- สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ดัชนี S&P 500 ทำจุดสูงสุดใหม่ระหว่างสัปดาห์ แต่ปรับลงช่วงปลายสัปดาห์จากความกังวลต่อนโยบายทางภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งภาษีนำเข้ารวมถึงการศึกษาการเก็บภาษีเท่าเทียม (Reciprocal Tariffs) ซึ่งนำไปสู่ความกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มขึ้น
- Fed ส่งสัญญาณชะลอการลดดอกเบี้ยผ่านรายงานการประชุม FOMC ล่าสุดระบุว่าต้องการเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเงินเฟ้อที่ชัดเจนก่อน หลังจากที่ได้ปรับลดดอกเบี้ยไปแล้ว 3 ครั้งในปี 2024 รวม 1%
- นอกจากนี้ Fed ยังกังวลว่าการก่อหนี้ที่สูงขึ้น จะทำให้การขาดดุลการคลังและผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้นกระทบกับสภาพคล่อง บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จึงมองว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยได้ 1 ครั้งในปี 2025 และอาจลดระดับ QT จากปัจจุบันที่ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนลงอีกในไม่ช้า
ตลาดโลกปรับตัวลดลงเล็กน้อย แม้ดัชนี S&P 500 ทำจุดสูงสุดใหม่ระหว่างสัปดาห์ แต่ปรับลงช่วงปลายสัปดาห์จากประเด็นสหรัฐฯ เตรียมเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติม 25% กับสินค้าหลายประเภท ทั้งรถยนต์ ยา และเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงสั่งศึกษาการเก็บภาษี ‘เท่าเทียม’ (Reciprocal Tariffs) นำไปสู่ความกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มขึ้น
โดย Fed ส่งสัญญาณชะลอการลดดอกเบี้ย ผ่านรายงานการประชุม FOMC ล่าสุดระบุว่าต้องการเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเงินเฟ้อที่ชัดเจนก่อน หลังจากที่ปรับลดดอกเบี้ยไปแล้ว 3 ครั้งในปี 2024 รวม 1%
ด้านตัวเลขยอดค้าปลีกออกมาหดตัวมากสุดในรอบ 2 ปี แย่กว่าตลาดคาด ภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชัดเจนขึ้น
หุ้นจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นได้หนุนโดยกลุ่มเทค โดยระหว่างสัปดาห์ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเข้าประชุมกับผู้ประกอบการชั้นนำของจีนอย่าง Alibaba, DeepSeek, HUAWEI, Xiaomi และ Meituan สะท้อนการเพิ่มการสนับสนุนภาคเอกชนของรัฐบาลจีน ขณะที่ตัวเลขราคาบ้านใหม่ในจีนหดตัวลงน้อยสุดในรอบ 5 เดือน
การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนยากลำบากขึ้น ทรัมป์กดดันให้ยูเครนยอมรับข้อเสนอสันติภาพและยอมให้มีการจัดการเลือกตั้ง ด้าน EU แสดงความกังวลต่อท่าทีของสหรัฐฯ ที่ดูจะยอมถอยในหลายประเด็น
หุ้นไทยผันผวนหนักลงแรงต้นสัปดาห์กดดันจากหุ้นใหญ่ที่งบแย่ ก่อนทยอยฟื้นขึ้นมาระหว่างสัปดาห์จากข่าวคลังเตรียมประกาศมาตรการกระตุ้นตลาดทุนเพิ่มเติม แต่กลับมาปิดต่ำกว่า 1,250 ท้ายสัปดาห์ต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี
ตลาดน้ำมันปรับตัวขึ้นจากข่าวยูเครนโจมโตโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันในรัสเซีย อาจทำให้การส่งออกน้ำมันดิบลดลง
‘ภาษีเท่าเทียม’ เพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อ
รายงานการประชุมของ Fed สะท้อนความกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อจากนโยบายภาษีนำเข้า จึงระบุว่าต้องเห็นการชะลอตัวของเงินเฟ้อที่ชัดเจนก่อนพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ท่ามกลางผลสำรวจความคาดหวังด้านเงินเฟ้อ 1 ปีข้างหน้าของผู้บริโภคอยู่ที่ 4.3% สูงขึ้น 1.7% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
นอกจากนั้น การที่ Fed ระบุว่าจะจับตาการเจรจาเพดานหนี้ บ่งชี้ว่า Fed กำลังกังวลว่าการก่อหนี้ที่สูงขึ้น จะทำให้การขาดดุลการคลังและผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้นกระทบกับสภาพคล่อง ทำให้ Fed อาจต้องพิจารณาชะลอการลดขนาดงบดุล (QT)
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จึงมองว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยได้ 1 ครั้งในปี 2025 และอาจลดระดับ QT จากปัจจุบันที่ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนลงอีกในไม่ช้า
สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/67 ขยายตัว 3.2% ต่อปี และ 0.4% เทียบรายไตรมาสต่ำกว่าที่ตลาดคาด จากการหดตัวของสินค้าคงคลัง การลงทุนภาคเอกชน การบริโภคสินค้าคงทน และการหดตัวของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทุนและเทคโนโลยี ผลจากสภาพคล่องที่ตึงตัว และการทุ่มตลาดจากจีน
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า GDP ปี 2568 จะขยายตัวที่ 2.5% ต่ำกว่าสภาพัฒน์มองที่ 2.8% โดยจะเผชิญ 4 ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- มาตรการ Reciprocal Tariffs ของสหรัฐฯ ที่อาจกระทบ GDP ไทยถึง 0.5-0.6%
- การแข่งขันรุนแรงจากจีนที่ทำให้ไทยขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านล้านบาท
- ความเข้มงวดของสถาบันการเงินท่ามกลาง NPLs และ SMLs ที่สูง
- การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนขึ้น
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
- หุ้น Earnings Play ซึ่งมองราคาหุ้นยังไม่ได้ปรับขึ้นสะท้อนโมเมนตัมกำไร 4Q67 อีกทั้งยังมีศักยภาพการจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ เลือก ADVANC, TRUE, AMATA, TIDLOR, MTC, AU และ HTC
- หุ้น Real Sector ที่มีพื้นฐานดี โดยคัดเลือกหุ้น SET100 ที่คาดเป็นเป้าหมายของกองทุน และมองมี Downside Risk จำกัด ได้แก่ BCP, AP, PTT, TU และ SPALI
3.หุ้น Dividend Play ซึ่งมี Div. Yield เกิน 3% เพื่อสร้างกระแสเงินสดให้แก่พอร์ตลงทุน แนะนำ AP, KTB, BBL และ PTT
- Trading Idea: 1) หุ้นที่คาดว่าสัปดาห์หน้าจะประกาศงบ 4Q67 กำไรเติบโต YoY และ QoQ แนะนำ CPALL, HMPRO, BTG, ERW, AU และ KLINIQ 2) หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์เม็ดเงินไหลเข้าจาก MSCI Rebalance อย่าง GPSC และ SCGP
“มอง SET มีโอกาสฟื้นตัวแต่ Upside จำกัด โดยมีแนวต้านสำคัญที่บริเวณ 1,300 จุด โดยประเมินว่าดัชนี PCE มีแนวโน้มชะลอตัวลงเหลือ 2.5% ซึ่งจะไม่กดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เปลี่ยนท่าทีต่อนโยบายการเงินและ PMI จีนมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างช้าๆ ในขณะที่ ธปท. ยังคงมุมมองที่จะคงดอกเบี้ยที่ 2.25% ซึ่งตลาดก็รับรู้ไปแล้ว นอกจากนั้นแนวโน้มผลประกอบการ 1Q68 น่าจะบ่งชี้ว่ากำไรของตลาดหุ้นไทยได้ผ่านจุดแย่ที่สุดไปแล้วใน 2H67 ทำให้เรามองว่ากระแสเงินมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น รวมไปถึงมาตรการของ ตลท. ต่อการสร้างความเชื่อมั่นน่าจะช่วยให้ตลาดดีขึ้นระดับหนึ่ง” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ
สัปดาห์หน้าต้องติดตาม
- การประชุมนโยบายการเงินของ กนง. ซึ่งตลาดคาดยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% และรายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงินของไทยเดือนมีนาคม
- ดัชนี Core PCE ของสหรัฐฯ เดือนมกราคม ซึ่งเป็นตัวเลขที่ Fed ให้ความสำคัญในการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
- ความคืบหน้าเกี่ยวกับการประกาศปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าสินค้าของ โดนัลด์ ทรัมป์
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BDMS - 4Q24 คาดกำไรโตต่อเนื่อง YoY
แนะนำ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้นำธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีเครือข่ายมากสุดในไทย (โรงพยาบาล 57 แห่ง รวมกว่า 8,500 เตียง) และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโรงพยาบาลเอกชนทั่วโลกในด้านมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์จากอุปสงค์ทางการแพทย์ที่จะเพิ่มขึ้นในระยะยาว
- 4Q24 คาดกำไรปกติจะเติบโตต่อเนื่อง YoY แรงหนุนจากความต้องการใช้บริการทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น แต่จะอยู่ในระดับทรงตัว QoQ ตามผลฤดูกาล (ปกติไตรมาส 3 เป็นไฮซีซันของกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากโรคตามฤดูกาล) ขณะที่ทั้งปี 2024 คาดมีกำไรปกติ 1.62 หมื่นล้านบาท เติบโต 12.6%YoY
- เป็นหุ้นเด่นกลุ่มการแพทย์ และมองราคาหุ้น BDMS ปรับลง 4.9%YTD สวนทางโมเมนตัมกำไรที่ยังเติบโตแข็งแกร่งจากความต้องการใช้บริการทางการแพทย์ที่ยังขยายตัว อีกทั้ง Valuation ไม่แพง โดยปัจจุบันซื้อขายที่ PER 2024F และ 2025F ที่ 23.6 เท่า และ 21 เท่า ต่ำกว่า -2SD ของ PER เฉลี่ยในอดีตที่ 30 เท่า
- เราประเมินราคาเป้าหมายปี 2024 ที่หุ้นละ 36 บาท (อิงวิธี DCF) และคาดว่าจะมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 0.79 บาท คิดเป็น Div. Yield ราวปีละ 3.4%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
ภาพรวมผลประกอบการหุ้นกลุ่มเทคจีนออกมาดีกว่าที่คาด โดยมีแรงหนุนจาก AI เป็นสำคัญ ทำให้หุ้นตอบสนองเชิงบวก ทั้ง BABA และ Lenovo ขณะที่ตลาดตอบสนองเชิงลบต่อ Baidu หลังรายได้หลักจาก Ads หดตัว ขณะที่ NetEase เผยงบต่ำกว่าคาดหลังธุรกิจเกมซบเซา นอกจากนี้ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สีจิ้นผิงจัดการประชุมพิเศษกับผู้นำเทคจีน สะท้อนทิศทางการกลับมาให้การสนับสนุนภาคเอกชนอีกครั้ง ด้วยภาพนี้ทำให้เราประเมินว่ายังคงสามารถลงทุนในกลุ่มเทคจีนได้ และแนะนำ Selective Buy
ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนจีนใน 4Q24
- Alibaba เผยรายได้รวมเพิ่มขึ้นดีกว่าคาด 8%YoY หนุนจากรายได้ทุกธุรกิจที่โต โดย Taobao และ Tmall Group +9%YoY, Cloud +13%YoY และธุรกิจต่างประเทศ +32%YoY นอกจากนี้รายได้จากผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ AI เติบโตระดับสามหลักติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 ขณะที่คาดการณ์รายได้ FY24 จะเติบโต 8-10% และยังคงมุ่งเน้นการลงทุนในด้าน e-Commerce และ Cloud Computing
- Lenovo เผยรายได้เพิ่มขึ้น 20% สูงกว่าคาดหนุนจากความต้องการโครงสร้างพื้นฐานด้านการประมวลผล AI ที่ช่วยชดเชยตลาด PC ที่ยังซบเซา นอกจากนี้มีการขยายธุรกิจด้าน AI บริษัทเปิดตัว AI PC ยังร่วมมือกับ DeepSeek นำเทคฯ AI พัฒนากับอุปกรณ์ต่างๆ
- Baidu แม้รายได้จะดีกว่าคาด แต่ยังหดตัวลง 2%YoY ผลกระทบจากรายได้ Ads ซึ่งเป็นธุรกิจหลักลดลง 7% และรายได้ iQIYI ลดลง 14% ด้านธุรกิจ AI Cloud ถือได้ว่ายังดี 26% รวมถึงบริษัทคาดว่าการลงทุนด้าน AI จะเริ่มเห็นผลชัดเจนในปี 2025
- NetEase เผยรายได้ลดลง 1.4% หลังรายได้จาก Youdao (แพลตฟอร์มการศึกษา) ลดลง 9.5%, NetEase Cloud Music ลดลง 5.3% และรายได้จากธุรกิจนวัตกรรมและอื่นๆ ลดลง 17.0% ทำให้แม้กำไรและธุรกิจเกมออนไลน์จะเติบโตก็ไม่สามารถชดเชยได้
ภาพรวมเรามองว่าการเติบโตของผลประกอบการส่วนใหญ่มาจากอุปสงค์ AI เป็นหลักทั้ง BABA, Lenovo และ Baidu ในทางตรงกันข้าม หากว่าธุรกิจอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ได้รับประโยชน์จาก AI จะเห็นได้ว่าผลประกอบการจะยังซบเซา เช่น NetEase
ในระยะถัดไป แม้ความเสี่ยงจากตลาดอสังหาริมทรัพย์, เศรษฐกิจมหภาค และ Geopolitical Risk ยังดำเนินอยู่ แต่เราเชื่อว่ากลุ่มบริษัทจีนมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้นโดยมีแรงสนับสนุนหลักจาก
- ทางการจีนที่มีภาพผ่อนคลายการคุมเข้มกลุ่มเทค หลังสีจิ้นผิงจัดการประชุมพิเศษกับบริษัทเทคใหญ่ของจีน รวมถึงประกาศมาตรการสนับสนุนภาคเอกชนโดยมีเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพาเทคจากต่างประเทศ เช่น การแก้ปัญหาต้นทุนทางการเงินที่สูง
- อุปสงค์ AI ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแรงหนุนการเติบโตของธุรกิจได้ทั้ง Cloud Computing และ PC AI
เรายังคงแนะ Selective Buy ในกลุ่มหุ้นจีน โดยเราชอบ Lenovo, Xiaomi และ Tencent
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
เงินสด / สภาพคล่อง
สินทรัพย์สภาพคล่องมีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ เช่น ข้อพิพาทบนช่องแคบไต้หวัน ข้อพิพาทการค้าระหว่างประเทศ และสงครามในยูเครน โดยล่าสุดทรัมป์กล่าวหาประธานาธิบดียูเครนว่าเป็นเผด็จการ ซึ่งไม่ยอมเจรจาเพื่อยุติสงครามกับรัสเซียแม้มีเวลาเกือบ 3 ปี ส่วนประธานาธิบดียูเครนแสดงความไม่พอใจที่ทรัมป์เจรจากับประธานาธิบดีรัสเซีย โดยไม่ให้ยูเครนเข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจา
ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว
โอกาสที่ UST Yield Curve จะมีความชันเพิ่มขึ้นยังมีอยู่ โดย UST Yield ตัวยาวมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการขาดดุลการคลังที่มากขึ้น ขณะที่ Fed มีแนวโน้มระมัดระวังการลดดอกเบี้ยลง เห็นได้จากรายงานการประชุม Fed ล่าสุด ที่ระบุว่ากรรมการฯ แสดงความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ยังคงสูง และกังวลว่าแผนภาษีนำเข้าของทรัมป์อาจกระทบต่อความพยายามของ Fed ในการกดเงินเฟ้อให้ชะลอตัวลงสู่เป้าที่ 2% ทั้งนี้ Bond ตัวสั้นมีความเสี่ยง Duration ต่ำ และมี Coupon ที่สูงมากพอ จึงทำให้ยังมีความน่าสนใจลงทุน
U.S. Treasury & IG
UST Yield มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากความเสี่ยงเงินเฟ้อสหรัฐฯ ตามที่ทรัมป์วางแผนเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และยา ในอัตรา 25% ประกอบกับความกังวลการขาดดุลการคลังในสหรัฐฯ ตามที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มเพดานหนี้ได้ทันเส้นตายวันที่ 14 มีนาคม แม้ที่ประชุม Fed ล่าสุดเผยว่าอาจพิจารณาหยุดหรือชะลอการทำ QT จนกว่าจะแก้ปัญหาเพดานหนี้ ทั้งนี้ แนะนำลงทุน UST และ US IG Bond โดยเน้น Duration สั้นที่ให้ Yield เฉลี่ยสูงกว่าประมาณการอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของ Fed เพื่อ Lock Coupon
High Yield Bond
US HY ยังมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนเป็นบวกจาก
- อัตราการผิดนัดชำระหนี้ 12 เดือนย้อนหลังของ US HY ยังต่ำอยู่ที่ 3.8%
- สัดส่วนหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตดีขึ้น มีแนวโน้มมากกว่าหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตแย่ลง ตามโมเมนตัมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังดี เห็นได้จาก Consensus ที่คาดว่า GDP สหรัฐฯ ในปี 2568 จะ +2.3%
- หุ้นกู้ HY ที่ครบกำหนดในปี 2568 ไม่สูงมาก อยู่ที่เพียง 23 พันล้านดอลลาร์ แต่ด้วย US HY Spread ที่อยู่ต่ำมาก และ USY Yield ตัวยาวที่ยังเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อ อาจทำให้ Upside ของ HY จำกัด
สินทรัพย์ผสมกึ่งหนี้กึ่งทุนและ REITs
REITs เป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับ Portfolio ได้ ทั้งในระยะกลางถึงระยะยาว และเป็นการเพิ่มการกระจายความเสี่ยงให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ / สินทรัพย์ผสม (Ready Mixed - Asset Allocation) ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง
US REITs
US REITs มีปัจจัยหนุนจากตลาดแรงงานแข็งแกร่ง Occupancy Rate อยู่ในระดับสูงราว 94% กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) เติบโตต่อเนื่อง ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มดีขึ้นจากต้นทุนการเงินที่ลดลงตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง โดยเราคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยรวม 50 bps ภายในสิ้นปี 2568
ส่วนงบดุลที่แข็งแกร่งรองรับการเติบโตในอนาคตได้ และ Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพงเทียบค่าเฉลี่ยในอดีต อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดันจาก Bond Yield สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นจากนโยบายทรัมป์และเงินเฟ้อหนืด
Private Credit
เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเติบโตอัตราที่ชะลอลงแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ดี เรายังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)
หุ้นไทย
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้ปัจจัยหนุนจาก
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ
- แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ กนง. ใน 1H68 อีก 25 bps
- Valuation ที่อยู่ในระดับไม่แพง
- กระทรวงการคลังกำลังเร่งศึกษากองทุนรวม ThaiESG ใหม่ เพื่อรองรับเม็ดเงินกองทุนรวม LTF เดิม ซึ่งจะช่วยชะลอแรงขาย LTF
อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ เผชิญแรงกดดันจากความกังวลที่สหรัฐฯ จะปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าไทย และประเด็นด้านความเชื่อมั่นตลาดทุน เราจึงแนะนำให้ Selective ลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ที่มีธรรมาภิบาลที่ดี หลีกเลี่ยงหุ้นขนาดกลางและเล็ก
หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในระยะสั้น หลัง Fed ยังมีแนวโน้มระมัดระวังการลดดอกเบี้ย และความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีนำเข้ารอบใหม่ของสหรัฐฯ แต่ตลาดฯ ยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากกำไรที่ยังขยายตัวดีและเป็นวงกว้าง ส่วนหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากการลดดอกเบี้ยของ ECB และ BOE และจากความหวังการยุติสงครามในยูเครนที่จะช่วยลดต้นทุนพลังงาน แม้ยุโรปยังเผชิญความเสี่ยงการขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะบนรถยนต์ ขณะที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินเยน และแรงกดดันเงินเฟ้อในญี่ปุ่น ที่จะช่วยหนุน EPS และจากการผลักดันการปฏิรูปบรรษัทภิบาลในญี่ปุ่นที่จะช่วยแนวโน้มการซื้อหุ้นคืน และการจ่ายปันผลของ บจ.ญี่ปุ่น ให้มากขึ้น
หุ้นสหรัฐฯ
นักลงทุนยังมองบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ EPS ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดย Consensus คาด S&P 500 EPS ปี 2568 และปี 2569 จะ +10% และ +14%YoY ตามลำดับ และมีแนวโน้มเติบโตเป็นวงกว้างขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความคาดหวังของตลาดต่อแนวโน้มที่รัฐบาลทรัมป์จะผลักดันแผนลดภาษีเงินได้ และการผ่อนคลายกฎระเบียบ รวมถึงจากกระแส AI ในสหรัฐฯ ที่ยังดำเนินต่อ ซึ่งจะช่วยเพิ่ม Productivity และความสามารถในการทำกำไรของ บจ.สหรัฐฯ โดยรวม แม้ว่า UST Yield ตัวยาวที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อ และความไม่แน่นอนด้านนโยบายกีดกันการค้า อาจจำกัดการเพิ่มขึ้นของ P/E ตลาดฯ ที่ปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ตึงตัวก็ตาม
หุ้นยุโรป
ดัชนีหุ้นยุโรปมีแนวโน้มได้รับปัจจัยหนุนจากวัฏจักรการลดดอกเบี้ยของ ECB สู่ Neutral Rate ที่ 2% ขณะที่ Valuation ของดัชนีฯ น่าสนใจกว่าเมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่วนค่าเงินยูโรที่อยู่ในทิศทางอ่อนค่าเทียบเงินดอลลาร์ มีแนวโน้มสนับสนุน EPS ดัชนีฯ ที่มีรายได้โดยตรงจากสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนราว 20%
นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐด้านการทหารที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่ม Defense อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาประเด็นการขยายเพดานหนี้สาธารณะของเยอรมนีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนภาครัฐ ที่มีแนวโน้มชัดเจนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2568 และประเด็นการเก็บภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจเป็นปัจจัยกดดันดัชนีฯ ในระยะสั้น
หุ้นญี่ปุ่น
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก
- ความคาดหวังการผ่านร่างงบสำหรับปีงบประมาณถัดไป
- การปฏิรูปบรรษัทภิบาลในญี่ปุ่นที่จะหนุน ROE และ P/BV
- EPS ที่เติบโตดีตามแรงกดดันเงินเฟ้อญี่ปุ่นที่กลับมา โดย CPI เดือนมกราคม +4%YoY สูงสุดในรอบ 2 ปี
- ความคาดหวังการเพิ่มสัดส่วนลงทุนหุ้นญี่ปุ่นจากกองทุนบำเหน็จบำนาญ
- แรงซื้อหุ้นจากรายย่อยผ่านโครงการ New NISA ขณะที่ญี่ปุ่นมีความเสี่ยงต่ำที่จะถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีตอบโต้ เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยญี่ปุ่นอยู่เพียงที่ 3.7%
หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
ตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชียยังมีแนวโน้มเผชิญความท้าทายจาก
- 10Y UST Yield ที่เพิ่มขึ้น และเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น
- ความเสี่ยงการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
- ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี ตลาดฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังผ่อนคลายของแต่ละประเทศ แม้ขนาดการผ่อนคลายอาจจำกัด ตามท่าที Fed ที่มีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินระมัดระวังมากขึ้น
ทั้งนี้ เรายังแนะนำให้เน้นลงทุนในตลาดที่ยืดหยุ่น และเน้นอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก
หุ้นอินเดีย
ตลาดหุ้นอินเดียเผชิญแรงกดดันในระยะสั้นจาก
- ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ปรับลดคาดการณ์ GDP ใน FY68 ลง
- การเพิ่มขึ้นของ 10Y UST Yield และการอ่อนค่าของเงินรูปี
- นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสุทธิหุ้นอินเดียต่อเนื่อง
- Valuation ของตลาดฯ ยังตึงตัว อย่างไรก็ดี เราคาดว่าตลาดฯ ยังได้รับผลบวกจากการลดดอกเบี้ยนโยบายของ RBI ในการประชุมฯ ล่าสุด และจากงบประมาณประจำปี FY68 ที่เน้นกระตุ้นการบริโภคในประเทศ
นอกจากนี้เศรษฐกิจอินเดียยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจำกัดจากความเสี่ยงสงครามการค้ารอบใหม่ หลังล่าสุดสหรัฐฯ-อินเดีย จับมือยกระดับการซื้อขายยุทโธปกรณ์ และมุ่งกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า
หุ้นอินโดนีเซีย
ตลาดหุ้นอินโดนีเซียได้รับปัจจัยหนุนจาก
- เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี และ FDI ที่เพิ่มขึ้น 33.3%YoY โดย GDP ในช่วง 4Q67 ขยายตัว 5.02%YoY ดีกว่าตลาดคาดที่ 4.98%YoY
- นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ Prabowo ซึ่งจะช่วยหนุนภาคการบริโภค และก่อให้เกิดการจ้างงาน
- ภาคการบริโภคที่ได้ปัจจัยหนุนจากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ปรับตัวขึ้น 6.5% ในปี 2568 และแนวโน้มการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมของ BI ในปี 2568 อีกราว 50 bps
- Valuation ของดัชนีฯ ที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม EPS ดัชนีฯ ซึ่งถูกปรับประมาณการลงในช่วงต้นปีนี้ ค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลง รวมทั้งความกังวลต่อนโยบายกีดกันการค้าของทรัมป์ ส่งผลกดดันดัชนีฯ ในระยะสั้น
หุ้นจีน
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS ตลาดฯ ที่มีแนวโน้มฟื้นตัว และจากการทยอยออกมาตรการกระตุ้นของทางการจีน โดยให้จับตาการประชุม NPC ช่วงต้นเดือนมีนาคม ซึ่งเราคาดว่าที่ประชุมฯ จะดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการคลังเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ดัชนีฯ อาจได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากกระแส AI ในจีน ที่จะช่วยหนุนแรงซื้อหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธีม AI รวมทั้งพัฒนาการความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ หลังทรัมป์คาดว่าประธานาธิบดีจีนจะเดินทางมาเยือนสหรัฐฯ และกล่าวว่าเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ-จีนจะบรรลุข้อตกลงการค้าใหม่
สินค้าโภคภัณฑ์
ปัจจัยพื้นฐานของทองคำยังสนับสนุนการลงทุนในพอร์ตระยะยาวเนื่องจาก
- เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะสงคราม และการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น
- ความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง สนับสนุนการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ
- เป็นสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลง
- Fund Flow ของ ETF ที่ซื้อสุทธิทองคำต่อเนื่อง โดยซื้อสุทธิราว 18 ตันในเดือนมกราคม อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า และ US Bond Yield ที่อยู่ในระดับสูง อาจส่งผลกดดันและทำให้ราคาทองคำผันผวนในระยะสั้น
ภาพ: Drew Angerer / Getty Images