- เงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนมีนาคมขยายตัว 5% ต่ำกว่าคาด และชะลอตัวลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี ด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้น 5.6% จากปีที่แล้ว
- โดยเงินเฟ้อชะลอตัวมาจาก 3 องค์ประกอบใหญ่ คือราคาโภคภัณฑ์ จากพลังงาน, เงินเฟ้อจากซัพพลายเชนทรงตัว และเงินเฟ้อจากภาคบริการ เริ่มลดลง
- Fed Minute ระบุว่าจะเกิด Recession แบบอ่อนๆ แต่ก็ยังคงขึ้นดอกเบี้ย โดยคณะกรรมการเชื่อว่า หนึ่งในเงื่อนไขที่ Fed จะทำให้เศรษฐกิจชะลอลง คือสภาพคล่องทางการเงินจะต้องตึงตัวจนสินเชื่อหดตัวลง
- ด้าน GDP จีนเติบโตดีกว่าคาดที่ 4.5% จากการเปิดประเทศ ที่ทำให้ภาคการบริโภคขยายตัวได้ดีมาก แต่ตัวเลขการผลิตและลงทุนต่ำกว่าคาดเล็กน้อย ขณะที่ภาคอสังหาเริ่มหดตัวน้อยลง
- บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ยังติดตามตัวเลขเงินฝากของจีน ซึ่งปัจจุบันยังขยายตัวสูงกว่าเงินกู้ โดยเชื่อว่าอัตราขยายตัวเงินฝากจะเริ่มชะลอลง ขณะที่เงินกู้เริ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดปรับตัวลดลงหลังผลประกอบการออกมาในทิศทางชะลอตัว ในขณะที่ภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอตัวลงมากขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญดังนี้
- เงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนมีนาคม ขยายตัว 5% ต่ำกว่าคาด และชะลอตัวลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี ด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้น 5.6% จากปีที่แล้ว สอดคล้องกับความคาดหวังของตลาด โดยเงินเฟ้อชะลอทั้ง 3 องค์ประกอบใหญ่ ได้แก่ จากโภคภัณฑ์ จากซัพพลายเชนทรงตัว และจากภาคบริการ ที่แม้ยังคงอยู่ในระดับสูง แต่ก็เริ่มลดลง โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานจากตลาดบ้าน (Housing) และเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่ใช่มาจากตลาดบ้าน (Ex-Housing Core Service)
- ตัวเลขยอดค้าปลีก ปรับลดลง -1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหรือขยายตัว 2.9% ต่อปี ชะลอลงจาก 5.9% ต่อปีในเดือนกุมภาพันธ์ โดยการใช้จ่ายสำคัญ เช่น การเติมน้ำมัน การใช้จ่ายในห้างสรรพสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน รวมถึงยอดขายรถยนต์และเฟอร์นิเจอร์ ลดลงในระดับ 2-5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน
- การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัว -0.5% ต่อเดือนในเดือนมีนาคม (ตลาดคาด -0.1%) และ -1.1% ต่อปีในเดือนมีนาคม โดยภาคที่หดตัวหลัก ได้แก่ สินค้าคงทน ทั้งวัตถุดิบ เช่น ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไม้ และสินค้าอุปโภคขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
- การคาดการณ์เงินเฟ้อใน 1 ปีข้างหน้าของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.6% จาก 3.6% ในเดือนมีนาคม โดยผู้บริโภคคาดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันแก๊สโซลีนที่เพิ่มขึ้น 10 เซนต์มาอยู่ที่ 3.7 ดอลลาร์ต่อแกลลอน จาก 3.6 ดอลลาร์ต่อแกลลอนในช่วงต้นเดือน (ก่อนการประกาศลดกำลังการผลิตของ OPEC+)
- Fed Minute ระบุว่าจะเกิด Recession แบบอ่อนๆ แต่ก็ยังคงขึ้นดอกเบี้ย โดยรายงานของเจ้าหน้าที่ Fed คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างอ่อนๆ ภายในปีนี้
- Fed Beige Book ส่งสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวและการปล่อยสินเชื่อเริ่มตึงตัวขึ้นหลังเกิดวิกฤตธนาคาร
- ตัวเลข GDP จีนเติบโตดีกว่าคาดที่ 4.5% จากการเปิดประเทศ ที่ทำให้ภาคการบริโภคขยายตัวได้ดีมาก (10.6%) แต่ตัวเลขการผลิตและลงทุนต่ำกว่าคาดเล็กน้อย ขณะที่ภาคอสังหาเริ่มหดตัวน้อยลง ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้นทำให้หลายสำนักวิจัยปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจจีนในปีนี้
Fed เน้นทำให้สภาพคล่องตึงตัวเพื่อชะลอเศรษฐกิจ
ในช่วงที่ผ่านมา ภาพปัจจัยเศรษฐกิจต่างๆ บ่งชี้ถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในระยะต่อไปที่มากขึ้น โดยเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนมีนาคมขยายตัว 5% ต่ำกว่าคาด และชะลอตัวลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี และเมื่อพิจารณารายละเอียด พบว่าเงินเฟ้อชะลอทั้ง 3 องค์ประกอบใหญ่ ได้แก่ 1. โภคภัณฑ์ จากพลังงาน 2. เงินเฟ้อจากซัพพลายเชนทรงตัว และ 3. เงินเฟ้อจากภาคบริการเริ่มลดลง ด้านตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงต่อเนื่อง โดย 1. ตัวเลขยอดค้าปลีก ปรับลดลง -1% และ 2. การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัว -0.5% ต่อเดือน
ภาพดังกล่าวสอดคล้องกับรายงาน Fed Beige Book ที่ส่งสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวและการปล่อยสินเชื่อเริ่มตึงตัวขึ้นหลังเกิดวิกฤตธนาคาร ในขณะที่ Fed Minute ระบุว่าจะเกิด Recession แบบอ่อนๆ แต่ก็ยังคงขึ้นดอกเบี้ย โดยคณะกรรมการเชื่อว่า หนึ่งในเงื่อนไขที่ Fed จะทำให้เศรษฐกิจชะลอลง คือสภาพคล่องทางการเงินจะต้องตึงตัวจนสินเชื่อหดตัวลง
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จึงเชื่อว่า Fed น่าจะยังขึ้นดอกเบี้ยอีก 25 bps ในการประชุมเดือนพฤษภาคม สอดคล้องกับ FedWatch Tool ระบุความเป็นไปได้ของอัตราดอกเบี้ยเป้าหมาย 5.00-5.25% อยู่ที่ 83.7%
ในส่วนของเศรษฐกิจจีน ตัวเลข GDP ดีกว่าคาด โดยเป็นการฟื้นตัวของภาคการบริโภคเป็นหลัก แต่ตัวเลขรายเดือนอื่นๆ ยังคงชะลอตัวต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนสินทรัพย์ถาวร ประกอบกับตัวเลขภาคอสังหาฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า โดยเฉพาะการลงทุนใน Property ที่ยังหดตัว
ทำให้เรามองว่า ภาพเศรษฐกิจจีนจะยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปัจจัยที่เราจะติดตามต่อคือตัวเลขเงินฝากซึ่งปัจจุบันยังขยายตัวสูงกว่าเงินกู้ โดยเราเชื่อว่าอัตราขยายตัวเงินฝากจะเริ่มชะลอลงขณะที่เงินกู้เริ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป ทำให้เรามองว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 5.3-5.7% ในปีนี้
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
- หุ้น Best of the Best ภายใต้วิกฤตการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งมีพื้นฐานและฐานะการเงินแข็งแกร่ง มีกำไรในปี 2023-2024 เติบโตเฉลี่ยสูงกว่ากำไรของกลุ่มหุ้นที่เราแนะนำ Outperform และ Valuation ไม่แพง โดยซื้อขายด้วย PER และ PBV เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่บริเวณ -1.0 ถึง -2.0 S.D. จึงมองเป็นโอกาสซื้อสะสม เลือก AU, BBL, BDMS, CPALL, GULF สำหรับนักลงทุนที่มีหุ้นอยู่แล้ว แนะนำ Let Profit Run
- หุ้นที่คาดผลการดำเนินงาน 1Q23 จะออกมาตามตลาดคาด และจะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ หรือผลการดำเนินงานมีสัญญาณฟื้นตัวใน 2Q23 เลือก HMPRO ADVANC KCE MINT AOT OSP
- หุ้นปันผลดี ซึ่งปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งและราคาหุ้นยังมี Upside น่าสนใจเกิน 15% เลือก AP (XD 9 พฤษภาคม @0.65 บาท) และ LH (XD 8 พฤษภาคม @0.35 บาท) โดยคิดเป็น Dividend Yield เกิน 3%
- ขณะที่มีกลุ่มหุ้นแนะนำ ‘ขายหรือหลีกเลี่ยงการลงทุนไปก่อน’ เนื่องจากผลการดำเนินงานยังไม่สดใส และมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ NRF, LPN, MST, SAWAD, QH, KTC, PSH, THRE, TCAP, MTC, KEX, KISS. TU, CBG, GFPT, BTG, BTS, BEM, JASIF, SAT, IIG, NER
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- ตัวเลข GDP 1Q23 ของสหรัฐฯ (27 เมษายน) และอียู (28 เมษายน)
- การประชุมนโยบายการเงินของ BOJ ว่าจะให้แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคตอย่างไร จะใช้มาตรการ Yield Curve Control หรือคงดอกเบี้ยนโยบายจนถึงเมื่อไร
- สถานการณ์การเลือกตั้งในประเทศ ติดตามนโยบายหาเสียงและผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมือง
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: AOT - กำไรมีแนวโน้มจะเร่งตัวขึ้น
สัปดาห์นี้เราเลือกแนะนำ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยานรายใหญ่ที่สุดในไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาด ~90% ของจำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั้งหมดในประเทศไทย AOT ประกอบกิจการท่าอากาศยานหลัก 2 แห่งในกรุงเทพฯ (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง) และท่าอากาศยานภูมิภาค 4 แห่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญ (ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ และเชียงราย)
- มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศสูงสุดในกลุ่มฯ จึงคาดการฟื้นตัวที่ชัดเจนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะช่วยหนุนฐานะการเงินดีขึ้นและลดความเสี่ยงการฟื้นตัวของกำไร
- 2QFY23 (มกราคม-มีนาคม 2023) คาดมีกำไรปกติเติบโต YoY และ QoQ จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยจากการมีนักท่องเที่ยวจากจีนหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก ขณะที่ 3QFY23 คาดกำไรปกติจะเติบโตแข็งแกร่งหลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 31 มีนาคม 2023 รวมทั้งกลับมาเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร
- ปี FY2023 คาดพลิกมีกำไรปกติ 1.48 หมื่นล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดสู่ 2.66 หมื่นล้านบาทในปี FY2024 อิงกับสมมติฐานจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศ 54 ล้านคนในปี FY2023 และ 75.6 ล้านคนในปี FY2024 (จาก 13.9 ล้านคนในปี FY2022)
- Valuation น่าสนใจ โดยราคาหุ้น AOT ปรับลดลง 3.7%YTD และยังเทรดต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิดอยู่ 2.7% ขณะที่เราประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่หุ้นละ 82 บาท
Asset Allocation Strategy
เรายังคงมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด โดยอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงและเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นจะกระทบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการลงทุนและการบริโภค แม้ภาพรวมตลาดแรงงานในปัจจุบันจะยังดูแข็งแกร่ง อัตราการว่างงานยังต่ำ
แต่เราเชื่อว่าเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวมากขึ้นในระยะข้างหน้าประกอบกับการกู้ยืมเพื่อการลงทุนและการใช้จ่ายที่ลดลง จะยิ่งส่งผลลบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนและเร่งให้เกิดการเลิกจ้างที่มากขึ้นได้ในระยะข้างหน้า
อีกทั้งปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่ใกล้เข้าเส้นตายมากขึ้นทุกทีจะเป็นอีกปัจจัยที่สร้างความผันผวนต่อการลงทุนในระยะ 3-6 เดือนนี้ ดังนั้น เราจึงยังคงแนะนำลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้น โดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจสูงและผลกำไรบริษัทจดทะเบียนค่อนข้างอ่อนแอ
การวางพอร์ตการลงทุนควรเน้นถือสภาพคล่องในสัดส่วนที่สูง เน้นการลงทุนตราสารหนี้ภาครัฐ เพื่อจำกัดความเสี่ยงจากเศรษฐกิจถดถอย พร้อมหลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนประเภท High Yield ทางฝั่งตลาดพัฒนาแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ หากเศรษฐกิจชะลอตัวเร็วกว่าคาด
เรายังคงมุมมองบวกกับตลาดหุ้นเอเชียและจีนเนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าตลาดพัฒนาแล้ว โดยได้อานิสงส์หลักจากการเปิดประเทศของจีนที่จะช่วยหนุนการบริโภคและการท่องเที่ยว มองการย่อลงของตลาดเป็นโอกาสเข้าสะสมเพิ่มเติมเพื่อรับการเติบโตในอนาคต
ด้านตราสารทางเลือก เรายังคงมุมมองเป็นกลางต่ออสังหาริมทรัพย์/REIT แต่มีมุมมองบวกกับ TH REIT ซึ่งอัตราเงินปันผลมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เรายังคงมุมมองเป็นกลางต่อสินค้าโภคภัณฑ์และแนะนำให้ถือลงทุนทองคำในพอร์ตเพื่อรองรับความเสี่ยงที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
สภาพคล่อง/เงินสด
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมองเป็น Neutral ต่อสินทรัพย์สภาพคล่อง/เงินสด โดยที่เศรษฐกิจโลกยังได้แรงส่งจากการเปิดประเทศของจีน แต่ความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังมีอยู่ รวมทั้งมีความกังวลผลกระทบเชิงลบของปัญหาภาคธนาคารก่อนหน้านี้ และความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ยังคงส่งสัญญาณลบอยู่เป็นระยะๆ
พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 5
US Bond Yields อยู่ในขาลง จากความกังวลเศรษฐกิจชะลอ เงินเฟ้อทั่วไปลดลงเร็ว และตลาดแรงงานเริ่มลดความตึงตัว กระนั้น Yields มีโอกาสปรับขึ้นในระยะสั้น จากเงินเฟ้อพื้นฐานลงช้า ปัญหาภาคธนาคารผ่อนลง และ Fed ยังขึ้นดอกเบี้ยเดือนพฤษภาคา / TH Bond Yields เคลื่อนไหวตาม US โดยต่างชาติยังขายสุทธิต่อเนื่อง
หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 3
US IG Yields ได้รับแรงหนุนหลักจาก Government Bond Yields ที่มีแนวโน้มขาลง ทั้งนี้ US IG Spreads มีความน่าจะเป็น Widening อยู่บ้างจากความเสี่ยง Recession ที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าจะแคบลงหลังความกังวลปัญหาภาคธนาคารลดลง และมีบัฟเฟอร์จากงบดุลที่ค่อนข้างแข็งแรง ในขณะที่ TH IG Spreads มีลักษณะทรงตัวต่อไป
US HY Spreads มีความเสี่ยง Widening มากกว่า IG Spreads จากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่เริ่มส่งสัญญาณชัดเจนขึ้น รวมทั้งผลกระทบจากวิกฤตภาคธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป ที่ถึงแม้ว่าจะเริ่มผ่อนคลายลง แต่ยังคงสร้างความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงิน และมีส่วนเพิ่มความตึงตัวในภาวะการปล่อยสินเชื่อ
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
หุ้นสหรัฐฯ เผชิญ Earnings Downside Risks จากเศรษฐกิจขาลง โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ยังหดตัว และแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อที่ตึงตัวมากขึ้น โดยที่เน้น Defensives อย่างกลุ่ม Utilities อย่างไรก็ดี ภาคบริการที่ฟื้นตัว ตลาดแรงงานที่ยังแข็งแรง และ Bond Yields ขาลงมากกว่าขาขึ้น ช่วยจำกัดการปรับลดลงของตลาดฯ
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 3
พัฒนาการเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นหนึ่งในปัจจัยที่หนุนตลาดหุ้นยุโรป ประกอบกับ Valuation ของตลาดหุ้นยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนุนให้ตลาดปรับตัวขึ้นต่อนั้น ขึ้นอยู่กับทิศทางของผลประกอบการ ซึ่งยังคงต้องจับตาว่าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมากน้อยแค่ไหน
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มถูกกดดันจากความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอยที่ยังมีอยู่ เงินเยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น JGBs Yield ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น และแนวโน้มผลประกอบการที่อาจถูกปรับประมาณการลง อย่างไรก็ดี Valuation ที่ยังไม่แพง แรงส่งจากการเปิดเมือง และการซื้อหุ้นคืนที่มากขึ้น จะช่วยจำกัด Downside ตลาดฯ
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 5
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากโมเมนตัมเศรษฐกิจจีนที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง นำโดยภาคการบริโภคและบริการจากแรงซื้อหุ้นจีนของภาคครัวเรือนจีน และจากแนวโน้มพัฒนาการเชิงบวกในตลาดการเงินจีน รวมทั้งแนวโน้ม EPS ของดัชนีฯ ปีนี้ ที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการดีขึ้น
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 4
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมา จากการคุมเข้มกฎระเบียบกับกลุ่ม Platform ที่ลดลง และจาก EPS ที่มีแนวโน้มดีขึ้น Valuation ที่ยังไม่แพง อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากข้อพิพาทกับสหรัฐฯ และคู่ค้า โดยเฉพาะการแข่งขันด้านเทคโนโลยี และประเด็นที่เกี่ยวกับไต้หวัน
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นไทย มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง นำโดยการฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องจากกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศ ที่ได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น นักลงทุนยังคงรอจับตา ทิศทางการรายงานผลประกอบการในช่วง 1Q23
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 2
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น และการทยอยออกร่างกฎหมายเพื่อช่วยภาคอสังหาเป็นสัญญาณที่ดี แต่สภาพคล่องที่อยู่ระดับต่ำ ยังคงกดดันการขยายตัวของสินเชื่อ ประกอบกับยอดส่งออกที่ปรับลดลงแรง ทำให้ Earnings ของบริษัทจดทะเบียนใน 1Q23 มีแนวโน้มถูกกดดัน ทำให้ Upside ต่อตลาดหุ้นยังคงมีจำกัด
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 3
ค่าเงินรูเปียห์ที่อยู่ในทิศทางแข็งค่า ช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อให้ชะลอลง แต่อย่างไรก็ตาม การที่อัตราเงินเฟ้อยังเกินกว่าเป้าที่ 4% ส่งผลกระทบต่อการบริโภคครัวเรือนให้ยังคงอ่อนแอ ขณะที่ Cycle ถ่านหินผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อีกทั้งการส่งออกที่ชะลอลง และ Valuation กลุ่มธนาคารที่ไม่ถูก ทำให้ Upside ในระยะสั้นมีจำกัด
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
US Bond Yields ขาลง ความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอและเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่า สนับสนุนราคาทองคำให้ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำมี Upside จำกัด เนื่องจากยังมีแรงกดดันจากแรงขายทำกำไร และ Fed ขึ้นดอกเบี้ยพฤษภาคม การทยอยเข้าสะสมในพอร์ตควรรอให้ราคาปรับลดลงในระดับเหมาะสมก่อน
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
ราคาน้ำมันชะลอลงหลังปรับเพิ่มขึ้นในระยะสั้นจาก OPEC+ ลดกำลังการผลิต แต่ในระยะข้างหน้า อุปสงค์โลกจะเป็นตัวแปรที่สำคัญ (อุปสงค์ชะลอตัวลงในกลุ่ม DMs แต่ฟื้นตัวในจีนและเอเชีย) รวมทั้งการลดกำลังการผลิตที่อาจมากเกินไป ซึ่งจะกดดันต่อเงินเฟ้อและการบริโภคครัวเรือน โดยที่เริ่มสะท้อนใน Survey ผู้บริโภค
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
Hybrid Working, สินเชื่อ Commercial Real Estate ที่ตึงตัวมากขึ้น และเศรษฐกิจขาลงท่ามกลางดอกเบี้ยที่อยู่สูง ส่งผลลบต่อ Occupancy/Rental Rates และรายรับของ DM REITs สอดคล้องกับเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้จำนองที่ทยอยเพิ่มมากขึ้นใน DMs แม้ว่า Bond Yield ขาลงจะส่งผลดีต่อ REIT-Govt Yield Spreads
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 4
อัตราเงินปันผลของกลุ่ม EM REITs ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ในขณะที่แรงกดดันจากการปรับเพิ่มขึ้นของ Bond Yield สหรัฐฯ เริ่มจำกัด นอกจากนี้ ปัจจัยพื้นฐานด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกลุ่มเอเชียยังคงได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง/ประเทศ ส่งผลให้รายได้ของกลุ่ม REITs ยังคงมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง
Private Asset
ความน่าสนใจระดับ 2
Slightly Negative on Private Equity & Private Real Estate; Neutral on Private Debt: ดอกเบี้ยในระดับสูงมีแนวโน้มส่งผลกระทบ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity และราคาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่จะเป็นผลลบต่อ Private Real Estate สำหรับกองที่ลงทุนด้วยสกุลเงินต่างประเทศ แนะนำให้ป้องกันความเสี่ยง FX เนื่องจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในปี 2023
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความมั่งคั่งจากหุ้นของชาวอเมริกันหายไปกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ จากที่เคยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวหลังวิกฤตโควิด
- ตามคาด ‘Fed’ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% พร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้นต่อ หวังคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด
- นักวิเคราะห์ชี้พิษนโยบาย Fed เป็นเหตุทำตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วน