หลังการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ร่วมกับ 75 พรรคการเมือง นานร่วม 2 ชั่วโมงครึ่ง ที่สโมสรทหารบก วิภาวดี เพื่อจัดทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมืองเพื่อนำสู่การเลือกตั้ง
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เดินลงจากห้องประชุมด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม โดยยกนิ้วโป้งและตอบคำถามผู้สื่อข่าวสั้นๆ ว่า “ทุกอย่างเรียบร้อยดี” เมื่อถามว่ายืนยันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 ใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ตอบว่า “เดี๋ยวให้ กกต. เป็นผู้แถลง”
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมไม่มีตัวแทนจากแม่น้ำสายใดเป็นผู้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน รวมถึงผู้จัดการเลือกตั้งอย่าง กกต. โดยผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์นักการเมืองที่เข้าร่วมประชุมเพื่อสอบถามรายละเอียด
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า ฟังจากการประชุมเข้าใจว่า การเลือกตั้งน่าจะมีวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ กกต. ส่วนการเริ่มหาเสียงได้ช่วงหลังปีใหม่ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม
“บรรยากาศก็ดี ท่านนายกฯ ก็หัวเราะ พรรคการเมืองก็เปิดโอกาสให้ได้ถาม ชาติพัฒนาก็เสนอแนะว่า เราลงพื้นที่แล้วประชาชนหลายคนไม่เข้าใจการเลือกตั้งว่าบัตรเลือกตั้งเป็นอย่างไร และในบัตรก็ไม่มีโลโก้พรรค อย่างโคราช เขตเลือกตั้ง 14 เขต ผู้สมัครของชาติพัฒนาอาจจะไม่เหมือนกันเลยสักเบอร์”
เมื่อถามว่ามีพรรคการเมืองใดสอบถามถึงสถานะของ พล.อ. ประยุทธ์ ในช่วงเลือกตั้งหรือไม่ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาตอบว่า “ไม่มี”
รายงานข่าวจากห้องประชุมแม่น้ำ 5 สายแจ้งว่า ในห้องประชุมมีการเปิดสไลด์โรดแมปการเลือกตั้ง ดังนี้
เดือนธันวาคม 2561
- ธ.ค. (ก่อนประกาศ พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง ส.ส.) – ปลดล็อกการทำกิจกรรมทางการเมือง ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. 9 ฉบับ (ยกเว้นข้อที่ไม่เกี่ยวกับการทำกิจกรรม)
- 20 ธ.ค. – กกต. ประกาศใช้ระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
- 28 ธ.ค. – รัฐบาลหยุดเสนอร่าง พ.ร.บ. ไปให้ สนช.
เดือนมกราคม 2562
- 2 ม.ค. – ประกาศใช้ พ.ร.ฎ. ให้เลือกตั้ง ส.ส. (เริ่มหาเสียงได้ – เริ่มคิดค่าใช้จ่าย)
- 4 ม.ค. – กกต. ออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง / วันรับสมัคร / จำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัด / เขตเลือกตั้ง / สถานที่รับสมัครแบบบัญชีรายชื่อ
- 14-18 ม.ค. – รับสมัคร / พรรคแจ้งชื่อผู้จะเสนอเป็นนายกฯ (5วัน)
- 25 ม.ค. – กกต. ประกาศรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขต / บัญชีรายชื่อของทุกพรรค
เดือนกุมภาพันธ์ 2562
- 4-16 ก.พ. – วันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
- 15 ก.พ. – สนช. หยุดการพิจารณากฎหมาย
- 17 ก.พ. – วันเลือกตั้งล่วงหน้า
- 24 ก.พ. – วันเลือกตั้ง (ตามข้อเสนอของ กกต.)
เดือเมษายน 2562
- 25 เม.ย. – วันสุดท้ายของการประกาศผลเลือกตั้ง
- 28 เม.ย. – วันสุดท้ายที่ คสช. จะคัดเลือก ส.ว. ครบ 250 คน และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้พรรคการเมืองใหญ่ อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคประชาธิปัตย์ ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุม เนื่องจากเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่หน้าที่ของ คสช. และ พล.อ. ประยุทธ์ มีส่วนได้เสียโดยตรงในฐานะที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรค
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า