THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

การจ้างงานสหรัฐฯ ชะลอลงอย่างชัดเจน ย้ำความเชื่อ Fed ยุติขึ้นดอกเบี้ย

... • 13 พ.ย. 2023

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดปรับตัวดีในช่วงต้น แต่เริ่มอ่อนแรงในช่วงปลายสัปดาห์ตามภาพผลตอบแทนพันธบัตรทั้งสหรัฐฯ และจากการขายทำกำไร Fed ส่งสัญญาณไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยต่อในการประชุม FOMC ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางปัจจัยต่างๆ ดังนี้

 

  1. การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ ขยายตัวต่ำกว่าตลาดคาด โดยเพิ่มขึ้น 1.5 แสนตำแหน่งในเดือนกันยายน ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 1.8 แสนตำแหน่ง และมีการปรับตัวเลข 2 เดือนก่อนลดลงถึงกว่า 1.01 แสนตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเกินคาดที่ 3.9% ด้านรายได้ต่อชั่วโมงเฉลี่ยและรายได้เฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับลดลง โดยอยู่ที่ 4.1% และ 3.2% จากเดือนก่อนที่ 4.2% และ 3.4% ตามลำดับ

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาตัวเลขการจ้างงานจากข้อมูลกำลังแรงงาน (Labor Force Survey) พบว่าการจ้างงานในภาคการผลิตทรงตัว แต่การจ้างงานในภาคบริการ โดยเฉพาะภาคสันทนาการลดลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับค่าจ้างภาคบริการที่ชะลอแรงกว่าภาคการผลิต ทำให้ตลาดมองว่าโอกาสที่ Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยมีมากขึ้น

 

  1. ผลสำรวจเจ้าหน้าที่สินเชื่ออาวุโส (Senior Loan Officer Survey) ของ Fed ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯ ยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ แต่มาตรฐานเริ่มตึงตัวลดลง ขณะที่ความต้องการสินเชื่อของภาคประชาชนและภาคธุรกิจยังคงหดตัว แต่เริ่มชะลอลงเช่นกัน ซึ่งเป็นสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจมากขึ้น

 

  1. ตัวเลขส่งออกจีนเดือนตุลาคมหดตัว -6.4% ต่ำกว่าคาดที่ -3.3% และเดือนก่อนที่ -6.2% บ่งชี้ว่าความต้องการโลกอ่อนแอกว่าคาด แต่การนำเข้าปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัว 3.0% จากที่ตลาดคาดที่ -4.8% โดยเป็นการนำเข้าวัตถุดิบเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันและถ่านหิน บ่งชี้เศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มทรงตัว

 

  1. เงินเฟ้อผู้บริโภคและผู้ผลิตจีนเดือนตุลาคมกลับมาหดตัวอีกครั้ง โดยเงินเฟ้อผู้บริโภคหดตัวที่ -0.2% จาก 0% ในเดือนก่อน และต่ำกว่าคาดที่จะหดตัว -0.1% ขณะที่เงินเฟ้อผู้ผลิตหดตัว -2.6% จากเดือนก่อนที่ -2.5% บ่งชี้ว่าภาคการผลิตและภาคการใช้จ่ายยังคงเปราะบาง ท่ามกลางดัชนีราคาของ GDP (GDP Deflator) ของจีนยังคงหดตัวต่อเนื่อง

 

  1. ประธานและรองประธาน Fed หลายรายแสดงความเห็นในเชิงสนับสนุนขึ้นดอกเบี้ย โดย นีล แคชแครี ประธาน Fed สาขามินนิแอโปลิส ระบุ Fed ต้องพยายามมากขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และยังเร็วเกินไปที่ Fed จะประกาศชัยชนะในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ ขณะที่ คริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ และ มิเชล โบว์แมน สมาชิกคณะผู้ว่าการ Fed ระบุ เศรษฐกิจสหรัฐฯ 3Q23 แข็งแกร่ง อาจทำให้ Fed พิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ย

 

  1. ธนาคารกลางออสเตรเลียปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.35% สูงสุดในรอบ 12 ปี หลังจากคงดอกเบี้ยติดต่อกัน 4 เดือน

 

  1. สหรัฐฯ ระบุจำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการจำนอง (Mortgage) เพิ่มขึ้น 2.5% ใน สัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 1 เดือน หลังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองปรับตัวลง

 

“สัปดาห์นี้ตลาดปรับตัวดีในช่วงต้น แต่เริ่มอ่อนแรงในช่วงปลายสัปดาห์ตามภาพผลตอบแทนพันธบัตรทั้งสหรัฐฯ และไทย หลัง Fed ส่งสัญญาณ Dovish ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ ขยายตัวต่ำกว่าตลาดคาด ทำให้ตลาดมองว่าโอกาสที่ Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประธานและรองประธาน Fed หลายรายยังแสดงความเห็นในเชิงสนับสนุนขึ้นดอกเบี้ย ด้านผลสำรวจเจ้าหน้าที่สินเชื่ออาวุโสของ Fed ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯ ยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ แต่มาตรฐานเริ่มตึงตัวลดลง ด้านตัวเลขส่งออกจีนหดตัวเกินคาด แต่การนำเข้าปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อจีน (และไทย) กลับมาหดตัวแรงเกินคาด บ่งชี้เศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยง”

 

ตลาดแรงงานชะลอตัวชัดเจนขึ้น

ในประเด็นด้านการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นต่ำกว่าที่ตลาดคาด และมีการปรับตัวเลข 2 เดือนก่อนรุนแรง ท่ามกลางตัวเลขค่าจ้างที่ลดลงนั้น บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ วิเคราะห์ว่า ตัวเลขเดือนนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการชะลอลงอย่างชัดเจนขึ้นในตลาดแรงงาน และมองว่าแรงกดดันการบริโภคจะเพิ่มขึ้น ทั้งจากอัตราว่างงานที่สูงขึ้น การมีส่วนร่วมกำลังแรงงานที่ลดลง และการเติบโตของค่าจ้างที่ชะลอลง บ่งชี้ว่ารายได้ของผู้บริโภคจะเริ่มหายไป ท่ามกลางดอกเบี้ยและรายจ่ายที่ยังสูงต่อเนื่อง

 

ภาพดังกล่าวทำให้เชื่อว่า Fed จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้แล้ว ขณะที่การบริโภคในระยะต่อไปจะชะลอตัวลง และเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะ 10 ปีที่ลดลงเกือบ 50bps ในรอบ 2 สัปดาห์หลังจากที่ Fed เริ่มส่งสัญญาณ Dovish มากขึ้นนั้น บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่าผลตอบแทนพันธบัตรปรับลดลงแรงเกินไปท่ามกลางการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น และมาตรการถอนสภาพคล่อง (QT) ของ Fed ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจทำให้ผลตอบแทนกลับไปเพิ่มขึ้น และเป็นส่วนทำให้ตลาดผันผวนขึ้นได้ ด้านประเด็นเงินเฟ้อจีนและไทยที่กลับมาหดตัวอีกครั้งนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเฉพาะตัว โดยในจีน ราคาหมูที่ลดลงมากจากการที่ผู้เลี้ยงสุกรเพิ่มปริมาณการเลี้ยงในช่วงก่อนหน้าด้วยความหวังว่าความต้องการหลังการเปิดเมืองที่เพิ่มขึ้นนั้นผิดคาด ทำให้ราคาลดลงแรง

 

ส่วนเงินเฟ้อไทย จากการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนของภาครัฐ ส่งผลให้ราคาสินค้าสำคัญลดลง โดยเฉพาะพลังงาน อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบอื่นๆ ของเงินเฟ้อปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน ขณะที่เงินเฟ้อผู้ผลิตของทั้งสองประเทศลดลงต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าภาคการผลิตและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศยังคงเปราะบาง

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

  1. หุ้น Big Cap. ที่คาดฟื้นตัวได้ตามตลาดและมีความผันผวนต่ำ โดยเลือกหุ้น Undervalued ซึ่งราคาปรับลงมาจนเข้าเขต Oversold และยังมีพื้นฐานดี อีกทั้ง Valuation ไม่แพง (PER และ PBV 23F ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี) เลือก BDMS, BEM, BBL, GULF และ SCGP

 

  1. หุ้น Earning Play ซึ่งจะมีการประกาศงบ 3Q23 ในสัปดาห์นี้ ขณะที่โมเมนตัมกำไร 4Q23 จะยังเติบโต YoY และเป็นไตรมาสที่ดีสุดของปี เลือก ERW, AOT, CENTEL, ZEN และ CRC

 

ขณะที่ระยะกลางแนะนำระมัดระวังหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะกระทบต่อกำลังซื้อภาคเกษตรลดลง ได้แก่ กลุ่มพาณิชย์ (GLOBAL) กลุ่มสินเชื่อ (MTC และ SAWAD) กลุ่มยานยนต์ (SAT และ STANLY) กลุ่มเครื่องดื่ม (CBG จากราคาน้ำตาลที่สูงขึ้น) รวมถึงกลุ่มเกษตรและอาหาร (CPF และ GFPT)

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

  1. ความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล เช่น โครงการแจกเงินดิจิทัล การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ รวมทั้งการหารือฟื้นกองทุน LTF และต่ออายุ SSF
  2. ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 3.4% ขณะที่ตลาดคาดที่ 3.8% เพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในเดือนกันยายน และยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ตลาดคาด 2.1% ต่อปี 3.8% จากเดือนก่อน
  3. ตัวเลข GDP ไตรมาส 2/23 ประกาศครั้งที่ 2 ของยูโรโซน ตลาดคาดหดตัว -0.1%QoQ เท่ากับการประกาศครั้งแรก และตัวเลขเงินเฟ้อยูโรโซนเดือนตุลาคม ประกาศครั้งที่ 2 ตลาดคาดจาก 2.9% เท่ากับประกาศครั้งแรกและลดจาก 4.3% ในเดือนก่อน
  4. ตัวเลขเศรษฐกิจจีนในเดือนตุลาคม ได้แก่ การผลิตภาคอุตสาหกรรม ตลาดคาดขยายตัว 4.8% จาก 4.5% เดือนก่อน ยอดค้าปลีก ตลาดคาดขยายตัว 6.7% จาก 5.5% และการลงทุนสินทรัพย์ถาวร ตลาดคาดขยายตัว 3.2% จาก 3.1%

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BDMS - ผันผวนต่ำ...พื้นฐานแข็งแกร่ง

 

สัปดาห์นี้เราเลือกแนะนำ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้

 

  • ผู้นำธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีเครือข่ายมากที่สุดในไทย (โรงพยาบาล 57 แห่ง รวมกว่า 8,500 เตียง) และติดอันดับ 1 ใน 5 ของผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนของโลกในด้านมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ซึ่งคาดได้ประโยชน์จากอุปสงค์การแพทย์ในไทยและต่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นในระยะยาว
  • 3Q23 คาดกำไรปกติจะปรับตัวดีขึ้นทั้ง QoQ และ YoY แรงหนุนจากรายได้จากบริการผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคตะวันออกกลางและตลาดจีน และรายได้จากผู้ป่วยไทยที่แข็งแกร่งขึ้นจากโรคตามฤดูกาล อาทิ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ และ RSV
  • 4Q23 คาดกำไรปกติยังเติบโต YoY แต่ลดลง QoQ จากปัจจัยฤดูกาล ส่วนทั้งปี 2023 คาดมีกำไรปกติ 1.4 หมื่นล้านบาท เติบโต 12%YoY และเพิ่มเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 8%YoY ในปี 2024 ปัจจัยขับเคลื่อนจากรายได้ที่เติบโตเพิ่มขึ้น และ EBITDA Margin ที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากบริการผู้ป่วยต่างชาติที่เติบโตมากขึ้น และการใช้ประโยชน์สินทรัพย์ได้ดีขึ้น
  • เป็นหุ้น Defensive ซึ่งมีความผันผวนของราคาต่ำและมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง สะท้อนได้จากราคาหุ้น BDMS ปรับลง 7.8%YTD น้อยกว่า SET ที่ปรับลง 15.4%YTD อีกทั้งยังเป็นหุ้น Undervalued ซึ่งมีราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่าหุ้นที่แท้จริง ขณะที่กำไรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
  • เราประเมินราคาเป้าหมายปี 2024 ที่หุ้นละ 35 บาท (อิงวิธี DCF) และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2023 หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น Div. Yield ราวปีละ 18%

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

สภาพคล่อง / เงินสด

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

สินทรัพย์สภาพคล่อง / เงินสด มีโอกาสให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบาย (Fed ยังมีแนวโน้มดำเนินนโยบายดอกเบี้ยแบบ Higher-for-Longer) ประกอบกับความหวังเศรษฐกิจสหรัฐฯ Soft Landing ที่ยังมีอยู่ ขณะที่สินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งรวมถึงเงินสด ยังได้แรงหนุนจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ยังมีอยู่

 

พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Long-Duration Bond มากขึ้น จากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่เข้าสู่ปลายวัฏจักรขาขึ้นแล้ว ความน่าจะเป็นที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงอย่างมีนัย ตามตัวเลขเงินเฟ้อที่ทยอยลดลง และตลาดแรงงานที่ลดความตึงตัวลง รวมถึงคาดการณ์การอ่อนตัวลงของกิจกรรมเศรษฐกิจใน 4Q23

 

หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

Effective Yield ของ IG Bond ยังยืนในระดับสูง ถึงแม้ว่า Spread ยังแกว่งตัวแคบ / IG มีความทนทานต่อความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น จากการที่ Corporate ที่ออก IG ส่วนใหญ่ได้ทำการ Lock ต้นทุนทางการเงินตอนที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำในช่วงก่อนหน้า จึงได้รับผลกระทบจากภาระต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นจำกัด

 

Interest Coverage ของ US และ HY ลดลงสู่ระดับต่ำกว่า Pre-Covid สะท้อนถึงความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่ลดลง Spread ที่ยังอยู่ในระดับต่ำยังไม่สะท้อน

 

  1. ความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลง และ
  2. HY Outstanding ที่ต้อง Refinance จะเร่งตัวขึ้นในปี 2024 ต่อเนื่องไปในปี 2025

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

ผลประกอบการ บจ. ใน 3Q23 ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาด นำโดยกลุ่ม Consumer Discretionary, Communication Service และ Information Technology รวมถึงกลุ่ม Big Tech (Alphabet, Amazon, Meta และ Microsoft) คาดว่ากำไรของ บจ. ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 และจะดีขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาส 3

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

STOXX600 EPS ใน 3Q23 หดตัวค่อนข้างมาก YoY และ EPS ทั้งปีนี้และปีหน้า มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการลงต่อ อย่างไรก็ดี Valuation ดัชนีหุ้นยุโรปยังไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาว และเมื่อเทียบกับดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ประกอบกับ 10y Bund Yield มีแนวโน้มพักฐานและลดลงตาม ECB ที่มีแนวโน้มลดท่าที Hawkish ลง

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

Earnings บจ. ญี่ปุ่น มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยแรงหนุนจากเงินเยนที่อ่อนค่าและโมเมนตัมเศรษฐกิจในประเทศที่ยังดี นอกจากนี้ บจ. มีแนวโน้มเพิ่มการซื้อหุ้นคืน และการจ่ายเงินปันผลในช่วงการรายงานงบฯ ขณะที่ BOJ มีแนวโน้มคงท่าทีผ่อนคลายทางการเงินต่อ รวมทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นมีแนวโน้มกระตุ้นเพิ่มเติมผ่านแพ็กเกจรอบล่าสุด

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ดัชนีมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่ทางการมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม ท่ามกลางยอดส่งออกที่หดตัวมากกว่าที่ตลาดคาด และเงินเฟ้อที่กลับมาติดลบ ขณะที่ EPS ดัชนียังมีแนวโน้มออกมาขยายตัว YoY และความเสี่ยงขาลงบน Valuation มีจำกัด แต่ความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่จะชะลอแรงซื้อบนดัชนี

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

ดัชนียังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS ที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ขณะที่ Valuation ไม่แพง รวมทั้งได้อานิสงส์จาก UST Yield ที่เริ่มพักฐาน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงการชะลอตัวของภาคอสังหาและข้อพิพาทระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังมีอยู่ จะกดดันดัชนีแม้ประธานาธิบดีไบเดน และประธานาธิบดีสีจิ้นผิง จะพบปะกันในช่วงกลางเดือนนี้ก็ตาม

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

ดัชนีมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตามการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในหมวดสินค้าเกษตร และภาคการผลิตที่หดตัวน้อยลงในเดือนตุลาคม ขณะที่นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ช่วง High Season ใน 4Q23 รวมถึงการส่งสัญญาณ Pause ของ Fed อาจช่วยส่งเสริมตลาดในระยะสั้น

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ดัชนีมีแนวโน้มถูกกดดันจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก แม้ยังมีสัญญาณ FDI เข้ามาต่อเนื่อง แต่ดัชนี PMI เดือนตุลาคมที่หดตัว รวมถึงผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนใน 3Q23 ที่อ่อนแอ อีกทั้งยังไม่มีสัญญาณชัดเจนในการแก้กฎหมายเพื่อช่วยธุรกิจในภาคอสังหา อาจทำให้ปัจจัยสนับสนุนตลาดในระยะสั้นมีจำกัด

 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

 

ดัชนียังไม่มีปัจจัยเสริม หลังจากที่ BI ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 6% ส่งผลให้ยังไม่เห็นการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายช่วงก่อนเลือกตั้ง อีกทั้งการส่งออกถ่านหินมีแนวโน้มอ่อนแอตามเศรษฐกิจจีน แต่ในระยะยาวเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการลงทุนโดยตรง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปแร่โลหะ

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

ช่วงที่ผ่านมาราคาทองคำได้รับแรงกดดันจากเจ้าหน้าที่ Fed หลายท่านออกมาสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้น อย่างไรก็ดี ราคามีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากความกังวลสงครามในตะวันออกกลาง Bond Yield ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง USD ที่มีแนวโน้มอ่อนค่า และโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะ Soft Landing มากขึ้น

 

น้ำมัน

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงกังวลต่ออุปสงค์น้ำมันที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ของโลก หลังตัวเลข PMI ลดลงและจีนอาจเผชิญกับภาวะเงินฝืด ขณะที่สงครามอิสราเอล-ฮามาสอาจไม่ส่งผลต่ออุปทานน้ำมัน

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (CMBS) ลดลงเล็กน้อยในเดือนกันยายน หลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 5M ขณะที่ค่าเช่ายังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย แต่อุปสงค์โดยรวมและ Vacancy Rate ยังคงอ่อนแอ ประกอบกับ Valuation ยังค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

REITs ไทยเริ่มมี Fund Flows ไหลเข้าเล็กน้อยในเดือนกันยายน หลังจากเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่องจาก Property Funds นับตั้งแต่เดือนมีนาคม-สิงหาคม อีกทั้งมี Valuation ค่อนข้างถูกทั้งในแง่ PBV, Dividend Yield Spread ขณะที่ REITs สิงคโปร์ Yield Spread ยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าสนใจ

 

Private Asset

ความน่าสนใจระดับ 2

 

 

Slightly Negative on Private Equity, Private Real Estate, and Private Debt: ดอกเบี้ยในระดับสูงมีแนวโน้มส่งผลกระทบ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity ราคาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่จะเป็นผลลบต่อ Private Real Estate รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและบริษัทใน Private Debt

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 13 พ.ย. 2023

READ MORE



Latest Stories