- ทศวรรษที่ผ่านมา เวียดนามถูกขนานนามว่า ‘ดาวรุ่งแห่งเอเชีย’ ด้วย GDP ที่เติบโตกว่าเท่าตัว ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นพุ่งขึ้นเท่าตัวเช่นกัน แต่ใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปี
- หากมองไปข้างหน้า GDP ของเวียดนาม ยังคงถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตสูง ด้วยอัตรา 7.5% ในปีนี้ และ 6.5% ในปี 2023
- ตลาดหุ้นเวียดนามปีนี้กลับวิ่งสวนทางกับความคาดหวังเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ ดัชนี VN ดิ่งลง 35% เป็น 1 ใน 5 ดัชนีหุ้นที่ลดลงมากที่สุดของโลก
- ปัจจัยกดดันตลาดหุ้นเวียดนามมาจากทั้งภายในและภายนอก เช่น ปัญหาการฉ้อโกง ปั่นหุ้น และการขึ้นดอกเบี้ยแบบเซอร์ไพรส์ตลาด รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอลง
- หลายคนประเมินว่า หุ้นเวียดนามลดลงมาอยู่ในระดับที่ถูกแล้ว และเริ่มมีความเสี่ยงจำกัดจากสถิติของตลาดหมีในอดีต
- แต่คำถามสำคัญคือ หุ้นเวียดนามคุ้มค่าที่จะเสี่ยงเข้าไปลงทุนแล้วหรือยังท่ามกลางปัญหาที่ยังรุมเร้ารอบด้าน
‘เวียดนาม’ ดาวรุ่งแห่งเอเชีย
จากความพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการยกระดับภาคแรงงาน ส่งผลให้เวียดนามขยับชั้นขึ้นมาสู่ประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income) จากการจัดอันดับของธนาคารโลกเมื่อปี 2010 โดยมีรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัว (GNI per Capita) จำนวน 996-12,195 ดอลลาร์
จากจุดนั้นถัดมาอีก 1 ทศวรรษ เศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตอย่างก้าวกระโดด GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นจาก 1.47 แสนล้านดอลลาร์เมื่อปี 2010 มาเป็น 3.62 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2021
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เกิดอะไรขึ้นกับ ‘ฮ่องกง’ ทำไมสถานะ ‘ศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย’ กำลังถูกสั่นคลอน และอาจกลายเป็นแค่อดีต
- ส่องกรณีศึกษาการเติบโตของ เศรษฐกิจสิงคโปร์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่รออยู่ข้างหน้า
- เปิดจุดเด่น เวียดนาม หลังจ่อขึ้นแท่นประเทศที่คว้าชัยในยุค Deglobalization
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วคือ การใช้นโยบายการค้าเสรี พร้อมกับการอ้าแขนรับนักลงทุนต่างชาติ เวียดนามเข้ารวมกลุ่มอาเซียนตั้งแต่ปี 1995 ร่วมทำข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ในปี 2018 รวมทั้งการทำข้อตกลงทางการค้ากับกลุ่มประเทศในยุโรป จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เป็นต้น
ไม่เพียงแค่นั้น เวียดนามยังเป็นผู้ที่ได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิต ซึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยโนมูระเคยประมาณการไว้ว่า ทิศทางการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลบวกต่อเวียดนามคิดเป็นประมาณ 7.9% ของ GDP
ขณะเดียวกันตลาดหุ้นเวียดนามก็เป็นตลาดที่ร้อนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่ปี 2016 ดัชนี VN พุ่งขึ้นจากกว่า 500 จุด ไปแตะระดับ 1,200 จุดในปี 2018
และถึงแม้ว่าหุ้นเวียดนามจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ กดดันให้ดัชนี VN ลดลงไปเหลือเพียง 650 จุด แต่หลังจากนั้นดัชนีก็ดีดตัวกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว จนไปทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 1,500 จุด
ความร้อนแรงทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการลงทุนทำให้เวียดนามได้รับการขนานนามว่า ‘ดาวรุ่งแห่งเอเชีย’
เศรษฐกิจของเวียดนามยังถูกคาดหวังว่าจะเติบโตในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ธนาคารโลกคาดว่า GDP ของเวียดนาม จะขยายตัว 7.5% ขณะที่ Bloomberg Consensus ประเมินว่า GDP ของเวียดนาม จะเติบโตต่อเนื่องอีก 6.5% ในปี 2023 และในระยะยาวเวียดนามก็มีแนวโน้มจะขยับขึ้นไปสู่ประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงในปี 2035 หนุนจากการพัฒนาระบบการศึกษา ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถของแรงงานในประเทศ
โดยภาพรวมแล้ว เมื่อเอ่ยถึงเวียดนามในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนก็คงจะได้ยินแต่เรื่องราวเชิงบวกแทบทั้งสิ้น
ดัชนีหุ้นดิ่ง สวนทางความคาดหวัง
หลังจากที่หุ้นเวียดนามฟื้นตัวแรงพุ่งขึ้นกว่า 36% เมื่อปี 2021 การปรับฐานไปพร้อมกับตลาดหุ้นทั่วโลกในปีนี้ดูจะไม่ใช่สิ่งที่เกินกว่าความคาดหมายนัก แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีนี้คือ ตลาดหุ้นเวียดนามไม่เพียงแค่ปรับฐาน แต่กลายเป็น 1 ใน 5 ตลาดหุ้นที่ดิ่งลงแรงมากที่สุดในโลก ดัชนี VN ติดลบไปราว 35% ส่วนดัชนีหุ้นที่ลดลงแรงที่สุดในปีนี้คือ ดัชนี MOEX ของรัสเซีย ที่ติดลบไปราว 45%
สำหรับสาเหตุหลักที่กดดันตลาดหุ้นเวียดนาม รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง มองว่า มาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก
สำหรับปัจจัยภายในที่สำคัญ ได้แก่
1. การจัดระเบียบตลาดหุ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยมีการจับกุมผู้บริหารของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ FLC Group ในข้อหาปั่นราคาหุ้น พร้อมกับเปลี่ยนผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
2. การออกหุ้นกู้ผิดกฎหมายของบริษัทอสังหาอย่าง Van Thinh Phat (VTP) ก่อนที่ผู้บริหารของ VTP จะถูกจับกุมในเวลาต่อมา โดยธนาคารที่เป็นผู้ออกหุ้นกู้ดังกล่าวคือ Saigon Commercial Bank (SCB) ทำให้ชาวเวียดนามสูญเสียความเชื่อมั่นและแห่ถอนเงินฝากจากธนาคาร
3. ธนาคารกลางเวียดนามปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1% แบบเซอร์ไพรส์ตลาด เป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกนับแต่ปี 2011 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารระยะเวลา 12 เดือน พุ่งขึ้นเป็นเฉลี่ย 6.4% จากราว 5% เมื่อต้นปี
ส่วนปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ได้แก่
1. ความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งทั้งสองตลาดเป็นตลาดส่งออกหลักของเวียดนาม คิดเป็นมูลค่ารวมกันถึง 41% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด
2. การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศของเวียดนามลดลงกว่า 6% แตะ 1.01 แสนล้านดอลลาร์เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ด้าน พิกุล พิทยาอิสรกุล ผู้จัดการกองทุน กองทุนส่วนบุคคล บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) มองว่า อีกหนึ่งแรงกดดันที่สำคัญต่อตลาดหุ้นเวียดนามคือ การแห่เข้ามาของนักลงทุนรายย่อยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งแรงเก็งกำไรจากการใช้มาร์จินและเงินกู้อื่น ซึ่งผลักให้ตลาดหุ้นเวียดนามพุ่งขึ้นไปสูงมาก
“เมื่อมีปัจจัยลบเข้ามาสะกิด ก็ทำให้นักลงทุนรายย่อยพร้อมจะออกจากตลาด พร้อมกับแรงกดดันจากการ Forced Sell ขณะที่นักลงทุนต่างชาติทยอยออกจากตลาดหุ้นเวียดนามตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหุ้นสหรัฐฯ ที่บูมขึ้นมาก่อนหน้านี้”
มูลค่าถูกแล้วเป็นโอกาสหรือความเสี่ยง?
หุ้นเวียดนามที่ดิ่งลงอย่างหนัก ส่งผลให้มูลค่าหุ้นจากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญหลายรายเข้าสู่ระดับที่เรียกว่า ‘ถูก’ แล้ว
อย่างกรณี บล.บัวหลวง ประเมินว่า ดัชนี VN มีค่า P/E ลดลงมาอยู่ที่ราว 8.3 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี สวนทางกับคาดการณ์กำไรของดัชนี VN ใน 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งยังถูกปรับขึ้น โดยที่ Bloomberg Consensus คาดการณ์ว่าจะเห็นกำไรของหุ้นเวียดนามเติบโต 15% ในปี 2022 และ 19% ในปี 2023
และจากสถิติช่วงตลาดหมีของหุ้นเวียดนาม 10 ครั้งที่ผ่านมา พบว่า มีค่าเฉลี่ยของการปรับลงราว 37% โดยมีระยะเวลาปรับลงประมาณ 7.7 เดือน ส่วนการดิ่งลงครั้งนี้ลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อเดือนเมษายนกว่า 34% เป็นเวลา 6 เดือน จึงอาจตีความได้ว่าดัชนี VN เริ่มมีความเสี่ยงขาลงจำกัด
ในมุมของพิกุลยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจเวียดนามยังมีแนวโน้มเติบโตดีในระยะยาว และการที่ภาครัฐปราบปรามคอร์รัปชันจะส่งผลดีในอนาคต อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในระยะสั้นยังคาดเดาได้ยากว่าปัญหาต่างๆ จะจบลงเมื่อใด และการดิ่งลงของหุ้นจะจบลงแล้วหรือยัง
“โดยปกติกองทุนจะถือเงินสดไว้ส่วนหนึ่งอยู่แล้ว ปัจจุบันมีสัดส่วนเงินสด 7-8% เพิ่มขึ้นจากช่วงปกติที่ 3-5% เพื่อรอโอกาสเข้าซื้อสำหรับหุ้นที่มี Valuation น่าสนใจ”
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเวียดนามยังไม่ได้หายไป
จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน สายพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) มองว่า หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของเวียดนาม และหากเศรษฐกิจจีนยังคงย่ำแย่ เวียดนามจะอดทนได้นานแค่ไหน
อีกประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองคือ ความโปร่งใสของระบบธนาคารพาณิชย์ ปัจจุบันจำนวนธนาคารในเวียดนามมีจำนวนมาก ขณะที่การตรวจสอบอาจยังทำได้ไม่ดีพอ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโดยรวม
ส่วนตลาดหุ้นเวียดนามอาจไม่สามารถฟื้นตัวได้ง่าย จากการที่นักลงทุนถูกดึงความสนใจไปด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูง
ถามว่าท้ายที่สุดแล้วเวียดนามจะเดินไปสู่วิกฤตตลาดหุ้นหรือไม่
“ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา หากเศรษฐกิจเวียดนามกลับมาเติบโตแข็งแกร่งอีกครั้งภายใน 6-12 เดือนก็คงไม่เป็นอะไร แต่ถ้าปัญหายังคงอยู่ ในขณะที่ Fed เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยไปอีก 2 ปี เชื่อว่าวิกฤตจะเกิดขึ้น”
คำถามสำคัญที่ตามมาคือ หุ้นเวียดนามที่ลดลงมาอยู่ในระดับนี้มีความคุ้มค่าแค่ไหนหากเทียบจากโอกาสและความเสี่ยง คำตอบคงจะขึ้นอยู่กับว่าเราให้น้ำหนักกับปัจจัยไหนมากกว่ากันระหว่างความถูกกับความเสี่ยง รวมไปถึงเงื่อนไขด้านระยะเวลาในการลงทุน
อ้างอิง:
- https://www.vietnam-briefing.com/news/vietnams-era-valueadded-projects-sustainable-development.html/
- https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.CD?locations=VN
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-10-20/vietnam-sees-fastest-growth-in-southeast-asia-for-two-years?sref=CVqPBMVg
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-10-24/vietnam-central-bank-raises-refinancing-rate-to-6-from-5?srnd=markets-vp&sref=CVqPBMVg
- https://www.trade.gov/country-commercial-guides/vietnam-trade-agreements