วันนี้ (3 ม.ค. 62) เวลา 13.50 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ถือแฟ้มเอกสารหนาหลายหน้ากระดาษ บนปกแฟ้มเขียนว่า ‘การเตรียมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ เดินทางมาที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อหารือกับ กกต. ถึงการกำหนดวันเลือกตั้งเพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4-6 พ.ค. นี้
กำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือข้อมูลสำคัญที่นายวิษณุ ได้ชี้แจงต่อ กกต. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งเดิมที่ กกต. กำหนดไว้คือ 24 ก.พ. 62
หลังการหารือกันกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง นายวิษณุแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ระบุว่าเดิมทีแม้จะมีการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4-6 พ.ค. ก็ยังคงไม่กระทบกับวันเลือกตั้ง 24 ก.พ. แต่สิ่งที่หลายคนยังไม่ทราบ และตนได้นำมาแจ้งเป็นข้อมูลต่อ กกต. คือ ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4-6 พ.ค. จะต้องมีพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องนำหน้ามาก่อนประมาณ 15 วัน และหลังจากวันที่ 6 พ.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของพระราชพิธีฯ ก็จะมีกิจกรรมอื่นตามมาอีกประมาณ 15 วันเช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนที่นำหน้ากับส่วนที่ตามหลังจะไม่อยู่ในประกาศพระบรมราชโองการ แต่อยู่ในประกาศของส่วนคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีฯ จะเป็นผู้กำหนด
ตัวอย่างเช่น 15 วันก่อนวันที่ 4 พ.ค. จะต้องมีการทำน้ำอภิเษก ซึ่งมาจากแหล่งน้ำต่างๆ 4 แหล่ง แหล่งที่ 1 มาจากปัญจมหานที คือแม่น้ำทั้ง 5 ในประเทศอินเดีย เอามาเจือปนกับน้ำที่จะได้ในแหล่งที่ 2 ซึ่งคือแม่น้ำบริสุทธิ์ 5 สายในประเทศไทย ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง เจ้าพระยา ป่าสัก แม่กลอง และเพชรบุรี มาเจือปนกับแหล่งที่ 3 คือน้ำจากสระทั้ง 4 ในเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และมาเจือปนกับน้ำแหล่งสุดท้ายคือน้ำจากแหล่งศักดิ์สิทธิ์ 76 จังหวัดในประเทศไทย โดยหลังพระราชพิธีทำน้ำอภิเษกก็จะต้องมีพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธยของรัชกาลใหม่ รวมถึงพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายศักการะพระบรมอัฐิของพระบรมราชบรรพบุรษตามประเพณี ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ 4 พ.ค. ทั้งสิ้น
ขณะที่หลังวันที่ 6 พ.ค. จะมีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติอื่นตามมาตามโบราณราชประเพณี ใช้เวลาประมาณ 15 วัน ซึ่งจะจบลงเข้าใจว่าไม่เกินวันที่ 20 พ.ค. ซึ่งทั้งหมดคือข้อมูลที่นำมากราบเรียนให้ กกต. ทราบ เมื่อ กกต. ทราบแล้วก็จะนำไปประกอบการพิจารณาว่าจะเห็นสมควรดำเนินการอย่างไรต่อไป
นายวิษณุกล่าวด้วยว่า อำนาจการกำหนดการเลือกตั้งเป็นของ กกต. แต่อำนาจของรัฐบาลคือการประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในพระราชอำนาจโดยรัฐบาลยังไม่ได้รับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกลับลงมา ซึ่งเดิมทีตั้งใจว่าเมื่อได้รับแล้วจะลงประกาศในวันที่ 2 ม.ค. ต่อจากนั้น กกต. ก็จะออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 5 วัน ซึ่งขณะนี้เมื่อรัฐบาลยังไม่ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ส. ลงในราชกิจจานุเบกษา กกต. ก็จะประกาศอะไรไม่ได้ ซึ่งก็เป็นการดีที่จะทำให้ข้อมูลที่ได้นำมาแจ้งเกี่ยวกับพระราชพิธีฯ ช่วยให้ กกต. เข้าใจ และมีเวลาในการเตรียมการเรื่องประกาศวันเลือกตั้งได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ นายวิษณุยังอธิบายขยายความถึงโอกาสที่จะมีการทับซ้อนกันระหว่างพระราชพิธีฯ กับกิจกรรมทางการเมือง หากวันเลือกตั้งมีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ.
“อันดับแรกจะต้องมีการประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง ถ้าสมมุติว่าเราเลือกตั้งกันในวันที่ 24 ก.พ. วันสุดท้ายของการประกาศผล แน่นอน กกต. อาจจะประกาศผลเร็วกว่านี้ แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะเร็วหรือจะช้า แต่วันสุดท้ายไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น กกต. จะประกาศผลเลือกตั้งหลังวันที่ 24 เม.ย. ไม่ได้
แค่วันที่ 24 เม.ย. นั้นก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการประกอบพระราชพิธีทำน้ำอภิเษก ครั้นจะขยับก่อนหน้านั้นไปก็จะไปอยู่ในช่วงพระราชพิธีสงกรานต์ เสร็จสงกรานต์ก็จะมีพระราชพิธีทำน้ำอภิเษก จากนั้นก็จะมีพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏเพราะฉะนั้นกิจกรรมการเมืองกับกิจกรรมพระราชพิธีฯ ต้องเอามาวางคู่และเทียบกัน เพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อนกันขึ้น และไม่ควรจะทับซ้อน”
ทั้งนี้ นายวิษณุเสนอให้ กกต. พิจารณาวันเลือกตั้ง ส.ส. ให้ไม่ทับซ้อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่จะมีตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ ถึง 20 พ.ค. แต่ต้องอยู่ในกรอบเวลา 150 วัน หลังพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้คือภายในวันที่ 9 พ.ค.
ยืนยันว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นก่อนวันพระราชพิธีฯ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่การเลือกตั้งจะขยับไปหลังจากนั้น เนื่องจากจะขัดรัฐธรรมนูญ และ ม.44 ก็ช่วยอะไรไม่ได้
แต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ควรมีหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีฯ วันที่ 20 พ.ค. ไปแล้ว เพราะจะเกี่ยวกับวันเปิดประชุมรัฐสภาที่จะมีขึ้นภายใน 15 วันนับจากวันประกาศผล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวพยายามซักถามถึงวันเลือกตั้งที่แน่นอน แต่นายวิษณุยืนยันว่าเป็นอำนาจในการพิจารณาของ กกต. แต่ตนมีหน้าที่มาแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับกำหนดการพระราชพิธีฯ ให้ กกต. ทราบ
อย่างไรก็ตาม นายวิษณุได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า วันเลือกตั้งควรมีก่อนพระราชพิธีที่จะเริ่มช่วงกลางเดือน เม.ย.
THE STANDARD ประเมินจากการสัมภาษณ์พบว่าช่วงที่เหมาะสมในการกำหนดวันเลือกตั้งจึงมีในช่วงตั้งแต่ 24 ก.พ. ถึง 24 มี.ค. 62
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์