังถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้น DM อื่นๆ และ EPS Browth ยังมีแนวโน้มถูกปรับขึ้น ผลประกอบการ บจ. ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มโดดเด่นมากกว่าหรือเท่ากับตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปในระยะต่อไป
นอกจากนี้ การลงจากตำแหน่งของนายกฯ ซูงะ ส่งผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงปลายเดือนกันยายน-ตุลาคม และการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น พรรค LDP (พรรคหลักในสภาปัจจุบัน) ยังมีแนวโน้มครองเสียงข้างมาก
กองทุนแนะนำ
Krungsri Japan Hedged Dividend Fund หรือ KF-HJAPAND
กองทุน KF-HJAPAND ลงทุนในกองทุน JPMorgan Japan (Yen) Fund ซึ่งลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น คัดเลือกธีมการลงทุนที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว และเฟ้นหาหลักทรัพย์รายตัวที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง
ตลาดหุ้นจีน H-share
ความน่าสนใจระดับ: 2
ตลาดหุ้นจีน H-share ยังมีความไม่แน่นอนในการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของทางการจีน ที่สอดรับกับแนวคิด Common Prosperity จะยังเป็นปัจจัยกดดันราคาของหุ้นกลุ่มแพลตฟอร์มรายใหญ่ที่เกี่ยวข้องต่อเนื่อง
โดยล่าสุดทางการจีนได้เรียกพบบริษัทเกม ซึ่งรวมถึง Tencent เพื่อหารือถึงความจำเป็นที่จะต้องลดผลกำไรลง นอกจากนี้ ข้อพิพาทระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะประเด็นความเสี่ยงเรื่อง ADRs Delisting จะเป็นปัจจัยที่กดดันดัชนีหุ้นจีน Offshore ให้มีแนวโน้ม Underperform ต่อ
ตลาดหุ้นจีน A-share
ความน่าสนใจระดับ: 3
โดยดัชนีหุ้นจีน Onshore ยังได้แรงหนุนจากการที่ทางการจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินและการคลังมากขึ้น รวมทั้งการปฏิรูปตลาดทุนในช่วงครึ่งหลังปี 2021 เห็นได้จากการที่ทางการจีนประกาศแผนจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งที่ 3 ในกรุงปักกิ่ง เพื่อให้การสนับสนุน SMEs
ขณะที่กลุ่มที่สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ในระยะยาวของจีน เช่น เซมิคอนดักเตอร์, Green Energy และในกลุ่มการผลิตขั้นสูง ยังมีแนวโน้มได้รับมาตรการสนับสนุนจากทางการและสามารถเติบโตอีกมาก อย่างไรก็ตาม การออกกฎระเบียบที่เข้มงวดของทางการจะสร้าง Sentiment เชิงลบต่อหุ้นจีน Onshore บางกลุ่ม และกดดันดัชนีในช่วงสั้น
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ: 2
การระบาดของโควิดยังกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจ การฉีดวัคซีนมีความคืบหน้า แต่ยังคงห่างไกลจากการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แม้เริ่มมีมาตรการคลายล็อกดาวน์แล้วก็ตาม เรามองแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก เห็นได้จากการปรับคาดการณ์ GDP ของไทยปีนี้ลดลงต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสสูงที่ผลประกอบการของ บจ.ในช่วงครึ่งหลังปี 2021 อาจถูกปรับประมาณการลง และมีแนวโน้มออกมาแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ: 4
แม้ตลาดหุ้นเวียดนามอาจยังผันผวนสูงจากความกังวลการแพร่ระบาดและการล็อกดาวน์รอบล่าสุด แต่เศรษฐกิจยังมีพื้นฐานแข็งแกร่ง โดยคาด GDP เติบโตได้ราว 5-6% ในปี 2021-2025 จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัว การบริโภคภายในและการใช้จ่ายภาครัฐที่แข็งแกร่ง ผลประกอบการ บจ. ยังมีแนวโน้มออกมาดี แม้จะเริ่มเห็นการชะลอลงในไตรมาส 3 ปี 2021 แต่สถานการณ์ลงทุนของต่างชาติยังไม่สูง และ Valuation ยังไม่แพงเท่าตลาดอื่นในภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย
กองทุนแนะนำ
Principal Vietnam Equity Fund
กองทุนลงทุนในหุ้นเวียดนามซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเอง และคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN30 Total Return