วันเลือกตั้ง

อุตตม สาวนายน: สานฝันการเมืองกับภารกิจก่อรูปพลังประชารัฐ พิชิตศึกเลือกตั้ง ‘62

13.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

15 Mins. Read
  • อุตตมเคยสวมหมวกมาแล้วหลายใบ ทั้งในฐานะอาจารย์ นักวิจัย อธิการบดี นักธุรกิจ จนมาถึงหมวกสองใบล่าสุด นั่นคือ รัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ บนเส้นทางเดินชีวิต เขามีรุ่นพี่ ผู้ใหญ่ที่เคารพ ที่ปรึกษาทางใจ ผู้นำทีมที่ดี คอยเมตตา แนะนำ ให้โอกาส และผู้ใหญ่ท่านนั้นคือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์  
  • อุตตมรับงานใหญ่ในรัฐบาล คสช. นั่นคือ ทำหน้าที่ผลักดันเมกะโปรเจกต์ยักษ์ ‘EEC’ ให้สำเร็จลุล่วงในระดับที่จะเป็นมรดกของ คสช. หากทำได้สำเร็จ
  • อุตตมกำหนดภาพของพรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคการเมืองที่สามารถนำพาคนไทยก้าวข้ามอดีตได้จริง มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ในระดับที่ทำให้ประเทศก้าวหน้าทันโลก

 

 

รุ่นน้องของสมคิด คำชวนจากรุ่นพี่ สู่การสวมหมวกใบใหม่

วันนี้ อุตตมคือหนึ่งในสมาชิกทีมสมคิด ตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คือเครื่องการันตีถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างคนทั้งคู่ จนถึงวันนี้ ทั้งสองคนรู้จักกันมาร่วม 30 ปีแล้ว

 

อุตตมเล่าย้อนหลังถึงการพบกันเป็นครั้งแรกระหว่างคนทั้งคู่ จุดเริ่มต้นคือที่ Kellogg School of Management, มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา อุตตมไปเรียนปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ เน้นหนักการเงินและธุรกิจระหว่างประเทศ ขณะที่ สมคิดหวังไปคว้าดีกรี ดร. สาขาบริหารธุรกิจ เน้นการจัดการด้านการตลาด

 

ความสัมพันธ์แบบรุ่นพี่-รุ่นน้องในวันนั้น นำไปสู่การที่สมคิดชักชวนอุตตมก้าวเข้าสู่รั้วนิด้า หรือสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในฐานะอาจารย์-นักวิชาการ

 

“ผมจบปริญญาโทมา ท่านจบปริญญาเอกมา ท่านนี่แหละเป็นคนชวนผมไปนิด้า คือคนที่จบ MBA อย่างผม สมัยนั้นก็ต้องไปทำงานแบงก์ หรือวาณิชธนกิจ เล่าเป็นเกร็ดว่า วันหนึ่งไปคุยท่านสมคิด คือช่วงนั้นหอพักผมจะปิด เพราะหมดสัญญาปิดเทอม ท่านก็บอกมีห้องรับแขกว่าง เราก็คุยกันยาว ท่านถามผมว่าคิดถึงการศึกษาไหม ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนนะ แล้วถ้ามานิด้า โอกาสมีนะ แต่ผมไม่คุ้นกับนิด้าเลย ท่านก็บอกว่า เป็นสถาบันการศึกษาระดับปริญญาโท เพราะฉะนั้นคุณจะได้ทำวิจัย ตอนนั้นผมเลยตกลงที่จะไป มันเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตทำงาน ไม่อย่างนั้นผมคงไปอีกทาง”

 

ในหมวดนักวิชาการ อุตตมได้เงินเดือนราว 7,500 บาท เทียบกับอาชีพในธนาคารขนาดใหญ่ ถือว่าเงินเดือนต่างกันลิบลับ สมคิดเล็งเห็นข้อจำกัดในเรื่องนี้ เขาชวนให้อุตตมมาแปลหนังสือ เขียนหนังสือด้วยกัน ทำให้เกิดรายได้ “อาจารย์ชวนผมกับอาจารย์สุวินัย ต่อศิริสุข แปลหนังสือของโปรเฟสเซอร์ฟิลลิป คอตเลอร์ ที่อาจารย์สมคิดเป็นลูกศิษย์ นี่คือจุดเริ่มต้นการทำงานเป็นทีม และได้โอกาสทำในเรื่องที่ชอบ หลังจากนั้นก็ทำงานด้วยกันมาเรื่อยๆ”

ผมต้องการทำงานในกรอบ ซึ่งกว้างกว่า วันนั้นเป็นโอกาส เป็นความท้าทายที่ผมจะทำงานให้ประเทศได้ และเชื่อว่าถ้าพวกเราทำงานเป็นทีม ก็จะสามารถสร้างความแตกต่างให้ประเทศได้

 

เมื่อสมคิด นั่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ เขายังคงส่งคำชวนถึงรุ่นน้องคนเดิมให้ไปช่วยทำงานที่กระทรวง สมคิดอธิบายเป็นฉากๆ ให้อุตตมฟังว่า การทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างไร

 

“สิบกว่าปีที่แล้ว ผมเข้ามาทำงานการเมืองแล้วหนหนึ่ง โดยเป็นหนึ่งในทีมสมคิด ตอนนั้นผมทำงานอยู่แบงก์ เรียกว่าไปลองของในภาคเอกชน ก็รู้สึกเสียดายนิดๆ แต่โอกาสทำงานการเมืองมันก็ท้าทายดี ท่านก็พูดให้เห็นภาพเหมือนกับตอนไปนิด้าว่า ตอนนี้ประเทศกำลังเผชิญกับอะไร มันเป็นโอกาสของทั้งประเทศและทั้งส่วนตัวเรา ผมเลยตัดสินใจไป เรื่องนี้ผมจำได้แม่น และประทับใจที่ท่านนึกถึงเราและให้โอกาส”

 

จนมาถึงเดือนสิงหาคม ปี 2558 สมคิดส่งเทียบเชิญถึงอุตตมอีกครั้ง ให้ร่วมลงเรือรัฐบาล คสช. ไปด้วยกัน  

 

“ตอนนั้นผมเป็นอธิการบดี มีความคิดความตั้งใจหลายอย่าง เห็นภาพเลยว่าวันนี้การศึกษาต้องปรับเปลี่ยน การพัฒนาคนไทยให้ก้าวทันโลกต้องทำอย่างไร ต้องเริ่มตั้งแต่เยาวชน ก็รู้สึกเสียดาย แต่ชั่งน้ำหนักแล้ว นาทีนั้นผมต้องการทำงานในกรอบ ซึ่งกว้างกว่า วันนั้นเป็นโอกาส เป็นความท้าทายที่ผมจะทำงานให้ประเทศได้ และเชื่อว่าถ้าพวกเราทำงานเป็นทีม ก็จะสามารถสร้างความแตกต่างให้ประเทศได้”

 

 

เส้นทางของอุตตม ผ่านมาแล้วทั้งการสวมหมวกในฐานะอาจารย์ นักวิจัย อธิการบดี ในวงวิชาการ ทั้งที่นิด้า ม.กรุงเทพ รวมไปถึงนักธุรกิจในภาคเอกชน อุตตมบอกว่า เมื่อสวมหมวกแล้ว หมวกแต่ละใบต่างให้โจทย์ไม่เหมือนกัน เป็นอาจารย์ โจทย์คือ ‘ทำอย่างไรจะสอนให้ดี’ เป็นนักธุรกิจคือ ‘ทำอย่างไรให้องค์กรอยู่รอด’ ทั้งหมดเป็นความท้าทาย

 

แต่สำหรับตัวเขาเองแล้ว เขามองว่า งานการเมืองที่เพิ่งได้ลงมือทำจริงราว 3 ปีมานี้ ถืองานเป็นที่ท้าท้ายมากที่สุด

 

“งานการเมืองเป็นงานที่ท้าทายมากที่สุด การเข้าการเมืองเป็นความท้าทายที่สุดที่ต่างจากประสบการณ์ที่ผมมีมา แต่ในความท้าทายนี้ ผมได้ใช้ประสบการณ์ในภาควิชาการ ภาคเอกชน ที่สั่งสมมา ในการทำงานมีความแตกต่างแน่นอน แต่มองอีกแง่มุมก็เกื้อหนุนกัน”

 

หมวกแทบทุกใบและเส้นทางชีวิตของอุตตมมีผู้ใหญ่คนสำคัญในชีวิตคอยเมตตา เกื้อหนุน แนะนำ เชื้อเชิญ อยู่ไม่ขาด นั่นคือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ โดยเฉพาะรอบหลังนี้ อุตตมตอบรับคำชวนของสมคิดนั่งตำแหน่งแรกในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในวันที่ 19 สิงหาคม 2558 และหลังจากสมคิดได้รับแรงหนุนให้คุมภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมด อุตตมก็ได้รับแรงหนุนให้กุมบังเหียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ก่อนจะสวมหมวกการเมืองเต็มใบในวันที่ 29 กันยายน 2561 ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ยอมรับนับถือในเรื่องของใจ เพราะท่านเป็นคนใจเปิด ให้โอกาส มองคนในลักษณะเข้าใจคน อาจารย์สมคิดทำให้ทีมรวมกันได้ นี่คือแก่นของทีม

 

ทีมสมคิด ห้องวอร์รูม ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 1

เหนือไปจากบรรดาตำแหน่งที่เป็นทางการ อุตตมยังเป็นสมาชิกและผูกพันทางใจในฐานะทีมสมคิด ลูกน้องสมคิด มองสมคิดเป็นที่ปรึกษาทางใจ โดยอุตตมถือเป็นวงในสุดที่ล้อมตัวรองนายกฯ สมคิดอยู่

 

ทุกเช้าวันจันทร์ อุตตมจะประชุม ครม. เศรษฐกิจ ที่ห้องทำงานของสมคิด ขณะที่หลังประชุม ครม. ในวันอังคาร เขาและรัฐมนตรีคนอื่นๆ ก็จะมีนัดประชุมต่อที่ห้องทำงานสมคิด เมื่อมีวาระทางการเมืองเร่งด่วนต้องการคำปรึกษาทั้งในทางการเมืองและทางใจ 4 รัฐมนตรี อันได้แก่ อุตตม สนธิรัตน์ สุวิทย์ กอบศักดิ์ จะเดินเข้าออกห้องทำงานของรองนายกฯ สมคิดที่ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 1 เป็นประจำ ห้องนี้เองที่ขับเคลื่อนงานต่างๆ รวมทั้งขยับทิศทางการเมืองไทย

 

อุตตมเล่าถึงผู้นำที่เป็นศูนย์กลางของทีมว่า มีความคิดที่แหลมคมสมชื่อ ‘สมคิด’

 

“อาจารย์สมคิด โดยวัยเอง ด้วยความเป็นพี่ ความเป็นผู้นำในตัวท่าน ท่านก็เป็นผู้นำทีมที่ผมเห็นว่าเหมาะสม ผมคิดเสมอว่า คนเราเคารพคนอื่นได้ตลอดเวลา และสมควรเคารพ โดยเฉพาะผู้ที่อาวุโสกว่าเรา แต่การนับถือนั้นอยู่ที่เราแล้วว่าเราจะนับถือคนนั้นๆ ในด้านไหน สำหรับท่านสมคิด ผมนับถือในเชิงของสิ่งที่ท่านมีความสามารถ องค์ความรู้ที่มี ผมยอมรับในเรื่องของความคิด แล้วก็ยอมรับนับถือในเรื่องของใจ เพราะท่านเป็นคนใจเปิด ให้โอกาส มองคนในลักษณะเข้าใจคน อาจารย์สมคิดทำให้ทีมรวมกันได้ นี่คือแก่นของทีม

 

 

เมื่ออ่านคนเก่ง มองคนเป็น ก็ทำให้สมคิดวางคนในตำแหน่งได้ตามจุดแข็งของแต่ละคน ทำให้การทำงานเป็นอย่างชนิดที่อุตตมเรียกว่า ‘ใกล้ชิด หารือกันได้ตลอด รู้ใจ เชื่อใจ’ ขณะเดียวกันก็ต้องบรรลุผลสัมฤทธิ์ให้ได้ ซึ่งตัวรองนายกฯ สมคิดเอง ‘ไม่มีชี้นิ้วสั่ง เพราะท่านให้เกียรติในความเป็นทีม’ อุตตมบอกว่า วิธีการบริหารงานแบบนี้จึงทำให้มีความกดดันในตัวเอง ขยันขันแข็งกันทำงาน แต่ก็มีที่รองนายกฯ สมคิดเร่งบ้างประปรายด้วยประโยค “เรื่องนี้ต้องเร็วนะ ไม่อย่างนั้นไม่ทันการ เพราะท่านเป็นคนฉับไว”

 

ตั้งแต่เข้ากุมบังเหียนร่วมบริหารประเทศในรัฐบาล คสช. บรรดาสมาชิกทีมสมคิดนิยามการทำงานของตัวเองว่า “นาทีนี้เป็นการทำงานการเมืองในจุดหักเหสำคัญของประเทศไทย ไม่ได้ทำการเมืองเพื่อเป็นรัฐมนตรี ไม่ได้ทะเยอะทะยานเพื่อตำแหน่ง เพื่ออำนาจ” พวกเขาจึงแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจน โดยใช้จุดเด่นของตัวเองให้เป็นประโยชน์

 

“เพราะฉะนั้น 4 คน ทำงานเสริมกัน อุตสาหกรรมอยู่ไม่ได้ถ้าไม่ได้ประโยชน์จากกระทรวงวิทย์ฯ การวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้มายึดโยงกับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น ผมจะเอาโจทย์ไปให้อาจารย์สุวิทย์ ยกตัวอย่างว่า เราขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาคเกษตรเคลื่อนไปสู่ Bio Economy งานวิจัยวิทยาศาสตร์ก็ต้องนำมาเชื่อมโยงกัน พาณิชย์ก็เหมือนกัน พ่อค้าเอสเอมอี คงหนีไม่พ้นเรื่องเทคโนโลยี ผมก็ต้องไปช่วยท่านสนธิรัตน์ เพราะอุตสาหกรรมมีเครือข่ายทั่วประเทศ วันนี้มีศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ศูนย์ใหญ่ 13 ศูนย์ทั่วประเทศ ศูนย์เล็ก ทุกจังหวัด

 

 

“รัฐมนตรีสนธิรัตน์แบ็กกราวด์มาทางธุรกิจ ท่านก็เข้าใจความคิดและธรรมชาติของคนค้าขายตั้งแต่ฐานราก ตั้งแต่เอสเอมอี พ่อค้าแม่ค้า

 

“รัฐมนตรีสุวิทย์ ท่านเป็นคนสร้างสรรค์มาก เป็นนักคิด นักเขียน ตื่นมาตี 4 มาเขียนทุกวัน คนละไซเคิลกับผม ท่านสุวิทย์นอน 2 ทุ่มทุกวัน ตื่นตี 4 ผมนอนเที่ยงคืน ตื่นเกือบ 6 โมงเช้า แต่ทำงานเสริมกัน เรื่องใหม่ๆ ท่านจะคิดออกมาแล้วท่านจะสื่อออกมา

 

“รัฐมนตรีกอบศักดิ์มาใหม่ เป็นน้องคนใหม่ของทีม หน้าอ่อน แต่วัยวุฒิ คุณวุฒิไม่อ่อนเลย กอบศักดิ์ทำได้หลายด้าน เพราะฉะนั้นกอบศักดิ์สามารถเข้าใจเนื้อหาได้อย่างลึกซึ้ง และที่สำคัญคือ สามารถถ่ายทอดให้คนเข้าใจได้อย่างดีมาก พูดกับน้องๆ สื่อ ผู้สื่อข่าวก็มีเสน่ห์ เล่าเรื่องเก่ง นี่เป็นจุดแข็ง และทำงานได้หลายด้าน”

 

 

สวมหมวกรัฐมนตรี: ผลักดัน EEC เป็นมรดก คสช.

วาระสำคัญที่ผู้เป็นที่ปรึกษาทางใจของอุตตม ฝากไว้คือ ผลักดันโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ให้สำเร็จ ในแวดวงการเมืองรู้กันดีว่า EEC คือมรดก จุดชี้ขาดของรัฐบาลประยุทธ์ ก่อนลงจากบัลลังก์อำนาจ โครงการนี้จะมีผลต่อความนิยมของรัฐบาล และจะมีผลต่อการเลือกตั้งที่จะมาถึง

 

EEC จะเป็นทั้งศูนย์กลางการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมใหม่ที่รัฐบาลหวังใช้พลิกฟื้นประเทศขนานไปกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

 

EEC จะเป็นต้นแบบของ Smart City ทั้งยกระดับเมืองเดิม และสร้างเมืองใหม่ จะมีการเชื่อมต่อกับประเทศในกลุ่มภูมิภาค ผ่านโครงการ One Belt One Road เชื่อมต่อมายังลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ ยึดโยงกัน ไปจนถึงการลงทุนเชื่อมต่อ 3 สนามบิน สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา

 

โครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญอีกหลายรายการจะปักหมุดที่นี่ เช่น โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd)

 

เป้าหมายระยะยาว คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กำหนดให้การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษใน EEC ทะลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 500,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งเป้าจะการขยายพื้นที่ EEC (นอกจาก 3 จังหวัด) การเตรียมการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ เมืองศูนย์กลางการเงิน และ Aerotropolis การพัฒนาแรงงานคุณภาพสูง ไปจนถึงการพัฒนาอื่นๆ หลังจากรถไฟความเร็วสูงเสร็จในปี 2566 เช่น สาธารณูปโภค สาธารณูปการ สาธารณสุข เกษตร สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

EEC จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีบทบาทสำคัญ และมีการเติบโตมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย

EEC จะช่วยตอบโจทย์ตรงนี้ เมืองใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ เราพูดชัดเจนว่า นี่จะเป็นแค่จุดเริ่มต้น ก่อนจะขยายไปทั่วประเทศในพื้นที่อื่น

 

อุตตมประกาศชัดในหลายเวทีว่า เมกะโปรเจกต์ทางเศรษฐกิจ EEC จะเป็นตัวอย่างของการสร้างเมืองใหม่ เมืองใหญ่ เมืองแห่งการลงทุน เมืองเพื่อเปลี่ยนประเทศ และก้าวต่อไปที่อยากสานต่อ คือการทำให้เกิดโมเดลเช่นนี้ในภูมิภาคอื่น

 

“EEC จะช่วยตอบโจทย์ตรงนี้ เมืองใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ เราพูดชัดเจนว่า นี่จะเป็นแค่จุดเริ่มต้น ก่อนจะขยายไปทั่วประเทศในพื้นที่อื่น ผมมาใหม่ๆ ปี 2558 เดินทางมาพอสมควร ทั้งต่างประเทศหรือในประเทศ บริษัทญี่ปุ่นมีอยู่เยอะ พอเรามียุทธศาสตร์ เขาฟัง แต่คำถามสำคัญ จะทำได้จริงหรือไม่ มาเข้าปีที่ 3 คำถามเดิมไม่มีแล้วว่าทำได้จริงหรือเปล่า เพราะเขาเห็นแล้วว่าเราเริ่มเดินได้จริง”

 

อุตตมชี้ชัดว่า การมียุทธศาสตร์ของประเทศเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการลงทุน เพราะนักลงทุนต้องการเสถียรภาพทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจขนานกันไป

 

“ความชัดเจนของยุทธศาสตร์สำหรับประเทศไทยตอนนี้ชัดมาก อันนี้คือแรงดึงดูดที่ทำให้วันนี้บริษัทขนาดใหญ่พร้อมเข้ามาลงทุน ตัวเลขทำให้เห็น ในมุมของ BOI ก็มีคนมายื่นมากขึ้น อันนี้ก็เป็นความภูมิใจที่ทำให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่ภาพ เป็นของจริงที่จับต้องได้ รัฐบาลไม่ได้สร้างภาพ”

 

นอกเหนือไปจาก EEC อุตตมเล่าถึงความสำเร็จอื่นๆ ที่ตัวเขาได้ร่วมผลักดัน

 

“เป็นครั้งแรกเลยที่กระทรวงอุตสาหกรรมสามารถออกชุดนโยบายที่ครอบคลุม ไม่ใช่แค่ในเชิงตัวเงิน แต่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสม เข้าถึงฐานรากชุมชน มุ่งเน้นการสร้างทักษะ ให้ความรู้และข้อมูลที่จำเป็น ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือทางด้านการเงินพิเศษและการสร้างเครือข่าย

 

“หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ Creative Industrial Village ของเรามีจำนวนร้อยๆ แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ เรายังทำเรื่องการยกระดับการให้บริการของกระทรวง การอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ และเรื่องของการขอต่อใบอนุญาตด้วย

 

“อีกด้านเราพยายามปรับเปลี่ยนเกษตรต้นทาง ให้เป็นเกษตรครบวงจร เป็นเกษตรสร้างมูลค่าสูงได้ เราได้แก้กฎหมาย พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาล ในอดีต กฎหมายเปิดทางให้นำอ้อยไปทำได้อย่างเดียวคือ นำไปผลิตน้ำตาล วันนี้ถ้าบอกว่า จะทำให้ผลิตภัณฑ์เกษตรต้นทางสามารถทำสินค้าให้มีมูลค่าสูงได้มากขึ้น เราก็เสนอให้แก้กฎหมายตรงนี้ว่าให้เอานำอ้อยมาผลิตอย่างอื่นได้ เช่น อาหาร ผลิตภัณฑ์ทางเคมี เรื่องยา เรื่องความงาม อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่เราผลักดัน”

 

 

เมื่อถามอุตตมถึงความพอใจในการบริหารราชการแผ่นดินตลอด 4 ปี ในฐานะรัฐมนตรีคุมด้านเศรษฐกิจ เขาตอบว่า “ผมคิดว่าพอใจ ผมสร้างความตระหนักได้ แต่ไม่ได้พอใจว่าเสร็จสิ้นแล้ว” เขาถือโอกาสเล่าถึงวิธีการดีลงานกับทหาร ข้าราชการ นักการเมือง ว่าเน้นหลักยึดโยงและบูรณาการ

 

“ผมเข้าใจว่าแต่ละกลุ่มมีลักษณะเฉพาะตัวของตัวเอง แนวความคิดก็ไม่ได้เหมือนกันทีเดียว และเราเป็นรัฐมนตรี เราก็รู้ว่าหน้าที่เรามีอะไรชัดเจน และเราสามารถเชื่อมโยงกับแต่ละกลุ่ม กลุ่มข้าราชการประจำก็มีความต่างกับกลุ่มการเมือง กลุ่มที่มาจากเหล่าทัพเขาก็มีธรรมชาติของเขา เรามาเป็นรัฐมนตรีก็มาทำงานเพื่อชาติภายใต้โจทย์ที่รัฐบาลวางยุทธศาสตร์ไว้ ความท้าทายก็คือ การยึดโยง เพราะทำงานคนเดียว กระทรวงเดียว เป็นไปไม่ได้ การยึดโยงบูรณาการ จะทำให้การขับเคลื่อนงานไปข้างหน้าได้ ท้าทาย และสนุก”

 

 

สวมหมวกหัวหน้าพรรค: สานฝันพลังประชารัฐ พิชิตศึกเลือกตั้ง 2562

3 ปี กับการปลุกปั้นเมกะโปรเจกต์ทางเศรษฐกิจ และราว 3 เดือนเศษ (ที่เปิดเผย) กับการปลุกปั้นเมกะโปรเจกต์ทางการเมือง

 

อุตตมปราศรัยทางการเมืองครั้งแรกในตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2561 ในช่วงกลางของคำปราศรัย เขาเท้าความไปถึงสิ่งที่ตัวเขา รัฐบาลได้ทำมา นั่นคือ การปรับเปลี่ยนประเทศให้ก้าวหน้า

 

“4 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาสำคัญยิ่งของประเทศไทยที่เราได้มีโอกาสวางรากฐาน การปรับเปลี่ยนประเทศให้ก้าวหน้าไปได้อย่างยั่งยืน ทั้งด้านสังคม การพัฒนาคน การวางปรับรากฐานของเศรษฐกิจใหม่… ภูมิใจที่ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมทำงานในระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ร่วมผลักดันนโยบายที่เป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ของประเทศไทย ของพี่น้องประชาชนชาวไทย”

มาถึงวันนี้ เป็นการตัดสินใจที่สำคัญของผม และไม่ง่ายเลย แต่ก็ได้ตัดสินใจแล้ว และตัดสินใจด้วยความภาคภูมิใจที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิตก็ว่าได้

 

อุตตมย้ำว่า การตัดสินใจเปลี่ยนสถานะจากนักวิชาการ นักธุรกิจ รัฐมนตรี มาสู่นักการเมืองเต็มรูป ถือเป็นการตัดสินใจที่ไม่ง่าย ตั้งเป้าจะรวมคนดีและคนเก่งมาทำงานการเมือง

 

“มาถึงวันนี้ เป็นการตัดสินใจที่สำคัญของผม และไม่ง่ายเลย แต่ก็ได้ตัดสินใจแล้ว และตัดสินใจด้วยความภาคภูมิใจที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิตก็ว่าได้”

 

ในขณะที่สาธารณชนจดจำภาพของพรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคการเมืองเฉพาะกิจที่ตั้งเป้าสืบทอดอำนาจทางการเมือง ตัวเขากำหนดตำแหน่งแห่งที่ของพรรคต่างไปจากนั้น

 

“พรรคพลังประชารัฐไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจแน่นอน เราสร้างมาให้ถาวร แล้วไม่มีเจ้าของ หัวหน้าพรรคชี้นิ้วไม่ได้ คือชี้ได้ แต่คนจะฟังหรือไม่ เพราะเรามารวมกันอย่างนี้ ก็เป็นพรรคของผู้ร่วมอุดมการณ์ของประชาชน ตั้งใจให้เป็นอย่างนั้น เป็นมิติใหม่ที่ไม่ใช่ขายฝัน แต่จับต้องได้

 

“อยากเห็นการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมจริงๆ เข้าถึงองค์กรทางการเมือง รัฐบาล รัฐสภาได้ เป็นการเมืองเพื่อประชาชน เราจะสนับสนุนให้รัฐบาลใดๆ ที่จะมาเป็นรัฐบาลที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางจริงๆ ไม่ใช่การเมืองเพื่อตัวเอง เพื่อพรรค ต้องเอาคนเป็นศูนย์กลางให้ได้ การเมืองแบบนี้เท่านั้นที่จะทำให้ประเทศไทยปรับเปลี่ยนและก้าวทันโลกได้”

 

 

เวทีปราศรัยของพรรคพลังประชารัฐชูสโลแกน ‘ทางเลือกใหม่ ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง นำชาติสู่ความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน’

 

ขายนโยบายคุ้นหูและคุ้นตาในป้ายหาเสียง เช่น อายุ 65 ปีขึ้นไป ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล 1,500 บาท/คน เบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาท/เดือน สวัสดิการ อสม. 1,000 บาท/เดือน ไทยนิยมยั่งยืน จ้างงานสร้างรายได้ในหมู่บ้าน ศูนย์ดำรงธรรมแก้ไขหนี้นอกระบบ รับเรื่องราวร้องทุกข์ ไปจนถึงการชูบัตรคนจน รัฐช่วยเหลือครัวเรือน ค่าไฟฟ้า 230 บาท ค่าน้ำประปา 100 บาท และล่าสุดกับนโยบายเปลี่ยนที่ดิน สปก. เป็นโฉนดที่ดิน

 

อุตตมนิยามการทำงานการเมืองของ ‘4 รัฐมนตรีพลังประชารัฐ’ ว่าเป็น ‘Political Startup’

 

“ผมอิงมาจากสตาร์ทอัพทางธุรกิจ พวกผมเป็นสตาร์ทอัพทางการเมือง ไม่ใช่นักการเมืองมืออาชีพ มีเป้าหมายชัดเจนว่า อยากสร้างอะไร ถามว่ามีความเสี่ยงไหม มี เหมือนสตาร์ทอัพธุรกิจเลยที่มีความเสี่ยง 2-3 ปีแรก”

 

เมื่อถามว่า หากได้กลับเข้ามาทำงานการเมืองอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง แล้วต้องเจอทั้งการอภิปราย การตั้งกระทู้ถาม เจอเขี้ยวเล็บทางการเมือง เขาจะต้านทานไหวหรือไม่ อุตตมเคาะทันที

 

“รับได้ครับ รับได้แค่ไหน ออกมาเป็นอย่างไร ประชาชนเป็นคนตัดสินอยู่แล้ว เราก็ต้องเข้าใจ นี่คือการเมือง เป็นองค์ประกอบสำคัญทางการเมือง การอภิปราย ประชาชนจะตัดสินเองว่าตอบได้หรือตอบไม่ได้ ผมก็ตั้งใจว่าจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่สั่งสมมาให้มากที่สุด ผมมาทำการเมืองแบบนี้ จะไม่เลียนแบบนักการเมืองเดิมๆ”

 

 

THE STANDARD ปิดท้ายด้วยการถามอุตตมถึงหลักในการตัดสินใจเรื่องสำคัญและเรื่องใหญ่ของชีวิต

 

“ผมใช้ประสบการณ์ที่มี ใช้เสมอ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ ทั้งข้อผิดพลาดและสิ่งที่ทำสำเร็จ และผมพยายามตัดสินใจในภาวะจิตใจนิ่งที่สุด และไม่ตัดสินใจเมื่อใจร้อน โดยพื้นฐานผมไม่ใช่คนใจเย็น เวลาตัดสินใจผมพยายามให้นิ่งที่สุด ถ้าวันนี้ยังไม่ใช่จังหวะตัดสินใจ รอนิดหนึ่งได้

 

“การเข้ามาการเมืองเราก็วางตัวให้ถูกต้องตามกฎหมาย แบ่งแยกเวลาชัดเจน การแบ่งเวลาให้ครอบครัวก็มี แต่เวลาส่วนตัวก็สำคัญ เพราะคือการชาร์จแบตเตอรี่ แน่นอน วันนี้เวลางานต้องให้ความสำคัญก็เบียดบังหน่อย เวลาครอบครัวก็อาจจะน้อยลง แต่กลับมาว่าครอบครัวเข้าใจว่าเป็นอย่างนี้ อันนี้สำคัญ เพราะเวลากับกำลังใจต้องมาด้วยกัน ทีนี้ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม งานหลักก็จะเป็นงานเดียวคือ งานการเมือง”

 

บนเส้นทางการสานฝันการเมืองสู่เส้นชัยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแค่เริ่มต้นสู่สนามการเลือกตั้งในปี 2562 พรรคพลังประชารัฐก็เจอกับคำถามที่หลากหลาย ทว่า ‘ความนิ่ง’ คงให้คำตอบที่ดีกับอุตตม ในวันที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญและเรื่องใหญ่ในทางการเมือง โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้ง

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising