THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT

เศรษฐกิจจีนกำลังเจอ ‘มหาวิกฤต’ ครั้งแรกในรอบ 20 ปี? ไทยจะได้รับผลกระทบแค่ไหน

... • 28 ส.ค. 2023

HIGHLIGHTS

  • จีนเจอวิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ หลังจาก GDP ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมาไม่เคยโตแผ่วกว่า 5%
  • โดยผู้เชี่ยวชาญต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจีนเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นเสมือนสัญญาณของ ‘ระเบิดเวลา’ ที่ใกล้ปะทุ 
  • พร้อมพากันจับตาดูแนวทางรับมือของรัฐบาลสีจิ้นผิง ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีวาระแรก เมื่อปี 2013 หมายความว่าสีจิ้นผิงยังไม่เคยประสบกับปัญหาเครื่องยนต์ในประเทศดับอย่างเห็นได้ชัดสักคราว
  • แนะรัฐบาลไทยควรจับตาดูใกล้ชิด เนื่องจากจีนเป็นตลาดและประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของไทย ทั้งในภาคส่งออกและท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทย
  • กูรูเตือน หากรัฐบาลจีนไม่เร่งแก้ปัญหา จะทำให้การเติบโตในระยะยาวของจีนสะดุด และส่งผลกระทบถึงตลาดภูมิภาค เนื่องจากจีนคือคนขับเคลื่อนเอเชีย โดยในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เศรษฐกิจจีนอาจจะเผชิญกับภาวะชะงักงัน (Stagnation) คล้ายกับญี่ปุ่น

ผู้เชี่ยวชาญต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จีนเจอวิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ หลังจาก GDP ตลอดราว 20 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยโตแผ่วกว่า 5% อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ความหวังดังกล่าวกลับริบหรี่มากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจมหภาคที่ยากลำบาก ไปจนถึงปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์และธนาคารเงา ทำให้หลายคนกำลังจับตาดูแนวทางรับมือวิกฤตเศรษฐกิจที่ใกล้ระเบิดของรัฐบาลสีจิ้นผิง ซึ่งยังไม่เคยประสบกับปัญหาเครื่องยนต์ในประเทศดับอย่างเห็นได้ชัดสักคราว 

 

เศรษฐกิจจีนก่อนโควิด 20 ปีไม่เคยโตต่ำ 5%

 

หากไม่นับรวมปีหลังจากเกิดการระบาดของโควิดจะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจจีนไม่เคยโตต่ำกว่า 5% โดยระหว่างปี 2000-2019 GDP จีนโตเฉลี่ยที่ 9% โดยเคยโตถึง 14.2% ในปี 2007 อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่ปีก่อนเกิดการระบาดของโควิด เศรษฐกิจจีนเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวแล้ว โดยอยู่ที่หลัก 6% ตั้งแต่ปี 2016

 

อ้างอิง: กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

 

เกิดอะไรกับ ‘เศรษฐกิจจีน’ ตอนนี้?

 

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า ‘เศรษฐกิจจีน’ กำลังเผชิญกับปัญหาแบบไม่หยุดหย่อน เห็นได้จากการบริโภคที่ตกต่ำลงจากตัวเลขยอดค้าปลีก การส่งออกและการนำเข้าที่ร่วงลงพร้อมๆ กันสะท้อนถึงกำลังซื้อที่หดหาย เช่นเดียวกับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ติดลบทั้ง 2 ดัชนี บ่งชี้ว่าจีนกำลังเผชิญกับภาวะเงินฝืด และปัญหาอัตราว่างงานของคนหนุ่มสาว (Youth Unemployment) โดยข้อมูลชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้คนหนุ่มสาวในจีน 1 ใน 5 กำลังตกงาน

 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังเพิ่งเจอกับพายุอีก 2 ลูกใหญ่ จากภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคธนาคารเงา (Shadow Banking) หลังจากบริษัท Country Garden Holdings Co. เผชิญความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ หลังจากขาดการชำระ (Miss Payment) ดอกเบี้ยหุ้นกู้มูลค่ารวม 22.5 ล้านดอลลาร์ โดยตามข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า Country Garden มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่รอดำเนินการกว่า 3,000 โครงการทั้งในและนอกประเทศ นอกจากนี้ยังเริ่มเห็นการรวมตัวของผู้ประท้วงหน้าบริษัท Zhongzhi Enterprise Group Co. ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารเงาที่ใหญ่ที่สุดของจีน เพื่อเรียกร้องขอให้บริษัทชำระหนี้คืน

 

นักเศรษฐศาสตร์รุมหั่นประมาณการ GDP - เป้าหุ้นจีน

 

จากปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้นักเศรษฐศาสตร์จากหลายสถาบันแห่ปรับลดประมาณการ GDP และเป้าหมายหุ้นจีน โดย Goldman Sachs ได้ปรับลดประมาณการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS) ทั้งปีสำหรับดัชนี MSCI China Index จาก 14% เหลือ 11% ขณะที่ USB ก็ประกาศหั่นประมาณการ GDP จีนจากโต 5.2% เหลือโตเพียง 4.8% ในปี 2023 และ 4.2% ในปี 2024

 

สอดคล้องกับ JPMorgan Chase, Barclays Plc และ Morgan Stanley ที่ปรับลดประมาณการ GDP จีนในปีนี้สู่ระดับต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ 5% แล้ว

 

จีนเจอวิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ

 

ผู้เชี่ยวชาญต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจีนเมื่อเร็วๆ นี้เป็นเสมือนสัญญาณของ ‘ระเบิดเวลา’ ที่ใกล้ปะทุ พร้อมพากันจับตาดูแนวทางรับมือของรัฐบาลสีจิ้นผิง ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีวาระแรก เมื่อปี 2013 หมายความว่าสีจิ้นผิงยังไม่เคยประสบกับปัญหาเครื่องยนต์ในประเทศดับ อย่างเห็นได้ชัดสักคราว

 

โดยเมื่อต้นสัปดาห์ (21 สิงหาคม) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จีนยังไม่เคยเจอวิกฤตเศรษฐกิจเลย ถ้าสมมติครั้งนี้จีนเกิดเจอวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมาจริงๆ เรายังไม่แน่ใจว่าวิธีการแก้ไขปัญหาจีนจะเป็นอย่างไร

 

สอดคล้องกับ กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ซึ่งระบุว่า “ผมคิดว่าจีนไม่เคยเกิดวิกฤตในรอบ 30 ปี ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องปกติที่ประเทศจะต้องมีวิกฤต เนื่องจากพอเกิดวิกฤตแล้วมันจะเคลียร์ปัญหาไป แต่การไม่มีวิกฤตในรอบ 30 ปี หมายความว่าจีนน่าจะมีปัญหาสะสมมาเยอะพอสมควร”

 

กอบศักดิ์ยังกล่าวอีกว่า ณ ตอนนี้เป็นจุดที่ทางการจีน ‘ต้องตัดสินใจ’ ว่าจะจัดการกับความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว

 

“คำถามต่อมาคือ ทางการจีนจัดการกับความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วอย่างไร รัฐบาลจะยอมจ่ายเท่าไร นี่คือคำถามที่สำคัญ แต่จีนยังไม่ยอมตอบสักที ตอนนี้จีนยังให้เอกชนพึ่งตัวเองไปก่อน อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่มีขนาดใหญ่แบบนี้สุดท้ายก็จะไหลกลับมาที่รัฐ

 

ดังนั้น จีนต้องรีบตัดสินใจ ยิ่งเร็วเท่าไรก็จะช่วยให้ปัญหาจบลงเร็วเท่านั้น ดูตัวอย่างจากญี่ปุ่นที่ไม่ตัดสินใจเรื่องนี้ สุดท้ายก็กลายเป็นว่ามีหนี้เสียในระบบเกือบ 10 กว่าปี” กอบศักดิ์กล่าว

 

ทำไม ‘สีจิ้นผิง’ ปล่อยให้เศรษฐกิจจีนเผชิญปัญหามาถึงขั้นนี้?

 

ก่อนหน้านี้มีหลายสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลจีนไม่ได้นิ่งนอนใจ และติดตามถึงความเสี่ยงต่างๆ มาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะความมุ่งมั่นของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องยนต์เศรษฐกิจไปสู่การโตอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ แทนการก่อหนี้

 

โดยข้อมูลแสดงให้เห็นว่า หนี้ทุกภาคส่วน (Total Debt) ทั้งภาครัฐ เอกชน และครัวเรือนของจีน เพิ่มขึ้นเฉียด 282% ของ GDP ในไตรมาส 2 โดยจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นหนี้ของบริษัทเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ตัวเลขดังกล่าวยังเป็นการตอกย้ำว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนโตได้มาจากการเร่งก่อหนี้ ซึ่งอาจใกล้จะระเบิดแล้ว

 

ด้วยความพยายามของสีจิ้นผิงในการลดการเก็งกำไรและการเติบโตแบบไม่ยั่งยืน ทำให้ Bert Hofman อดีตผู้อำนวยการประจำประเทศจีนของธนาคารโลก (World Bank) มองว่า จีนกำลังอยู่ในภาวะความคาดหวังถดถอย (Expectations Recession) ซึ่งเกิดขึ้น “เมื่อทุกคนเชื่อว่าการเติบโต (ของจีน) จะช้าลงในอนาคต”

 

กอบศักดิ์วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่จีนยังไม่ได้ออกมาตรการขนาดใหญ่ (Bazooka) มา จะต้องให้เอกชนคลี่คลายปัญหานี้ด้วยตัวเองก่อน อย่างไรก็ตาม กอบศักดิ์มองว่า สุดท้ายปัญหานี้ไม่น่าจบเองได้ 

 

“ผมคิดว่า (ปัญหา) ไม่จบหรอก เหมือนตอนนี้เศรษฐกิจจีนมีมะเร็งที่ต้องผ่าลงไป จะเอาแค่ยาหม่องทาไม่ได้ จีนมีเครื่องมือเยอะ แต่ขณะนี้ใช้เครื่องมือไปเพียง 10-15% เท่านั้น จากประสบการณ์ผม เมื่อเกิดเรื่องอย่างนี้ ทางการต้องแข็ง ต้องตัดสินใจ ต้องจบเรื่องให้ได้” 

 

เปิดฉากทัศน์อนาคตเศรษฐกิจจีน 

 

ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจจีนอาจเผชิญกับภาวะชะงักงัน (Stagnation) คล้ายกับญี่ปุ่น เห็นได้จากการติดลบของ CPI และ PPI ที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มภาวะเงินฝืด และเป็นทั้งสัญญาณของอุปสงค์ที่อ่อนแอ และอาจฉุดการเติบโตในอนาคต เนื่องจากครัวเรือนจะชะลอการใช้จ่าย ทำให้ผลกำไรทางธุรกิจลดลง และต้นทุนการกู้ยืมที่แท้จริงจะสูงขึ้น

 

โดย Tom Orlik หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg ระบุว่า “การชะลอตัวที่รุนแรงมากขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ ความท้าทายในการจุดประกายความเชื่อมั่นในหมู่ผู้ประกอบการ และความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ส่งผลให้ความคาดหวังต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนลดลง โดย Downside Scenario กลายเป็น Base Case ไปแล้ว โดยภายในปี 2030 GDP ของจีนน่าจะโตราว 3.5% ต่อปีเท่านั้น”

 

วิเคราะห์ ‘เศรษฐกิจไทย’ จะได้รับผลกระทบแค่ไหน?

 

เลขาธิการสภาพัฒน์เพิ่งเตือนว่า หากปัญหาทางเศรษฐกิจของจีนลุกลาม ส่งออกของไทย (ซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่แล้ว) จะเป็นภาคส่วนแรกของเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบ โดยผลกระทบยังจะถูกส่งต่อไปยังภาคผลิตและอุตสาหกรรม ซึ่งครองสัดส่วนประมาณ 50-60% ของ GDP ไทยด้วย 

 

ตามข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ในปี 2022 จีนถือเป็นตลาดสำคัญของไทย อันดับที่ 2 รองจากสหรัฐฯ โดยสินค้าไทยที่ส่งไปจีนเมื่อปีก่อน มีมูลค่า 34,430 ล้านดอลลาร์ จากมูลค่าส่งออกรวมที่ 287,424 ล้านดอลลาร์

 

ขณะที่ในเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2023 สินค้าไทยที่ส่งไปจีน มีมูลค่า 20,442 ล้านดอลลาร์ จากมูลค่าส่งออกรวมที่ 163,313 ล้านดอลลาร์ หรือมีสัดส่วนอยู่ที่ 12.51%

 

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจีนเป็นชาติสำคัญสำหรับภาคท่องเที่ยวไทย โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้หั่นประมาณการค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริป (เฉลี่ย) ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศลงเหลือ 42,454 บาท/คน/ทริป จาก 47,895 บาท/คน/ทริป โดยอ้างถึงจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง

 

สอดคล้องกับสภาพัฒน์ที่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ปรับลดรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2566 ลงเหลือรวม 1.03 ล้านล้านบาท และเป็นการปรับลดลงจากสมมติฐาน 1.27 ล้านล้านบาท เมื่อเดือนพฤษภาคม ตามข้อมูลค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มต่ำกว่าประมาณการเดิม และยังเป็นผลจากการปรับปรุงข้อมูลรายรับการท่องเที่ยวในดุลบัญชีเดินสะพัดของธนาคารแห่งประเทศไทย แม้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 28.0 ล้านคน เท่ากับประมาณการครั้งก่อน 

 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลล่าสุดของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวสะสม ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 6 สิงหาคม 2566 อยู่ที่ 17,028,411 คน โดยจำนวนนี้ เป็นนักท่องเที่ยวจีนมากเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 2,114,307 คน คิดเป็น 12.41% 

 

จากข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า จีนนับเป็นตลาดและประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของไทยทั้งในภาคส่งออกและท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทย

 

อย่างไรก็ดี จากสัดส่วนการพึ่งพิงจีนซึ่งอยู่ที่ราว 12.51% ในภาคการส่งออก และ 12.41% ในภาคการท่องเที่ยว สะท้อนให้เห็นว่าไทยยังมีกันชน (Buffer) พอสมควร จากการกระจายการพึ่งพิงไปยังประเทศต่างๆ กระนั้น หากกำลังซื้อหรือเม็ดเงินจากจีนหดตัวไปก็ยังส่งผลกระทบต่อไทยไม่มากก็น้อยอยู่ดี

 

จับตาผลกระทบต่อภูมิภาค

 

สำหรับผลกระทบที่เกิดปัญหาในจีน กอบศักดิ์มองออกเป็น 2 ส่วนหลักได้แก่ 1. ส่งออกไปจีนจะชะลอตัว 2. สินค้าที่ผลิตในจีนจะไหลออกมา เนื่องจากหากการบริโภคไม่ฟื้น จีนไม่สามารถขายของในประเทศได้ สินค้าที่จีนผลิตไว้ก็ต้องส่งออกนอกประเทศ เป็นการกดดันประเทศส่งออกอื่นๆ รวมถึงไทย ที่อาจต้องแข่งกันลดราคา 

 

“หนึ่งคือการส่งออกไปเมืองจีน สองคือสินค้าจีนที่จะไหลออกมา แค่นี้ก็จะป่วนตลาดไปหมดแล้ว และจีนไม่ธรรมดาด้วย เพราะว่าผลิตได้ถูกกว่าไทย”

 

กอบศักดิ์ยังมองว่าปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อทั้งภูมิภาคด้วย เนื่องจาก “จีนคือคนขับเคลื่อนเอเชีย ถ้าจีนเลือกแนวทางแบบสะสมโรคไว้ หรือไม่ยอมเคลียร์ปัญหา สิ่งนี้จะทำให้จีนโตยากในระยะยาว แล้วจะกระทบทุกคนต่อไป”

 

อ้างอิง:

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 28 ส.ค. 2023

READ MORE



Latest Stories