- สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นได้ดีจากปัจจัยบวก หลังจากท่าทีของธนาคารกลางหลักมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น
- ผลการประชุม FOMC เป็นไปตามที่คาดหมาย และสัญญาณที่ออกมาจากประธาน Fed บ่งชี้ว่า FOMC กังวลความเสี่ยงทั้ง 2 ด้าน คือ การลดดอกเบี้ยเร็วเกินไปอาจทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น แต่การลดดอกเบี้ยช้าเกินไปก็อาจกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจ
- บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ แนะนำให้จับตา 3 ประเด็นหลัก คือ ราคาน้ำมันที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้น สัญญาณการชะลอลงของตลาดแรงงาน และการชะลอ QT ที่จะส่งผลต่อผลตอบแทนพันธบัตร และสะท้อนสู่ความเสี่ยงภาคธนาคาร
- บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองเห็นโอกาสในการลงทุน EM ในระยะถัดไป โดยแนะนำให้มองกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง Utilities REITS และอุปสงค์ที่ฟื้นตัวอย่าง Discretionary
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นได้ดีจากปัจจัยบวก ได้แก่ ท่าทีของธนาคารกลางหลักที่มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ขณะที่ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง FOMC คงดอกเบี้ยตามตลาดคาด และส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ไม่เปลี่ยน แม้มีความกังวลต่อเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ทำให้ Fed ปรับมุมมอง
นอกจากนั้นยังปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโต GDP ขึ้น รวมถึงส่งสัญญาณเตรียมชะลอมาตรการลดทอนขนาดงบดุล (QT) ทำให้ตลาดกลับมาให้น้ำหนักการลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นเกิน 70% อีกครั้ง
ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี แต่ยังให้คำมั่นที่จะซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเพื่อรักษาสถานะนโยบายการเงินให้ยังผ่อนคลาย จนกว่าปัจจัยพื้นฐานด้านเงินเฟ้อจะแตะระดับ 2% อย่างยั่งยืนทำให้เงินเยนอ่อนค่าลง
นอกจากนั้นตัวเลขภาคการผลิตและลงทุนของจีนดีขึ้นเกินคาด ทำให้ตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวในช่วงต้นสัปดาห์ ตลาดหุ้นไทยอ่อนตัวในช่วงต้น ก่อนจะฟื้นได้ในช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังปรับขึ้นแรงในช่วงสัปดาห์ก่อน จากปัจจัยอุปสงค์ที่เริ่มฟื้นตัว และอุปทานที่ยังมีความเสี่ยงทั้งจากการลดการผลิตของ OPEC+ และสงคราม
FOMC กังวลความเสี่ยง ‘ทั้ง 2 ด้าน’
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า ผลการประชุม FOMC เป็นไปตามที่คาดหมาย และสัญญาณที่ออกมาจากประธาน Fed บ่งชี้ว่า FOMC กังวลความเสี่ยงทั้ง 2 ด้านเท่าๆ กัน กล่าวคือ การลดดอกเบี้ยเร็วเกินไปอาจทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น แต่การลดดอกเบี้ยช้าเกินไปก็อาจกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจ
โดยในมุมของเราเชื่อว่า เงินเฟ้อจะค่อนข้างทรงตัวในครึ่งปีแรก ก่อนที่จะชะลอลงเล็กน้อยในครึ่งปีหลัง ขณะที่ตลาดแรงงานจะเริ่มลดความร้อนแรงลง ส่วนภาคธนาคารมีความเสี่ยงมากขึ้น
ดังนั้นเราจึงให้จับตา 3 ประเด็นหลัก คือ
- ราคาน้ำมันที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้น โดยหากไม่ขึ้นเกิน 85 ดอลลาร์ต่อเนื่อง 3 เดือน เงินเฟ้อไม่น่าจะปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
- สัญญาณการชะลอลงของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการว่างงานนอกภาคเกษตร
- สัญญาณการชะลอ QT ที่จะส่งผลต่อผลตอบแทนพันธบัตร และสะท้อนสู่ความเสี่ยงภาคธนาคาร
ในส่วนการประชุม BOJ เริ่มทำการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่โหมดปกติ (Normalization) อย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงไม่ได้เกิดการถอนการลงทุนกลับไปยังญี่ปุ่น หรือ Reverse Yen Carry Trade อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เราเชื่อว่า BOJ จะจับตาสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และดูแลค่าเงินเยนและการเคลื่อนย้ายเงินทุนให้เป็นไปอย่างเป็นระเบียบ (Orderly) อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแส Normalization ของ BOJ ขณะที่ Fed และ ECB ผ่อนคลายนโยบายการเงิน จะทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นในระยะต่อไป
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
- หุ้นเก็งกำไรหลังราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับขึ้นทะลุ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากความกังวลว่าเศรษฐกิจถดถอยลดลงจะหนุนอุปสงค์ ด้านอุปทานได้ผลบวกจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยผู้รับความเสี่ยงได้สูงแนะนำ Trading PTTEP และ TOP (ค่าการกลั่นและกำไรสต็อก) ขณะที่มองลบต่อกลุ่มค้าปลีกน้ำมัน (ค่าการตลาดแคบ) และกลุ่มสายการบิน (ต้นทุนเพิ่ม)
- หุ้นเก็งกำไรจากภาวะดอกเบี้ยที่จะกำลังปรับตัวลง เลือกกลุ่มไฟแนนซ์ (TIDLOR), กลุ่มสาธารณูปโภค (GULF) และกลุ่มขนส่ง (AOT)
- หุ้นเก็งกำไรเชิงเทคนิคหลังราคาหุ้น Breakout Downtrend และเริ่มเห็น NVDR พลิกกลับมา Net Buy ในเดือนมีนาคม เลือก IVL, GULF, PTTGC, GPSC
“ช่วงสั้นมองว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวต่อเนื่อง และลุ้นกลับมายืนเหนือ 1,400 จุด หลังเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณฟื้นตัวในภาคการผลิตและการลงทุน ซึ่งอาจส่งผลบวกให้ดัชนีภาคอุตสาหกรรม (MPI) ของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากเดือนมกราคมที่ปรับตัวลดลง 2.90%YoY ขณะที่ Fed ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ตามตลาดคาด”
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยรายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงินของไทยเดือนกุมภาพันธ์ และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีอุตสาหกรรม
- มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนกุมภาพันธ์ (เดือนมกราคม +10%)
- ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ของสหรัฐฯ เดือนกุมภาพันธ์ (ตลาดคาด 2.70% จาก 2.80% เดือนมกราคม)
- Flash Composite PMI ของประเทศสำคัญ เช่น สหรัฐฯ, อังกฤษ, ญี่ปุ่น, ยุโรป, ฝรั่งเศส และเยอรมนี
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: TIDLOR – กำไรโตดี ดอกเบี้ยลดเป็นผลบวก
แนะนำ บมจ.เงินติดล้อ หรือ TIDLOR เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้นำในตลาดไมโครไฟแนนซ์ที่มีขนาดใหญ่และยังมีการเข้าถึงจำกัด โดยมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน, อันดับ 2 ในตลาดไมโครไฟแนนซ์, อันดับ 3 ในตลาดจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัยให้รายย่อย และอันดับ 7 ในธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย
- ปี 2024 คาดกำไรจะเติบโต 23%YoY โดยได้รับการสนับสนุนจากสินเชื่อที่เติบโตดี รายได้ค่าธรรมเนียมที่เติบโตแข็งแกร่ง และ Credit Cost ที่ลดลง หลังจาก NPL เกิดใหม่น่าจะทำจุดสูงสุดไปแล้วในปี 2023
- ราคาหุ้น TIDLOR ปรับขึ้นเพียง 0.90%YTD ซึ่งมองว่ายังไม่สะท้อนกำไรปีนี้ที่กลับมาเติบโตดี และยังเป็นหุ้นที่น่าสนใจจากการได้อานิสงส์บวกหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มจะปรับลดลง 50 bps ในปี 2024 ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง
- เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 27 บาท (อิง P/BV 2.4 เท่า โดยอ้างอิง ROE ระยะยาวที่ 17%, Cost of Equity ที่ 9.40% และการเติบโตระยะยาวที่ 4%) และคาดว่ามีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 0.32 บาท คิดเป็น Dividend Yield ปีละ 1.40%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดตอบสนองเชิงบวกต่อผลการประชุม FOMC ที่มีมติคงดอกเบี้ยและคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2024 ซึ่งหากดูผลตอบแทนย้อนหลังนับตั้งแต่ช่วงผลการประชุมเดือนธันวาคมจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าตลาด EM มีการตอบสนองต่อประเด็นนี้น้อยกว่า DM ทำให้เรามองเห็นโอกาสในการลงทุน EM ในระยะถัดไป ประกอบกับแนะมองกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง Utilities REITS และอุปสงค์ที่ฟื้นตัวอย่าง Discretionary
- ผลการประชุม FOMC มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% ตามที่คาดไว้ พร้อมให้คาดการณ์ (Dot Plot) การปรับลดอัตราดอกเบี้ยราว 3 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ 1. ยืนยันว่าการดำเนินนโยบายจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจ โดยต้องการเห็นเงินเฟ้อลงสู่ 2% ก่อนที่จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ย, 2. แม้คาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่ Fed ยังไม่รีบตอบสนองต่อการพุ่งขึ้นใน 2M24 หลังมองว่าการลดลงของเงินเฟ้อยังคงขรุขระ (Bumpy) และ 3. Fed เริ่มพิจารณา QT Tapering เพื่อหลีกเลี่ยงความตึงตัวด้านการเงินในตลาด โดยในภาพรวมตลาดตอบสนองเชิงบวก และคาดว่า Fed จะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน
- ขณะที่หากดูทิศทางตลาดตั้งแต่ช่วงผลการประชุม FOMC ในเดือนธันวาคมจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าผลตอบแทนของตลาด DM Ex-US ปรับตัวขึ้นกว่า 10.80% ขณะที่ตลาด DM Ex Tech ปรับตัวขึ้น 20.50% ด้าน EM ปรับตัวขึ้น 6.80% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาด EM มีการตอบสนองและปรับความคาดหวังต่อการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed น้อยกว่าที่ DM รับรู้
- ภาพนี้ทำให้เรามองเห็นโอกาสการลงทุนในตลาด EM ที่ยังคงรับรู้ประเด็นดังกล่าวไม่มากนัก ประกอบกับหากพิจารณาเศรษฐกิจในฝั่ง EM จะเห็นได้ว่ามีสัญญาณเชิงบวกที่ดีขึ้น สะท้อนให้เห็นจากยอดส่งออก 20 วันแรกของเกาหลีใต้ในเดือนมีนาคมที่เติบโตดีและมีสัญญาณการฟื้นตัวในจีนระดับหนึ่ง ทำให้เราประเมินภาพในระยะถัดไปได้ว่า 1. ความต้องการของจีนเพิ่มขึ้นเป็นภาพบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการผลิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับการลงทุนในเอเชียและ EM, 2. เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแข็งแรง กระแสเงินยังไม่มีแนวโน้มไหลออกจากสหรัฐฯ, 3. ความต้องการมีภาพการฟื้นตัวซึ่งจะส่งผลดีต่อกลุ่ม Discretionary, 4. กระแส AI ยังสนับสนุนความต้องการเซมิคอนดักเตอร์อย่าง TSMC, ASML, ORCL, MSFT, GOOGL รวมถึง HBM อย่าง Samsung, SK Hynik, Micron Technology และ 5. แนะมองกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาลงอย่าง Utilities REIT
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
สภาพคล่อง / เงินสด
ความน่าสนใจระดับ 3
สภาพคล่องหรือเงินสดมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่สูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ หลังที่ประชุม Fed ล่าสุดปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ของสหรัฐฯ ดีขึ้น นอกจากนี้ สภาพคล่องรวมถึงเงินสดยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ยังคงมีอยู่
พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
Fed และ ECB ยังคงท่าทีที่ ‘ไม่รีบเร่ง’ ในการลดดอกเบี้ย โดยให้เหตุผลในเรื่องของเงินเฟ้อที่ยังมีโอกาสยืนในระดับปัจจุบันได้นานกว่าคาด (Sticky Inflation)
UST และ Euro Yield เริ่มเข้าสู่การพักฐานหลังเร่งตัวขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
TGB Yield ตัวยาวยังทรงตัวในระดับต่ำสุดในรอบปี สะท้อนโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ เนื่องจากสภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจที่ขยายตัวค่อนข้างต่ำในช่วงที่ผ่านมา
หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 3
Fund Flow ยังมีทิศทางไหลเข้า US IG Bond ส่งผลให้ US IG Spread ยังทรงตัวได้ในระดับต่ำ ถึงแม้ว่าจะมี Supply Bond เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วก็ตาม เราคาดว่า Valuation ในเชิง Spread ค่อนข้างแพง แต่ในเชิง Yield to Worst ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างน่าสนใจ แตะระดับ 5.46% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 15 ปี
OAS Spread ตึงตัวขึ้นมาก แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มขาลงช่วยลดแรงกดดันต่อกระแสเงินสดและลดความตึงตัวในงบดุลของกิจการ ทำให้ราคาสินทรัพย์มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ในระยะสั้น แต่ Valuation ที่ตึงตัวจะเพิ่มความเสี่ยงที่ราคาจะผันผวนในระยะกลาง ทั้งนี้ แม้ Default Rate จะยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว แต่กำหนดการครบกำหนดชำระหนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วปลายปี 2024 และจะเร่งตัวตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
ผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงกระจุกตัวอยู่ในหุ้นขนาดใหญ่มากกว่าเล็ก โดยธีมหุ้น AI และหุ้น Quality ยังเป็นปัจจัยผลักดันผลตอบแทนของดัชนีฯ เรามองว่าตลาดได้ซึมซับข่าวดีของผลการดำเนินงาน 4Q2023 ที่ดีกว่าคาดไปพอสมควร ขณะที่ Valuation อยู่ในระดับที่ตึงตัวมาก ผลตอบแทนของหุ้นในกลุ่ม Magnificent 7 เริ่มฉีกห่างออกจากกัน (ผลตอบแทน AAPL และ TSLA เป็นลบ YTD สวนทางตัวอื่นในกลุ่ม)
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 3
EPS ดัชนี STOXX 600 ใน 4Q2023 หดตัว YoY และยังมีแนวโน้มหดตัวต่อใน 1Q2024 โดย Consensus คาด -10.70%YoY อย่างไรก็ดี Valuation ที่ยังไม่แพง ประกอบกับเราคาดว่า ECB มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน จะทำให้ Bond Yield ยุโรปมีแนวโน้มเป็นขาลงมากกว่าขาขึ้น และจะช่วยประคองการฟื้นตัวของ P/E
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 2
ดัชนีหุ้นญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ Valuation ตึงตัวมากขึ้น ขณะที่ BOJ เริ่มลดการผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลให้เงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่า และ JGB Yield ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การที่ BOJ ยุติการเข้าซื้อ ETF จะเพิ่มความกังวลให้นักลงทุนเกี่ยวกับแนวโน้มการทยอยขาย ETF ออกมาของ BOJ
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
เราคาดว่าทางการจีนอาจยังไม่รีบเร่งออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญในการประชุม Politburo ช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ ตามที่ GDP ใน 1Q2024 ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ในขณะที่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ จากการออกมาตรการกีดกันต่างๆ อาจจำกัดการปรับตัวเพิ่มต่อเนื่องของดัชนีฯ
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS ที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากแรงฉุดภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง จากเงินเฟ้อจีนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และจากการซื้อหุ้นคืนกับจ่ายเงินปันผลที่มากขึ้น ขณะที่ Valuation ที่ยังน่าสนใจ จึงทำให้ความเสี่ยงขาลงจำกัด อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาททางเทคโนโลยีที่ยังมีอยู่จะยังจำกัด Upside ของดัชนีฯ
ตลาดหุ้นเกาหลีใต้
ความน่าสนใจระดับ 4
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนตามแนวโน้มการส่งออกที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ที่การส่งออกในช่วง 20 วันแรกของเดือนมีนาคม 2024 เพิ่มขึ้น +46.50%YoY แม้ในระยะสั้นดัชนีฯ อาจเผชิญความผันผวนในช่วงการเลือกตั้งทั่วไป (10 เมษายน 2024) ที่อาจส่งผลถึงความไม่แน่นอนบนการผลักดันนโยบาย Corporate Value Up แต่เราให้น้ำหนักกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งมากกว่าประเด็นการเมือง
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับเข้ามา หลังรายงาน Dot Plot ของ Fed ยังคงส่งสัญญาณว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ ส่งผลบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง ขณะที่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องยังส่งผลลบต่อเงินทุนต่างชาติไหลเข้า ทั้งนี้ นักลงทุนรอความชัดเจนของดิจิทัลวอลเล็ตและการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ ได้รับปัจจัยกดดันจาก EPS ในช่วง 4Q2023 ที่หดตัวลง YoY จากภาคการบริโภคที่ชะลอตัวลง และผลประกอบการของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัว อย่างไรก็ตาม ด้วย Valuation ที่ยังไม่แพง และสินเชื่อในประเทศที่เติบโตแข็งแกร่ง โดยในเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัวที่ +11.30%YoY ส่งผลให้มีเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมมียอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติราว 571 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตลาดหุ้นอินเดีย
ความน่าสนใจระดับ 2
ตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดี แต่ Valuation แพงเมื่อเทียบกับอดีตและเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาค ดัชนีฯ สะท้อนข่าวดีเรื่องการเลือกตั้งไปพอสมควร และตามสถิติในอดีตบ่งชี้ว่า ดัชนีฯ มักจะพักฐานในช่วง 1-2 เดือนก่อนการเลือกตั้ง เพื่อรอความชัดเจน
ก.ล.ต.อินเดียคุมเข้มการซื้อขายหุ้นขนาดกลางและเล็ก กดดัน Sentiment การลงทุน เราแนะนำให้ ‘ทยอยขายทำกำไร’ และรอหาจังหวะเข้าสะสมหลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไป
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 4
ดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเฉพาะการส่งออก แม้ว่าประเด็นการเมืองอาจกระทบบรรยากาศการลงทุนในระยะสั้น แต่เรามองว่าการลาออกของประธานาธิบดีหวอ วัน เถือง ของเวียดนาม จะไม่ได้ส่งผลต่อปัจจัยพื้นฐานและการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามในระยะยาว อย่างไรก็ตาม จับตาความเสี่ยงบนการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ที่กระจุกตัวค่อนข้างมากใน 2Q2024 ที่ยังคงมีอยู่
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
ราคาน้ำมันดิบได้แรงหนุนจากน้ำมันคงคลังสหรัฐฯ ลดลงเร็วกว่าที่คาด และ EIA ปรับคาดการณ์ อุปทานน้ำมันในตลาดโลกในปีนี้ตึงตัวมากขึ้น โดยคาดว่าอุปทานจะเพิ่มขึ้นเพียง 800,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 102.9 พันบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 103.8 พันบาร์เรลต่อวัน พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันในปีนี้ 1.3 พันบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ยูเครนใช้โดรนโจมตีคลังน้ำมันของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ 4 รายในรัสเซีย จะทำให้อุปทานน้ำมันลดลงในช่วงระยะสั้น
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ราคาทองคำได้รับอานิสงส์เชิงบวกตามแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในปี 2024 ส่งผลให้ 10-Year UST Real Yield มีโอกาสปรับตัวลดลง และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า อีกทั้งยังมีความต้องการซื้อทองคำของธนาคารกลางประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาที่ปรับตัวขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ที่ลดลง อาจทำให้ Upside ราคาทองคำค่อนข้างจำกัด
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
DM REITs ปรับตัวขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยหนุนจาก 10-Year UST Yield ที่ปรับตัวลง หลังรายงาน Dot Plot ของ Fed ยังคงส่งสัญญาณว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ กอปรกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่งเป็นบวกต่อ US REITs อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจาก Dividend Yield Spread ของ US REITs ซึ่งอยู่ในระดับที่แคบ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง จึงยังไม่น่าสนใจลงทุน
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 3
REITs ไทยยังคงมีแนวโน้มทรงตัว ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ทรงตัว และมีมูลค่าการซื้อขายรายวันที่ต่ำ จึงยังไม่น่าสนใจลงทุน ขณะที่ REITs สิงคโปร์ ได้ปัจจัยหนุนจาก 1. Dividend Yield Spread ที่เริ่มกลับมามีความน่าสนใจมากขึ้น หลัง Bond Yield ของสิงคโปร์ปรับลดลงช่วงที่ผ่านมา และ 2. ภาพรวมเศรษฐกิจสิงคโปร์ที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในปีนี้
Private Asset
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Private Credit เป็น Slightly Positive จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหน้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)
มีมุมมองบน Private Equity เป็น Neutral อัตราดอกเบี้ยที่ผ่านจุดสูงสุดและมีแนวโน้มลดลงส่งผลให้แรงกดดันด้าน Discount Rate ที่มีต่อ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity ลดลง
ขณะที่มีมุมมอง Private Real Estate เป็น Slightly Negative เนื่องจากหลายกองทุนยังมีการบังคับใช้การระงับการไถ่ถอนกองทุนอยู่