วันเลือกตั้ง

ย้อนเส้นทางบูรพาพยัคฆ์ เติบโตยุคทักษิณ ชินวัตร ก่อนหยั่งรากครองตำแหน่ง ผบ.ทบ. กว่าทศวรรษ

08.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • วันวิชิต บุญโปร่ง (2554, 562) กล่าวถึงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกว่าเปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีเงา มีอำนาจทางการเมืองและการทหาร สามารถกำหนดทิศทางการเมืองไทยออกมาทิศทางใด
  • ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงปี 2559 เส้นทางการเติบโตขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเป็นการแข่งขันระหว่างกลุ่มย่อยภายในกองทัพบกระหว่างวงศ์เทวัญ (กองพลที่ 1 รักษาพระองค์), บูรพาพยัคฆ์ (กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์) และรบพิเศษ (หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ)
  • การแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปียุคทักษิณ ชินวัตร ส่งผลให้นายทหารที่เติบโตจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์หรือบูรพาพยัคฆ์ นำโดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพบกทุกๆ ปี

นับจากพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 34 ในปี 2547 ต่อจากพลเอก ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ที่ข้ามไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นครั้งแรกที่นายทหารเติบโตจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (บูรพาพยัคฆ์) สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้สำเร็จ

 

เมื่อพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เกษียณอายุราชการในปี 2548 และเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงปี 2559 ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกผูกขาดโดยนายทหารที่เติบโตจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์หรือบูรพาพยัคฆ์

 

วันวิชิต บุญโปร่ง (2554, 562) กล่าวถึงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกว่าเปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีเงา มีอำนาจทางการเมืองและการทหาร สามารถกำหนดทิศทางการเมืองไทยออกมาทิศทางใด

 

โดยทั่วไปเส้นทางการเติบโตของผู้บัญชาการทหารบกสามารถแบ่งออกเป็น 2 สายหลัก ได้แก่ เติบโตจากสายคุมกำลัง (Command) และเติบโตจากสายเสนาธิการ (Staff)

 

สายคุมกำลังเติบโตจากเหล่าคุมกำลังรบของกองทัพบก ได้แก่ เหล่าทหารราบ, เหล่าทหารม้า และเหล่าทหารปืนใหญ่

 

ส่วนสายเสนาธิการเติบโตจากเหล่าสนับสนุนกำลังรบของกองทัพบก เช่น เหล่าทหารช่าง และเหล่าทหารสื่อสาร เป็นต้น

 

แต่ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงปี 2559 เส้นทางการเติบโตขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเป็นการแข่งขันระหว่างกลุ่มย่อยภายในกองทัพบกระหว่างวงศ์เทวัญ (กองพลที่ 1 รักษาพระองค์), บูรพาพยัคฆ์ (กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์) และรบพิเศษ (หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ)

 

โดยเฉพาะบูรพาพยัคฆ์ (กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์) สามารถขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาทหารบกติดต่อกันระหว่างปี 2550-2559

 

ภาพที่ 1 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รับมอบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 34

จากพลเอก ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 33 ในปี 2547

ภาพ: www.thairath.co.th

 

ทำความรู้จักกับบูรพาพยัคฆ์

ก่อนที่จะกล่าวถึงเส้นทางขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของนายทหารที่เติบโตจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์หรือบูรพาพยัคฆ์ มาทำความรู้จักกับบูรพาพยัคฆ์ว่ามีที่มาอย่างไร

 

วันวิชิต บุญโปร่ง (2554, 576) อธิบายว่า “บูรพาพยัคฆ์เป็นชื่อฉายาของกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ค่ายจักรพงษ์ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ถูกเรียกเป็นครั้งแรกหลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยสื่อมวลชนสายทหาร เข้าใจแบบตีขลุมและหน่วยทหารทั้งหมดของกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ว่าเป็นบูรพาพยัคฆ์”

 

ส่วนที่มาของคำว่า ‘บูรพาพยัคฆ์’ เกิดขึ้นในปี 2498 เมื่อครั้งกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ใช้ชื่อหน่วยเป็นกรมผสมที่ 2 ทำให้บูรพาพยัคฆ์เป็นการเรียกนายทหารที่เติบโตจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ มีหน่วยขึ้นตรงหลัก คือ กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์

 

ภาพที่ 2 ตราสัญลักษณ์ประจำกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์เมื่อครั้งใช้ชื่อหน่วยเป็นกรมผสมที่ 2

ภาพ:  www.youtube.com

 

ภาพที่ 3 ตราสัญลักษณ์ประจำกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์

ภาพ: 2id.rta.mi.th

  

ภาพที่ 4 จากซ้ายไปขวา ตราสัญลักษณ์ประจำกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์

และตราสัญลักษณ์ประจำกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หน่วยขึ้นตรงหลักกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์

ภาพ: www.youtube.com, www.pairee12.com, www.komchadluek.net

 

เส้นทางขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของบูรพาพยัคฆ์

ก่อนที่พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก มีนายทหารเติบโตจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (บูรพาพยัคฆ์) ซึ่งใกล้เคียงกับดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก คือ พลเอก นิพนธ์ ภารัญนิตย์ อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกระหว่างปี 2541-2544 และรองผู้บัญชาการทหารบกระหว่างปี พ.ศ. 2544-2545 เมื่อครั้งพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกระหว่างปี 2541-2545

 

ทั้งนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าสู่เส้นทางที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2545 เมื่อได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ต่อจากพลเอก พรชัย เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ต่อมาในปี 2546 ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเกิดขึ้นยุคทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

การดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำให้มีโอกาสขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างมากในด้านความมั่นคง และในทางการเมือง ที่รัฐบาลจำเป็นต้องได้คนที่เชื่อใจและไว้ใจได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง

 

การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2547 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 34 ทำให้พลเอก ประวิตร เป็นนายทหารที่รับราชการในกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์คนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

 

วันวิชิต บุญโปร่ง (2554, 581) ตั้งข้อสังเกตถึงปัจจัยสำคัญจากฝ่ายการเมืองยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ทำให้พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ สามารถขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้แก่

  1. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีความคุ้นเคยกลุ่มทางการเมืองในพรรคไทยรักไทย เช่น กลุ่มนายเสนาะ เทียนทอง กลุ่มคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
  2. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีความใกล้ชิดกับสถาบันสูงสุด และมีประวัติการรับราชการโดดเด่น ผ่านการดำรงตำแหน่งคุมกำลังรบในกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ และผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์) และแม่ทัพภาคที่ 1 ปัจจัยทั้งสองทำให้ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งให้พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

 

ภาพที่ 5 ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศเมื่อครั้งตรวจเยี่ยมกองทัพบก

โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการทหารบก ให้การต้อนรับ

ภาพ: www.thairath.co.th

 

นอกจากนี้ การใช้อำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปีของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังชนะการเลือกตั้งในปี 2544 ที่ดันแคน แมคคาร์โก และอุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ (McCargo and Ukrist, 2005 134) เรียกว่า “การนำทหารกลับสู่การเมืองอีกครั้ง (Repoliticization of the Military) ได้เข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี ต้องการมีอำนาจเหนือทหาร ด้วยการนำทหารกลับสู่การเมืองมาเป็นฐานอำนาจทางการเมืองเพื่อสร้างความเข้มแข็งและลดโอกาสการทำรัฐประหาร”

 

การเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปียุคทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2544-2549 ส่งผลให้นายทหารที่เติบโตจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์หรือบูรพาพยัคฆ์ นำโดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพบกทุกๆ ปี เช่น ผู้บัญชาการทหารบก และแม่ทัพภาคที่ 1

 

ชัยอนันต์ สมุทวณิช อธิบายว่า “การคุมกำลังในจุดสำคัญเป็นลักษณะเด่นของการเมืองแบบทหาร” (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2524, 303) โดยเฉพาะการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ทำให้บูรพาพยัคฆ์มีบทบาทในการจัดวางฐานกำลังระยะยาวภายในกองทัพบกและสนับสนุนให้นายทหารคนอื่นๆ ในกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์

 

ตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงปี 2559 การได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญภายในกองทัพบก ทำให้สามารถวางฐานกำลังระยะยาว วันวิชิต บุญโปร่ง (2556, 3-4) อธิบายการสร้างฐานกำลังระยะยาวของบูรพาพยัคฆ์มาจาก “การสนับสนุนเพื่อนร่วมรุ่นเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญในกองทัพบกและสนับสนุนนายทหารผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความใกล้ชิดให้มีตำแหน่งสำคัญทางยุทธศาสตร์ของกองทัพบก เช่น ตำแหน่งคุมกำลังรบ”

 

สำหรับเส้นทางการเติบโตขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ, โยชิฟูมิ ทามาดะ (2557, 216-218) ตั้งข้อสังเกต ดังนี้

 

“การดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ นับเป็นเส้นทางการเติบโตจากเส้นทางคุมกำลังในกองทัพภาคที่ 1 รูปแบบใหม่ในการขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก จากเดิมผู้บัญชาการทหารบกที่เติบโตจากสายคุมกำลังในกองทัพภาคที่ 1 มาจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ มีเส้นทางการเติบโตรูปแบบ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์/กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์—>ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์—>แม่ทัพภาคที่ 1—>เสนาธิการทหารบก/ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก/รองผู้บัญชาการทหารบก—>ผู้บัญชาการทหารบก สำหรับเส้นทางคุมกำลังรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ผู้บังคับกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์/กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์/กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์—>ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์—>แม่ทัพภาคที่ 1—>เสนาธิการทหารบก/ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก/รองผู้บัญชาการทหารบก—>ผู้บัญชาการทหารบก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้บัญชาการทหารบกคนแรกที่มีเส้นทางการเติบโตในรูปแบบดังกล่าว ซึ่งเด่นชัดขึ้นในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปีภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

 

ภาพที่ 6 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ระหว่างปี 2539-2540 (ซ้าย) และแม่ทัพภาคที่ 1 ระหว่างปี 2546-2547 (ขวา)

ภาพ: www.thairath.co.th

 

จากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึง 2559: 10 ปีกับการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของบูรพาพยัคฆ์

หลังจากพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการทหารบก เกษียณอายุราชการในปี 2548 ผู้บัญชาการทหารบกต่อจากพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ คือ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ที่เติบโตจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษหรือรบพิเศษ กล่าวได้ว่าช่วงทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบกทั้งสิ้น 4 คน ได้แก่ พลเอก สมทัต อัตตะนันทน์ (2545-2546), พลเอก ชัยสิทธิ์ ชินวัตร (2546-2547), พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (2547-2548) และพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน (2548-2550)

 

การขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 35 ของพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ทำให้เส้นทางการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของบูรพาพยัคฆ์ต้องหยุดลงชั่วคราว และรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สิ้นสุดการบริหารประเทศเมื่อเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นายทหารจากบูรพาพยัคฆ์ที่มีบทบาทสำคัญในการนำกำลังเข้าร่วมการรัฐประหาร คือ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพภาคที่ 1 (2548-2549) ที่นำกำลังจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์เข้าร่วมทำรัฐประหาร (มติชนสุดสัปดาห์, 2559, 1)

 

การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเส้นทางการเติบโตขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของนายทหารที่เติบโตจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์หรือบูรพาพยัคฆ์ รวมถึงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและแม่ทัพภาคที่ 1 อย่างต่อเนื่อง

 

โยชิฟูมิ ทามาดะ (2557, 217-218) ตั้งข้อสังเกตดังนี้ “ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เส้นทางการเติบโตขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของนายทหารที่รับราชการในกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ มีเส้นทางการเติบโตจากผู้บังคับกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์/กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์/กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์—>ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์—>แม่ทัพภาคที่ 1—>เสนาธิการทหารบก/ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก/รองผู้บัญชาการทหารบก—>ผู้บัญชาการทหารบก”

    

ภาพที่ 7 จากซ้ายไปขวา พลเอก สมทัต อัตตะนันทน์, พลเอก ชัยสิทธิ์ ชินวัตร, พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ

และพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกที่ได้รับการแต่งตั้งยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

ภาพ: www.rta.mi.th

 

ภาพที่ 8 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 34 ส่งมอบตำแหน่ง

ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 35 ให้พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ในปี 2548

ภาพ: www.thairath.co.th

 

นับตั้งแต่การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2549-2558 เกิดการรัฐประหารขึ้น 2 ครั้ง คือ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นายทหารที่เติบโตจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์หรือบูรพาพยัคฆ์ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และแม่ทัพภาคที่ 1 ดังนี้

 

ผู้บัญชาการทหารบก

  1. พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 36 ระหว่างปี 2550-2553 มีเส้นทางเติบโตก่อนดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ดังนี้ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์—>ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์และผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์—>แม่ทัพภาคที่ 1—>ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
  2. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 37 ระหว่างปี 2553-2557 มีเส้นทางเติบโตก่อนดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ดังนี้ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์—>ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์—>แม่ทัพภาคที่ 1—>เสนาธิการทหารบก—>รองผู้บัญชาการทหารบก
  3. พลเอก อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 38 ระหว่างปี 2557-2558 มีเส้นทางเติบโตก่อนดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ดังนี้ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์—>ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 และผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9—>แม่ทัพภาคที่ 1—>เสนาธิการทหารบก—>รองผู้บัญชาการทหารบก
  4. พลเอก ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 39 ระหว่างปี 2558-2559 มีเส้นทางเติบโตก่อนดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ดังนี้ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์—>เสนาธิการกองทัพน้อยที่ 1, รองแม่ทัพน้อยที่ 1 และรองแม่ทัพภาคที่ 1—>แม่ทัพน้อยที่ 1, ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก และรองเสนาธิการทหารบก—>แม่ทัพภาคที่ 1—>ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก   

ภาพที่ 9 จากซ้ายไปขวา พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา, พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พลเอก อุดมเดช สีตบุตร

และพลเอก ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกจากบูรพาพยัคฆ์ระหว่างปี 2550-2559

ภาพ: www.rta.mi.th

 

แม่ทัพภาคที่ 1

  1. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 คนที่ 43 ระหว่างปี 2549-2551 มีเส้นทางเติบโตก่อนดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ดังนี้ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ และผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์
  2. พลเอก คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 คนที่ 44 ระหว่างปี 2551-2553 มีเส้นทางเติบโตก่อนดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ดังนี้ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ และผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์
  3. พลเอก อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 คนที่ 45 ระหว่างปี 2553-2555 มีเส้นทางเติบโตก่อนดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ดังนี้ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์, ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 และผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9
  4. พลเอก ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 คนที่ 47 ระหว่างปี 2556-2557 มีเส้นทางเติบโตก่อนดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ดังนี้ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์, เสนาธิการกองทัพน้อยที่ 1 รองแม่ทัพน้อยที่ 1, รองแม่ทัพภาคที่ 1, แม่ทัพน้อยที่ 1, ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก และรองเสนาธิการทหารบก
  5. พลเอก เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ แม่ทัพภาคที่ 1 คนที่ 49 ระหว่างปี 2558-2559 มีเส้นทางเติบโตก่อนดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ดังนี้ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์, ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และแม่ทัพน้อยที่ 1

    

ภาพที่ 10 จากซ้ายไปขวา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พลเอก คณิต สาพิทักษ์, พลเอก อุดมเดช สีตบุตร

พลเอก ธีรชัย นาควานิช และพลเอก เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ แม่ทัพภาคที่ 1 ระหว่างปี 2549-2559

ภาพ: www.army1.rta.mi.th

 

การดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกจำนวน 4 คน และแม่ทัพภาคที่ 1 จำนวน 5 คนติดต่อกันตั้งแต่ปี 2550-2559 ของนายทหารที่เติบโตจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์หรือบูรพาพยัคฆ์ ที่มีหน่วยขึ้นตรงหลัก คือ กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์, กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ทำให้สามารถจัดวางฐานกำลังระยะยาวและรักษาการดำรงตำแหน่งสำคัญภายในกองทัพบก โดยเฉพาะตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ตำแหน่งยุทธศาสตร์สำคัญในการทำรัฐประหาร เนื่องจากคุมกำลังรบระดับกองพล จำนวน 4 กองพล ได้แก่ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์, กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์, กองพลทหารราบที่ 9 และกองพลทหารราบที่ 11 ซึ่งเป็นตำแหน่งใกล้ที่สุดที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

 

ทั้งนี้ การจัดวางฐานกำลังระยะยาวภายในกองทัพบกของบูรพาพยัคฆ์ถูกตั้งข้อสังเกตจาก วันวิชิต บุญโปร่ง (2559, สัมภาษณ์) กล่าวคือ “เป็นความต่อเนื่องของบูรพาพยัคฆ์ในการรักษาอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี โดยเฉพาะเมื่อพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ร่วมกันจัดทำบัญชีการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปียุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก, รองผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารบก การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะการจัดทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปีตำแหน่งสำคัญภายในกองทัพบก ได้แก่ แม่ทัพภาคที่ 1, เสนาธิการทหารบก, ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก, รองผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารบก ให้การสนับสนุนนายทหารที่เติบโตจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ดำรงตำแหน่งดังกล่าว เพื่อเป็นฐานกำลังสำคัญในการรักษาอำนาจทางการเมืองและทางทหารบูรพาพยัคฆ์”

 

บทความนี้เป็นการย้อนตำนานเส้นทางผู้บัญชาการทหารบกระหว่างปี 2547-2559 ของนายทหารที่เติบโตจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์หรือบูรพาพยัคฆ์ ซึ่งมีหน่วยขึ้นตรงหลัก คือ กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์, กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายทหารที่เติบโตจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์คนแรกที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 34 (2547-2548) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แม้ว่าเส้นทางผู้บัญชาการทหารบกของนายทหารจากบูรพาพยัคฆ์ต้องหยุดลงชั่วคราว เมื่อพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่งเติบโตจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษหรือรบพิเศษ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 35 (2548-2550) ต่อจากพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ

 

อย่างไรก็ตาม การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้นายทหารที่เติบโตจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์หรือบูรพาพยัคฆ์ สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกติดต่อกัน 4 คน ระหว่างปี 2550-2559 ได้แก่ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา (2550-2553), พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2553-2557), พลเอก อุดมเดช สีตบุตร (2557-2558) และพลเอก ธีรชัย นาควานิช (2558-2559) และแม่ทัพภาคที่ 1 จำนวน 5 คน ระหว่างปี 2549-2559 ได้แก่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2549-2551), พลเอก คณิต สาพิทักษ์ (2551-2553), พลเอก อุดมเดช สีตบุตร (2553-2555), พลเอก ธีรชัย นาควานิช (2556-2557) และพลเอก เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ (2558-2559) แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องในการรักษาตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและแม่ทัพภาคที่ 1 ตำแหน่งสำคัญในกองทัพบกของนายทหารที่เติบโตจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์หรือบูรพาพยัคฆ์

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์. ประวัติและความเป็นมากรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์. www.pairee12.com/History12.html
  • กองทัพบก. (2561). ทำเนียบอดีตผู้บัญชาการทหารบก www.rta.mi.th/stdrta/39cocommand.html.
  • กองทัพภาคที่ 1. (2561). อดีตท่านแม่ทัพภาคที่ 1. www.army1.rta.mi.th/hitory/commanAA1/indexAA.html.
  • กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์. (2561). 2id.rta.mi.th/2id/history.html.
  • แคน สาริกา. ทหารเสือหัวใจสีม่วง. คม ชัด ลึก, 14 สิงหาคม 2557. www.komchadluek.net/news/detail/190106
  • เจาะประเด็น. (2561). ย้อนสัมพันธ์รัก แม้ว-ป้อม คืนวันอ่อนหวาน ทำไมวันนั้นให้เป็น ผบ.ทบ.? https://www.thairath. co.th/content/1379657
  • ชัยอนันต์ สมุทวณิช. (2524). การเลือกตั้ง พรรคการเมือง รัฐสภา และคณะทหาร. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ.
  • ทีมข่าวเฉพาะกิจ ไทยรัฐออนไลน์. (2561). รักแม่รักเพื่อนเท่าชีวิต! ล้วงเรื่องลับฉบับ ‘บิ๊กป้อม’ ความดีที่ไม่มีใครเห็น! www.thairath.co.th/content/1198295.
  • ปิยะภพ มะหะมัด. (2560). บูรพาต้นกำเนิดบูรพาพยัคฆ์ : ทหารกับการเมืองไทยระหว่างปี พ.ศ. 2544 จนถึงรัฐประหาร 22
  • พฤษภาคม พ.ศ. 2557. รายงานสืบเนื่องการประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านสังคมศาสตร์ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2560. (99-123). นครปฐม: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย.
  • ปิยะภพ มะหะมัด. (2559). กลุ่มทหารบูรพาพยัคฆ์ในฐานะกลุ่มทางการเมือง ศึกษาระหว่างปี พ.ศ. 2544 จนถึงรัฐประหาร
  • 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • มติชนสุดสัปดาห์. (2559). 7 กองพล 17 กรมทหาร 43 กองพัน สำรวจขุมกำลังทหารครั้งประวัติศาสตร์ ‘ปฐพี 149’ ล้ม
  • รัฐบาลทักษิณ. www.matichonweekly.com/featured/article_8322.
  • โยชิฟูมิ ทามาดะ. (2557). รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารในกองทัพบกกับการแทรกแซง การเมืองในประเทศไทย. ฟ้าเดียวกัน, 12, (2-3), 187-244.
  • วันวิชิต บุญโปร่ง. (2554). เส้นทางสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในรอบ 4 ทศวรรษ. รวมบทความวิชาการและงานวิจัยการ
  • ประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2554. (560-591). เชียงใหม่: คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
  • วันวิชิต บุญโปร่ง. (2556). บทบาททางการทหารและทางการเมืองของ “กลุ่มนายทหารบูรพาพยัคฆ์” พ.ศ.2524-2554.
  • วารสารสหวิทยาการวิจัย: ฉบับบัณฑิตศึกษา, 2 (2). 1-15.
  • วันวิชิต บุญโปร่ง. (2559, 28 พฤศจิกายน). รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต. สัมภาษณ์.
  • BTR Studio. (2559). วีดีทัศน์ กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ครบรอบปีที่ 68. www.youtube.com/watch? v=kJYsAebeFy4.
  • Duncan McCargo and Ukrist Pathmanand. (2005). The Thaksinization of Thailand. Copenhagen: NIAS Press.
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X