วันเลือกตั้ง

กกต. รับรอง 436 องค์กรเสนอชื่อผู้สมัคร ส.ว. ได้ ไร้เงากลุ่มสหกรณ์

โดย THE STANDARD TEAM
06.11.2018
  • LOADING...

พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยผลสรุปการยื่นคำขอลงทะเบียนองค์กรที่มีสิทธิ์แนะนำชื่อบุคคลเพื่อสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยได้กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศเปิดรับลงทะเบียนองค์กรระหว่างวันที่ 15-24 ตุลาคม 2561 มีผู้แทนองค์กรมาลงทะเบียนองค์กรจำนวนทั้งสิ้น 476 องค์กร จาก 71 จังหวัดทั่วประเทศ ประกอบไปด้วย

 

  • กลุ่ม 1 กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง 51 องค์กร
  • กลุ่ม 2 กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 15 องค์กร
  • กลุ่ม 3 กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข 87 องค์กร
  • กลุ่ม 4 กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง 79 องค์กร
  • กลุ่ม 5 กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน อาชีพอิสระ 26 องค์กร
  • กลุ่ม 6 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารการพัฒนานวัตกรรม 18 องค์กร
  • กลุ่ม 7 กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบธุรกิจ หรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว 35 องค์กร
  • กลุ่ม 8 กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ 86 องค์กร
  • กลุ่ม 9 กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างวรรณกรรม 38 องค์กร
  • กลุ่ม 10 กลุ่มอื่นๆ (ผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามย่อมมีสิทธิ์สมัครในกลุ่มอื่นๆ) 41 องค์กร

 

ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับการประกาศชื่ออีก 40 องค์กร มีมากถึง 23 องค์กรที่เป็นกลุ่มสหกรณ์ โดย กกต. ระบุเหตุผลว่า แม้ตามกฎหมายจัดตั้งสหกรณ์จะไม่เป็นองค์กรที่มุ่งแสวงหาผลกำไร แต่พฤติการณ์ที่มีการนำผลประโยชน์มาแบ่งปันกันจึงถือเป็นองค์กรที่มุ่งแสวงหาผลกำไร เข้าลักษณะต้องห้ามขององค์กรที่มีสิทธิ์จะแนะนำชื่อบุคคลสมัครเป็น ส.ว. ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือก ส.ว. 2561 ส่วนที่เหลือเป็นสมาคม สหภาพแรงงาน ที่ยื่นเอกสารไม่ครบตามระเบียบ กกต. หรือจัดตั้งองค์กรมายังไม่ครบ 3 ปี

 

สำหรับจังหวัดที่มีองค์กร มีสิทธิ์แนะนำชื่อบุคคลเพื่อสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลงทะเบียนมากที่สุด 6 อันดับแรก ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร จำนวน 115 องค์กร, สระแก้ว จำนวน 52 องค์กร, นนทบุรี จำนวน 18 องค์กร, นครราชสีมา จำนวน 14 องค์กร, ราชบุรี จำนวน 14 องค์กร และสมุทรปราการ จำนวน 14 องค์กร

 

ส่วนกลุ่มอาชีพผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย

 

1. กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข จำนวน 87 องค์กร

2. กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ จำนวน 86 องค์กร

3. กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมงจำนวน 79 องค์กร

4. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง จำนวน 51 องค์กร

5. กลุ่มอื่นๆ (ผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามย่อมมีสิทธิสมัครในกลุ่มอื่นๆ) จำนวน 41 องค์กร

 

สำหรับการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หลังจากการรับลงทะเบียนองค์กรในระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2561 ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร จะตรวจสอบคุณสมบัติองค์กร และรายงานสรุปผลการตรวจสอบคุณสมบัติองค์กร ซึ่งเป็นระยะเวลา 5 วันนับแต่วันปิดรับการลงทะเบียนองค์กร ต่อจากนั้นต้องประกาศผลการลงทะเบียนขององค์กรภายใน 20 วัน นับแต่วันปิดรับการลงทะเบียนองค์กร กกต. รวมทั้งการพิจารณาคำร้องคัดค้านขององค์กร คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2561

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X