THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
เศรษฐกิจจีน
EXCLUSIVE CONTENT

เงินฝืดที่ยืดเยื้อ สงครามการค้าดัน ‘ความเสี่ยงด้านลบ’ ของเศรษฐกิจจีนเพิ่ม

... • 14 ม.ค. 2025

HIGHLIGHTS

8 MIN READ
  • ตลาดโลกอ่อนตัวลงเล็กน้อย ปัจจัยกดดันมาจากประเด็นสงครามการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ 
  • ตลาดหุ้น EM อ่อนตัวลง นำโดยจีน แม้รัฐบาลจะประกาศมาตรการกระตุ้นการบริโภคครั้งใหญ่ ขยายขอบเขตสินค้าที่ได้รับเงินอุดหนุนและเพิ่มวงเงินสนับสนุน โดยจะออกพันธบัตรพิเศษระยะยาวเป็นแหล่งเงินทุน แต่ความกังวลเรื่องเงินฝืดเพิ่มขึ้น 
  • บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่าวิกฤตเงินฝืด วิกฤตอสังหา และความเสี่ยงสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงด้านลบของเศรษฐกิจจีน
  • สำหรับตลาดหุ้นไทย แม้จะปรับตัวลงแย่กว่าตลาดหุ้นในภูมิภาค แต่ยังมีความคาดหวังต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลดค่าครองชีพในประเทศเพิ่มเติมจากรัฐบาล

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดโลกอ่อนตัวลงเล็กน้อย ปัจจัยกดดันมาจากประเด็นสงครามการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ ส่วนด้านบวกมาจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง โดยดัชนี ISM ภาคบริการสหรัฐฯ เดือนธันวาคม ปรับเพิ่มขึ้นสู่ 54.1 ขณะที่ตลาดแรงงานยังดูดี โดยตำแหน่งงานเปิดใหม่ (JOLTs) ของสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือนที่ 8.1 ล้านตำแหน่ง นำโดยการจ้างงานภาคบริการธุรกิจและการเงิน, ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายใหม่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน (ADP) เพิ่มขึ้นเพียง 1.22 แสนตำแหน่ง ต่ำกว่าคาดและต่ำสุดในรอบ 4 เดือน 

 

ด้านรายงานประชุม FOMC เดือนธันวาคม เผยความกังวลต่อความเสี่ยงเงินเฟ้อที่อาจสูงกว่าคาด ทำให้ตลาดเริ่มมีความไม่มั่นใจต่อวงจรดอกเบี้ยขาลงในปีนี้ หนุนผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นเข้าใกล้ 4.7% และค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น กดดันกระแสเงินไหลออกจากภูมิภาค 

 

ด้านตลาดหุ้น EM อ่อนตัวลง นำโดยจีน แม้รัฐบาลจะประกาศมาตรการกระตุ้นการบริโภคครั้งใหญ่ ขยายขอบเขตสินค้าที่ได้รับเงินอุดหนุนและเพิ่มวงเงินสนับสนุน โดยจะออกพันธบัตรพิเศษระยะยาวเป็นแหล่งเงินทุน แต่ความกังวลเรื่องเงินฝืดเพิ่มขึ้น หลังประกาศเงินเฟ้อผู้บริโภคเดือนธันวาคมชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ส่วนเงินเฟ้อผู้ผลิต (PPI) ยังคงติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 27 

 

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยอ่อนตัวลงจากตลาดที่อยู่ในภาวะขาดความเชื่อมั่น ประเด็นเรื่อง ESG และประเด็นหุ้นรายตัว ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปลายปี หลังภาวะอากาศเย็นปกคลุมทั้งยุโรปและอเมริกา ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันและก๊าซพุ่งขึ้นระยะสั้น

 

เงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงกว่าคาด ‘ไม่น่ากังวล’

 

บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด มองว่า แม้รายงานการประชุม FOMC เดือนธันวาคม เผยความกังวลต่อความเสี่ยงเงินเฟ้อที่อาจสูงกว่าคาด และมีการปรับลดคาดการณ์การลดดอกเบี้ยในปี 2025 เหลือเพียง 2 ครั้งจากเดิม 4 ครั้ง ท่ามกลางความกังวลจากตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังสูง การใช้จ่ายที่แข็งแกร่ง และความไม่แน่นอนจากนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ 

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผลการประชุมอยู่แล้ว และไม่ใช่ข้อมูลใหม่ เราจึงยังคงมุมมองว่า Fed จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ทั้งนี้ ต้องจับตาพัฒนาการของเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อ รวมถึงนโยบายรัฐบาลใหม่อย่างใกล้ชิด 

 

ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับขึ้นต่อเนื่องนั้น มองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีเฉลี่ยอาจอยู่ที่ประมาณ 4.7% โดยในระยะต่อไปอาจมีการปรับลดลงหากนโยบายของรัฐบาลใหม่ทำให้ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ และ/หรือ ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้น

 

เศรษฐกิจจีน ความเสี่ยงด้านลบ ‘เพิ่มขึ้น’

 

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า จีนยังคงเผชิญความท้าทายจากภาวะเงินฝืดที่ยืดเยื้อ สะท้อนจากเงินเฟ้อผู้บริโภคที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อผู้ผลิตติดลบต่อเนื่อง 27 เดือน ซึ่งหากสถานการณ์เหล่านี้ยังดำเนินต่อเนื่องจะกดดันการใช้จ่ายของครัวเรือนให้ชะลอตัวยาวนานขึ้น รวมถึงกระทบรายได้ของบริษัทจนนำไปสู่การชะลอการลงทุน และเสี่ยงต่อการเกิดวงจรการลดเงินเดือนและเลิกจ้าง ทำให้รัฐบาลประกาศมาตรการกระตุ้นการบริโภคและอุปสงค์ในประเทศ 

 

“ซึ่งเรามองว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เรามองว่าท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นทั้งจากวิกฤตเงินฝืด วิกฤตอสังหา และความเสี่ยงสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงด้านลบของเศรษฐกิจจีนอย่างมีนัยสำคัญ” 

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

  1. หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์บวกจากการที่รัฐออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค โดยนำค่าซื้อสินค้ามาลดหย่อนภาษี (Easy e-Receipt) และแจกเงินหมื่นเฟส 2 ในช่วงเทศกาลตรุษจีน แนะนำกลุ่มพาณิชย์ (CRC, HMPRO, CPALL, TNP) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (CBG, OSP) และกลุ่มท่องเที่ยว (MINT)

  2. นักลงทุนที่ต้องการหุ้นปันผลสูง ซึ่งคาดว่าจะมีเงินปันผลจ่ายที่เหลือจากกำไรปี 2024 คิดเป็น Dividend Yield เกิน 3% เพื่อสร้างกระแสเงินสดให้แก่พอร์ตลงทุน แนะนำ AP, KTB, BBL, PTT

  3. หุ้น Earnings Play ซึ่งมองราคาหุ้นยังไม่ได้ปรับขึ้นสะท้อนโมเมนตัมกำไร 4Q24 อีกทั้งยังมีศักยภาพการจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ เลือก OSP, AMATA, AU, TIDLOR, BCP

  4. Trading Idea: 
  • หุ้นที่คาดว่าจะมีโอกาสได้ Sentiment บวกจากภาครัฐที่มีนโยบายออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แนะนำกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (WHA, AMATA) กลุ่มพาณิชย์ (CPALL, CRC) กลุ่มท่องเที่ยว (AOT, AWC) 
  • หุ้นที่ราคา Laggard (เทรด PER 68F ต่ำกว่า -1 SD) แต่ผลการดำเนินงานยังมีแนวโน้มเติบโตดี แนะนำ BTG, BEM, BDMS

 

“แม้ช่วงสั้นมอง SET มีโอกาสฟื้นตัว โดยมีแนวต้านที่บริเวณ 1,400 จุด ทั้งนี้ แม้ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลงแย่กว่าตลาดหุ้นในภูมิภาค จากความกังวลเรื่องเสถียรภาพการเมืองและ ESG ของ บจ. รวมทั้งตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคและตัวเลขส่งออกรถยนต์ของไทย สัปดาห์นี้คาดว่าจะมีแนวโน้มอ่อนแอลง แต่ยังมีความคาดหวังต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลดค่าครองชีพในประเทศเพิ่มเติมจากรัฐบาล รวมถึงการเริ่มต้นมีผลบังคับใช้ของมาตรการ Easy e-Receipt ทั้งนี้ มองว่าแนวโน้มการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนและการลดดอกเบี้ยของ Fed จะยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงอาจไม่กดดันบรรยากาศลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากนัก” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

  1. ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) และดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐฯ เดือนธันวาคม 
  2. ข้อมูลเศรษฐกิจจีน เช่น GDP 4Q24, ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม
  3. ข้อมูลเศรษฐกิจไทยเดือนธันวาคม เช่น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค, ส.อ.ท. เผยยอดผลิตและส่งออกรถยนต์

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: ADVANC - 4Q24 คาดกำไรโตดี มีปันผลรอ

 

แนะนำ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC เนื่องจากเหตุผลหลักดังนี้

  • เป็นผู้นำธุรกิจให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมในไทย มีส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้านจำนวนผู้ใช้บริการสูง 45% อีกทั้งยังมีจำนวนคลื่นในมือมากที่สุดในกลุ่ม ซึ่งจะช่วยให้บริการลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพและผลักดันผลการดำเนินงานให้เติบโตได้ดีในระยะยาว
  • 4Q24 คาดว่าจะมีกำไรปกติ 8.7 พันล้านบาท เติบโต 23%YoY และ 3%QoQ แรงหนุนจากรายได้การให้บริการหลักที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและการควบคุมต้นทุนที่ดี ส่งผลให้ปี 2024 คาดว่าจะมีกำไรปกติ 3.43 หมื่นล้านบาท เติบโต 20%YoY (สูงกว่าประมาณการของเราอยู่ 8.5%) และมองประมาณการกำไรปี 2025 ของเราอาจมี Upside   
  • มองเป็นหุ้น Defensive ซึ่งกำไรเติบโตได้ต่อเนื่อง อีกทั้งฐานะการเงินแข็งแกร่ง ทำให้มีศักยภาพจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ โดยคาดให้ Dividend Yield ราวปีละ 3.5% 
  • เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 300 บาท อิงวิธี DCF (WACC 6% และอัตราเติบโตระยะยาว 2%) และคาดว่าจะมีเงินปันผลจ่ายส่วนที่เหลือจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 5.20 บาท (หลังประกาศงบ 4Q24) คิดเป็น Dividend Yield ราว 1.8% 

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก


บริษัทเทคหลายแห่งเผยสินค้าใหม่ในงาน CES 2025 ที่เน้นพัฒนา AI เข้ากับอุปกรณ์ทุกประเภท ทั้ง PC AI, แว่น MR/AI รวมถึง Server AI นอกจากนี้ยังเห็นการพัฒนาระบบยานยนต์อัจฉริยะและการปรับปรุงระบบระบายความร้อนสำหรับการประมวลผล AI ซึ่งเป็นภาพที่สะท้อนได้ว่าแนวโน้มเทค AI ยังมีพัฒนาการเชิงบวกและมีความต้องการดี โดยเราเชื่อว่าประเด็นนี้จะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาหุ้นกลุ่มเทคในปี 2025 ได้ โดยเราชอบ MSFT, GOOGL, AMZN, TSM, NVDA, AMD

 

บริษัทเทคหลายแห่งเผยสินค้าใหม่ในงาน CES 2025 ที่มีเทคล้ำและเน้น AI เรามองโดยแบ่งตามกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักดังนี้

  1. AI PC: ภาพรวมสินค้าใหม่ ASUS, Lenovo และ HP มีจุดเด่นคือดีไซน์ใหม่, แอป AI, ประมวล AI เร็ว และการระบายความร้อนดีขึ้น
  2. แว่น MR/AI: HTC, Sunny Optical และ AAC เผยมีการใช้โมดูลเชิงแสง โชว์ผลิตภัณฑ์ด้านเสียง สัมผัส แสง และบานพับ
  3. เทคโนโลยียานยนต์: เน้นเผยแผนพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติทั้ง ThunderSoft และ Honda 
  4. Gaming PC และจอแสดงผล โดยเน้นจอ QD-OLED และ Mini LED ความละเอียดสูง รีเฟรชเรตเร็ว
  5. AI Server: 1) Gigabyte เซิร์ฟเวอร์ AI รุ่นใหม่รองรับ AMD MI325, NVIDIA HGX และ Intel Gaudi 3 ซึ่งมีโซลูชันระบายความร้อนด้วยน้ำครบวงจร 2) PC รุ่นใหม่ AORUS MASTER, AERO และ GAMING ที่มี Copilot และ AI Agent ‘GiMate’ 
  6. NVDA เปิดตัว Blackwell RTX 50 Series อย่าง RTX 5090 ที่มีประสิทธิภาพเพิ่ม 2 เท่า และ RTX 5070 ที่ประสิทธิภาพเทียบเท่า 4090 แต่ราคาถูกกว่า นอกจากนี้ยังเผย Project DIGITS: PC ประสิทธิภาพสูงที่รันโมเดล AI ได้, Cosmos: แพลตฟอร์มสำหรับพัฒนาระบบ AI กายภาพ, NVIDIA Llama Nemotron: โมเดลภาษาพื้นฐานสำหรับองค์กร พัฒนาจาก Meta's Llama

 

ภาพรวมแนวโน้มหลักที่เห็นจากการเผยสินค้าใหม่คือ 1. การผนวก AI เข้ากับอุปกรณ์ทุกประเภท 2. การพัฒนาประสิทธิภาพการประมวลผล AI 3. เน้นประสบการณ์ผู้ใช้ผ่าน AI และ Mixed Reality 4. การพัฒนาระบบยานยนต์อัจฉริยะ 5. การปรับปรุงระบบระบายความร้อนสำหรับการประมวลผล AI ซึ่งเป็นภาพที่สะท้อนได้ว่าแนวโน้มเทค AI ยังมีพัฒนาการเชิงบวกและมีความต้องการดี 

 

เราประเมินว่าพัฒนาการเชิงบวกของธุรกิจและอุปสงค์ AI ที่โตดีจะยังหนุนราคาหุ้นกลุ่มเทคให้ปรับตัวขึ้นต่อได้ในระยะถัดไป โดยในกลุ่มเทคเรายังคงชอบ MSFT, GOOGL, AMZN นอกจากนี้มองกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำว่ามีแรงหนุนจากการประมวลผลที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเราแนะนำ TSM, NVDA, AMD

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

เงินสด / สภาพคล่อง

 

สินทรัพย์สภาพคล่องมีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ เช่น ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ข้อพิพาทบนช่องแคบไต้หวัน ข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยล่าสุดทรัมป์เลื่อนคำมั่นที่เคยหาเสียงไว้ว่าจะยุติสงครามในยูเครนภายใน 24 ชั่วโมง ออกไปเป็นระยะเวลาหลายเดือน

 

ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว

 

โอกาสที่ US Yield Curve จะเพิ่มความชันโดยที่ Yield ตัวยาวเพิ่มขึ้นยังมีอยู่ แม้ว่า Fed ยังลดดอกเบี้ยต่อในปีนี้ แต่แนวนโยบายของทรัมป์อาจจำกัดการลดลงของ Yield ตัวสั้น สอดคล้องกับรายงานการประชุมของ Fed ล่าสุด ที่ชี้ถึงความไม่แน่นอนของนโยบายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการกลับมาของทรัมป์ และยังชี้ว่าการลดดอกเบี้ยอาจชะลอหรือหยุดลงได้ ขณะที่ Yield ตัวยาวยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นและเงินเฟ้อที่ยังหนืด ทั้งนี้ Bond อายุ 2-4 ปีมีความเสี่ยง Duration ไม่มาก และมี Coupon มากพอ จึงทำให้น่าสนใจลงทุน และคุ้มที่จะถือเพื่อ Hedge หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่ำกว่าที่คาดไว้มาก 

 

US Treasury & IG

 

US Yield มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากความกังวลในตลาดว่า Fed อาจชะลอการลดดอกเบี้ยในปี 2025 หลังตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและดัชนี Prices Paid ใน ISM ภาคบริการล่าสุดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ประกอบกับความกังวลแนวโน้มการขาดดุลการคลังที่มากขึ้น และแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังหนืดจากการผลักดันนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ อย่างการกีดกันการค้ากับคู่ค้าต่างๆ โดยเฉพาะจีน และการคุมเข้มด้านผู้อพยพ

แนะนำลงทุนทั้ง UST และ US IG Bond โดยเน้นลงทุนใน Duration ประมาณ 2-4 ปี ที่ให้ Yield เฉลี่ยยังสูงกว่าประมาณการอัตราดอกเบี้ย ‘ระยะยาว’ ของ Fed ที่ 3% เพื่อเป็นการ Lock Coupon 

 

High Yield Bond

 

US HY ยังมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนเป็นบวก ตาม 1. Default Rate (12 Month Trailing) ของ US HY ในปี 2024 ซึ่งอยู่ที่เพียง 3.0% ต่ำกว่าของ Leveraged Loan ที่ 6.7% 2. ตัวเลข Rising Star ยังมากกว่าของ Fallen Agent ซึ่งสอดคล้องกับโมเมนตัมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังดี และ Credit Spread ที่ทรงตัวถึงแคบลงในช่วงที่ผ่านมา และ 3. ประเด็น Maturity Wall ในระยะสั้นของ US HY ที่ยังไม่ได้น่ากังวลนัก โดยที่ยอดครบกำหนดในปี 2025 อยู่ที่เพียง 27 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ด้วย US HY Spread ที่ค่อนข้างต่ำมาก และ UST Yield ตัวยาวที่ยังเสี่ยงเพิ่มขึ้น จึงทำให้ Upside ของ US HY อาจจำกัด

 

สินทรัพย์ผสม กึ่งหนี้กึ่งทุน และ REITs

 

REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับพอร์ตโฟลิโอได้ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับพอร์ตโฟลิโอจากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ

 

สินทรัพย์ผสม (Ready Mixed-Asset Allocation) ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง

 

US REITs

 

US REITs มีปัจจัยหนุนจาก 1. ปัจจัยพื้นฐานที่ดี ตามภาพรวมตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง รวมทั้ง Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 94% และกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) ที่เติบโตต่อเนื่อง 2. ผลการดำเนินงานที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากต้นทุนทางการเงินที่ลดลงตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง 3. งบดุลที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถรองรับการเติบโตในอนาคต และ 4. Valuation ที่อยู่ในระดับที่ไม่แพง เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต อย่างไรก็ตาม Bond Yield สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้น หลังรายงาน Dot Plot ของ Fed ในเดือนธันวาคม ปรับลดคาดการณ์การลดดอกเบี้ยในปี 2025 เหลือ 2 ครั้ง เป็นปัจจัยกดดัน US REITs ในระยะสั้น

 

Private Credit

 

เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหน้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)

 

หุ้นไทย

 

ดัชนีฯ ได้ปัจจัยหนุนระยะยาวจาก 1. เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น ภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเติบโตดี รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ เช่น โครงการ Entertainment Complex 2. แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ กนง. ใน 1H25 อีก 25 bps 3. มาตรการแก้หนี้ของภาครัฐ ช่วยหนุนการบริโภคและบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน และ 4. กำไรของ บจ. มีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและทยอยปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แรงขายกองทุนรวม LTF ที่จะครบกำหนดในปี 2025 และแรงขายหุ้นที่มีการใช้มาร์จิ้นในระดับสูง หลัง ก.ล.ต. เปิดเฮียริ่งปรับเกณฑ์ปล่อยมาร์จิ้นจนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ อาจกดดันดัชนีฯ ในระยะสั้น

 

หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนระยะสั้น หลัง Fed ส่งสัญญาณชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ยังได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เป็น Soft Landing และแนวโน้ม EPS ที่ขยายตัวได้ดี ท่ามกลางผลบวกจากกระแส AI และนโยบายกระตุ้นของทรัมป์

 

หุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากการลดดอกเบี้ย แต่ยังเผชิญแรงนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ และเสถียรภาพทางการเมืองในฝรั่งเศสและเยอรมนีลดลง



หุ้นญี่ปุ่นได้อานิสงส์จากเงินเยนอ่อนค่า และการปฏิรูปบรรษัทภิบาลของตลาด

 

หุ้นสหรัฐฯ

 

ความคาดหวังเชิงบวกของตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีอยู่ หลัง ISM ภาคบริการของสหรัฐฯ เดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นแตะระดับ 54.1 และสูงกว่าที่คาด ด้าน Consensus คาดว่า S&P 500 EPS Growth ใน 4Q24 จะ +11.9%YoY ซึ่งเติบโตมากที่สุดตั้งแต่ 4Q21 ส่วนการที่คณะทำงานของทรัมป์เตรียมเข้ามาบริหารประเทศในเดือนมกราคม 2025 เพิ่มความหวังในตลาดเกี่ยวกับการผ่อนคลายกฎระเบียบและการลดภาษีเงินได้ในสหรัฐฯ ที่ส่งผลบวกต่อ EPS เพิ่มเติม จากผลบวกของการลงทุน AI ในสหรัฐฯ ทั้งนี้ เรายังเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่ EPS มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ผสมผสานกับหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ช่วยลดผลกระทบทางลบจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า

 

หุ้นยุโรป

 

การทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักในยุโรปสู่ Neutral Rate ที่ 2% มีแนวโน้มสนับสนุนดัชนีหุ้นยุโรป โดยเราเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่มีความสามารถในการทำกำไรสูงและมีงบดุลแข็งแกร่ง ท่ามกลาง Valuation ของดัชนีที่ถูกกว่าดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ประมาณ 40% อย่างไรก็ตาม เรามีมุมมองระมัดระวังบนประเด็นการเมืองของเยอรมนีและฝรั่งเศสที่ยังไร้ข้อสรุปบนร่างงบประมาณประจำปี 2025 ซึ่งมีแนวโน้มส่งผลต่อการชะลอการลงทุนภาครัฐ นอกจากนี้แนวโน้มการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบกับการส่งออกรถยนต์ (กลุ่ม Auto) ของสหภาพยุโรป ท่ามกลางการแข่งขันกับอุตสาหกรรมรถ EV จีนที่มีต้นทุนถูกกว่า

 

หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่

 

ตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชียยังเผชิญความท้าทายในปี 2025 จาก 1. 10Y UST Yield ที่ปรับสูงขึ้นและค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น 2. ความเป็นไปได้ในการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ หลังการสาบานตนของทรัมป์ต่อเศรษฐกิจ และ 3. ความไม่แน่นอนด้านนโยบายและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น 

 

อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแต่ละประเทศ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในภูมิภาค แม้อาจปรับลดขนาด/ความเร็วลงตามแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ทั้งนี้ เน้นลงทุนในตลาดที่มีความยืดหยุ่น ได้รับผลลบจาก 10Y UST Yield เพิ่มสูงขึ้นและสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นไม่มาก

 

หุ้นอินเดีย

 

ตลาดหุ้นอินเดียมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะสั้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาด ตามดัชนี PMI เดือนธันวาคม 2025 ที่อยู่ระดับต่ำสุดในรอบปี โดยธนาคารกลางอินเดียปรับลดคาดการณ์ GDP ใน FY2025 ลงอยู่ที่ 6.4% จากเดิมคาดไว้ที่ 7.2% และได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 6.5% จากเงินเฟ้อที่ยังอยู่สูง ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นอินเดียนับตั้งแต่ต้นปี 1.1 พันล้านดอลลาร์ ท่ามกลาง Valuation ของดัชนีฯ ที่ซื้อขายบน Forward P/E เหนือค่าเฉลี่ย 5 ปี ราว +0.4 SD อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากนโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐฯ น้อยกว่า EM อื่นๆ และโครงสร้างเศรษฐกิจยังเติบโตดีระยะยาว เราจึงแนะนำทยอยสะสมเมื่อย่อตัว  

 

หุ้นอินโดนีเซีย

 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซียได้รับปัจจัยหนุนจาก 1. เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีและ FDI ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของปราโบโว ซึ่งจะช่วยหนุนภาคการบริโภค และก่อให้เกิดการจ้างงาน 3. ภาคการบริโภคที่ได้ปัจจัยหนุนจากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ปรับตัวขึ้น 6.5% ในปี 2025 และแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ BI ในปี 2025 ราว 75 bps มาที่ 5.25% 4. มาตรการควบคุมการผลิตแร่นิกเกิลจะช่วยหนุนราคานิกเกิลซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก และ 5. Valuation ของดัชนีฯ ที่น่าสนใจ โดยซื้อขายบน Forward P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ราว -1 SD อย่างไรก็ตาม ค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลงเกินแนวรับสำคัญที่ 16,000 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ อาจกดดันดัชนีฯ ในระยะสั้น

 

หุ้นจีน

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการทยอยออกมาตรการทางการเงิน การคลัง ภาคอสังหา และตลาดทุนของทางการจีน โดยล่าสุดทางการจีนเตรียมขยายมาตรการเก่าแลกใหม่สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค และมาตรการยกระดับอุปกรณ์ แม้ว่าในปี 2025 ข้อพิพาททางการค้าและเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ จะยังมีอยู่ก็ตาม ล่าสุดรัฐบาลของไบเดนวางแผนที่จะเพิ่มข้อจำกัดการส่งออกชิป AI จากบริษัทต่างๆ อย่าง NVIDIA เพื่อไม่ให้รัสเซียและจีนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงได้

 

สินค้าโภคภัณฑ์

 

ปัจจัยพื้นฐานของทองคำยังคงสนับสนุนการลงทุนในพอร์ตระยะยาว เนื่องจาก 1. เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้ ท่ามกลางความขัดแย้งในตะวันออกกลางและสงครามรัสเซีย-ยูเครน 2. ความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่อยู่สูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังทรัมป์ชนะเลือกตั้ง สนับสนุนการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ 3. ช่วยกระจายความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากนโยบายการกีดกันทางการค้า และ 4. Fund Flow ของ ETF ที่กลับมาซื้อสุทธิใน 2H24 ราว 110 ตัน อย่างไรก็ตาม US Bond Yield ที่ปรับขึ้นจากความกังวลว่า Fed จะชะลอการลดดอกเบี้ยในปีนี้กดดันราคาทองคำในระยะสั้น

ภาพ: Antonio Ciufo / Getty Images, Comezora / Getty Images

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 14 ม.ค. 2025

READ MORE



Latest Stories