- สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น รับแรงหนุนจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ต่ำกว่าคาด โดยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนออกมาทำให้ตลาดมีความหวังจากท่าทีของ Fed ที่จะไม่ขึ้นดอกเบี้ย และการลดดอกเบี้ยของธนาคารจีนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
- ดัชนีเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลายตัวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงของผู้บริโภคสหรัฐฯ มีมากขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่า Fed น่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงเช่นนี้ต่อเนื่อง
- สำหรับตลาดหุ้นไทย SET50 จะเป็นหุ้นเป้าหมายลงทุนจากแผนจัดตั้งกองทุน TESG เพื่อกระตุ้นการลงทุนในตลาดหุ้นไทยระยะยาว
- บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองตลาดหุ้นญี่ปุ่น ไทย และอินเดีย น่าสนใจ จากปัจจัยบวกด้านจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.6% (EM +3.6%, DM +2.5%) โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าที่คาด และตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนออกมาทำให้ตลาดมีความหวังจากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม และการลดดอกเบี้ยของธนาคารจีนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางพัฒนาการเชิงบวกจากการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจีน ที่มีท่าทีประนีประนอมมากขึ้น แม้ว่าจะไม่มีแนวทางและรายละเอียดในแนวทาง ซึ่งช่วยลดแรงกดดันจากผลประกอบการกลุ่มการบริโภคที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์
หุ้นกลุ่ม Growth (+2.8%) ให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นกลุ่ม Value (+2.4%) และหุ้นขนาดเล็ก (+3.3%) ให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้นขนาดใหญ่ (+2.5%) โดยตัวเลขเงินเฟ้อเป็นตัวกำหนดผลตอบแทน กลุ่มธนาคารและสินค้าอุตสาหกรรมที่อิงกับเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น 3-4%
กลุ่มเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น 2-3% จากแนวโน้มการฟื้นตัว ในขณะที่กลุ่ม Consumer ปรับตัวขึ้น 0.9% จากแรงกดดันของการบริโภคในสหรัฐฯ และจีน ที่ชะลอตัวลง และกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลง 0.7% ตามความผันผวนของราคาน้ำมันที่ทรงตัวในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ข้อมูลสำคัญทางเศรษฐกิจ
ปัจจัยหลักที่ทำให้ภาพรวมในตลาดสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวดีขึ้น เกิดจากนักลงทุนมองว่ามีโอกาสเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นผลจากเงินเฟ้อผู้ผลิตและเงินเฟ้อผู้บริโภคสหรัฐฯ เริ่มลดลงเกินคาด, ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ลดลงทั้งเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน
ขณะที่ปัญหา Government Shutdown ในสหรัฐฯ ถูกเลื่อนออกไป หลังสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาลงมติรับร่างงบประมาณชั่วคราว โดยจะมีเส้นตายการเจรจาครั้งใหม่ในวันที่ 19 มกราคม และ 2 กุมภาพันธ์ ตามลำดับ อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณดีขึ้น ยกเว้นการลงทุนที่ชะลอแรงมากขึ้น
Fed ตรึงดอกเบี้ยสูงและนาน หลังการบริโภคสหรัฐฯ ยังเสี่ยง
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ วิเคราะห์ว่า ดัชนีเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลายตัวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงของผู้บริโภคสหรัฐฯ มีมากขึ้นจากปัจจัยดังนี้
- สงครามตะวันออกกลางทำให้ความคาดหวังเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยความคาดหวังเงินเฟ้อของมหาวิทยาลัยมิชิแกนปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าเงินเฟ้อผู้ผลิตและเงินเฟ้อผู้บริโภคสหรัฐฯ เริ่มลดลงเกินคาดก็ตาม ส่วนหนึ่งเกิดจากน้ำมันที่ถูกลงมาก แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินเฟ้อพื้นฐาน เช่น ค่าเช่าและค่าจ้างที่ชะลอลง ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนถึงความต้องการบริโภคที่ชะลอลงเช่นกัน
- ต้นทุนการกู้ยืมที่สูง โดยดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านปัจจุบันอยู่ใกล้เคียงระดับ 8% ขณะที่ดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและรถยนต์สูงสุดในรอบหลายสิบปี ท่ามกลางภาระการจ่ายค่างวดสินเชื่อเพื่อการศึกษาที่เพิ่มขึ้น
- ภาวะตลาดแรงงานที่เริ่มเปราะบาง เห็นได้จากอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นเกินคาดและการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ปรับตัวลง พร้อมกับการเติบโตค่าจ้างที่ชะลอลง โดยเฉพาะภาคบริการ
สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน และทำให้ยอดค้าปลีกลดลงทั้งเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อน
โดยการบริโภคสินค้าขนาดใหญ่และสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์และเฟอร์นิเจอร์ หดตัวลง ซึ่งภาพเหล่านี้สอดคล้องกับผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Home Depot และ Under Armour รวมถึง Target ที่ลดลงจากยอดขายที่ลดลงเป็นหลัก บ่งชี้ถึงกำลังซื้อที่ลดลง
นอกจากนั้นหากพิจารณาปัจจัยอื่น เช่น ดัชนี Leading Economic Index ของ Conference Board ที่ลดลงมากขึ้นในช่วงหลัง และภาคการผลิตสหรัฐฯ ดูจะมีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งจากภาคการผลิตสินค้าและภาคบริการที่เริ่มชะลอลงตามดัชนี ISM PMI สิ่งเหล่านี้บ่งชี้ว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มต้นขึ้นแล้ว และจะเพิ่ม Momentum มากขึ้น
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
- หุ้น Big Cap. (SET50) ที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายการลงทุนจากแผนจัดตั้งกองทุน TESG เพื่อกระตุ้นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระยะยาว ซึ่งเราได้คัดเลือกหุ้นที่อยู่ในดัชนี SETESG ที่มีคุณสมบัติน่าสนใจดังนี้
1) ได้ ESG Rating ‘AAA’ หรือ ‘AA’
2) ราคาหุ้นปรับตัวลงแรงกว่า SET YTD
เลือก SCGP, OR, CPALL, BEM, GULF, CRC หรือ HMPRO
- หุ้น Earning Play ซึ่งคาดว่าโมเมนตัมกำไร 4Q66 จะยังเติบโต YoY และเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปี เลือก ERW, AOT หรือ AP
- ขณะที่ระยะกลางแนะนำให้ระมัดระวังหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะกระทบต่อกำลังซื้อภาคเกษตรลดลง ได้แก่ กลุ่มพาณิชย์ (GLOBAL), กลุ่มสินเชื่อ (MTC หรือ SAWAD), กลุ่มยานยนต์ (SAT หรือ STANLY), กลุ่มเครื่องดื่ม (CBG จากราคาน้ำตาลที่สูงขึ้น) รวมถึงกลุ่มเกษตรและอาหาร (CPF หรือ GFPT)
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: CRC - กลับสู่ขาขึ้น หลังผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
สัปดาห์นี้เราเลือกแนะนำ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็น Holding Company ซึ่งถือหุ้นในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกสินค้าหลากหลายผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย โดยจัดเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทยและอันดับ 3 ในเวียดนาม รวมทั้งเป็นผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอิตาลี
- มีศักยภาพเติบโตได้ในระยะกลาง-ยาวจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการมีฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งทั้งในไทยและเวียดนาม อีกทั้งมีแผนขยายแพลตฟอร์ม Omni-Channel และผนึกกำลังจากธุรกิจในเครือเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มศักยภาพทำกำไร รวมทั้งยังมองหาโอกาสทำดีล M&A
- ผ่านจุดต่ำสุดแล้วใน 3Q23 และ 4Q23 คาดว่าจะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปีนี้ โดยจะเพิ่มขึ้น QoQ ตามฤดูกาล และ YoY จากยอดขายที่ดีขึ้น (CRC ตั้งเป้า SSS เติบโต 2%YoY ใน 4Q23) อัตรากำไรขั้นต้นที่กว้างขึ้นและ SG&A / Sales ที่ลดลงจากค่าไฟฟ้าลดลงและยอดขายที่สูงขึ้น
- มองเป็นหุ้นใน SETESG Index ที่น่าสนใจ ซึ่งได้ Rating ‘AAA’ และคาดว่าจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์รายหลักของกลุ่มพาณิชย์ หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการ e-Refund ให้นำค่าซื้อสินค้าหรือบริการไม่เกิน 50,000 บาทมาใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเดือนมกราคม 2024 ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายสาขาเดิมในไทยให้โตได้มากที่สุดในกลุ่มฯ ที่ 2 -3%YoY
- เราประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 48 บาท อิงวิธี DCF (WACC ที่ 7.1% และอัตราเติบโตระยะยาวที่ 2.5%) อีกทั้งคาดว่าจะจ่ายเงินปันผลปีนี้หุ้นละ 0.54 บาท คิดเป็น Div. Yield ราว 1.4%
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
สภาพคล่อง / เงินสด
ความน่าสนใจระดับ 3
สินทรัพย์สภาพคล่อง / เงินสด มีโอกาสให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบาย (Fed ยังมีแนวโน้มดำเนินนโยบายดอกเบี้ยแบบ Higher-for-Longer) ประกอบกับความหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ Soft Landing ที่มีมากขึ้น ขณะที่สินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งรวมถึงเงินสด ยังได้แรงหนุนจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่
พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Long-Duration Bond มากขึ้น หลังตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายตัวบ่งชี้ถึงการชะลอตัว (ตัวเลขจ้างงานและ ISM) แรงกดดันเงินเฟ้อที่ปรับลดลงชัดเจนทั้งในส่วนของ CPI-PPI เพิ่มโอกาสที่ Fed จะเร่งการลดดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น / 10-year TGB ปรับตัวลงสอดคล้องกับ UST
หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 3
Effective Yield ของ US IG Bond ยังอยู่สูง ถึงแม้ว่า Spread ยังแกว่งตัวแคบ / US IG มีความทนทานต่อความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น จากการที่ Corporate ที่ออก IG ส่วนใหญ่ได้ Lock ต้นทุนทางการเงินตอนที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำในช่วงก่อนหน้า จึงได้รับผลกระทบจากภาระต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นจำกัด
Interest Coverage ของ US HY Bond ลดลงสู่ระดับต่ำกว่า Pre-Covid สะท้อนถึงความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่ลดลง Spread ที่ยังอยู่ในระดับต่ำยังไม่สะท้อน
- ความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลง
- HY Outstanding ที่ต้อง Re-Finance จะเร่งตัวขึ้นในปี 2024 ต่อเนื่องไปในปี 2025
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 4
อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงจะสนับสนุน Valuation ของดัชนีฯ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางการเงินที่อยู่ระดับสูงจะเริ่มสร้างแรงกดดันต่ออัตรากำไรของกิจการ เราจึงชอบหุ้นกลุ่มที่มีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดอย่างกลุ่ม Quality Growth และกลุ่ม Defensive
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 3
EPS และ Sales ของ STOXX600 ใน 3Q66 หดตัวค่อนข้างมาก และตัวเลขทั้งปี 2566 มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการลง อย่างไรก็ดี Valuation ของตลาดฯ ยังไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต และเทียบตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขณะที่ Bond Yield ยุโรปมีโอกาสเป็นขาลงมากกว่าขาขึ้น หลัง ECB มีแนวโน้มลดท่าที Hawkish ลง
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 4
Earnings บจ.ญี่ปุ่น มีแนวโน้มขยายตัวดี โดยแรงหนุนจากเยนที่อ่อนค่าและอุปสงค์ในประเทศที่ยังดี นอกจากนี้ บจ. มีแนวโน้มเพิ่มการซื้อหุ้นคืนและการจ่ายปันผล เพื่อเพิ่ม ROE ตามข้อเรียกร้องของ TSE ขณะที่ BOJ ยังมีแนวโน้มคงท่าทีผ่อนคลายต่อในช่วงที่เหลือของปี และรัฐบาลญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่ทางการมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม ท่ามกลางยอดระดมทุนรวมที่ชะลอลง โดยล่าสุด PBoC อัดฉีดสภาพคล่องสุทธิผ่าน MLF มากที่สุดในรอบเกือบ 7 ปี ขณะที่ความเสี่ยงขาลงบน Valuation และ Flow มีจำกัด แต่ความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่อาจชะลอแรงซื้อบนดัชนีฯ
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจาก EPS ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะกลุ่ม Internet Platform ขณะที่ Valuation ไม่แพง รวมทั้งได้อานิสงส์จาก 10Y UST Yield ที่เริ่มพักฐาน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหาและข้อพิพาทระหว่างจีนและคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ยังมีอยู่ จะกดดัน Upside ของดัชนีฯ
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคช่วงที่เหลือของปี รวมทั้งการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและอาหาร นอกจากนี้ความคืบหน้าของมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตและการจัดตั้งกองทุน TESG ยังสนับสนุน Sentiment นักลงทุน
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ โดยแม้การส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งยังมีสัญญาณ FDI เข้ามาต่อเนื่อง แต่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนใน 3Q66 ที่หดตัว อีกทั้งยังไม่มีสัญญาณชัดเจนในการแก้กฎหมายเพื่อช่วยธุรกิจในภาคอสังหา อาจทำให้ปัจจัยสนับสนุนตลาดในระยะสั้นมีจำกัด
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ ยังไม่มีปัจจัยเสริมเพิ่มเติม หลังจากที่ BI ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 6% ส่งผลให้ยังไม่เห็นการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายช่วงก่อนเลือกตั้ง อีกทั้งการส่งออกถ่านหินมีแนวโน้มอ่อนแอตามเศรษฐกิจจีน แต่ในระยะยาวเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการลงทุนโดยตรง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปแร่โลหะ
ตลาดหุ้นอินเดีย
ความน่าสนใจระดับ 4
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจาก
- การเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค
- ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและ Fund Flow ไหลออกที่ลดลง
- คาดการณ์การเติบโตของกำไร บจ. ในปี 2567 ที่สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคก่อนการเลือกตั้ง
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ช่วงที่ผ่านมาราคาทองคำได้รับแรงกดดันจากที่เจ้าหน้าที่ Fed หลายท่านออกมาสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้น อย่างไรก็ดี ราคามีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจาก ความกังวลสงครามในตะวันออกกลาง Bond Yield ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง USD ที่มีแนวโน้มอ่อนค่า และมีโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะ Soft Landing มากขึ้น
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากความกังวลต่ออุปสงค์น้ำมันที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ที่อ่อนแอ รวมทั้งราคาได้สะท้อนภาพ Geopolitical Risk ไปแล้ว ทั้งนี้ คาดว่าที่ประชุม OPEC+ (26 พฤศจิกายน) จะยังคงขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันต่อไป ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อราคาน้ำมัน
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (CMBS) ลดลงเล็กน้อยในเดือนกันยายน หลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 5M ขณะที่ค่าเช่ายังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย แต่อุปสงค์โดยรวมและ Vacancy Rate ยังคงอ่อนแอ ประกอบกับ Valuation ยังค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 3
แรงกดดันของราคา REITs ไทยและสิงคโปร์ลดลงหลัง Bond Yield ปรับตัวลดลงทั้ง UST และของ Bond ในประเทศ เรามองว่า Valuation ในปัจจุบันค่อนข้างถูกในแง่ PBV และ Dividend Yield Spread (เทียบค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 ปี) อย่างไรก็ตาม Fund Flow ต่างชาติที่ยังไหลออกจากภูมิภาคทำให้ Upside ของราคามีจำกัด
Private Asset
ความน่าสนใจระดับ 2
Slightly negative on Private Equity, Private Real Estate, and Private Debt: ดอกเบี้ยในระดับสูงมีแนวโน้มส่งผลกระทบ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity ราคาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่จะเป็นผลลบต่อ Private Real Estate รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและบริษัทใน Private Debt