5 พรรคการเมืองทางเลือก ประกอบด้วย พรรคกลาง พรรคกรีน พรรคคนธรรมดา พรรคสามัญชน และพรรคเกียน ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่รับรอง ร่วมกันจัดเสวนาและปราศรัย ‘รวมพลพรรคเล็กแต่ใจใหญ่ ไม่เอาสืบทอดอำนาจ ประกาศทางเลือกประชาชน’ ที่ห้องประชุมตึกหลังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว โดย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หัวหน้าพรรคเกียน ทำหน้าที่โฆษกในงานนี้
นายชุมพล ครุฑแก้ว หัวหน้าพรรคกลาง ระบุว่าพรรคเป็นเวทีกลางของคนหลากหลายสาขาอาชีพโดยไม่มีนายทุนอยู่เบื้องหลัง ใช้เวลา 9 เดือนในการหาสมาชิกทางเฟซบุ๊กช่องทางเดียวเท่านั้น สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ส่งผู้สมัครลงทั้งสิ้น 44 เขต ผู้สมัคร ส.ส. มากกว่าครึ่งมีอาชีพเป็นเกษตรกร และไม่มีการปิดประกาศนโยบาย แต่ใช้วิธีการเดินเคาะประตูบ้านเรียกคะแนนแทน
สำหรับจุดยืน หัวหน้าพรรคกลางยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการแบ่งประชาชนเป็นสองฝ่าย และไม่เห็นด้วยกับทั้งการรัฐประหารและเผด็จการรัฐสภา และหากได้ ส.ส. จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายตรวจสอบถ่วงดุล แม้จะได้ร่วมรัฐบาลก็ตาม โดยจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่สำคัญและนโยบายหลักเพียงข้อเดียวคือเป็นการทดลองประชาธิปไตยทางตรงในระบบการเมืองโดยเริ่มจากภายในพรรค ซึ่งหากได้ ส.ส. จะให้สมาชิกพรรคและประชาชนนำเสนอประเด็นเพื่อให้ผู้แทนของพรรคเข้าไปอภิปรายในสภา
นายพงศา ชูแนม หัวหน้าพรรคกรีน ระบุว่าต้องการทำให้การอนุรักษ์เป็นวัฒนธรรมที่คงอยู่กับโลกไปได้อย่างยาวนาน มุ่งหวังความเป็นธรรมในสังคม การไม่เอาเปรียบคนอื่น และไม่ยอมให้ถูกคนอื่นเอาเปรียบด้วย ส่วนนโยบายของพรรคกรีนมี 4 ข้อ ซึ่งตรงข้ามกับนโยบายของรัฐบาล คสช. ประกอบด้วย
1. คัดค้านบัตรคนจน และเสนอ ‘บัตรคนรวย’ โดยให้ประชาชนปลูกต้นไม้ และถือเป็นทรัพย์สิน มีบัตรแสดงทรัพย์สินจากมูลค่าต้นไม้แสดงสิทธิ
2. คัดค้านนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยจะจัดสรรที่ทำกินและที่อยู่ให้ชาวบ้านโดยมีกฎหมายรองรับ
3. นโยบายเกษตรสุขภาพ พืชผักปลอดสารเคมี และจดทะเบียนเป็นพื้นที่คุ้มครองในระดับครัวเรือนและชุมชนด้วย
4. นโยบาย ‘สันติภาพยั่งยืน’ โดยมี ‘สภาประชาธรรม’ ใช้ช่องทางแอปพลิเคชันไลน์ เฟซบุ๊ก และอื่นๆ กำกับควบคุมรัฐบาล ให้สมาชิกลงมติต่อนโยบายหรือโครงการต่างๆ ของรัฐบาล
นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน ระบุว่าพรรคให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมทางสังคม ยึดหลักการอํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. และขอให้สมาชิกพรรคเชื่อมั่นการทำหน้าที่ของตัวแทนหากได้เข้าไปนั่งในสภา แต่ในเขตที่ไม่มีพรรคสามัญชนส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ขอให้สมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคเลือกพรรคการเมืองที่มีจุดยืนชัดเจนในการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. อย่าเลือกพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ รวมถึงพรรคที่ยังโลเล ไม่ประกาศจุดยืน
นายธนพร ศรียากูล หัวหน้าพรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร มีนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช. รวมถึงกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์, พ.ร.บ. ไซเบอร์ และ พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ ตลอดจนคำสั่งของ คสช. ทุกฉบับ ให้สภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณาและยกร่างกฎหมายใหม่ พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้มาก และมองว่าไม่ควรเลือกพรรคการเมืองที่เสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเป็นคนนอก หรือมองว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ด้วย เพราะหากนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็น ส.ส. ก็จะไม่เห็นหัวประชาชนอย่างที่เป็นมาตลอด 4-5 ปีในรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
โดยช่วงท้ายมีการประกาศแถลงการณ์ร่วมประกาศจุดยืนเพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช. ปฏิเสธรัฐธรรมนูญที่ได้มาโดยมิชอบ และการใช้ ส.ว. 250 คน ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขัดหลักการประชาธิปไตย และหลังจากแต่งตั้งรัฐบาลที่มาจากประชาชนได้แล้ว ทั้ง 5 พรรคจะเรียกร้องและผลักดันให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาโดยทันที เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่ถูกใช้อยู่ในปัจจุบันขาดความชอบธรรมทั้งที่มาและเนื้อหา ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองได้ในอนาคต