- ตลาดปรับตัวลดลงแรงจากความไม่สงบในตะวันออกกลางที่เริ่มมีสัญญาณลุกลาม หลังอิหร่านโจมตีอิสราเอล ตลาดมองในช่วงต้นว่าเป็นเพียงการตอบโต้เชิงสัญลักษณ์
- มีแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น จากความกังวลการยกระดับความรุนแรงขึ้นของสงคราม
- บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่ามี 2 เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ภาพเศรษฐกิจและการลงทุนเปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ พัฒนาการด้านภูมิรัฐศาสตร์ตะวันออกกลาง และ Fed ส่งสัญญาณว่าอาจเลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไป
- ทั้งนี้ ได้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในทองคำ หลังจากราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดตลอดกาลที่ระดับเหนือ 2,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดปรับตัวลดลงแรงจากความไม่สงบในตะวันออกกลางที่เริ่มมีสัญญาณลุกลาม หลังอิหร่านโจมตีอิสราเอล ตลาดมองในช่วงต้นว่าเป็นเพียงการตอบโต้เชิงสัญลักษณ์ ทำให้ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงในช่วงต้นสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม การแถลงข่าวเตรียมโต้กลับของอิสราเอล ตามมาด้วยเหตุระเบิดในอิหร่านในช่วงเช้าวันศุกร์ ซึ่งระหว่างที่จัดทำรายงานฉบับนี้ยังไม่ยืนยันว่าเป็นการกระทำของหน่วยงานใด ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนต์เพิ่มเข้าใกล้ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลอีกครั้ง
มีแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น จากความกังวลการยกระดับความรุนแรงขึ้นของสงคราม นอกจากนั้น ตลาดหุ้นโลกยังถูกกดดัน หลังจากประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ส่งสัญญาณว่า Fed อาจเลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไปจากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ โดยระบุว่าการลดลงของเงินเฟ้อยัง ‘ขาดความคืบหน้าเพิ่มเติม’ (Lack of Additional Progress) โดยอาจต้องใช้เวลามากขึ้นจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะมุ่งไปสู่เป้าหมาย 2%
ด้านจีนประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญคือ GDP 1Q24 ซึ่งขยายตัว 5.3%YoY ดีกว่าคาด แต่ตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม ทั้งยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ กลับขยายตัวต่ำกว่าคาด ตลาดหุ้นไทยอ่อนตัวลงในทิศทางเดียวกับตลาดโลกจากแรงกดดันประเด็นสงครามที่รุนแรงขึ้น
ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์-เงินเฟ้อ ยังต้องจับตาต่อ
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่ามี 2 เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ภาพเศรษฐกิจและการลงทุนเปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ 1. พัฒนาการด้านภูมิรัฐศาสตร์ตะวันออกกลาง 2. ประธาน Fed ส่งสัญญาณว่า Fed อาจเลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไปจากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้
โดยเรามองว่าเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะขึ้นกับราคาน้ำมันเป็นหลัก เนื่องจากในภาพใหญ่เงินเฟ้อจากภาคบริการจะค่อยๆ ลดความสำคัญลง แต่เงินเฟ้อจากราคาน้ำมันและโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้เรามองว่าราคาน้ำมันจะมีผลต่อเงินเฟ้อ และกระทบต่อเศรษฐกิจและดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์เป็นหลัก
โดยเราแบ่งสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างอิสราเอล-อิหร่านออกเป็น 4 สถานการณ์ ดังนี้
1. ในสถานการณ์หลัก (Base Scenario) ราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
2. สงครามเงา (Shadow War) สงครามขยายตัวไปสู่การต่อสู้กับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอน กบฏฮูตีในเยเมน และซีเรีย ทำให้ราคาน้ำมันคงตัวในระดับ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
3. สงครามตัวแทน (Proxy War) เกิดการโจมตีทางอากาศในอิหร่านและอิสราเอล ทำให้สหรัฐฯ กลับไปคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง ส่งผลให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 100-120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
4. สงครามจริงระหว่างอิสราเอลและอิหร่านอาจทำให้อิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ ทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งไปสู่ระดับ 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
โดยในปัจจุบันเราเริ่มมองว่าอาจเป็นไปได้ที่สถานการณ์หลักกำลังจะเคลื่อนไปสู่สถานการณ์สงครามเงา ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวประมาณ 0.5% เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.5% และ Fed ลดดอกเบี้ยได้เพียง 2 ครั้ง จากที่เราเคยคาดไว้ที่ 4 ครั้ง
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
1. หุ้นที่สามารถลดความผันผวนและเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากกรณีความไม่สงบในตะวันออกกลาง เลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP, BCP และ TOP
2. นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ แนะนำหุ้นปลอดภัย (Defensive Stock) ซึ่งพื้นฐานแข็งแกร่ง ผลประกอบการไม่ผันผวนตามเศรษฐกิจ เลือกหุ้นการแพทย์ (BDMS และ BCH), หุ้นขนส่งทางบก (BEM), หุ้นค้าปลีก (CPALL, CPAXT และ BJC), หุ้นสื่อสาร (ADVANC) และหุ้นอสังหาปันผลดี (AP)
3. หุ้นที่คาดผลประกอบการ 1Q24 จะมีอัตราการเติบโตที่ดีทั้ง YoY และ QoQ ซึ่งจะประกาศในสัปดาห์นี้ เลือก SCGP และ HMPRO
“ช่วงสั้นมองตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาวะเปราะบางและผันผวน จากความกังวลสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง และ Fed อาจปรับลดดอกเบี้ยล่าช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เดิม ประกอบกับการเข้าสู่ฤดูกาลประกาศผลประกอบการ 1Q24
ที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่ำ แม้ว่าทิศทางดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ จะมีสัญญาณฟื้นตัว”
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
1. ความคืบหน้าของสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลาง หลังอิหร่านโจมตีอิสราเอล
2. การประชุมนโยบายการเงินของ BOJ ซึ่งคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0-0.1%
3. GDP 1Q24 ที่รายงานครั้งแรกของสหรัฐฯ และดัชนี Core PCE ซึ่งเป็นตัวเลขที่ Fed ใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BEM - หลายปัจจัยหนุนกำลังมาตั้งแต่ 2Q24
แนะนำ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้นำการให้บริการทางด่วน และระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ซึ่งมีกระแสเงินสดเข้าอย่างต่อเนื่องและฐานะการเงินแข็งแกร่ง
- มีปัจจัยกระตุ้นที่จะเข้ามาตั้งแต่ 2Q24 เช่น การขึ้นค่าโดยสาร MRT ตามสัญญาทุก 2 ปี ซึ่งตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2024 คาดว่าจะปรับขึ้นอย่างน้อย 1 บาทต่อเที่ยวสำหรับทุกสถานี และจำนวนผู้โดยสารคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ 2Q24 หลังมีการเปิดอาคารสำนักงาน One Bangkok ในปลาย 1Q24 และโรงแรมในโครงการ Dusit Central Park ใน 3Q24
- ปี 2024 คาดมีกำไรปกติ 4.3 พันล้านบาท เติบโต 23%YoY ตามปริมาณรถที่ใช้ทางด่วน และจำนวนผู้โดยสาร MRT ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ราคาหุ้น BEM ยังซื้อขายต่ำกว่าราคาหุ้นช่วงเกิดโควิดอยู่ 24.8% ซึ่งมองยังไม่สะท้อนกำไรที่กลับมาแข็งแกร่งและสูงกว่าช่วงเกิดโควิด อีกทั้งยังมี Downside จำกัดจากการมีโครงการซื้อหุ้นคืน
- เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 9 บาท (อิงวิธี SOTP) ทั้งนี้ ยังไม่รวม Upside อีก 1.5 บาทต่อหุ้น จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก และโครงการ Double Deck ที่ Upside ต่อราคาเป้าหมายยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากข้อมูลที่จำกัด
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมีการปรับตัวลดลง 4% และดัชนีเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 5.4% ทั้งนี้ เป็นผลจากท่าทีของ Fed ที่มีแนวโน้มปรับดอกเบี้ยลดลงช้า ประกอบกับความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทำให้กังวลกับห่วงโซ่อุปทาน และแนวโน้มของ TSMC และ ASML บ่งชี้ว่าผลประกอบการใน 2Q24 ยังค่อนข้างอ่อนแอและอุตสาหกรรมในภาพรวมยังฟื้นตัวช้า แต่อุปสงค์ของ AI ยังอยู่ในระดับสูง
ผลประกอบการของ TSMC ใน 1Q24 ออกมาดีกว่าที่คาดในส่วนของรายได้และกำไร โดยมีการเติบโต 17%YoY และ 9%YoY ตามลำดับ สิ่งที่พบ 1. บริษัทมีการปรับแนวโน้มอุตสาหกรรมลง โดยประเมินว่าธุรกิจสมาร์ทโฟนและพีซียังค่อนข้างอ่อนแอ ซึ่งทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมชิปมีแนวโน้มที่เปราะบางมากขึ้น 2. ความต้องการใน AI ชิปยังอยู่ในระดับสูง โดยบริษัทมองว่าความต้องการและการเติบโตของธุรกิจ AI สามารถชดเชยความอ่อนแอของธุรกิจอื่นได้ 3. แนวโน้มของธุรกิจยานยนต์มีการเติบโตค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ สืบเนื่องจากอุปสงค์รถยนต์ไฟฟ้าชะลอตัวลง 4. บริษัทคงแนวโน้ม CAPEX ไว้ที่เดิม แม้ว่าจะมีการส่งสัญญาณการเพิ่มกำลังการผลิต AI ชิปมากขึ้น และ 5. บริษัทประเมินผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และจากแผ่นดินไหว ที่ส่งผลกับอัตราการทำกำไร 70-80 bps และ 50bps ตามลำดับ
- ยอดคำสั่งซื้อของ ASML ใน 1Q24 ลดลงมาที่ 3.6 พันล้านยูโร ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ 20% และลดลง 60%QoQ และ 4%YoY โดย ASML คาดการณ์ยอดขายใน 2Q24 จะอยู่ระหว่าง 5.7-6.2 พันล้านยูโร ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาด
- ดังนั้นมองว่า NVDA, MSFT จะยังได้ประโยชน์จาก AI ต่อเนื่อง และระมัดระวัง INTC, AMD, AAPL, AVGO, ASML, Infineon และ TXN ที่จะได้รับ Sentiment เชิงลบจากการปรับประมาณการลงของ TSMC
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
สภาพคล่อง/เงินสด
ความน่าสนใจระดับ 3
สภาพคล่อง/เงินสด มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนใกล้เคียงดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่สูง หลังประธาน Fed ที่ต่างๆ ส่งสัญญาณว่าอาจไม่ลดดอกเบี้ยในระยะอันใกล้นี้ นอกจากนี้ สภาพคล่องมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ยังดำเนินต่อ โดยล่าสุดอิสราเอลได้ยิงโดรนโจมตีในดินแดนอิหร่าน
พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
10Yr UST ทะลุ 4.64% สูงสุดในรอบ 4 เดือนจาก 1. เงินเฟ้อที่ยังสูงกว่าคาด 2. ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่งกว่าคาด 3. ยอดค้าปลีกที่ขยายตัวมากกว่าคาด และ 4. ถ้อยแถลงของประธาน Fed และสมาชิก FOMC ที่บ่งชี้ว่าไม่รีบลดดอกเบี้ย ทั้งนี้ เราชอบ Carry Trade ใน Treasuries ระยะ 1-3 ปี จาก Carry Yield ที่สูงกว่าตัวยาว / TGB Yield ปรับตัวขึ้นแรง หลังนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีความชัดเจน
หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 3
US IG Spread ยังทรงตัวในระดับต่ำมาก (บ่งชี้ถึงระดับราคาที่แพง) แต่ Yield to Worst เร่งตัวขึ้นตาม UST Yield ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งดึงดูดให้บริษัทประกันชีวิตและกองทุนบำเหน็จบำนาญเพิ่มน้ำหนักการลงทุน และสัดส่วนลงทุนบน IG ของนักลงทุนต่างชาติยังเพิ่มขึ้น / Interest Coverage Ratio ทรงตัวในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด และตัวเลขหลังประกาศงบ 4Q23 บ่งชี้ถึง Balance Sheet ที่ยังแข็งแกร่งในกลุ่ม IG Issuers
OAS Spread ยังอยู่ระดับต่ำ ทำให้ Valuation อยู่ในระดับที่ตึงตัวมาก จะเพิ่มความเสี่ยงที่ราคาจะผันผวนในระยะกลาง ทั้งนี้ แม้ Default Rate จะยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว แต่กำหนดการครบกำหนดชำระหนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วปลายปี 2024 และจะเร่งตัวตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป
ตลาดหุ้นทั่วโลก
ความน่าสนใจระดับ 3
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกได้ปรับฐานจากการที่ Fed มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยช้ากว่าคาด และความกังวลบนความขัดแย้งในตะวันออกกลางระหว่างอิหร่าน-อิสราเอล สะท้อนจาก Risk Sentiment ที่เป็นลบมากขึ้นในเดือนเมษายน อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนของตลาดหุ้นโดยภาพรวมยังอยู่ในระดับที่สูงเมื่อนับ YTD และยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับระดับ All Time High โดยการปรับเพิ่มของดัชนีในช่วง YTD ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับเพิ่มของอัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E Ratio) มากกว่าการปรับเพิ่มของคาดการณ์กำไร (Earning Revision) สะท้อนถึงการมองโลกในแง่บวกของนักลงทุนในตลาด และอาจก่อให้เกิดความเปราะบางต่อ ‘Shock’ จากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความตึงเครียดในตะวันออกกลาง
นอกจากนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่สูงกว่าตลาดคาดการณ์ต่อเนื่องตลอด 3 เดือน ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในปี 2024 ความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ลดลงช้ากว่าคาดว่าจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น หากความขัดแย้งรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในตะวันออกกลางส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก และจะกระทบต่อการคงดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ให้ยาวนานขึ้นไปอีก
ด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น และระดับ Valuation ที่ยังตึงตัวในบางตลาด เรามีมุมมองเป็นกลางต่อตลาดหุ้นโลก โดยแนะนำเพียง ‘ถือ’ (ยังไม่ซื้อเพิ่ม) โดยความเสี่ยงที่ต้องจับตาในระยะสั้นคือ ความเสี่ยงด้านสงครามระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ว่าจะพัฒนาไปเป็นสงครามตัวแทนหรือสงครามเต็มรูปแบบหรือไม่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เรากำลังติดตามอย่างใกล้ชิด
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 5
ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดตลอดกาลที่ระดับเหนือ 2,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แม้ว่า Real Yield จะปรับเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน ได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักๆ มาจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และเงินเฟ้อที่ลดลงน้อยกว่าคาดการณ์ ส่งผลให้ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยและโลหะมีค่าเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากราคาสินค้าที่อาจปรับตัวสูงขึ้น
ความต้องการทองคำที่แข็งแกร่งจากธนาคารกลาง โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งต้องการกระจายการลงทุนในเงินสำรองระหว่างประเทศ (Diversifying Reserves) และลดการพึ่งพาสินทรัพย์ที่อิงกับดอลลาร์สหรัฐ (รวมถึงการป้องกันตัวเองจากการถูกคว่ำบาตร) ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางจีน (PBOC) ยังคงขยายปริมาณสำรองทองคำอย่างต่อเนื่อง และความกังวลด้านความยั่งยืนทางการคลังของสหรัฐฯ (Us Fiscal Sustainability Concerns) จากหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่อยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ
ถึงแม้ว่าในระยะสั้นเหตุการณ์ที่อิสราเอลตอบโต้อิหร่านโดยการโจมตีฐานทัพอากาศใกล้เมืองอิสฟาฮานนั้นจะยังคงเป็นการโจมตีแบบจำกัด แต่สถานการณ์ความขัดแย้งในระยะกลางยังมีโอกาสที่จะขยายตัวเป็นสงครามตัวแทนหรือสงครามเต็มรูปแบบ
เราแนะนำให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทองคำ เพื่อใช้ป้องกันความเสี่ยงความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง
Private Credit
ความน่าสนใจระดับ 5
เรามีมุมมอง Private Credit เป็น Slightly Positive จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)