วันเลือกตั้ง

ปรากฏการณ์พรรคนอมินี: มีไว้ทำไม

03.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • เกมคณิตศาสตร์ ทางการเมือง หรือตัวเลข ส.ส. ย่อมหมายถึงชัยชนะในเชิงปริมาณ ที่จะทำให้ใครได้ครองอำนาจในสภา
  • กลายเป็นบ่อเกิดของ ‘พรรคนอมินี’ เพื่อมาช่วยช่วงชิงคะแนนเสียง กระชับพื้นที่ทางการเมืองให้แต่ละฝ่ายมีชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้

ถ้าอ่านข่าวการเมืองในช่วงนี้ ข่าวการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ (ซึ่งคำว่าใหม่ในที่นี้อาจมีทั้งใหม่ถอดด้ามป้ายแดง กับใหม่ที่นี่เก่าที่อื่น) ยึดหน้าข่าวได้พอสมควร

 

แต่นอกจากคำว่าเปิดตัวพรรคการเมืองแล้ว ก็จะมีการโยงว่าพรรคใหม่แต่ละพรรคนั้นถูกเชื่อมโยงได้ว่าเป็น ‘พรรคนอมินี’ ของพรรคที่มีอยู่แล้วพรรคไหนบ้าง

 

หลายคนคงสงสัยว่า พรรคการเมืองจะมีพรรคนอมินีไปทำไม คำตอบแวบแรกก็อาจจะเป็นว่า เผื่อเกิดอุบัติเหตุพรรคถูกยุบก่อนการเลือกตั้ง แต่ในที่นี้ คำตอบที่จะให้ จะมองโลกแบบสวยกว่า  

 

เพราะคำตอบมันอยู่ที่ ‘เกมคณิตศาสตร์การเลือกตั้ง’ ต่างหาก

 

ว่าด้วยเกมคณิตศาสตร์การเลือกตั้ง

เริ่มจากพื้นฐานว่า ประเทศไทยจะใช้ระบบการเลือกตั้งที่ออกแบบใหม่เป็นแบบระบบจัดสรรปันส่วน ที่จุดขายคือคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ และการจัดสรรที่นั่งคือการเอาทุกคะแนนมารวมกันแล้วหารออกมาเป็นจำนวนที่นั่งที่ควรจะได้ แล้วจะไปบวกเพิ่มจากที่ได้จากแบบแบ่งเขตก็ว่ากันอีกที

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ การรวมเสียงให้ได้มากที่สุดในภาพใหญ่จึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

ตัวเลข 70,000 คะแนนเสียงต่อ 1 ที่นั่ง เป็นตัวเลขที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยและเป็นตัวเลขที่หลายพรรคการเมืองตั้งเป็นเป้าหมายเบื้องต้นในการเลือกตั้ง

 

แต่จริงๆ แล้วการคิดว่า 70,000 เสียงเท่ากับ 1 ที่นั่งนั้นอาจเป็นการคำนวณตามสูตรเกมคณิตศาสตร์การเมืองที่ตื้นเขินไปหน่อยและใช้ไม่ได้ในทุกกรณี

 

เพราะในกรณีของพรรคการเมืองขนาดใหญ่หรือขนาดกลางนั้น การได้ 70,000 เสียง อาจจะเกิดจากการชนะในแบบเขตมาแล้ว 1 หรือ 2 เขต (2 เขตรวมกันได้ประมาณ 70,000 คะแนน) ก็เท่ากับว่าพรรคนั้นชนะมาแล้ว 2 ที่นั่ง แต่หากใช้เกณฑ์ 70,000 มาจัดสรรที่นั่ง ก็จะแสดงว่าพรรคได้รับที่นั่งเกินโควตา พรรคก็จะได้รับที่นั่งในระบบเขต แต่จะไม่ได้ที่นั่งจากระบบบัญชีรายชื่อ (ซึ่งกรณีนี้ก็เป็นที่มาของวาทกรรมว่า ชนะเขตเยอะจะไม่ได้ที่นั่งบัญชีรายชื่อ)

 

แต่ในกรณีของพรรคขนาดเล็กนั้น การจะได้ถึง 70,000 คะแนนเสียงนั้นหมายความว่าอาจจะต้องเกิดจากการรวมคะแนนเสียงจากระบบเขตมาหลายๆ เขตเข้าด้วยกัน และก็อาจจะไม่ได้ ส.ส. จากระบบแบ่งเขตเลย

 

เมื่อมองจาก 2 กรณีแล้วก็พอจะทำให้เราเห็นถึงที่มาของการเกิด ‘พรรคนอมินี’ ได้ โดยเฉพาะความจำเป็นของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ต้องการเก็บเสียงจากพรรคนอมินีในการเพิ่มโอกาสการได้ที่นั่งจากระบบบัญชีรายชื่อ

 

ชนะเขตมาก โอกาสได้บัญชีรายชื่อน้อย

เพราะเมื่อการได้จำนวนที่นั่งให้ได้มากที่สุด การชนะแบบเขตมากมีแนวโน้มจะทำให้โอกาสได้รับที่นั่งจากระบบบัญชีรายชื่อลดน้อยลง การเก็บคะแนนเสียงไม่ว่าจะเป็นเสียงจากเขตเลือกตั้งเดียวกันหรือเขตเลือกตั้งอื่นๆ นั้นเป็นเรื่องจำเป็น

 

ต้องเข้าใจว่าจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในปัจจุบันที่ใช้เป็นฐานของการคำนวณจำนวน ส.ส. นั้นมีประมาณ 60 ล้านคน และเมื่อคำนวณแบ่งตามจำนวนประชากรต่อ 1 เขตเลือกตั้งนั้นก็ตกประมาณ 189,110 คน ต่อ ส.ส. 1 คน

 

จากสถิติการออกมาใช้สิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคนไทยที่เฉลี่ยออกมาแล้วประมาณร้อยละ 70 ก็เท่ากับว่า ในเขตเลือกตั้งหนึ่งน่าจะมีคนออกมาใช้สิทธิ์ประมาณ 132,000 คน ซึ่งผู้ชนะจะได้ไปประมาณ 4-50,000 คะแนนเสียง และยังเหลือคะแนนเสียงที่จะถูกนำไปคำนวณเพื่อจัดสรรที่นั่ง ส.ส. อีกกว่า 80,000 คะแนน (ซึ่งตัวเลขนี้อาจจะสูงขึ้นอีก หากจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์มีมากกว่าร้อยละ 70)

 

และตัวเลข 80,000 คะแนนนี่เอง ที่เป็นที่มาของการเกิดขึ้นของพรรคนอมินีที่แต่ละพรรคจำเป็นต้องมีเพื่อช่วยกันกวาดคะแนนอย่างน้อย 80,000 เสียงนี้ให้เป็นเสียงของพรรคพวกกัน ไม่ใช่ตกอยู่ในพรรคฝ่ายตรงข้าม

 

เพราะในที่สุดแล้ว การนำเอาทุกคะแนนเสียงมาคำนวณรวมกันแล้วแปรเป็นที่นั่งในสภา พรรคการเมืองหลักและพรรคนอมินีก็มาจับขั้วกันได้ในที่สุด คำถามอยู่ที่ว่าพรรคหลักและพรรคนอมินีจะรวมเสียงในฝั่งตนเองได้มากกว่าฝั่งตรงข้ามหรือไม่

 

ในกรณีของพรรคขนาดกลางหรือเล็ก เราอาจจะได้เห็นการเปิดตัวเป็นพรรคนอมินีของพรรค แต่อาจจะออกมาในรูปแบบของ ‘พันธมิตรพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง’ เพื่อรวมเสียงในภาพหลังแทน เพราะต้นทุนของการมีพรรคนอมินีในทางการเมืองนั้นสูงเกินกว่าพรรคขนาดใหญ่อยู่มาก เพราะแค่ค่าใช้จ่ายในการส่งผู้สมัครลงแบบเขตนั้นก็เป็นจำนวนเงินที่มากพอสมควร

 

การเดินหมากในเกมของนักการเมืองเดิมๆ

จากประสบการณ์ของต่างประเทศในกรณีการจับมือของพรรคพันธมิตรก่อนการเลือกตั้งนั้น มักจะออกมาในรูปของของพรรคขนาดกลางหรือเล็กจับมือกับพรรคขนาดใกล้เคียงกัน มากกว่าการไปจับกับพรรคที่มีขนาดใหญ่กว่า

 

การจับมือเป็นพันธมิตรกับพรรคขนาดใหญ่หรือใหญ่กว่ามักจะเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งและผลการเลือกตั้งได้ออกมาแล้ว ซึ่งจะทำให้พรรคขนาดกลางหรือเล็กอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบในเชิงว่า การอยู่ข้างไหนก็จะทำให้ข้างนั้นชนะ

 

เช่นนี้แล้ว การมองปรากฏการณ์การเกิดตัวพรรคการเมือง ‘ใหม่’ ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้นั้น เราอาจจะต้องมองปรากฏการณ์นี้แบบทำใจให้กลางๆ ไม่ตื่นเต้นไปกับการวางความหวังว่า การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่เท่ากับการตื่นตัวทางการเมืองหรือเลยไปถึงจุดเริ่มต้นของการเมืองแบบใหม่ๆ

 

เพราะในอีกความเป็นไปได้ การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองเหล่านี้ก็เป็นเพียงอีกหนึ่งการ ‘เดินหมาก’ ในเกมของนักการเมืองเดิมๆ ในเกมการเมืองที่กติกาเป็นของใหม่และนักการเมืองก็แค่เปลี่ยนแผนการเล่นเพื่อปรับตัวเพียงเท่านั้น

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X